ในระหว่างที่รอ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาฯ ผู้เขียนคิดว่าคนไทยทุกคนที่สนใจติดตามการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมืองผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านลบ และในด้านบวกจากนักการเมืองที่ได้รับเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในด้านนิติบัญญัติ และในด้านบริหารประเทศ
ในระหว่างที่รอการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เกือบทุกวันได้มีข่าวทำให้เกิดความสับสน และเกิดความสงสัยในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. จากการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้รับ โดยเฉพาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่มีความแน่นอน แม้การเลือกตั้งได้ผ่านไปแล้วกว่าสองสัปดาห์
2. แม้มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว 100% แต่ถึงกระนั้นยังปรากฏเป็นข่าวออกมาว่า กกต.ยังสับสนกับวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และจะหารือกันเพื่อหาข้อยุติ ซึ่งฟังข่าวนี้แล้วทำให้เกิดข้อกังขาว่า ทำไม กกต.ไม่ประชุมหารือให้ได้ข้อยุติและประกาศให้ทุกพรรคการเมืองทราบก่อนการเลือกตั้ง ในทำนองเดียวกันกับการแข่งขันกีฬาที่องค์กรซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันกีฬาประเภทนั้นๆ จะประกาศกฎเกณฑ์ และกติกาที่จะใช้ในการแข่งขันในแต่ละครั้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการแข่งขันโดยใช้กติกาใด
3. ยังไม่ทันที่จะประกาศผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยซึ่งได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ได้คะแนนเสียงหรือ Popular Vote เป็นลำดับ 2 และพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.ลำดับ 2 แต่ได้คะแนนเสียงมาเป็นลำดับ 1 ต่างก็ออกมาให้ข่าวชิงความเป็นแกนนำในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยที่ฝ่ายแรกอ้างความชอบธรรมจากการได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนฝ่ายหลังอ้างความชอบธรรมจากการได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง จึงกลายเป็นความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความสับสน และฟังแล้วทำให้มองเห็นเจตนาในการเข้าสู่วงการเมืองของนักการเมืองทั้งสองพรรคว่า เพื่อการได้มาซึ่งอำนาจรัฐที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง ทั้งในทางตามน้ำ และทวนน้ำมากกว่าที่จะเข้ามารับใช้ประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนโดยรวมตามครรลองแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามนัยที่ว่าโดยประชาชนเพื่อประชาชน
เนื่องจากว่า ถ้าเป็นนักการเมืองตามนัยนี้แล้ว จะเป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน ก็ทำประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนได้ตามสถานะและสภาวะที่เอื้ออำนวยให้ทำได้ กล่าวคือ ถ้าเป็นรัฐบาลก็บริหารประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่ประเทศ และประชาชนได้ตามนโยบายที่ได้ปราศรัยหาเสียงไว้ ในทางกลับกัน ถ้าเป็นฝ่ายค้านก็คอยปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนมิให้ได้รับความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการของรัฐบาล โดยการท้วงติงและเสนอแนะแนวทางดำเนินการอันจะก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ประเทศ และประชาชนโดยรวมได้
ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น อนุมานได้ว่าเป็นเหตุทำให้ประชาชนสับสนระหว่างที่รอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
เมื่อผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ประกาศออกมา ความสับสนคงจะหมดไป แต่อาจกลายเป็นความวุ่นวายแทน ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ด้วยผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ประกาศออกมาแล้ว ส่อเค้าไม่โปร่งใสและมีเลศนัย การจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งนี้เนื่องจากว่าทั้งสองพรรคที่มีโอกาสเป็นแกนนำจะหาพรรคร่วมรัฐบาลได้ยาก โดยเฉพาะการจะดึงพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ ด้วยเหตุว่าทั้งสองพรรคค่อนข้างมีจุดยืนทางการเมืองชัดเจน และจุดยืนที่ว่านี้ ดูเหมือนจะขัดกับพฤติกรรมองค์กรทางการเมืองของทั้งสองพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศไว้ชัดเจนว่า จะไม่ร่วมกับผู้ที่มาจากระบอบเผด็จการ และผู้ที่เคยมีพฤติกรรมการทุจริต คอร์รัปชัน
ถ้าทั้งสองพรรคยึดจุดยืนเดิม และต้องการให้พรรคเป็นสถาบันทางการเมือง และต้องการเป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ พรรคแกนนำทั้งสองพรรคคงจะพบอุปสรรคในการดึงสองพรรคนี้เข้าร่วมแน่นอน
2. ด้วยเหตุปัจจัยในข้อ 1 ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย คงจะมองเห็นอนาคตของรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำว่า คงจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ยาก ตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลไปจนถึงได้เป็นรัฐบาล ก็จะบริหารประเทศให้ตลอดรอดฝั่งได้ยาก
ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่าพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลจะต้องคิดหนัก ถ้าต้องการเป็นนักการเมืองโดยหลัก โดยประชาชนเพื่อประชาชน เว้นไว้แต่ว่าจะยึดหลักโดยประชาชน แต่เพื่อตนเอง
3. ถ้าเผอิญในการเลือกตั้งมีผู้กระทำผิดกฎหมายถึงขั้นทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นโมฆะ กกต.ในฐานะผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งโดยตรง และรัฐบาลโดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน คสช.และนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบในการกำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย จะต้องรับผิดชอบโดยการลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้คนใหม่เข้ามาดูแลแก้ไขการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ถ้าผู้ที่รับผิดชอบไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ โอกาสที่จะเกิดการต่อต้าน และเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งมีความเป็นไปได้สูง
สุดท้ายขอจบด้วยกลอน 2 บทต่อไปนี้
คนทำผิด คิดใหม่ แก้ไขได้
แต่มิใช่ ผิดซ้ำซาก ยากแก้ไข
ผิดเพียงครั้ง ยังพอ ให้อภัย
ผิดเรื่อยไป ควรอำลา ดีกว่าอยู่
ผิดประจำ เป็นนิสัย แก้ไขยาก
ทำผิดมาก จนเขาด่า น่าอดสู
ผิดเพียงครั้ง ยังอ้างได้ ไว้เป็นครู
ผิดแล้วรู้ รีบแก้ไข ได้ใจคน