xs
xsm
sm
md
lg

นักรัฐประหารซูดาน ‘ตีกิน’ ไม่ง่ายแน่...

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

ประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชีร์ แห่งซูดาน
การรัฐประหารยังไม่ล้าสมัย เกิดขึ้นได้เสมอถ้ามีเงื่อนไข องค์ประกอบเป็นใจ โดยเฉพาะการยึดอำนาจรัฐโดยกองทัพซึ่งมักจะมีข้ออ้างที่ฟังดูแล้วโดนใจชาวบ้าน หวังว่าถ้ายึดอำนาจแล้วจะขออยู่ต่อ โดยข้ออ้างเช่นรักษาความสงบ จัดการปัญหา นั่นนี่โน่น...

ไม่มีคณะรัฐประหารประกาศว่าต้องการอำนาจเพื่อตัวเองและพวกพ้อง ประชาชนถูกอ้างเสมอว่าจะได้รับประโยชน์จากการแก้ไขปัญหา ถ้าพวกที่ถูกโค่นล้มยึดอำนาจไปเป็นเผด็จการ มีพฤติกรรมโกงบ้านกินเมือง ชาวบ้านเดือดร้อน เป็นที่ประจักษ์

ยิ่งอยู่กินเมืองนาน 20-30 ปี หยั่งรากลงลึก ยิ่งเป็นเหตุให้ถูกรัฐประหารโดยง่าย เพราะกองทัพต้องยอมรับว่าถ้าขืนให้อยู่ต่อไป ตัวเองมีแต่อดอยาก ลูกน้องลำบาก ถ้าเกษียณอายุก็หมดโอกาสรวย ดังนั้น ทางเลือกที่จำเป็นคือ “ทำรัฐประหารแล้ว...รวย”

การรัฐประหารโดยกองทัพซูดาน โค่นล้มประธานาธิบดี โอมาร์ อัล-บาชีร์ ซึ่งได้กุมอำนาจเสวยสุขบนกองทุกข์ของชาวบ้านนานกว่า 30 ปี จึงเป็นโดยง่าย ไร้แรงต้าน และช่วงแรกรัฐมนตรีกลาโหม พลโทอาเหม็ด อาวาด อิบนูฟ ประกาศเป็นผู้นำรัฐประหาร

ก่อนนั้นรัฐมนตรีกลาโหมยังควบตำแหน่งรองประธานาธิบดีอีกด้วย ที่ทำรัฐประหารได้สำเร็จเพราะการสนับสนุนของกองทัพ ซึ่งมีผู้นำคือ พลโทอับเดล ฟัตตาห์ อับเดลราห์มาน เบอร์ฮาน และตัวรัฐมนตรีเองได้ประกาศเป็นหัวหน้าคณะทหาร

ตามสูตรการรัฐประหาร กองทัพได้ประกาศภาวะฉุกเฉินยาวนาน 3 เดือน สั่งยุบสภานิติบัญญัติ สั่งห้ามออกนอกบ้านในยามวิกาล สั่งจับกุมสอบสวนอดีตประธานาธิบดีและคณะ ซึ่งรวมทั้งรัฐมนตรีมหาดไทย หัวหน้าหน่วยข่าวกรอง และสมุนผู้ตกจากอำนาจ

การรัฐประหาทำได้ง่าย เพราะกองทัพทำเอง และเกิดขึ้นหลังจากประชาชนชุมนุมเดินขบวนต่อต้านขับไล่รัฐบาลของ อัล-บาชีร์ นานเป็นเดือนๆ แต่ผู้นำไม่ยอมลงจากอำนาจ เพราะเสพติดอำนาจ ขี่หลังเสือนาน 30 ปี ไม่ยอมให้ใครมาแย่งสมบัติแผ่นดิน

พฤติกรรมไม่ต่างจากการรัฐประหารในประเทศกำลังด้อยพัฒนาโดยทั่วไป อัล-บาชีร์และพวกยังเป็นผู้ถูกกล่าวหาโดยศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อหาสังหารโหด และทารุณประชาชนในเมืองดาร์ฟูร์ในปี 2003 เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คนตายเป็นเบือ

เป็นสุดยอดความสยดสยอง เมื่อกองทัพของรัฐบาล อัล-บาชีร์ ได้เข่นฆ่าชาวบ้านที่ไม่ใช่เป็นชาวอาหรับ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในซูดาน จนเป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คาดว่ามีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน ผู้นำประเทศถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร

