xs
xsm
sm
md
lg

กัญชากับโซลาร์เซลล์ : ความเหมือนและความต่าง

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม


ในช่วงเกือบสิบปีมานี้ ผมได้ศึกษาและเขียนบทความเกี่ยวกับกัญชาเกือบ 10 ชิ้น ในขณะที่ได้เขียนเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์บ่อยมากจนจำจำนวนครั้งไม่ได้ ผมพบว่าสองเรื่องนี้มีทั้งความเหมือนและความต่างกันที่น่าสนใจมากๆ ครับ

ในส่วนที่เหมือนกัน ผมคิดว่ามี 2 อย่างที่สำคัญ

อย่างแรกทั้งกัญชาและโซลาร์เซลล์เกิดขึ้นจากแสงอาทิตย์เหมือนกัน กัญชาเป็นพืชเกิดจากการสังเคราะห์แสงซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ในภาษาอังกฤษว่า Photosynthesis โดยมีรากศัพท์มาจากภาษากรีซ คือ “photo” แปลว่าแสง และ “synthesis” แปลว่า การนำมารวมกัน กระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชก็คือการผลิตอาหารเพื่อใช้เองของพืชนั่นเอง

โซลาร์เซลล์มีชื่ออย่างเป็นทางการในภาษาอังกฤษว่า Photovoltaic ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1849 โดยคำว่า “volt” เป็นชื่อของนักฟิสิกส์ชาวอิตาลีผู้ประดิษฐ์แบตเตอร์รี่เก็บไฟฟ้าในปี 1799

นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเป็นคนแรกที่สังเกตเห็นปรากฏการณ์ Photovoltaic Effect (ปี 1839) ซึ่งทำให้เกิดความต่างศักย์และกระแสไฟฟ้าเมื่อวัตถุ (บางชนิด)กระทบกับแสงอาทิตย์ ต่อมาในปี 1905 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้ตีพิมพ์ผลงานเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวจนโด่งดังและได้รับรางวัลโนเบล (ได้รับรางวัลปี 1921) ผลงานดังกล่าวคือ Photoelectric Effect โดยใช้ความรู้พื้นฐานของควอนตัมฟิสิกส์

ความหมายโดยย่อของ Photoelectric Effect ก็คือ เมื่อแสงอาทิตย์ซึ่งมีอนุภาคที่เรียกว่า Photon ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วแสงมากระทบกับวัตถุ (ในกรณีโซลาร์เซลล์ คือแผ่นโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำ-ผลิตจากทราย แกลบ เป็นต้น ซึ่งมีอยู่จำนวนมากและหาได้ง่าย) Photon ซึ่งมีพลังงานอยู่ในตัวก็จะทำหน้าที่“เตะ” ให้อิเล็กตรอนหลุดออกจากแผ่นโซลาร์เซลล์ เมื่อต่อระบบเป็นวงจรอิเล็กตรอนเหล่านี้ก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้าให้เราได้ใช้งานกัน

ในขณะที่การสังเคราะห์แสง ก็คือ กระบวนการทางเคมีที่แสงอาทิตย์ (Photon) จะเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ซึ่งอยู่ในบรรยากาศ) และน้ำ (ซึ่งผ่านการดูดซึมโดยรากของพืช) ให้เปลี่ยนเป็นแป้งและน้ำตาล และออกซิเจน (ปล่อยออกมาในบรรยากาศ) ในการนี้ต้องใช้คลอโรฟิลล์ (สีเขียวในพืช) ทำหน้าที่รับพลังงานแสง แป้งและน้ำตาลที่ได้ก็คืออาหารของพืชเพื่อให้พืชเติบโต แล้วแป้งและน้ำตาลก็มาเป็นอาหารของสัตว์เล็กสัตว์น้อยเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่จนถึงคน

ทั้งกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชและ Photoelectric Effect เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว แต่มนุษย์เพิ่งจะสามารถหาเหตุผลมาอธิบายอธิบายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Photoelectric Effect เพิ่งอธิบายได้เมื่อประมาณร้อยกว่าปีมานี้เอง

