xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน แพทย์แผนปัจจุบันใช้มอร์ฟีนได้ แต่ทำไมแพทย์แผนไทยใช้ฝิ่นไม่ได้?/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยการประชุมครั้งนั้นได้มีการจัดเอกสารสำหรับประกอบการรับฟังความคิดเห็นแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่มด้วยกัน ดังนี้ [1]

ก. ตำรับยาที่มีประสิทธิผล มีความปลอดภัย วิธีการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน ตัวยาหาไม่ยาก และมีสรรพคุณตำรับที่แก้ปัญหาสาธารณสุข จำนวน ๑๖ ตำรับ

ข. ตำรับยาที่มีประสิทธิผล แต่มีวิธีการผลิตไม่ชัดเจนและมีตัวยาหายาก จำนวน ๑๑ ตำรับ

ค. ตำรับยาที่เห็นควรให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมจำนวน ๑๒ ตำรับ

ง. ตำรับยาที่มีส่วนประกอบอยู่ในอนุสัญญาไซเตส (CITES) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศและตัวยาที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ จำนวน ๓๑ ตำรับ

ทั้งนี้ปรากฏว่า ตำรับยาไทยจำนวน ๓๑ ขนาน  ได้ถูกระบุว่ามีตัวยาที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ รวมถึงตำรับยาที่มียาต้องห้ามเป็นส่วนประกอบเพราะอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และ องค์การอนามัยโลก (WHO)  ประกาศเอาไว้  ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน กล่าวโดยสรุปคือมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

๑. มีฝิ่นอยู่ในสูตรตำรับ โดยฝิ่นออกฤทธิ์กดประสาท หยุดอาการปวด แต่ออกฤทธิ์ มึนเมา มีจิตใจเลื่อนลอย ง่วง ซึม แก้วตาหรี่ พูดจาวกวน ความคิดเชื่องช้า ไม่รู้สึกหิว ชีพจรเต้นช้า การใช้ฝิ่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเพราะ เป็นยาเสพติดให้โทษร้ายแรงประเภทที่ ๒ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ [2]

๒. มีไคร้เครืออยู่ในสูตรตำรับ โดยไคร้เครือ (Aristolochia) ซึ่งเป็นสมุนไพรมีฤทธิ์รักษาไขข้ออักเสบ ลดอาการปวดประจำเดือนและการคลอด แต่มีรายงานว่าก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อไต (Nephrotoxicity)

นอกจากนั้น สำนักงานระหว่างประเทศสำหรับการวิจัยมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer หรือ IARC) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้องค์การอนามัยโลก ได้ออกประกาศเตือนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ว่าสาร Aristolochic acid ซึ่งมีอยู่ในไคร้เครืออยู่ในสารประเภท “สารก่อมะเร็งกลุ่มที่ ๑” อันหมายถึงว่าเป็นกลุ่มที่มีหลักฐานจากงานวิจัยยืนยันว่าทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบความสัมพันธ์กับมะเร็งทางเดินปัสสาวะส่วนบน [3]

ตัวอย่างของไคร้เครือนั้นยังเป็นที่สงสัยของวงการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนตะวันออกว่า ไคร้เครือที่ว่ามีสารสำคัญว่าจะเป็นพิษหรือเป็นสารก่อมะเร็งนั้น เป็นเพราะงานวิจัยสนใจเฉพาะสารสำคัญในรูปของสมุนไพรเดี่ยวหรือไม่ แต่ยังไม่ได้พิจารณาว่ามีการใช้ส่วนใดเป็นองค์ประกอบหรือไม่ และยังไม่ได้พิจารณาว่าการปรุงยาเป็นตำรับนั้นจะทำให้ผลเสียเหล่านั้นลดลงไปหรือไม่ โดยเฉพาะส่วน “รากไคร้เครือ” ซึ่งเป็นองค์ประกอบของตำรับยาไทยจำนวนมากนั้น ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าจะเป็นพิษหรือสารก่อมะเร็งหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตามตำรับยาไทยทั้งหมดที่มีไคร้เครือได้ถูกห้ามใช้อย่างเด็ดขาดอีกต่อไป

