xs
xsm
sm
md
lg

ปล่อยให้เป็น “ธนาธร เชิญยิ้ม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


ในฐานะผมเป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองที่โดนข้อกล่าวหาสารพัดที่ตำรวจจัดให้ ตอนที่ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่กองปราบ ตำรวจอ่านข้อหาให้ฟังยาวเหยียด ซึ่งฟังแล้วก็งุนงงว่า ตำรวจไปเอาข้อกล่าวหานั้นมาจากไหน ซ้ำยังกล่าวหาแบบเลื่อนลอยว่า ผมเป็นหัวหน้ากองกำลังติดอาวุธ ร่วมกับอดีตตำรวจคนหนึ่งซึ่งผมก็งงว่าตำรวจคนนี้มาเกี่ยวกับการชุมนุมของพันธมิตรฯ ได้อย่างไร

เดินขึ้นศาลในฐานะจำเลยร่วม 98 คนมาแล้วหลายปี ถึงวันนี้ยังสืบพยานไปแค่ปากแรกจากฝั่งละ 1,000 ปาก นอกจากไม่เคยคุยกันแล้ว จำเลยที่ถูกกล่าวหาร่วมกันนี้ยังไม่รู้จักผมด้วยซ้ำไป เชื่อว่าแม้แต่ตำรวจที่กล่าวหาผมก็ไม่น่าจะรู้ว่าผมคือใครชื่ออะไร หรือผู้ชุมนุมที่เห็นหน้ากันทุกวันน้อยคนที่จะรู้ว่าผมมีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร จะเข้าที่ชุมนุมแต่ละทีก็ถูกการ์ดค้นแล้วค้นอีก

ข้อกล่าวหาของผมจึงหนักกว่าที่ธนาธรถูกกล่าวหามาก ทั้งข้อหาก่อการร้ายและข้อหาตามมาตรา 116 รวมทั้งอีกหลายข้อหา ผมและจำเลยคนอื่นก็ก้มหน้าก้มตาสู้คดีไป แถมคดีเดินไปได้ยากเพราะผู้ต้องหามีคนแก่มากเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อย เมื่อโทษสูงจะพิจารณาลับหลังไม่ได้ คดีก็สืบไม่ได้

ล่าสุดผู้พิพากษาที่มาใหม่ท่านบอกว่าต่อไปจะเดินหน้าได้สามารถสืบลับหลังได้ โดยอ้างประมวลวิธีพิจารณาความอาญาใหม่ที่ใช้ในการแก้ปัญหาคดีที่มีจำเลยร่วมจำนวนมาก โดยอัยการจะต้องแจ้งล่วงหน้าว่าพยานที่นำสืบเกี่ยวข้องกับจำเลยคนไหนบ้าง ถ้าไม่เกี่ยวข้องจำเลยไม่จำเป็นต้องไปศาล และศาลสามารถให้สืบพยานไปได้

แต่มีทนายของจำเลยบางท่านแย้งอีกว่า ป.วิอาญาที่แก้ไขใหม่ไม่สามารถบังคับใช้ย้อนหลังได้ แม้โดยหลักการห้ามใช้ย้อนหลังจะไม่ใช้กับป.วิอาญา แต่ก็มีข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นผลร้ายแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย
ในทางกฎหมายก็น่าคิดว่า การที่กฎหมายไม่ให้พิจารณาลับหลังในคดีที่มีโทษสูงนั้น ย่อมจะมีหลักการมาจากการปกป้องสิทธิ์ของจำเลย ดังนั้นต้องพิจารณาว่า การให้พิจารณาลับหลังได้นั้นเป็นคุณหรือเป็นโทษ แม้จะมีคำกล่าวว่า ความล่าช้าในการพิจารณาคดีคือความอยุติธรรม แต่มันมาใช้อ้างว่า เป็นคุณกับจำเลยไหม หรือเป็นความล่าช้าในคนละความหมายกัน

ผมไม่ได้ตั้งใจจะกล่าวถึงเรื่องราวของตัวเองเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแบบที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เรียกร้องคนออกมาปกป้องตัวเอง ทำนองว่าข้อกล่าวหาของเขาเป็นข้อกล่าวของทุกคนอะไรทำนองนี้ เพราะผมไม่รู้จะไปยี่หระทำไมในสิ่งที่เราเชื่อว่าไม่ได้กระทำผิด

อย่างไรก็ตาม ก่อนนี้ผมเองก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมไปดำเนินคดีธนาธรตามข้อหามาตรา 116 ในฐานะที่พาจำเลยในคดีชุมนุมในที่สาธารณะ แล้ววันเวลาก็ล่วงเลยมา 2-3 ปี เมื่อถูกข้อกล่าวหาแบบนี้ทำให้ธนาธรอ้างเหตุได้ว่า เป็นการกลั่นแกล้ง และไปปลุกปั่นให้คนต่างชาติที่เป็นเจ้าหน้าที่ทูตมายุ่งเกี่ยวแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของบ้านเรา

แต่ก็ได้รับคำอธิบายที่รับฟังได้จากพล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ว่า คดีนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 และเป็นคดีสำคัญที่ละเอียดอ่อน บช.น. จึงได้ตั้งคณะพนักงานสอบสวนโดยระหว่างทำการสอบสวน เจ้าหน้าที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งที่สูงขึ้นของ บช.น. จึงมีการตั้งหัวหน้าพนักงานสอบสวนคนใหม่ขึ้นมาในระหว่างที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ส่วนชุดที่ 2 ได้เกษียณอายุราชการก่อน จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดที่ 3 โดยระหว่างสอบสวนนั้น ปรากฏว่า คณะทำงานได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสังกัดสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

