xs
xsm
sm
md
lg

เทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาเร็วกว่าที่คิด

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อปลายปี 2556 กรมพลังงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ออกรายงานเรื่อง “ปฏิวัติเดี๋ยวนี้ : อนาคตของสี่เทคโนโลยีพลังงานสะอาดได้มาถึงแล้ว” (Revolution…Now The Future Arrives for Four Clean Energy Technologies) เทคโนโลยีพลังงานสะอาดดังกล่าวคือ กังหันลม โซลาร์เซลล์ หลอดไฟฟ้า LED และ รถยนต์ไฟฟ้า แต่พอถึงปลายปี 2558 รายงานฉบับนี้ก็ได้ถูกปรับปรุงเพิ่มเป็น 5 เทคโนโลยี โดยได้แยกโซลาร์เซลล์ออกเป็น 2 ประเภท คือประเภทบริษัทผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่และประเภทบนหลังคาครัวเรือน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้รับการแนะนำสินค้าตัวใหม่จากผู้ที่สนใจเรื่องโซลาร์เซลล์คนหนึ่ง ซึ่งก็ร่วมกันรณรงค์มาด้วยกันกับผมในโครงการ “กองทุนแสงอาทิตย์” เพื่อระดมทุนติดโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาล 7 โรงสินค้าที่ว่านี้คือโคมไฟส่องถนนเป็นหลอดไฟ LED ขนาด 60 วัตต์

โคมไฟดังกล่าวมีขนาดประมาณกว้างหนึ่งคืบ ยาวหนึ่งศอก หนาหนึ่งนิ้ว ด้านบนของตัวโคมเป็นแผ่นโซลาร์เซลล์ไว้รับแสงอาทิตย์เพื่อเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ด้านล่างของตัวโคม มีหลอด LED ขนาด 60 วัตต์ และมีตัวเซ็นเซอร์คอยจับความเคลื่อนไหว ถ้ามีความเคลื่อนไหว เช่น คนเดินผ่าน หรือใบไม้ไหว หลอดไฟจะให้แสงสว่างอย่างเต็มที่ แต่ถ้าไม่มีความเคลื่อนไหวแสงสว่างก็จะออกมาประมาณ 20% ของความสว่างสูงสุด ทั้งนี้เพื่อต้องการจะเก็บพลังงานไว้ให้พอใช้ตลอดทั้งคืน

นอกจากนี้ ที่ด้านล่างของโคมไฟจะมีแบตเตอร์รี่เก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อการใช้งานให้ได้ทั้งคืน คาดว่าน่าจะเป็นแบตเตอร์รี่ประเภทลิเทียมไอออน น้ำหนักรวมของโคมไฟประมาณ 3 กิโลกรัม ไม่ระบุบริษัทและประเทศผู้ผลิต แต่รู้กันว่าได้นำเข้าจากประเทศจีน มีกล่องบรรจุภัณฑ์ดูสวยงาม ราคาขาย 1,500 บาทลดลงมาจากประมาณ 2 พันบาทเมื่อปลายปีที่แล้ว

โดยสรุป โคมไฟถนนดวงนี้ได้รวมเอา 3 เทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ทันสมัย 3 รายการ (ตามรายงานของสหรัฐอเมริกา) อยู่ในชิ้นเดียวกัน คือ โซลาร์เซลล์ หลอด LED และแบตเตอร์รี่

สิ่งที่ผมสงสัยหรือยังไม่เชื่อมี 2 ประเด็น คือ

หนึ่ง มันสามารถจะเก็บพลังงานไว้ใช้ได้ตลอดทั้งคืนจริงหรือเพราะแผ่นโซลาร์เซลล์ที่ใช้กันทั่วไปมีขนาดถึง 2 ตารางเมตร แต่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 370 วัตต์เท่านั้น แต่โคมไฟฟ้านี้มีขนาดเล็กมาก มันจะผลิตได้จนพอใช้ได้จริงหรือ