๓. กลุ่มธาตุวัตถุหรือพืชวัตถุที่การแพทย์แผนไทยมาใช้ในรูปของตำรับเพื่อลดผลเสียของธาตุวัตถุนั้น เพราะยาบางชนิดมีฤทธิ์แรง อาจเป็นอันตรายในการบริโภค บางตัวไม่สะอาด หรืออาจมีกรรมวิธีการแปรรูปเพื่อลดผลเสียของธาตุนั้น   ซึ่งมีด้วยกัน ๓ แบบ คือ 

แบบที่ ๑. การฆ่าฤทธิ์ยา เช่น ยาดำ ชาด สารหนู ปรอท รงทอง สลอด ชะมดเช็ด ขี้แมลงสาบ เป็นต้น  

แบบที่ ๒. การสะตุยา เป็นการแปรรูปลักษณะของบางอย่าง เช่น เกลือ สารส้ม จุนสี ให้เป็นผงบริสุทธิ์ ด้วยการใช้ไฟที่ร้อนจัดเพื่อให้สิ่งที่ไม่ต้องการสลายกลายเป็นควันไป 

แบบที่ ๓. การประสะตัวยา “ประสะ” คือ การฟอกหรือชำระสิ่งต่างๆ เช่น เครื่องยา เพื่อให้สะอาด หรือให้ฤทธิ์อ่อนลง อีกนัยหนึ่งเป็นการเรียกตัวยาที่เข้าเครื่องยาสิ่งหนึ่งเท่ากับเครื่องยาอื่นๆ เช่น ประสะกะเพราะ หมายถึง การใช้กะเพราเท่ากับยาอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน

ซึ่งหากวงการวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันพิจารณาแต่เฉพาะตัวธาตุนั้นๆ ในรูปของสมุนไพรเดี่ยวโดยไม่ผ่านกระบวนการก็อาจจะถูกพิจารณาเป็นสารพิษและห้ามใช้ในตำรับยาได้  เช่น  โหราเท้าสุนัข โหราเดือยไก่ สารหนู ปรอท หรดาล ชาดก้อน ฯลฯ 

ตัวอย่างเช่น  “หรดาล” ซึ่งเป็นซัลไฟด์ของสารหนู (Arsenic trisulphide) มีรสขมปร่า แก้โรคในปาก กัดหัวฝี กัดขนกัดผมให้ร่วง ในการแพทย์แผนไทยมีวิธีลดผลเสียด้วยการบีบน้ำมะกรูด/น้ำมะนาวแล้วนำมาคั่วด้วยไฟ แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ใช้เป็นยาทาภายนอก ไม่เกินร้อยละ ๕ ของปริมาณตัวยา  

เช่นเดียวกับ “สารหนู” Arsenic เป็นธาตุวัตถุอันตราย  สารหนูหรือสารประกอบออกไซด์ของสารหนูรวมกันอยู่เมื่อคำนวณแล้วจะได้ปริมาณสารหนูไม่เกิน ๔ ส่วนในล้านส่วน

ในทำนองเดียวกับ “ชาดก้อน” มีเมอร์คิวริก ซัลไฟด์ (Mercuric Sulphide) มีวิธีฆ่าฤทธิ์ ด้วยการเอาชาดก้อนบดให้ละเอียดเป็นผงใส่ในฝาหม้อดินที่ตั้งบนเตาไฟร้อนจัด แล้วบีบน้ำมะกรูดครั้งที่ ๑ ให้ชุ่มชาดผง ตั้งไฟ คนเรื่อยๆ จนแห้ง ทำครบ ๓ ครั้ง ชาดผงจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงอมดำ (สีเข้มกว่าเดิม) หลังจากนั้นตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ขูดออกจากฝาหม้อดิน เก็บใส่ไว้ในขวดโหลแก้วแล้วปิดฝา เป็นต้น [4]

๔. กลุ่มสัตว์วัตถุ หรือพืชวัตถุ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหรือพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ ที่อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) 

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ส่งผลทำให้ตำรับยาที่มีกัญชามีส่วนผสมอยู่ในตำรับยาไทยจำนวน ๓๑ ขนาน กลายเป็นยาต้องห้ามดังต่อไปนี้ [1]

ตำรับยา ๒ ขนานในคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ คือ ยาทิพากาศ (มีฝิ่นอยู่ในสูตรตำรับ) และ ยามหาวัฒนะ (มีไคร้เครืออยู่ในสูตรตำรับ) [5] [6]

