xs
xsm
sm
md
lg

กกต.สั่งเลือกตั้งใหม่6หน่วย5จ. แนะชงศาลชี้ขาดสูตรปาร์ตี้ลิสต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กกต. มีมติสั่งนับคะแนนใหม่ 2 หน่วย จ.ขอนแก่น และเลือกตั้งใหม่ 6 หน่วย ใน 5 จังหวัด หลังเทศกาลสงกรานต์ เหตุไม่สามารถหาคำตอบ ยอดบัตร-ผู้ใช้สิทธิทำไมไม่ตรงกัน ขณะที่สูตรคำนวนปาร์สิลต์ ยังไม่สรุป "หญิงหน่อย" ดักคอ กกต.ตีความสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ อย่าเอื้อฝ่ายเดียว “ธนาธร” ยันคำนวณส.ส.มีสูตรเดียว งง กกต. ไม่รู้วิธีคิด "อุดม" แนะชงศาล รธน.ตีความสูตรคำนวณ

วานนี้ (4 เม.ย.) นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่าที่ประชุม กกต.เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมาได้มีการพิจารณา กรณีผลการนับคะแนน ส.ส. และกรณีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน โดยมีมติสั่งให้นับคะแนนใหม่ใน 2 หน่วยเลือกตั้ง ของเขตเลือกตั้งที่ 3 จ.ขอนแก่น คือหน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 1 ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และ หน่วยเลือกตั้งที่ 5 หมู่ที่ 5 ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เนื่องจากพบว่าการขีดคะแนนไม่สัมพันธ์กับการขานคะแนน

นอกจากนี้ ยังสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ 6 หน่วยเลือกตั้งใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย 1. จ.ลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 จำนวน 2 หน่วย ได้แก่หน่วยเลือกตั้งที่ 6 หมู่ที่ 5 ต.ปางหลวง อ.เกาะคา และ หน่วยเลือกตั้งที่ 3 หมู่ที่ 2 ต.ศาลา อ.เกาะคา 2. จ.ยโสธร เขตเลือกตั้งที่ 2 หน่วยเลือกตั้งที่ 6 หมู่ที่ 6 ต.หัวเมือง อ.มหาชนะชัย 3. จ.เพชรบูรณ์ เขตเลือกตั้งที่ 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 12 หมู่ที่ 12 ต.เข็กน้อย ต.เขาค้อ 4. จ.พิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 2 หน่วยเลือกตั้งที่ 6 หมู่ที่ 6 ต.มะตูม อ.พรหมพิราม และ 5. กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 13 หน่วยเลือกตั้งที่ 32 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ เนื่องจากพบว่า ผลการนับคะแนนที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิ ไม่ตรงกับจำนวนผู้มาแสดงตน โดยผู้สมัครยังคงเป็นชุดเดิมทั้งหมด สามารถหาเสียงได้ แต่ค่าใช้จ่ายจะลดลงตามที่กฎหมายกำหนด

“กรณีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเริ่มพิจารณาของ กกต.เท่านั้น เขตเลือกตั้งเหล่านี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องร้องเรียน หรือการกระทำไม่สุจริต ที่อาจจะนำไปสู่การสั่งเลือกตั้งใหม่ทั้งเขต รวมทั้งยังมีกรณีของเขตเลือกตั้ง หรือหน่วยเลือกตั้งอื่นๆ ที่มีปัญหาและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกกต. โดย กกต.จะพิจารณาสั่งเลือกตั้งใหม่ไปพร้อมกันทั้งหมดในวันเดียวกัน คาดว่าจะเป็นหลังเทศกาลสงกรานต์” นายแสวง กล่าว