ตำรวจที่เข้ามาดำเนินคดีจึงเป็นชุดที่ 4 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้น ได้เรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวน พร้อมนำสำนวนมาดู ปรากฏว่าในครั้งนั้นมีการขออนุมัติศาลออกหมายจับ โดยศาลให้ออกหมายเรียกผู้กระทำผิด จึงตรวจสำนวนซ้ำและได้ออกหมายเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 15 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานและสอบสวน

เมื่อฟังตำรวจชี้แจงจึงเข้าใจได้ว่า ความล่าช้าที่ดำเนินมาถึงวันนี้ในวันที่ธนาธรเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงทางการเมือง และนำพรรคได้รับการเลือกตั้งมาจำนวนมากเป็นเรื่องของความบังเอิญ

ความบังเอิญนี้กลายเป็นความเพลี่ยงพล้ำของฝ่ายอำนาจรัฐที่ถูกมองว่า เจตนาสร้างข้อกล่าวหามาดำเนินคดีกับธนาธรอย่างช่วยไม่ได้

แต่ผมก็ไม่ทราบว่า ธนาธรกลัวอะไรกับการไปรับทราบข้อกล่าวหา ถึงชักจูงให้ชาวต่างชาติเข้ามา แถมชาวต่างชาติเหล่านี้ยังเป็นเจ้าหน้าที่ทูตที่ต้องตระหนักต่อบทบาทของตัวเองว่าอะไรควรไม่ควร ต้องได้รับการอบรมบ่มเพาะก่อนมาทำหน้าที่ในต่างประเทศในฐานะนักการทูต

แม้ธนาธรจะเป็นฝ่ายเชิญ เจ้าหน้าที่ทูตเหล่านั้นก็ต้องปฏิเสธด้วยมารยาทที่ต้องรับรู้เพื่อเคารพต่อกระบวนการยุติธรรมและเอกราชในประเทศที่ตัวเองมาพำนัก แม้ผมยอมรับว่า คดีของธนาธรที่ตำรวจมาดำเนินคดีในช่วงนี้นั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะถูกมองว่าเป็นคดีการเมือง มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง แต่ไม่ว่าจะเป็นคดีการเมืองหรือไม่ก็ไม่ใช่ธุระของเจ้าหน้าที่ทางการทูตจะมายุ่งเกี่ยว

แล้วรู้ไหมคดีตามมาตรา 116 ที่ธนาธรไปแหกปากชวนชาวโลกมานั้น ในระยะนี้มีการดำเนินคดีมาแล้วประมาณ 10 คดี มีเพียงคดีเดียวเท่านั้นที่ศาลสั่งจำคุก นอกนั้นยกฟ้อง สั่งไม่ฟ้องเสียส่วนใหญ่ และมีรอลงอาญาอีก 1 คดี

แล้วคดีแบบเดียวกันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมากับธนาธรเป็นคนแรก นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ก็ถูกสน.สำราญราษฎร์ กล่าวหาว่าผิดตามมาตรา 116 และขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 หลังให้สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ใช้สวนเงินมีมาเป็นที่พัก เมื่อช่วงชุมนุมมิถุนายน 2558 เช่นกัน ดังนั้นไม่ใช่เป็นการเลือกปฏิบัติการธนาธรแน่ๆ

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมนั้นคิดว่ารัฐไม่ควรเล่นงานธนาธรตามมาตรา 116 หรอก เพราะธนาธรใช้เป็นข้ออ้างว่าตัวเองถูกกลั่นแกล้งได้ แม้ตำรวจจะมีหลักฐานรัดกุมเพียงใด คนเขาก็มองว่ากลั่นแกล้งอยู่ดี

แต่คดีที่ซุกหุ้นสื่อนั้น ผมอ่านคำพิพากษาฎีกาหลายคดีที่คล้ายกันผมคิดว่ารอดยากนะครับ แล้วยังพบว่า ธนาธรก็ออกมาให้ข่าววกไปวนมาขัดกันเอง บอกว่า ขายไปเพราะจะเลิกบริษัท ตกลงไม่ใช่ขายเพราะรู้ว่ากฎหมายห้ามใช่ไหม โอนหุ้นกันไปก่อนแล้วแต่เพิ่งแจ้งนายทะเบียน พานักข่าวไปดูบริษัทขนของออกไปหมดแล้วไม่ได้ทำงาน ไม่รู้ว่าขนกันก่อนไปดูไหม ต่อมาแม่โอนหุ้นให้หลานและหลานโอนคืนให้แม่พัลวันไปหมด

แค่คดีซุกหุ้นสื่อนี้ก็จบแล้วครับ โทษสูงด้วยจำคุก 1 ถึง 10 ปี แม้อาจจะไม่ถึงขั้นถูกจำคุกก็ยังถูกตัดสิทธิ์การเมืองถึง 20 ปี จะมากล่าวหาว่ากลั่นแกล้งไปร้องโวยวายกับใครก็ไม่ได้

ถ้าธนาธรมีความผิดและถูกตัดสิทธิ์เพราะซุกหุ้นสื่อที่เป็นความผิดพลาดของตัวเอง ขืนโวยว่าใครกลั่นแกล้งก็ปล่อยให้เป็นธนาธร เชิญยิ้มไป
..
ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น