ตำรับยา ๓ ขนานในตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม คือ ยาแก้ลมสิตมัควาโย (มีฝิ่นอยู่ในสูตรตำรับ) [7] ยาแก้กระษัยท้นและกระษัยเสียด (มีไคร้เครืออยู่ในตำรับ)[8] และยาธรณีไหว ๑ (มีฝิ่นและโหราเท้าสุนัขอยู่ในสูตรตำรับ)[9]

ตำรับยา ๑ ขนาน ปรากฏในจารึกวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร คือ ยาบิดเลือดเน่า บิดเสลดเน่า (มีหรดาลอยู่ในสูตรตำรับ) [10]

ตำรับยา ๕ ขนาน ปรากฏในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ และ ๒ ร.ศ. ๑๒๘   เรียบเรียงโดย พระยาพิศณุประสาทเวช คือ ยาแก้ตกมูกเลือดตานโจร (มีฝิ่นอยู่ในสูตรตำรับ) [11] ยาทิพย์ศุภวรรณ (มีฝิ่นและดีงูเหลือมอยู่ในสูตรตำรับ)[12] ยาแก้ริดสีดวงเปื่อยทวารทั้ง ๙ (มีฝิ่น ชาดก้อน และสารหนูนอยู่ในสูตรตำรับ)[13] ยาแก้ลมไกษยเสียด (มีไคร้เครืออยู่ในสูตรตำรับ)[14] ยาพรหมภักตร์ (มีฝิ่นและโหราเท้าสุนัขอยู่ในสูตรตำรับ)[15]

ตำรับยา ๕ ขนาน ปรากฏในตำราเวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๑, ๒, ๓  เขียนโดยพระยาพิษณุประสาทเวช ร.ศ. ๑๒๗  คือ ยาประสะทับทิม (มีฝิ่นและดีงูเหลือมอยู่ในสูตรตำรับ)[16] ยาธรณีสันทฆาฏน้อย (มีโหราเท้าสุนัขอยู่ในสูตรตำรับ)[17]  ยาปัตฆาฏใหญ่ (มีโหราเท้าสุนัขอยู่ในสูตรตำรับ)[18] ยาเหลืองวิเศษ (มีฝิ่นและดีงูเหลือมอยู่ในสูตรตำรับ) [19]  ยาขับพิษสารพัดไม่ตัดกษัย (มีฝิ่นและลำโพงกาสลักอยู่ในสูตรตำรับ)[20]

ตำรับยา ๑๐ ขนาน ปรากฏในคัมภีร์แพทย์แผนโบราณ เล่ม ๑ เล่ม ๒ และ เล่ม ๓ พ.ศ. ๒๕๐๔ โดย ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อัมพัน กิตติขจร) คือ ยาแก้ลงท้อง (มีฝิ่นและชาดก้อนอยู่ในสูตรตำรับ)[21]  ยาเข้าเหล็กใหญ่ (มีโลหะหนักและสัตว์หายากอยู่ในสูตรตำรับ)[22]  ยาแก้ไข้นอนไม่หลับ (มีฝิ่น ลำโพงกาสลัก โหราอมฤต โหราเท้าสุนัข และโหราเดือนไก่อยู่ในสูตรตำรับ)[23]  ยาสุขไสยาสน์แก้ไข้นอนไม่หลับ (มีฝิ่น และเห็ดขี้วัวอยู่ในสูตรตำรับ)[24]  ยาอำมะฤกควาที (มีไคร้เครืออยู่ในสูตรตำรับ)[25] ยาสว่างอารมณ์ (มีฝิ่น ดีงูเหลือมอยู่ในสูตรตำรับ)[26]  ยาธรณีไหว ๒ (มีฝิ่นและโหราเท้าสุนัขอยู่ในสูตรตำรับ)[27]  ยาแก้ช้ำรั่วหนองในทวาร (มีฝิ่น ชาดก้อน และสารหนูอยู่ในสูตรตำรับ)[28] ยาแก้ประทุมไสยาสน์ (มีฝิ่นอยู่ในสูตรตำรับ)[29] ยาทำให้อดฝิ่น (มีขี้ยาฝิ่น อยู่ในสูตรตำรับ)[30] 

ตำรับยา ๑ ขนาน ปรากฏในเวชศาสตร์วัณ์ณณา ตำราแพทย์แบบเก่า เล่ม ๕ เรียบเรียงตามตำราของท่านพระยาประเสริฐสารทดำรง (หนู) พ.ศ. ๒๔๖๐  คือ  ยาออกฝีลงเลือด (มีฝิ่น ดีงูเหลือมอยู่ในสูตรตำรับ)[31]

