xs
xsm
sm
md
lg

มติกกต.ชงศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กกต.มีมติเอกฉันท์ส่งศาล รธน.ตีความใช้สูตร กรธ.จัดสรรเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคเล็กคะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมีให้ได้สิทธิ์มี ส.ส.ได้หรือไม่ ชี้เป็นวิธีเดียวทำให้จัดสรรครบ 150 ส.ส. คาดตุลาการเริ่มถกหลังสงกรานต์ “จาตุรนต์” ชี้ กกต.ไม่ควรให้ศาลตีความ หวั่นถูกตีตกยิ่งทำให้เรื่องยืดเยื้อ ยืนยันว่าวิธีที่ กกต.ดำเนินการขัด รธน.ชัดเจน “ทนายคารม”แจง ยังไม่พบผู้สมัคร-ว่าที่ ส.ส. “อนาคตใหม่” ติดปมถือหุ้นสื่อ ระบุคนที่มีปัญหา เคลียร์จบตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ไม่กังวลโยงถึง “ธนาธร” มั่นใจ หน.พรรคตรวจคุณสมบัติครบ-แก้ข้อกล่าวหาได้ ศาล ปค.สั่งยกฟ้องคดี "บก.ลายจุด" กรณี กกต.ไม่รับจดทะเบียนตั้ง “พรรคเกรียน”

วานนี้ (11เม.ย.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารชี้แจงผลการประชุม กกต.ว่า กกต.พิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 แล้ว โดย กกต.ทั้ง 7 มีมติเอกฉันท์ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัย ว่า กกต.จะคำนวณหาจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งจะมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่

โดย กกต.พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า แม้การคำนนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 91วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 (5) แล้วจะมีหลายพรรคการเมืองที่มีผลการคำนวณจำนวนส.ส.จะพึงมีได้เบื้องต้นต่ำกว่า 1 คน สามารถได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน และสามารถจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ กรธ. ก็ตาม แต่การคำนวณตามมาตรา 128 (5) ดังกล่าว มีผลขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (2) (4) เนื่องจากมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนส.ส.จะพึงมีได้ ต่ำกว่า 1 คน สามารถได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน จึงอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคมีจำนวนส.ส. เกินกว่าจำนวนส.ส.ที่จะพึงมีได้ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91(4) แต่หากคำนวณหาจำนวนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จะไม่สามารถจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน อีกทั้งหากไม่นำจำนวน ส.ส. ที่จะพึงได้ต่ำกว่า 1 คน ไปคิดคำนวณต่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (5) ก็ไม่สามารถคิดคำนวณจัดสรรได้ครบ 150 คนเช่นกัน จึงไม่มีวิธีการใด ที่จะนำมาคิดคำนวณให้มีจำนวน ส.ส.ได้ 150 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 83

“กกต.จึงเห็นว่า เป็นปัญหาเรื่องของอำนาจหน้าที่ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210(1)(2) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ว่าเมื่อ กกต.จะคำนวณหาจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามวิธีการดังกล่าวแล้ว ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบ 150 คน ดังนั้น กกต.จะคำนวณตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคสาม ประกอบมาตรา 128 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งการคิดคำนวณดังกล่าวอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน กกต.จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 91 หรือไม่” เอกสาร ระบุ

ด้าน นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องจาก กกต.แล้ว เมื่อช่วงเย็น คาดว่าจะเสนอให้ ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาหลังสงกรานต์

“จาตุรนต์” โวยชงศาล รธน.อาจยืดเยื้อ

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นเรื่องที่ กกต. ไม่ควรเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีนั้น เป็นวิธีที่ กกต.ใช้แก้ปัญหาทางเทคนิค และตนยืนยันว่าวิธีที่ กกต. ดำเนินการนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91(4)อย่างชัดเจน เพราะจะทำให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.เกินกว่าจำนวนที่จะพึงมี ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาคือ กกต. ควรหาวิธีอื่นเพื่อแก้ปัญหาทางเทคนิคซึ่งไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ทั้งนี้ตนมองว่าหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและวินิจฉัยว่าวิธีที่ กกต. ส่งให้ตีความไม่สามารถทำได้ จะกลายเป็นปัญหาอีกว่าจะใช้วิธีแก้ไขด้วยวิธีใด สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าวิธีการของกกต. ตกไป และไม่แนะนำวิธีการที่ถูกต้อง กรณีดังกล่าวอาจยืดเยื้ออีกด้วย

“คารม” มั่นใจ “ธนาธร” รอดซุกหุ้นสื่อ

อีกด้าน นายคารม พลพรกลาง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะทีมงานฝ่ายกฎหมายของกล่าวถึงการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ตามมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ถือเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หลังจากก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ถอนชื่อ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส. สกลนคร เขต 2 ของพรรค เนื่องจากจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท โดยระบุกิจการสื่อเอาไว้ด้วยว่า ก่อนหน้านี้ มีผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคที่มีปัญหาเรื่องนี้ประมาณ 2 คน ซึ่งเรื่องก็จบไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง และจากการตรวจสอบในขณะนี้ ยังไม่พบว่า มีผู้สมัคร ส.ส.หรือว่าที่ ส.ส. คนใดจะเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เพราะหากมีก็คงมีการร้องเรียนมาก่อนแล้ว

ส่วนกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค กำลังถูกตรวจสอบเรื่องการถือหุ้นบริษัทสื่อหลังลงสมัคร ส.ส. นายคารม กล่าวว่า ตนค่อนข้างมั่นใจว่า นายธนาธร ตอบได้ทุกเรื่อง และได้ตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองมาเป็นอย่างดี อีกทั้งเชื่อใจทีมกฎหมายของพรรคว่า จะสามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนรายละเอียด ต้องให้หัวหน้าพรรคและทีมงานฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ชี้แจง

ตีตกคำร้องจดตั้ง “พรรคเกรียน”

วันเดียวกัน ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ยื่นฟ้องนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณีปฏิเสธการขอจดแจ้งชื่อพรรคเกรียน โดยศาลให้เหตุผลว่า คำว่า "เกรียน" ตามพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นศัพท์สแลงที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อกวน ไร้เหตุผล หรือคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของสังคม ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว วิญญูชนทั่วไปเมื่อได้ยินคำว่า "เกรียน" ย่อมสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นศัพท์สแลงที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมดังกล่าว อันเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับธรรมเนียมประเพณีของไทย การตั้งชื่อพรรคการเมืองว่า "พรรคเกรียน" จึงอาจทำให้สังคมเกิดความสับสนในความหมาย และจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ กรณีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 18 ประกอบกับ มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ดังนั้น การที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่รับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ชื่อ พรรคเกรียน ตามคำขอของนายสมบัติ ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น