การอธิบายปรากฏการณ์ Photoelectric Effect ไม่ได้ใช้ความสามารถของไอน์สไตน์ เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ได้ใช้ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ต่อเนื่องกันมาอีกจำนวนมาก กล่าวเฉพาะผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาที่เป็น “แม่” ของโซลาร์เซลล์ก็มีนับ 10 คน รวมถึง J.J. Thomson (ได้รับรางวัลโนเบลปี 1906) ที่ได้ข้อสรุปว่า อิเล็กตรอนเป็นส่วนหนึ่งของอะตอม

เขียนมาถึงตอนนี้ ทำให้ผมนึกถึงคำอธิบายที่ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายของ Steve Jobs เมื่อปี 1983 ซึ่งตอนนั้นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกมีอายุได้เพียง 36 ปี ในวันนั้น เขาได้ตั้งคำถามเองแล้วตอบเองว่า “คอมพิวเตอร์คือเครื่องยนต์ในรูปแบบใหม่ที่ลูกสูบและเกียร์ถูกแทนที่ด้วยอิเล็กตรอนนับพันล้านตัวเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง”

เราลองนึกภาพถึงเครื่องยนต์ที่ต้องใช้ลูกสูบ ว่ามันทำงานอย่างไร แล้วลองเทียบกับการที่อิเล็กตรอนนับพันล้านตัวเข้ามาทำงานแทน โดยไม่ต้องต้มน้ำให้เป็นไอก่อน แล้วเอาแรงดันไอน้ำไปขับเคลื่อนลูกสูบ เอาข้อเหวี่ยงไปหมุนเพลา ฯลฯ จนได้ พลังงานไฟฟ้า กับปรากฏการณ์ที่อนุภาค Photon จากแสงอาทิตย์เข้ามา “เตะ” ให้อิเล็กตรอนหลุดแล้วเคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้แสง แล้วนำพลังงานของอิเล็กตรอนนี้ไปใช้ประโยชน์ ว่าอย่างไหนจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน

ความเหมือนประการที่สอง คือ ทั้งกัญชาและและพลังงานจากโซลาร์เซลล์เป็นสิ่งที่สัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ปลา นก หมู หมา กา ไก่และคนต้องการ แต่กัญชาและโซลาร์เซลล์มีลักษณะพิเศษที่สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ ก็คือความเป็นอิสระและเป็นนายของตนเองเพราะว่ามีการกระจายตัวอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง ไม่รวมศูนย์ หรืออยู่ลึกลงไปใต้ดินนับพันๆ เมตร เช่น แหล่งถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติซึ่งมี “คนไม่ธรรมดา” เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะลงไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ คนส่วนใหญ่จึงต้องตกเป็นทาสมีหน้าที่จ่ายเงินตามที่ “คนไม่ธรรมดา” กำหนดและกำกับควบคุม

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องการพลังงาน มีคนกล่าวว่า “ชีวิตคือพลังงาน” เรื่องนี้คนทั่วไปมีความเข้าใจดีมานานแล้ว แต่สำหรับเรื่องกัญชานั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจดีพอ เราได้รับรู้อย่างผิวเผินมานานนับพันปีแล้วว่า กัญชามีสรรพคุณทั้งการช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยให้นอนหลับ แก้ปวด ฯลฯ

แต่ที่ไม่รู้ก็คือว่า กลไกการทำงานของร่างกายมนุษย์เป็นกลไกที่มีความสลับซับซ้อนมาก คือช่วยควบคุมระบบต่างๆ ในร่างกายให้สมดุลไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิของร่างกาย การไหลเวียนของเลือด การสั่งการของสมอง กระดูก ระบบประสาท นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ฟื้นฟูเซลล์ดีให้แข็งแรงและฆ่าเซลล์มะเร็งที่แปลกปลอมเข้ามาด้วย ฯลฯ โดยกลไกดังกล่าวต้องอาศัยสารชนิดหนึ่งซึ่งร่างกายจะผลิตขึ้นมาเองได้ เรียกว่า Endocannabinoid และสารตัวนี้มีอยู่ในพืชกัญชา หากร่างกายใครบกพร่องไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการก็สามารถนำมาเสริมได้จากต้นกัญชา

