"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย และเป็นประเพณีเก่าแก่ซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่า "ตรุษ” เป็นภาษาทมิฬ แปลว่า "การสิ้นปี”
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเย็น ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข
การสาดน้ำ รดน้ำ และการถือเอาวันสงกรานต์ (13 เมษายนของทุกปี) เป็นวันเริ่มศักราชใหม่นั้น ไม่ได้มีเพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังปฏิบัติกันอย่างทั่วไปในประเทศกัมพูชา เมียนมา ลาว และบางกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณจีนตอนใต้ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ‘สงกรานต์’ ไม่ได้จำกัดเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกว่า ‘อุษาคเนย์’ เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงภูมิภาคเอเชียด้วย
นอกจากจะเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ที่สืบทอดต่อๆ กันมาแล้ว หากสังเกตที่ชื่อเรียกของประเพณีสงกรานต์ในแต่ละแห่งก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันมากทีเดียว คนในกลุ่มลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกกันว่า “สงกรานต์” ล้านนาเรียกว่า “ปี๋ใหม่เมือง” เขมรเรียกว่า “ซ็องกราน” มอญเรียกว่า “ซงกราน” พม่าเรียกว่า “ทิงยัน”
แต่วันขึ้นปีใหม่ของไทยในยุคก่อน รวมถึงเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ กลับไม่ใช่ในช่วงเดือน 5 (เดือนเมษายน) เหมือนอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะอยู่ในช่วงหลังจากวันลอยกระทง เหตุที่เปลี่ยนมาเป็นวันขึ้นปีใหม่ในช่วงเดือน 5 ก็เนื่องจากได้รับคติความเชื่อมาจากอินเดีย ผ่านแบบแผนของพราหมณ์-ฮินดู ที่นำเข้ามาใช้ในราชสำนักต่างๆ ในแถบอุษาคเนย์ ซึ่งสามารถสรุปได้ในเบื้องต้นว่า ประเพณีสงกรานต์นั้นน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย
สำหรับประเพณีสงกรานต์ของอินเดีย ที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของสงกรานต์ไทย และสงกรานต์ในแถบอุษาคเนย์นั้น เป็นสงกรานต์ที่ใช้การสาดสี ไม่ใช่การสาดน้ำแบบที่เราคุ้นเคยกัน โดยประเพณีนี้ที่อินเดียมีชื่อเรียกว่า “โฮลิ” (Holi) หรือ “โฮลิปูรณิมา” ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ราวๆ เดือนมีนาคม)
เบื้องหลังของของประเพณีโฮลิ ที่ถือว่าเป็นการปัดเป่าโรคร้ายไปจากตัว ก็เนื่องจากสีที่นำมาสาดใส่กันนั้น เป็นสีที่ได้มาจากพืชพรรณและสมุนไพรตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีคราม ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้จะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย คล้ายกับการใช้ธรรมชาติบำบัด เพราะว่าในช่วงที่มีประเพณีโฮลิเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ที่อาจทำให้ไม่สบายได้ง่าย
ประเพณีโฮลิในอินเดีย เชื่อกันว่ามีมาอย่างยาวนานมากแล้ว จนกระทั่งความเชื่อนี้เข้ามาเผยแพร่ในแถบอุษาคเนย์ ก็ถูกเปลี่ยนจากการสาดสีเป็นการสาดน้ำแทน เนื่องจากในช่วงเดือนห้าเป็นช่วงที่อากาศร้อนมากที่สุดของปี การสาดน้ำนั้นก็เป็นไปเพื่อการคลายร้อน และเป็นการเฉลิมฉลองที่สนุกสนานในวันขึ้นปีใหม่นั่นเอง
เทศกาลสงกรานต์ของราชอาณาจักรกัมพูชาถือได้ว่าชาวกัมพูชายังรักษาประเพณีดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี มีการทำบุญในช่วงเช้าและช่วงบ่ายจึงออกมาเล่นสาดน้ำกัน ในวันที่สองของเทศกาล ลูกหลานที่แยกตัวออกไปทำงานหรือมีครอบครัวข้างนอกก็กลับมารวมตัวกันที่บ้านเพื่อทำบุญไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลนี้เลยทีเดียว นอกจากนั้นตามจังหวัดติดชายแดนอย่างจังหวัดตราด ก็มีชาวกัมพูชาข้ามมาร่วมเล่นสาดน้ำกับคนไทยอย่างสนุกสนานทุกๆ ปีอีกด้วย
ประเทศบ้านพี่เมืองน้องอย่างลาวมีรูปแบบเทศกาลสงกรานต์ไม่ต่างจากบ้านเราเท่าไร มีการทำบุญ สรงน้ำพระพุทธรูป และเล่นน้ำเหมือนกัน สร้างบรรยากาศการเล่นสงกรานต์แบบย้อนยุค ในหลายจังหวัดที่มีชายแดนติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก็มีการจัดเทศกาลสงกรานต์ร่วมกันอีกด้วย อย่างสงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดินที่จังหวัดนครพนม ถือเป็นการสานสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศที่น่าชื่นใจ
บรรยากาศเทศกาลสงกรานต์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่ามีความคล้ายคลึงกับบ้านเรา ทั้งประเพณีทางศาสนาที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา รวมไปถึงการเล่นน้ำที่สนุกสนาน แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตที่ทางรัฐบาลได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนย์ปีดอร์ ในภาษาพม่านั้นไม่ได้เรียกว่าสงกรานต์ แต่มีชื่อเรียกได้หลายคำอย่าง “ตะจังเหย่ตะเบงบะแวด่อ” หรือ “เหย่บะแวด่อ” คำว่า เหย่ แปลว่า พิธีน้ำ ส่วน บะแวด่อ แปลว่า เทศกาล
สงกรานต์สิบสองปันนา สงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองจี่งหง หรือเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสงกรานต์ประมาณวันที่ 13-15 เมษายน เรียกว่าเทศกาล “พัวสุ่ยเจี๋ย” โดยจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ด้วยความสนุกสนาน
กิจกรรมหลักๆ ที่มีในงานสงกรานต์สิบสองปันนาก็คือ การแข่งขันเรือมังกร อันเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้ การระบำนกยูง ที่มีความเชื่อว่านกยูงนำพาความโชคดีมาให้ มีการร้องรำทำเพลงต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังมีการละเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกันในเหล่าชาวเมือง รวมถึงผู้ที่ผ่านไปผ่านมาด้วย เพราะเชื่อว่าจะเป็นการชะล้างสิ่งไม่ดี
วันสงกรานต์ของประเทศมาเลเซีย ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยในหมู่บ้านตาเซะ อำเภอฮูลูเปรัค รัฐเปรัค ได้ร่วมกันจัดงานประเพณีวันสงกรานต์ โดยตั้งแต่ในช่วงเช้ามีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรจากคุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้องและผู้ใหญ่ที่เคารพ เพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่ของไทย ส่วนบรรยากาศการสาดน้ำก็เป็นไปอย่างสนุกสนาน มีประชาชนในหมู่บ้านออกมารวมตัวกันประแป้งและเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน โดยชาวบ้าน หนุ่มสาว ส่วนใหญ่จะนิยมการประแป้ง ส่วนการสาดน้ำและใช้ปืนฉีดน้ำจะอยู่ในส่วนของเด็กๆ
ที่มา WWW.MUSEUMTHAILAND.com