ตำรับยา ๓ ขนาน ปรากฏใน ตำรับยาสภาอุณาโลมแดง ร.ศ. ๑๑๒ คือ ยาแดงใหญ่ (มีฝิ่นอยู่ในสูตรตำรับ)[32]  ยาธรณีสันตฆาฎ (มีโหราเท้าสุนัขอยู่ในสูตรตำรับ)[33] ยาวิสำพยาใหญ่ (มีรากไคร้เครืออยู่ในสูตรตำรับ)[34]

ตำรับยา ๑ ขนาน ปรากฏในตำรา อายุรเวทศึกษา โดย ขุนนิทเทศสุขกิจ เล่ม ๒ คือ ยาประทุมไสยาสน์จันทบุรี (มีฝิ่นและดีงูเหลือมอยู่ในสูตรตำรับ)[35]

จากข้อมูลดังที่ได้นำเสนอข้างต้น แสดงให้เห็นว่าตำรับยาที่มีกัญชาผสมแล้วเป็นตำรับยาต้องห้ามจำนวน ๓๑ ขนานนั้น มีตำรับยาที่มีกัญชาผสมถึง ๒๑ ขนานที่กลายเป็นตำรับยาต้องห้ามเพราะมีฝิ่นเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ จากวารสารทางการแพทย์ที่ชื่อ Frontiers in Physiology ฉบับเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ พบว่าแม้ว่าผลของการใช้ฝิ่นในระยะสั้นอาจจะทำให้หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตตกลงชั่วคราวแต่กลับทำให้น้ำตาลและไขมันในเลือดสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อใช้ฝิ่นในระยะยาวแล้วก็จะทำให้ทั้งน้ำตาล ไขมันในเลือดและความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น [36] สอดคล้องกับวารสาร Caspian Journal of Internal Medicine ฉบับเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ พบว่าผู้ที่ติดฝิ่นมีความเสี่ยงอย่างมากจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากสาเหตุขาดเลือด (Acute Myocardial Infarction)[37]

ส่วนกัญชานั้นค่อนข้างชัดว่าการมีการเสพเฉียบพลันทำให้หัวใจเต้นเร็ว ในขณะที่ในเรื่องผลการวิจัยในเรื่องความดันโลหิตนั้นยังมีความเสถียรน้อยกว่า[38]-[40] แต่ถ้ามีการเสพต่อเนื่องเป็นเวลานานแล้วจะทำให้หัวใจเต้นช้ากว่าปกติและทำให้ความดันโลหิตต่ำลงด้วย[41] [42]  ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการใช้ฝิ่นคู่กับกัญชาจะช่วยเรื่องการถ่วงดุลลดผลเสียในเรื่องของอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตได้ 

นอกจากนั้นแล้วยังมีงานวิจัยค้นพบว่าสารสำคัญในกัญชาที่มีชื่อว่าเดลต้าไนน์ เตตระไฮโดรแคนนาบิวาริน, (9)-tetrahydrocannabivarin (THCV), จะช่วยทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก และช่วยทำให้การทำงานของตับอ่อนในการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้น [43] ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นว่าการใช้กัญชาคู่กับฝิ่นในตำรับยานั้นอาจมีโอกาสช่วยแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อฝิ่นในเรื่องน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ด้วยเช่นกัน 

นอกจากนั้นแล้วยังมีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ฝิ่นนั้นจะทำให้ความอยากอาหารลดน้อยลง และทำให้ผอมแห้งลง[44] ซึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะท้ายๆหรือระยะประคับประคองนั้นมอร์ฟีนจะสามารถแก้ลักษณะอาการปวดทุกข์ทรมานได้เหมาะกว่ากัญชา   แต่การใช้มอร์ฟีนย่อมส่งผลต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งอยากอาหารลดน้อยลงด้วย ในขณะที่กัญชามีผลตรงกันข้ามเพราะสามารถช่วยการเจริญอาหารให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งได้[45]-[48] ซึ่งสวนทางกับการใช้มอร์ฟีนหรือฝิ่นในยุคปัจจุบันที่มักจะใช้เป็นยาเดี่ยวโดยไม่ได้มีเรื่องกัญชามาเกี่ยวข้องมาก่อนหน้านี้