นายแสวงกล่าวต่อว่า กรณีการสั่งนับคะแนนใหม่ และการสั่งเลือกตั้งใหม่ดังกล่าว จะมีผลต่อการคำนวนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้ ซึ่งกกต.ยังไม่ได้มีการคำนวน เพราะต้องรอผลการนับคะแนน และการสั่งเลือกตั้งใหม่ดังกล่าวเสียก่อน ส่วนเรื่องสูตรการคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ในส่วนของ กกต.ก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ยังไม่ข้อยุติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมา อันดับ 1 ในเขตเลือกตั้งที่ กกต.สั่งเลือกตั้งใหม่ใน 6 หน่วย ประกอบด้วย จ.ลำปาง เขต 4 (สั่งเลือกตั้งใหม่ 2 หน่วย) นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ พรรคเพื่อไทย, จ.ยโสธร เขต 2 นายบุญแก้ว สมวงศ์ พรรคเพื่อไทย, จ.เพชรบูรณ์ เขต 1 นายพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ พรรคพลังประชารัฐ, จ.พิษณุโลก เขต 2 นายนพพล เหลืองทองนารา พรรคเพื่อไทย และ กรุงเทพฯ เขต 13 นายฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ พรรคพลังประชารัฐ

“สุดารัตน์ - ธนาธร” โห่ กกต.อย่ามึน

ด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีปัญหาคิดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า การคิดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ควรไปมองว่า จะเป็นการนำคำนวณเพื่อพยายามจะให้ฝั่งหนึ่งฝั่งใดได้คะแนน ซึ่งจะเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นทุกอย่างในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกเขียนไว้ชัด กกต.ต้องปฏิบัติตาม และควรตีความตามรัฐธรรมนูญเคร่งครัด อย่าคิดเพื่อให้ฝ่ายใดได้คะแนนมากกว่าฝั่งหนึ่ง

เช่นเดียวกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ระบุว่า ถ้าเรายึดความเป็นธรรมจะตีความได้เพียงสูตรเดียวคือ เอาผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดหารด้วยจำนวน ส.ส. ทำให้ได้71,000 คะแนน ต่อส.ส.หนึ่งคน ดังนั้นถ้าเรายึดตามสูตรนี้ก็จะรู้ว่าใครจะได้ส.ส.เท่าใดไม่มีอะไรซับซ้อน ซึ่งตนแปลกใจว่าเหตุใด กกต.ถึงยังไม่รู้วิธีคำนวณที่ถูกต้องคืออะไร ทั้งที่ควรรู้วิธีการที่ถูกต้องก่อนการเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ

อดีต กรธ.แนะชงศาล รธน.ชี้ขาด

อีกด้าน นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ.ยืนยันว่าต้องคิดคะแนนจากทุกพรรค ไม่ได้คิดเฉพาะพรรคที่ได้ ส.ส.เขต สอดคล้องกับเจตนารมณ์ว่า ทุกคะแนนมีความหมายไม่ทิ้งน้ำ แต่พรรคใดจะได้ หรือไม่ได้ที่นั่ง ก็ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของพรรค ซึ่ง กกต.จะต้องตัดสินใจ และต้องตีความข้อกฎหมายว่าพรรคที่มีจำนวน ส.ส.น้อยกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส.พึงมีของพรรค หมายถึง พรรคที่ได้ ส.ส.เขตไปแล้วหรือไม่ หรือหมายถึงตัวเลขที่พรรคควรจะได้ ซึ่งตามภาษากฎหมายสามารถถกเถียงกันได้ ส่วนตัวเข้าใจกกต.แต่กกต. มาพิจารณาเรื่องนี้ช้าไป ทำให้เกิดความวุ่นวาย ยืนยันว่า ในส่วนของ กรธ.คิดตรงกันหมด เพราะเป็นเรื่องที่เคยถกเถียงกันมาแล้ว

“กรธ. มีเอกสารเจตนารมณ์ยืนยันชัดเจน มีเจ้าหน้าที่ของ กกต. มาร่วมอยู่ด้วย แต่ทั้งหมดอยู่ที่คนใช้กฎหมายที่เป็นผู้ถือเจตนารมณ์ ถ้ามีข้อโต้แย้งก็อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ กกต.ไม่ต้องยึดตามความเห็นของ กรธ.ก็ได้ อยู่ที่ว่า กกต.คิดอย่างไรเท่านั้น ต้องเป็นผู้ยืนยันว่า สูตรไหนถูกต้อง เพราะไม่มีว่าเลือกสูตรไหนก็ได้ ต้องเลือกสูตรเดียว” นายอุดม ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น