ผมจึงได้ลงมือทดลองทันที วันแรก ผมแกะกล่องแล้วนำโคมไฟไปรับแสงแดดตั้งแต่ประมาณบ่ายสอง จากนั้นก็นำมาใช้งานตามวัตถุประสงค์ตั้งแต่ประมาณ 18.30 น. โดยวางสูงจากระดับพื้นถนนประมาณ 2 เมตร พบว่ามีแสงสว่างเป็นที่น่าพอใจตลอดทั้งคืนจริง แต่ผมไม่ได้เก็บข้อมูลใดๆ ไว้เป็นหลักฐานแต่เท่าที่สังเกตพบว่ามีกระแสลมพัดให้ใบไม้เคลื่อนไหวบ่อยมาก นั่นคือทำให้มีการปล่อยพลังงานออกมามาก พลังงานที่เหลือตอนใกล้ๆ ยามรุ่งสางจึงอาจจะน้อยกว่าปกติ

วันที่สองผมนำโคมไฟเดิมไปตากแดดทั้งวัน แต่เนื่องจากผมไม่มีอุปกรณ์วัดความสว่าง ผมจึงใช้วิธีถ่ายรูปเพื่อดูความสว่าง เมื่อเวลา 23.00 น. และเวลา 5.30 น. ผมมีภาพลักษณะของโคมไฟและความสว่างมาให้ดูด้วยครับ

พบว่า เมื่อเวลา 5 ทุ่ม ความสว่างยังเป็นที่น่าพอใจ สามารถอ่านหนังสือได้สบายๆ แต่เมื่อเวลา 5.30 น. แม้จะยังมีแสงสว่างอยู่ แต่ความสว่างลดลง (ดูภาพประกอบ)

สอง ผมสงสัยว่า อายุการใช้งานของแบตเตอร์รี่จะนานแค่ไหน

ผู้ผลิตสินค้าตัวนี้ไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ เลยครับ แต่ผู้ที่แนะนำสินค้าตัวนี้ให้ผมทราบบอกว่า “บริษัทผู้นำเข้าจะรับประกันเป็นเวลา 2 ปี”

ผมขอสมมติว่า ถ้าข้อมูลทุกอย่างที่กล่าวมาแล้วเป็นความจริงทุกประการ ในแต่ละวันใช้งานวันละ 12 ชั่วโมง อัตราค่าไฟฟ้า 4.40 บาทต่อหน่วย (เป็นอัตราสำหรับบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.2 ที่ใช้เดือนละ 600 หน่วย) ในเวลา 1 ปี จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า (จากสายส่ง) ได้จำนวน 1,156 บาท นั่นคือ ใช้เวลาเพียง 16 เดือนก็จะคุ้มทุน

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นการสมมติว่าข้อมูลทุกอย่างเป็นความจริง รวมทั้งระยะเวลาการค้ำประกันจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายด้วย

ผมได้นำเรื่องดังกล่าวซึ่งผมรู้สึกตื่นเต้นมากไปเล่าให้เพื่อนบ้านฟัง ปรากฏว่าเขาได้ซื้อมาใช้ก่อนผมเสียอีก แต่เป็นประเภทติดบนฝาผนังนอกบ้าน (ไม่ใช่เพื่อส่องถนน) เท่าที่ผมสังเกตดู อุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้โดนแดดตลอดทั้งวัน แต่ก็สามารถให้แสงสว่างจนเป็นที่พอใจ เมื่อคนเดินเข้าใกล้ก็จะมีความสว่างมากขึ้น เมื่อคนเดินออกห่างความสว่างก็ลดลง และสามารถใช้ได้ตลอดทั้งคืนเช่นกัน ราคาที่เขาซื้อมาก็ถูกกว่าที่ผมได้เล่าให้ฟังเสีย

นี่แสดงว่า ผมเองเป็นคนล้าสมัยกว่าเพื่อนบ้านรายนี้ของผมเสียอีก ทั้งๆ ที่ผมได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวทั้งด้านนโยบายและเทคโนโลยีพลังงานอย่างใกล้ชิด