ยังเป็นสุดยอดของการทุจริต คอร์รัปชัน ชาวบ้านจมอยู่ในความยากจนข้นแค้น

เมื่อกองทัพทำรัฐประหาร ชาวบ้านก็ตื่นเต้นยินดี ร้องรำทำเพลงตามถนน พวกเดินขบวนขับไล่รัฐบาลเก่าแสดงความดีใจที่กองทัพขับไล่รัฐบาลทรราชออกไป ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นก็เป็นกองทัพนี่แหละที่สนับสนุนให้อัล-บาชีร์ได้กดขี่ชาวบ้านนานกว่า 30 ปี

คณะรัฐประหารได้ปลดปล่อยนักโทษที่โดนจองจำคุมขังในยุคที่ อัล-บาชีร์ กุมอำนาจ แต่บรรดาสมาชิกนิติบัญญัติที่ตกงานยังจงรักภักดีสนับสนุนอดีตผู้นำอยู่ เพราะได้ทำหน้าที่สภาตรายางรับใช้เผด็จการ ตักตวงผลประโยชน์จากตำแหน่งนานหลายปี

เมื่อคณะรัฐประหารว่าจะกุมอำนาจเป็นรัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่านนาน 2 ปีเพื่อวางรากฐานระบอบประชาธิปไตย ชาวบ้านก็เอะใจ ว่าคณะเสือหิวใหม่เข้ามาหรือไม่ และหัวหน้าคณะ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมอยู่ได้นานเพียง 2 วันก็โดนแม่ทัพบกเขี่ยออกไป

เมื่อทำรัฐประหาร เสี่ยงทำเองแล้ว ก็ต้องขอเป็นเอง อะไรทำนองนั้น ไม่ต่างจากประเทศกำลังด้อยพัฒนาทางการเมืองในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นิยมรัฐประหารเป็นรูปแบบ “รัฐประหารแล้วรวย” มีความมั่งคั่งปรากฏให้เห็น พิสูจน์ได้!

แต่ความหวังที่ผู้นำกองทัพซูดานจะอยู่ในอำนาจ 2 ปี เพื่อตีกิน ไม่ง่าย ประชาชนที่ดีใจเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุมเป็นการประท้วง ให้คณะรัฐประหารออกไป ให้มีรัฐบาลพลเรือนเข้ามาจัดการบริหารประเทศ ให้กองทัพกลับสู่ค่าย เพื่อรักษาความสงบต่อไป

เมื่อคณะรัฐประหารอิดออด พยายามเอาใจชาวบ้าน ด้วยการยกเลิกประกาศการห้ามออกนอกบ้านในยามวิกาล ก็ยังไม่ยอม การชุมนุมเดินขบวนประท้วง เรียกร้องมีอยู่ต่อ กองทัพที่พยายามเอาใจชาวบ้าน ก็เปลี่ยนใจ หันกระบอกปืนใส่เพื่อให้เลิกเดินขบวน

มีเสียงปืนดังประปราย คาดว่าเป็นการยิงโดยผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี และส่วนหนึ่งกองทัพก็ยิงตอบโต้ และยิงขู่ชาวบ้านหลายหมื่นคนที่ชุมนุมเดินขบวนอยู่ จุดที่ชุมนุมยืดเยื้อคือหน้ากองบัญชาการของกองทัพซูดานในเมืองหลวง คือคาร์ทูม

ถูกขู่ แต่ชาวบ้านไม่ยอม แม้จะมีคนถูกยิงตายกว่า 10 คน บาดเจ็บจากการปะทะก็ยังไม่เลิกรา ไม่ยอมให้คณะรัฐประหารกุมอำนาจรัฐ เพราะต้องการให้มีรัฐบาลพลเรือนเข้ามาจัดการเลือกตั้ง คืนสู่ระบอบประชาธิปไตย ไม่ขออยู่ 2 ปีภายใต้คณะรัฐประหาร

ประชาชนซูดาน ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศสมาชิกของสหภาพแอฟริกัน ซึ่งได้ยื่นคำขาดให้คณะรัฐประหารซูดานคืนอำนาจให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนภายใน 15 วัน และงดออกแถลงการณ์ต่างๆ เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่

สภาสันติภาพและความมั่นคงของสหภาพแอฟริกันได้ประณามการยึดอำนาจ และแสดงความกังวลว่าถ้ากองทัพซูดานยังดึงดันอยู่ต่อในอำนาจ อาจทำให้มีปัญหาด้านเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และซูดานอาจโดนถอดถอนจากสมาชิกสหภาพ

ล่าสุดคณะรัฐประหารมีท่าทีอ่อนลง ส่งสัญญาณให้รับรู้ว่าอาจกุมอำนาจเพื่อควบคุมสถานการณ์เพียง 2-3 เดือน ก่อนส่งมอบอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนต่อไป ต้องดูว่าถ้าเห็นประชาชนยอม เลิกการชุมนุม จะมีเหตุต้อง “พลิกลิ้น” หรือไม่



กำลังโหลดความคิดเห็น