เภสัชกรท่านหนึ่ง (ขออภัยผมจำชื่อไม่ได้) ได้อธิบายว่า หากเปรียบร่างกายมนุษย์เป็นกิจการของบริษัทแห่งหนึ่ง สาร Endocannabinoid ก็คือซีอีโอของร่างกายที่คอยวางนโยบาย ควบคุม สั่งการ ประเมินผลและตรวจสอบกิจการทั้งหมดของบริษัทผลประกอบการของบริษัทจะมีกำไรหรือขาดทุนจึงขึ้นอยู่กับซีอีโอเป็นสำคัญเห็นภาพความสำคัญของกัญชาอย่างชัดเจนไหมครับ

คราวนี้มาดูเรื่องความแตกต่างระหว่างกัญชากับโซลาร์เซลล์กันบ้าง ผมขอพูดเฉพาะเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคมเท่านั้นนะครับ

เท่าที่ผมติดตามพบว่า ภาคประชาสังคมไทยได้มีการเคลื่อนไหวเรื่องพลังงาน ในประเด็น “พลังงานไทย พลังงานใคร?” ทั้งในแง่ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (เมื่อปี 2544) รวมทั้งการฟ้องศาลปกครองสูงสุดเรื่องการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เรื่อยมาจนถึง “สัมปทานจำแลงแหล่งปิโตรเลียมบงกช-เอราวัณ” ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวเรื่อง “เสรีกัญชา” เสียด้วยซ้ำ

แต่แล้วนับถึงปัจจุบัน ดูเหมือนว่า การเคลื่อนไหวเรื่องเสรีกัญชากำลังจะประสบผลสำเร็จ ในขณะที่การเคลื่อนไหวเรื่องพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการ “โซลาร์รูฟเสรี” โดยใช้ระบบง่ายๆ ที่เรียกว่า “Net Metering” ยังไปไม่ถึงไหน

ล่าสุด ทางกระทรวงพลังงาน (โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ได้ออกมติที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากหลังคาบ้านของประชาชนในราคา 1.68 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 10 ปี ทั้งๆ ที่อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์นาน 25 ปี และราคารับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (ซึ่งซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายการผลิต) ในปี 2560 ในราคา 2.63 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ยังต้องลงทุนติดมิเตอร์อีกประมาณ 7,500 บาท ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องติด หากใช้ระบบแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากันในรูป Net Metering เรื่องนี้เด็กอมมือก็อ่านออกว่า คือการกีดกันภาคประชาชน เช่นเดียวกับการกีดกันไม่ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากพืชกัญชานั่นเอง

ขณะเดียวกัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ให้สัมภาษณ์สดทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งความว่า เงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทยก็คือรัฐบาลจะต้องนำนโยบาย “เสรีกัญชา” ของพรรคภูมิใจไทยไปใช้ปฏิบัติหากทุกอย่างเป็นจริงตามนี้ก็ต้องยอมรับว่า การเคลื่อนไหวเรื่องเสรีกัญชาได้มีความก้าวหน้าไปมาก

ผมเข้าใจว่า ในการเคลื่อนไหวเรื่อง “เสรีกัญชา” กับ “โซลาร์รูฟเสรี” มีสิ่งที่น่าสนใจ 3 ประการ ทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน คือ

หนึ่ง “เสรีกัญชา” การมีส่วนร่วมของภาคประชานมากกว่า “โซลาร์รูฟเสรี” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ของผู้ป่วยและผู้เสพเพื่อการผ่อนคลายจิตใจเป็นจำนวนมาก

สอง มีงานวิชาการสนับสนุนจำนวนมากพอๆ กัน แต่ “เสรีกัญชา” มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหว ในขณะที่ “โซลาร์รูฟเสรี” ภาควิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยหลายแห่งมักจะรับเงินจากผู้ประกอบการด้านพลังงานฟอสซิลและคัดค้านพลังงานหมุนเวียนไปในตัว

สาม มีพรรคการเมืองสนับสนุน “เสรีกัญชา” ในขณะที่ “โซลาร์รูฟเสรี” ยังไม่มีปรากฏครับ

วันนี้ขอแค่นี้ก่อนนะครับ ขอบคุณมากครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น