เมื่อกลางปี 2561 สถาบันที่ชื่อ “Institute for Local Self-Reliance” (สถาบันเพื่อการพึ่งพาตนเองของท้องถิ่น) ได้นำเสนอภาพโปสเตอร์ ซึ่งผมได้ดัดแปลงมาเป็น “4 จอมเทพที่จะมาปราบบริษัทไฟฟ้าอย่างราบ” สี่จอมเทพดังกล่าวคือ แบตเตอร์รี่ โทรศัพท์มือถือ โซลาร์เซลล์ และรถยนต์ไฟฟ้า ดังภาพ

โทรศัพท์มือถือ (smart phone) ใช้สำหรับการควบคุมสั่งการเพื่อเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน (หรือที่เรียกว่า Internet of Things)

หัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าก็คือแบตเตอร์รี่ และตัวเซ็นเซอร์ (ในกรณีรถยนต์ที่ไม่มีคนขับ) ซึ่งในช่วง 5 -6 ปีก่อนหน้านี้มีราคาแพงมาก มาถึงวันนี้ ผมพบว่า อุปกรณ์โคมถนนที่ผมได้เล่ามานี้ มีสิ่งที่ทั้งสององค์กรนี้คือกรมพลังงานของสหรัฐอเมริกาและสถาบันเพื่อการพึ่งพาตนเองของท้องถิ่น กล่าวถึง

นี่คือความจริงที่ได้ยืนยันถึงทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและราคาที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วมาก จนทำให้โคมไฟถนนสามารถได้ทุนคืนภายใน 16 เดือน โดยไม่ต้องเดินสายไฟฟ้าให้ยุ่งยาก (ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องแบตเตอร์รี่เสื่อมคุณภาพ)

และความก้าวหน้าของ 4 จอมเทพดังกล่าวจะปราบบริษัทผลิตไฟฟ้าลงได้อย่างราบคาบ รวมทั้งกิจการการขนส่งที่ต้องใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติด้วย

ทั้งกิจการไฟฟ้าและกิจการการขนส่งซึ่งมีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันไม่น้อยกว่า 65% ของทั้งหมด ดังนั้นเมื่ออนาคตของ 5 เทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาถึงแล้ว การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของโลกจึงเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องยากและมีราคาถูกลงมากแล้ว

แต่ปัญหาก็คือว่า กลุ่มทุนพลังงานแบบเดิมกำลังผูกขาดและเสวยสุขบนความทุกข์ยากของผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันในราคาแพง พร้อมๆ กับการทำลายแหล่งน้ำ ทำลายแหล่งอาหาร และอากาศบริสุทธิ์ (รวมทั้ง PM2.5) ไปด้วย

อ้อ ผมได้อ่านรายงานของกรมพลังงานรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจากการได้อ่านบทความเรื่อง Salvation Gets Cheap โดยศาสตราจารย์ Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ท่านที่สนใจกรุณาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2014/04/18/opinion/krugman-salvation-gets-cheap.html

ผมเองมีความเชื่อมั่นอย่างมากมานานแล้วว่า การแก้ปัญหาสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดโลกร้อน การลดความเหลื่อมล้ำ และการจ้างงานนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างแน่นอน โคมไฟถนนที่ผมนำมาเล่าคือตัวอย่างที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าที่รวดเร็วมาก มากกว่าที่เราเคยคิด

แต่น่าเสียดายที่นโยบายของรัฐได้ถูกครอบงำโดยกลุ่มผลประโยชน์ของคนจำนวนน้อย จึงถือเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคทุกคนที่จะต้องช่วยกันกระจายความจริงให้คนอื่นได้รับรู้ให้มากที่สุดครับ

ช่วยกันเถอะครับ ทุกอย่างพร้อมแล้ว เพื่อความผาสุกอย่างยั่งยืนของสรรพชีวิตทั้งหลาย



กำลังโหลดความคิดเห็น