อธิปไตยหรือความเป็นใหญ่ ตามนัยแห่งคำสอนของศาสนาพุทธมีอยู่ 3 ประการคือ
1. อัตตาธิปไตย หมายถึงการถือตนเป็นใหญ่ กระทำการโดยยึดความคิดเห็นของตนเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งเปรียบได้กับเผด็จการ
2. โลกาธิปไตย หมายถึงการถือโลกเป็นใหญ่ กระทำการโดยยึดถือกระแสของโลกเป็นประมาณ ซึ่งเปรียบได้กับประชาธิปไตย
3. ธัมมาธิปไตย หมายถึงการถือธรรมคือความถูกต้องเป็นใหญ่ กระทำการโดยยึดความถูกต้องเป็นหลัก ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ปกครองทั้งในระบอบเผด็จการ และประชาธิปไตยจะต้องยึดถือ โดยที่ผู้ปกครองในระบอบเผด็จการจะต้องมีสติคอยกำกับ การคิด การพูด และการทำตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เหลิงและหลงในอำนาจนั้น
ส่วนผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะต้องมีปัญญาไตร่ตรองในการฟังความคิดเห็นของคนอื่น และนำสิ่งที่ดีมีประโยชน์มาปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูก โดยยึดประโยชน์ของประเทศ และประชาชนโดยรวมเป็นหลัก ทั้งตัวผู้ปกครองเองจะต้องเป็นตัวอย่างในการนำหลักการมาใช้ กล่าวคือ จะต้องทำให้ดู มิใช่เพียงแค่พูดให้ฟังเท่านั้น
ประเทศไทยได้ผ่านการปกครองมาแล้ว ทั้งระบอบเผด็จการ และระบอบประชาธิปไตย โดยสลับสับเปลี่ยนกันหลายครั้งหลายหนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ถ้านับเวลาเป็นจำนวนปีก็ 87 ปีในวันที่ 24 มิถุนายนที่จะถึงนี้
แต่จากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงวันนี้ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ยังก้าวไปไม่ถึงจุดที่ผู้อยากมี อยากเป็นต้องการ และได้บอกกล่าวกับประชาชนไว้ และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่รู้และไม่เข้าใจเนื้อหาของความเป็นประชาธิปไตย รู้เพียงแค่ว่ามีการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง การเลือกตั้งเป็นแค่รูปแบบหรือส่วนประกอบภายนอกหรือจะเรียกว่าเปลือกของความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น และที่ยิ่งกว่านี้ ถ้าการเลือกตั้งไม่มีความโปร่งใส แต่ดำเนินไปเพื่อสนองความอยากมี อยากเป็นของผู้แสวงหาอำนาจ ซึ่งกระทำทุกวิถีทางเพื่อการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่การซื้อเสียงไปจนถึงการใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ทางการเมืองให้แก่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคใดพรรคหนึ่งด้วยแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเนื้อหาอันเป็นแก่นแท้ของความเป็นประชาธิปไตย คือประโยชน์ของประเทศ และของประชาชนโดยรวม แค่รูปแบบอันเป็นเปลือกนอกของความเป็นประชาธิปไตย ยังไม่มีมาตรฐานพอที่จะเป็นประชาธิปไตยแล้ว จะกล่าวไปไยว่าประเทศมีหรือไม่มีความเป็นประชาธิปไตย
2. นักการเมืองที่อ้างความเป็นประชาธิปไตย โดยการลงสมัครรับเลือกตั้งส่วนหนึ่ง และน่าจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยเข้าสู่วงการเมือง ด้วยหวังจะมีอำนาจรัฐโดยการเป็นรัฐบาลแล้วใช้อำนาจที่ได้รับนั้นเป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง หรือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องจากการเบียดเบียนของฝ่ายตรงกันข้ามของตน หรือทั้งแสวงหาและปกป้อง
ส่วนที่เข้าสู่วงการเมืองเพื่อรับใช้ปวงชนโดยการเข้าไปทำหน้าที่ในด้านนิติบัญญัติ และด้านบริหาร รวมทั้งการเป็นฝ่ายค้านเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศนั้นมีอยู่น้อย และมักจะถูกครอบงำโดยส่วนใหญ่
3. เมื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีบุคลากรทางการเมือง มีพฤติกรรมดังเช่นในข้อ 2 จึงเป็นโอกาสให้ฝ่ายนิยมระบอบเผด็จการอ้างความเลวร้ายของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ทำการโค่นล้มระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทุกครั้งที่ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และก่อความเสียหายแก่ประเทศ
ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยในระยะ 80 กว่าปีที่ผ่านมา จึงวนเวียนและสลับสับเปลี่ยนกันระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ และมีแนวโน้มว่าจะดำเนินในทำนองนี้ต่อไปอีกนานตราบเท่าที่ยังมีนักการเมืองประเภทแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ จนเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน และกลายเป็นโอกาสให้ฝ่ายนิยมเผด็จการเข้ามาปกครองประเทศ
สุดท้ายขอจบด้วยกลอน 2 บทนี้
อธิปไตย ใครมี ศักดิ์ศรีเพิ่ม
หากเหิมเกริม มากมี ศักดิ์ศรีสิ้น
เกียรติสลาย กลายเป็น คนมีมลทิน
เหมือนก้อนหิน กรวดทราย ไร้คนมอง
มีอำนาจ ขาดคุณธรรม นำชีวิต
เดินทางผิด ผลกรรม นำสนอง
พบแต่ทุกข์ สุขห่างหาย ไร้คนปอง
มีแต่จ้อง เหยียบซ้ำ ให้ช้ำใจ