การประชุมสุดยอดว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road ครั้งที่สอง ที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 21-27 เมษายน ได้จบลงแล้ว
สุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงนโยบายของจีนที่มีต่อโครงการนี้ว่า จะมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดให้ประเทศที่เข้าร่วมโครงการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน
ตอนหนึ่งของสุนทร
“เราต้องยืนหยัดแนวคิดแห่งการเปิดสู่ภายนอก เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม และ สร้างความสุจริตโปร่งใส ไม่ปิดกั้นคนอื่น กำหนดยึดหลักสีเขียวอันเป็นเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เป็นพื้นฐานความคิด ขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การลงทุนแบบสีเขียว การเงินแบบสีเขียว ปกป้องบ้านเกิดที่พวกเราอาศัยอยู่ร่วมกัน ยืนหยัดให้ความร่วมมือทุกด้านทุกรายให้ดำเนินการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เน้นการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน”
พวกเราจึงเสนอ “ข้อริเริ่มปักกิ่งว่าด้วยเส้นทางสายไหมแห่งความสุจริตโปร่งใส”
ข้อริเริ่มปักกิ่งว่าด้วยเส้นทางสายไหมแห่งความสุจริตโปร่งใส ยังไม่มีรายละเอียด แต่นับว่า เป็นครั้งแรกที่สี จิ้นผิง พูดถึงความโปร่งใสของการดำเนินโครงการนี้
One Belt One Road ที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นอกจากจะเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความเป็นมหาอำนาจแข่งกับสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่มีการขยายตัวภายในประเทศลดลง จึงต้องชดเชยด้วยการใช้โครงการนี้เป็นเครื่องมือในการส่งออกเทคโนโลยีสินค้าแรงงาน และทุนการเงิน เพื่อสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจของรัฐ
โครงการในหลายประเทศ จีนเป็นผู้กำหนดทุกอย่าง โครงการมีต้นทุนที่สูงเกินความเป็นจริง หลายโครงการไม่มีความจำเป็น ไม่มีประโยชน์ ทำให้ประเทศที่เป็นเจ้าของโครงการมีภาระหนี้สูงมากซึ่งเจ้าหนี้คือ จีน
ศรีลังกาต้องยกท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ให้จีน เพื่อชดใช้หนี้ที่กู้มาสร้าง เพราะสร้างเสร็จแล้วไม่มีเรือมาใช้ ทำให้ไม่มีรายได้พอชำระหนี้
หลายประเทศในเอเชีย และแอฟริกา ขอยกเลิกหรือชะลอโครงการออกไป เพราะจีนคิดค่าก่อสร้าง และดอกเบี้ยเงินกู้สูงมาก จนเกรงว่า จะเป็นภาระหนี้ที่เกินกำลัง
เมื่อนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ของมาเลเซีย ชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว เขาได้ยกเลิก และชะลอโครงการท่าเรือ ท่อส่งแก๊สธรรมชาติ และรถไฟเชื่อมฝั่งตะวันออกกับตะวันตกของมาเลเซีย ที่รัฐบาลนาจิบ ราซัค เซ็นสัญญาให้บริษัทจีนเป็นผู้ก่อสร้างเพราะมีราคาสูง จนทำให้เป็นภาระหนี้สิน และมีความไม่โปร่งใส
ก่อนหน้าการประชุม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางครั้งนี้ไม่นาน มหาเธร์เปลี่ยนใจ สร้างรถไฟเชื่อมฝั่งตะวันออกกับตะวันตกตามเดิม โดยให้เหตุผลว่า เป็นโครงการที่เซ็นสัญญาไปแล้ว หากยกเลิก มาเลเซียจะโดนจีนปรับสูงมาก แต่สิ่งที่ทำให้มหาเธร์เปลี่ยนใจคือ จีนยอมลดค่าก่อสร้างลงจากเดิมถึง 1 ใน 3 จาก 65,500 ล้านริงกิต ลดลงมาเหลือ 44,000 ล้านริงกิต
สุนทรพจน์ของสี จิ้นผิง ยังพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานใน One Belt One Road ว่า ต้อง “มีราคาสมเหตุสมผล มีความกลมกลืน และเข้าถึงได้ อำนวยให้ทุกประเทศใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ตนมี ปรับตัวให้เข้ากับห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่มูลค่า และบรรลุการพัฒนาแบบประสานกัน”
นอกจากนี้ ยังบอกว่า ต้องเคารพข้อบังคับและกฎหมายของประเทศต่างๆ
สัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การเปิดให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ของจีน มีบทบาทในการสนับสนุนการเงินแก่โครงการลงทุนในประเทศต่างๆ ได้ จากเดิมที่ต้องใช้เงินกู้จากจีนเท่านั้น
“พวกเรายินดีต้อนรับองค์กรการเงินพหุภาคี องค์กรการเงินของทุกประเทศให้มีส่วนร่วมในการระดมทุนกับการลงทุนในโครงการร่วมสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ส่งเสริมให้ดำเนินความร่วมมือด้านการตลาดแบบภาคีหลายฝ่าย เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันผ่านรูปแบบที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม”
สำหรับประเทศไทยเรา ซึ่งมีโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช และโคราช-หนองคาย เป็นส่วนหนึ่งของ One Belt One Road ที่เป็นเส้นทางสายไหมทางบก ดำเนินไปอย่างล่าช้า ผ่านไปแล้วเกือบ 5 ปี เท่าๆ กับอายุ คสช.แทบไม่มีความคืบหน้าเลย เพราะรัฐบาลไทยไม่ยอมให้จีนเป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียว แต่ใช้การเจรจาต่อรองทุกเรื่องเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้มากที่สุด ต่างกับ One Belt One Road ในประเทศอื่นๆ ที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะประเทศเหล่านั้นยอมตามความต้องการของจีนทุกอย่าง ตัวเองมีหน้าที่ชำระหนี้คืนจีน เมื่อโครงการเสร็จแล้วเท่านั้น
เรื่องความล่าช้านั้น ไม่ใช่ปัญหาของไทย ตราบใดที่การเจรจายังไม่ลงตัว แต่เป็นปัญหาของจีน เพราะมันจะทำให้เส้นทางสายไหมทางบกจากภาคใต้ของจีนออกสู่มหาสมุทรอินเดียไม่สมบูรณ์ เพราะมี Missing Link คือ ช่วงที่ต้องผ่านประเทศไทย