ในขณะที่ความจริงจากงานวิจัยพบว่า กัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ และกัญชาก็ย่อมเสพติดยากกว่ามอร์ฟีนหรือฝิ่นด้วยเช่นเดียวกัน นักวิจัยยุคปัจจุบันเริ่มมาสนใจสารสำคัญในกัญชาที่มีส่วนช่วยลดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้ 

โดยในวารสารเกี่ยวกับกัญชาและสารสกัดกัญชาที่ชื่อว่า Cannabis and Cannabinoid Research ฉบับออนไลน์เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๑ ได้ออกรายงานวิจัยรวบรวมผลของการทดลองทางคลินิก (การทดลองก่อนการทดลองในมนุษย์)โดยสรุปว่ามีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกัญชาที่จะช่วยในการถอนอาการต่างๆในการใช้ฝิ่น ช่วยลดการใช้ฝิ่น ลดความอยากฝิ่น ลดอาการลงแดง และช่วยป้องกันการกลับมาใช้ฝิ่นอีก ช่วยบำบัดอาการผิดปกติในการใช้ฝิ่นหรือสารสกัดฝิ่นเป็นเวลานาน และลดการเสียชีวิตในการใช้ฝิ่นด้วย [49] 

เช่นเดียวกับกระท่อมซึ่งมีรายงานตีพิมพ์ในวารสาร Innovations in Clinical Neuroscience เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ โดยมีรายงานกรณีศึกษาของผู้ป่วย ๓ ราย ที่ใช้กระท่อมแก้ไขปัญหาการเกิดวิกฤตของผู้ป่วยที่ใช้ฝิ่นได้[50]

ที่กล่าวอ้างอิงงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เพราะคนไทยมักจะเชื่องานวิจัยล่าสุดของฝรั่งมากกว่าจะเชื่อคนไทยกันเอง หากท่านผู้อ่านทำใจเชื่อข้อมูลงานวิจัยยุคหลังนี้แล้ว ก็ได้โปรดเตรียมภูมิใจในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยยิ่งกว่านั้น เพราะตำรับยาไทยที่ใช้กัญชาผสมฝิ่นนั้นรู้มาก่อนฝรั่งนานมากกว่า ๓๐๐ ปีแล้ว 

โดยเป็นตัวอย่างตำรับยาที่ถูกกระทรวงสาธารณสุขห้ามแพทย์แผนไทยได้ใช้เพราะมีฝิ่นผสมอยู่ด้วย นั่นคือ ตำรับยาที่ชื่อ “ทิพากาศ” ซึ่งเป็นตำรับยาที่ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยอยุธยา ความว่า

“ยาทิพากาศ ให้เอายาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร ๔ ส่วน ฝิ่น ๔ ส่วน ใบกันชา ๑๖ ส่วน สุราเปนกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายให้ชอบโรคร้อนแลเยน กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันระส่ำระสาย กินเข้ามิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแล๚”[5][6]

และยังมีตำรับยาขนานหนึ่งของ ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) ปรากฏอยู่ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณ เล่ม ๓ พ.ศ. ๒๕๐๔ ชื่อ “ยาอดฝิ่น”ความว่า 

“ยาทำให้อดฝิ่น เอาขี้ยา (หมายถึงขี้ยาฝิ่น) ๒ สลึง เถาวัลย์เปรียงพอประมาณ กันชาครึ่งกำ ใบกระท่อม เอาให้มากกว่ายาอย่างอื่น ต้มกิน ให้กินตามเวลาที่เคยสูบฝิ่น เมื่อกินไป ๑ ถ้วย ให้เติมน้ำ ๑ ถ้วย ให้ทำดังนี้จนกว่ายาจะจืด เมื่อกินจนน้ำจืดแล้วยังไม่หาย ให้ต้มกินหม้อใหม่ต่อไป” [30]

ภาษิตโบราณของชาวนครศรีธรรมราชที่กล่าวเอาไว้ถึงของที่มึนเมา ๔ ชนิดที่ให้ผลต่อการใช้ประโยชน์ต่างกันว่า

“เหล้าว่าเอาวา กัญชาว่าอย่าก่อน ฝิ่นว่าคิดให้แน่นอน ท่ม(กระท่อม)ว่าหาบคอนยกให้ฉาน (ฉัน)”

