xs
xsm
sm
md
lg

งัดม.44ปลดล็อกรถไฟฟ้าสีเขียว ศาลปค.ห้ามรฟม. ปิดการจราจรถ.แจ้งวัฒนะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ (11เม.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3 /2562 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-แบริ่ง ช่วงบางหว้า-สนามกีฬาแห่งชาติ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาในการบูรณาการ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการโครงการ และการบริหารจัดการสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถไฟฟ้า ที่ยังไม่มีความเป็นเอกภาพ
ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหา ให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนผู้โดยสาร และมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม ให้การเข้าถึงการใช้บริการระบบขนส่งมวลชน เป็นไปอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และเพิ่มประสิทธิภาพต่อระบบคมนาคมขนส่ง และระบบเศรษฐกิจของประเทศ
อาศัย อำนาจตามความใน มาตรา 265 ของรธน. ประกอบกับ มาตรา 44 ของรธน. (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้าคสช. โดยความเห็นชอบของคสช. จึงมีคำสั่ง ให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชน เพื่อติดตั้งระบบรถไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าโครงการส่วนต่อขยาย ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและด้านระบบรถไฟฟ้า ซึ่งรมว.มหาดไทยแต่งตั้ง ด้านละหนึ่ง คน เป็นกรรมการ และปลัดกทม. เป็นกรรมการและเลขานุการ
มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่น เพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด และเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทาน ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และ ให้ดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับผู้รับสัมปทานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขแล้ว ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
อย่างไรก็ตาม กรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถหาข้อยุติได้ ให้กระทรวงมหาดไทย รายงานผลการดำเนินการ และเสนอแนวทางอื่น ในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อครม.เพื่อพิจารณาต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ กทม.ได้มีการเจรจากับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS อย่างไม่เป็นทางการ เรื่องการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ และเหนือ ส่วนต่อขยาย ซึ่ง BTS ยอมรับในหลักการ เงื่อนไขในการรับชำระหนี้ค่าก่อสร้าง กว่า 5 หมื่นล้านบาท ค่าระบบอาณัติสัญญากว่า 2 หมื่นล้านบาท และดอกเบี้ย ซึ่งมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยให้ชำระหนี้สินต่อกระทรวงการคลังให้เรียบร้อยในช่วง 10 ปีแรก ขณะที่กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นทางหลัก และส่วนต่อขยายทั้งหมด สูงสุดไม่เกิน 65 บาท
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่เจรจากับ BTS กทม.ได้ดำเนินการตามขั้นตอน การร่วมลงทุน ระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2556 และเสนอไปยัง คณะกรรมการ PPP ซึ่งหาก BTS ไม่รับเงื่อนไข กทม. ยังมีแนวทางเปิดประมูล ซึ่งจะเปิดกว้างให้เอกชนทุกรายเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งจะใช้เงื่อนไขเดียวกับที่เจรจากับ BTS ขณะที่ปัจจุบัน ได้มีการเปิดให้บริการสายสีเขียวส่วนต่อขยาย "แบริ่ง-สมุทรปราการ" ไปแล้ว โดยไม่เก็บค่า โดยสาร และตั้งเป้าจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารตั้งแต่ วันที่ 16 เม.ย. 62 แต่เนื่องจากการเจรจาและการแก้สัญญาสัมปทานยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่าจะยังไม่สามารถเก็บค่าโดยสารได้อีกระยะหนึ่ง

** ห้าม รฟม. ปิดการจราจร ถ.แจ้งวัฒนะ

วันเดียวกันนี้ ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา ห้ามการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยบริษัทซิโน - ไทยฯ กระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ในพื้นราบทุกช่องทาง บนถนนแจ้งวัฒนะ ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าหลักสี่ ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถึงบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไป จนกว่าจะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ หรือมีการออกประกาศ ข้อบังคับจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และให้ ผบช.น. ดำเนินการให้ถูกต้อง ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ในคดีที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลา ลูน่า ผู้ฟ้องคดี ผู้ประกอบกิจการ ร้าน ลาลูน่า ถ.แจ้งวัฒนะ ยื่นฟ้องรฟม.และ ผบช.น. ว่า ออกประกาศแจ้งปิดเบี่ยงจราจรพื้นราบทุกช่องทางชั่วคราว บนถนนแจ้งวัฒนะ ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าหลักสี่ ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถึงบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ เพื่อดำเนินงานตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตั้งแต่ วันที่ 27 มี.ค.-31 ก.ค. 62 ระหว่าง 22.00 น.-04.00 น. โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า สร้างความเดือดร้อนเสียหาย
โดยศาลปกครองให้เหตุผลว่า หนังสือของ ผบช.น. ฉบับ ลงวันที่ 21 มิ.ย. 61 เป็นเพียงหนังสือสั่งการภายในระหว่างผู้บังคับบัญชา กับผู้ใต้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ทราบแผนการใช้ถนนบริเวณพิพาทเพื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู การที่ ผบช.น.ใช้หนังสือสั่งการภายในดังกล่าว เป็นหนังสืออนุญาตให้ บริษัทซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการปิดเบี่ยงจราจร เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยไม่ได้ออกหนังสืออนุญาตแก่ รฟม. หรือบริษัทซิโน - ไทยฯ โดยตรง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาต ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้ การสั่งการให้ปิดเบี่ยงจราจรบนถนนตลอดความยาวของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยปิดเบี่ยงจราจร 1 ช่องทาง ด้านขวาชิดเกาะกลาง ทั้งฝั่งขาเข้า และขาออก เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ในพื้นราบ และ ปิดเบี่ยงเพิ่มอีก 1 ช่องทาง ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก ในเวลากลางคืนบนสะพานข้ามแยก ตั้งแต่เวลา 22.00 น. – 04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 27มี.ค. -31 ก.ค. 62 ดังกล่าวเป็นการห้าม รถทุกชนิดวิ่งในช่องทางที่ปิดจราจร อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนบนถนนโดยไม่ระบุเหตุจำเป็นที่ต้องปิดจราจรเฉพาะทางตอนใด ในช่วงเวลาใด ให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการก่อสร้างในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้มีผลกระทบต่อการใช้ถนนของประชาชนเท่าที่จำเป็นในแต่ละช่วงเวลา และระยะเวลาที่ขออนุญาตปิดเบี่ยงจราจรเป็นเวลาถึง 2 ปี กับอีก 8 เดือน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขออนุญาต ปิดจราจรเป็นการชั่วคราวตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น การที่ รฟม. ออกประกาศดังกล่าว โดยอ้างถึงการได้รับอนุญาตจาก ผบช.น. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงมีพิพากษาเพิกถอนประกาศดังกล่าวและให้ ผนช.น.ไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น