ปัจจุบันเหล้ากลายเป็นกลุ่มทุนสัมปทานขนาดใหญ่ที่คอยกวาดล้างทำลายสุราพื้นบ้านจนหมดสิ้น

กัญชาเราเคยถูกหลอกว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ ทั้งๆที่กัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ แต่ชาวต่างชาติกลับไปสารสกัดเข้มข้นที่อ้างว่าเป็นยาเสพติดไปวิจัยและจดสิทธิบัตรจำนวนมากกลับมาขายให้กับคนไทย โดยที่คนไทยเต็มไปด้วยข้อจำกัดและกติกาจำนวนมาก แม้แต่แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านก็ห้ามปลูกเพื่อปรุงยาเอง แม้จะใช้ก็ต้องผ่านการฝึกอบรมก่อนเท่านั้น และการฝึกอบรมก็ทำได้อย่างล่าช้าและจำกัดมาก  ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้มีใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยแล้วมีความรู้เรื่องรสยาทั้งหมดอยู่แล้ว และตำรับยาก็มีให้เห็นเป็นบันทึกอย่างชัดเจนแล้ว รัฐกำหนดขั้นตอนที่มีความยุ่งยากเกินความจำเป็นไปหรือไม่?

ฝิ่นที่อ้างว่าเป็นยาเสพติด แต่ทุกวันนี้ต่างชาติกลับนำไปสกัดเป็นมอร์ฟีนซึ่งทำให้เสพติดได้มาเป็นยาเดี่ยวให้แพทย์แผนปัจจุบันได้ใช้เท่านั้น  แล้วห้ามตำรับยาในแพทย์แผนไทยที่มีฝิ่นผสมทั้งหมด ซึ่งรวมถึงตำรับยาที่ใช้กัญชาคู่กับฝิ่นด้วย

กระท่อมเป็นพืชแม้จะทำให้มึนเมาได้ แต่ไม่เคยปรากฏว่าเป็นยาเสพติดในประเทศไหนเลย กระท่อมจึงกลายเป็นยาเสพติดในประเทศไทย ในขณะที่ชาวต่างชาตินำกระท่อมไทยไปจดสิทธิบัตรขายไปในหลายประเทศ ส่วนประเทศไทยก็จำกัดให้บางตำบลมีสิทธิใช้กระท่อมได้

ถ้าวันนี้เราจะใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์  และแพทย์แผนไทยก็สามารถใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ก็ต้องมีคำถามต่อมาว่าเหตุใดจึงต้องให้แพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้นจึงจะมีสิทธิในมอร์ฟีนเท่านั้น แล้วเหตุใดแพทย์แผนไทยถึงไม่มีสิทธิใช้ฝิ่นหรือมอร์ฟีนที่ประเทศชาติมีภูมิปัญญาในการใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ควรจะคืนฝิ่นหรือมอร์ฟีนให้กับภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้มีโอกาสใช้ได้ด้วย

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] เอกสาร (ร่าง)รายการตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นรายการตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ วันศุกร์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี
[2] พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พุทธศักราช ๒๕๒๒
[3] IARC Working Group in 2002 (IARC, 2002)., PLANTS CONTAINING ARISTOLOCHIC ACID
[4] มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิมฯ โรงเรียนอายุรเวท (ชีวกโกมารภัจจ์) ตำราเภสัชกรรมไทย พิมพ์ครั้งแรก กรุงเทพฯ : พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์, ๒๕๔๘ ๒๕๖ หน้า ISBN 974-93028-2-6 
[5] คัมภีร์ธาตุพระนารายน์ (ฉบับใบลาน) กรมหลวงวงสาฯ กรมหมื่นไชยนาท ประทาน พ.ศ. ๒๔๕๙
[6] ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์, คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติมหาราชา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์และมูลนิธิภูมิปัญญา
[7] โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระนคร, พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ฉบับสมบูรณ์, ๒๕๐๕ หน้า ๔๑๖
[8] โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระนคร, พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ฉบับสมบูรณ์, ๒๕๐๕ หน้า ๓๖๑
[9] โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระนคร, พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ฉบับสมบูรณ์, ๒๕๐๕ หน้า ๓๑๕
[10] กรมศิลปากร จารึกตำรายา วัดราชโอรสรามราชวรวิหาร กรุงเทพ, ๒๕๔๕ หน้า ๑๒๕
[11] พิศณุประสาทเวช, พระยา แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์ สพานยศเส, ร.ศ. ๑๒๘ หน้า ๓๔๑
[12] พิศณุประสาทเวช, พระยา แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์ สพานยศเส, ร.ศ. ๑๒๘ หน้า ๒๘๒
[13] พิศณุประสาทเวช, พระยา แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์ สพานยศเส, ร.ศ. ๑๒๖ หน้า ๑๑๖
[14] พิศณุประสาทเวช, พระยา แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์ สพานยศเส, ร.ศ. ๑๒๖ หน้า ๓๕๕
[15] พิศณุประสาทเวช, พระยา แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์ สพานยศเส, ร.ศ. ๑๒๖ หน้า ๓๕๘
[16] พิศณุประสาทเวช, พระยา เวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๑ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์ไทย สพานยศเส ร.ศ. ๑๒๗ หน้า ๖๗
[17] พิศณุประสาทเวช, พระยา เวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๑ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์ไทย สพานยศเส ร.ศ. ๑๒๗ หน้า ๖๙
[18] พิศณุประสาทเวช, พระยา เวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๑ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์ไทย สพานยศเส ร.ศ. ๑๒๗ หน้า ๗๐
[19] พิศณุประสาทเวช, พระยา เวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๑ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์ไทย สพานยศเส ร.ศ. ๑๒๗ หน้า ๘๖
[20] พิศณุประสาทเวช, พระยา เวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๓ ธนบุรี โรงพิมพ์พาณิชย์เจริญ:๒๔๙๖ หน้า ๔๑ 
[21] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) คัมภีร์แพทย์แผนไทยแผนโบราณ เล่ม ๑ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ๒๕๐๔ หน้า ๑๙๗
[22] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) คัมภีร์แพทย์แผนไทยแผนโบราณ เล่ม ๑ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ๒๕๐๔ หน้า ๒๙๘
[23] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) คัมภีร์แพทย์แผนไทยแผนโบราณ เล่ม ๑ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ๒๕๐๔ หน้า ๓๐๖
[24] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) คัมภีร์แพทย์แผนไทยแผนโบราณ เล่ม ๑ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ๒๕๐๔ หน้า ๓๑๐
[25] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) คัมภีร์แพทย์แผนไทยแผนโบราณ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ๒๕๐๔ หน้า ๒๗๑
[26] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) คัมภีร์แพทย์แผนไทยแผนโบราณ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ๒๕๐๔ หน้า ๑๕๕
[27] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) คัมภีร์แพทย์แผนไทยแผนโบราณ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ๒๕๐๔ หน้า ๒๗๒
[28] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) คัมภีร์แพทย์แผนไทยแผนโบราณ เล่ม ๓ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ๒๕๐๔ หน้า ๒๖๑
[29] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) คัมภีร์แพทย์แผนไทยแผนโบราณ เล่ม ๓ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ๒๕๐๔ หน้า ๒๗๒
[30] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) คัมภีร์แพทย์แผนไทยแผนโบราณ เล่ม ๓ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ๒๕๐๔ หน้า ๒๖๕
[31] สุ่ม วรกิจ พิศาล เวชศาสตร์วัณ์ณณา ตำราแพทย์แผนเก่า เล่ม ๑ เล่ม ๕ เรียบเรียงตามตำราของท่านพระยาประเสริฐสารทดำรง (หนู) บิดา กรุงเทพ พิศาลบรรณนิติ์ ; ๒๕๖๐ หน้า ๘๘๙
[32] สภากาชาดไทย. ตำรายาสภาอุณาโลมแดง ร.ศ. ๑๑๒ พิมพ์ครั้งที่ ๑ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์(๑๙๗๗) จำกัด; ๒๕๕๗ หน้า ๒๗
[33] สภากาชาดไทย. ตำรายาสภาอุณาโลมแดง ร.ศ. ๑๑๒ พิมพ์ครั้งที่ ๑ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์(๑๙๗๗) จำกัด; ๒๕๕๗ หน้า ๕๑
[34] สภากาชาดไทย. ตำรายาสภาอุณาโลมแดง ร.ศ. ๑๑๒ พิมพ์ครั้งที่ ๑ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์(๑๙๗๗) จำกัด; ๒๕๕๗ หน้า ๒๕
[35] นิเทส (ถมรัตน์) พุ่มชูศรี. อายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทศสุขกิจ) เล่ม ๒ กรุงเทพฯ: พร้อมจักรการพิมพ์, ๒๕๑๖ หน้า ๑๕๕
[36] Najafipour H, Beik A. The Impact of Opium Consumption on Blood Glucose, Serum Lipids and Blood Pressure, and Related Mechanisms. Front Physiol. 2016;7:436. Published 2016 Oct 13. doi:10.3389/fphys.2016.00436
[37] Khosoosi Niaki MR, Hamid M, Farshidi F, Mohammadpour M, Salehi Omran MT. Evaluation of the role of opium addiction in acute myocardial infarction as a risk factor. Caspian J Intern Med. 2013;4(1):585-589.
[38] Gorelick DA, Heishman SJ, Preston KL, Nelson RA, Moolchan ET, Huestis MA, et al. The cannabinoid CB1 receptor antagonist rimonabant attenuates the hypotensive effect of smoked marijuana in male smokers. Am Heart J 2006. 151:754.e1-5. [PubMed] [Google Scholar]
[39] Jones RT. Cardiovascular system effects of marijuana. J Clin Pharmacol. 2002;42:58S-63S. [PubMed] [Google Scholar]
[40] Ho WS, Kelly ME. Cannabinoids in the cardiovascular system. Adv Pharmacol. 2017;80:329-66. [PubMed] [Google Scholar]
[41] Pacher P, Bátkai S, Kunos G. The endocannabinoid system as an emerging target of pharmacotherapy. Pharmacol Rev. 2006;58:389-462.[PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
[42] Randall MD, Harris D, Kendall DA, Ralevic V. Cardiovascular effects of cannabinoids. Pharmacol Ther. 2002;95:191-202.[PubMed] [Google Scholar]
[43] Jadoon KA, Ratcliffe SH, Barrett DA, Thomas EL, Stott C, Bell JD, O'Sullivan SE, Tan GD. Efficacy and Safety of Cannabidiol and Tetrahydrocannabivarin on Glycemic and Lipid Parameters in Patients With Type 2 Diabetes: A Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled, Parallel Group Pilot Study. Diabetes Care. 2016 Oct;39(10):1777-86. doi: 10.2337/dc16-0650. Epub 2016 Aug 29. PubMed PMID: 27573936.
[44] Divsalar K., Haghpanah T., Afarinesh M. (2010). Opium and heroin alter biochemical parameters of human's serum. Am. J. Drug Alcohol Abuse 36, 135-139. 10.3109/00952991003734277 [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]
[45] Jatoi A, Windschitl HE, Loprinzi CL, et al. Dronabinol versus megestrol acetate versus combination therapy for cancer-associated anorexia: a North Central Cancer Treatment Group study. J Clin Oncol. 2002;20:567-573. [PubMed] [Google Scholar]
[46] Regelson W, Butler JR, Schulz J. Delta-9-tetrahydrocannabinol as an effective antidepressant and appetite-stimulating agent in advanced cancer patients. In: Braude MC, Szara S, et al., editors. Pharmacology of marihuana. Vol 2. New York: Raven Press; 1976. pp. 763-776. [Google Scholar]
[47] Brisbois TD, de Kock IH, Watanabe SM, et al. Delta-9-tetrahydrocannabinol may palliate altered chemosensory perception in cancer patients: results of a randomized, double-blind, placebo-controlled pilot trial. Ann Oncol. 2011;22:2086-2093. [PubMed] [Google Scholar]
[48] Strasser F, Luftner D, et al. Cannabis-In-Cachexia-Study-Group. Comparison of orally administered cannabis extract and delta-9-tetrahydrocannabinol in treating patients with cancer-related anorexia-cachexia syndrome: a multicenter, phase III, randomized, double-blind, placebo-controlled clinical trial from the Cannabis-In-Cachexia-Study-Group. J Clin Oncol. 2006;24:3394-3400. [PubMed] [Google Scholar]
[49] Wiese B, Wilson-Poe AR. Emerging Evidence for Cannabis' Role in Opioid Use Disorder. Cannabis Cannabinoid Res. 2018;3(1):179-189. Published 2018 Sep 1. doi:10.1089/can.2018.0022
[50] Bestha D. KRATOM AND THE OPIOID CRISIS. Innov Clin Neurosci. 2018 Jun 1;15(5-6):11. Epub 2018 May-Jun. PubMed PMID: 30013812; PubMed Central PMCID: PMC6040724.


กำลังโหลดความคิดเห็น