xs
xsm
sm
md
lg

พบกันเที่ยงวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายนนี้ เปิดตัวหนังสือ “สุริยัน กัญชา อัมฤตย์โอสถแห่งความหวัง” !!! /ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นับเป็นบุญและสิริมงคลอย่างยิ่งของผู้เขียน (อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์) ที่ได้มีโอกาสทูลเกล้าฯถวาย หนังสือ “สุริยัน กัญชา อัมฤตย์โอสถแห่งความหวัง” แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2562 และสิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในครั้งนี้ จะเป็นการจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะมีการปิดเพื่อก่อสร้างซ่อมแซมสถานที่แห่งนี้ใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไหร่ที่จะได้กลับมาจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ณ สถานที่แห่งนี้อีกครั้ง

ผู้เขียนจึงขอกราบเรียนเชิญท่านผู้อ่านทุกท่านเข้าร่วมการเปิดตัวหนังสือ “สุริยัน กัญชา อัมฤตย์โอสถแห่งความหวัง” พร้อมการบรรยาย  "ส่งท้ายวันสุดท้ายของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ" ในวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562 เวลา 12.00 น. - 13.00 น. ณ เวทีกลาง ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยผู้เขียนจะไปมอบลายเซ็นสำหรับผู้ที่ซื้อหนังสือตั้งแต่เวลา 10.00 น.- 11.30 น. ที่โซน C บูธ M 01  ซึ่งหากซื้อหนังสือในงานนอกจะได้รับส่วนลดพิเศษแล้ว ยังจะได้ของที่ระลึกพิเศษในวันเปิดตัวหนังสือดังกล่าวอีกด้วย และ สำหรับท่านที่ต้องการสั่งซื้อเพื่อให้ส่งทางไปรษณีย์ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 082-782-8353 และ 082-782-8356 

เนื้อหาในหนังสือ   “สุริยัน กัญชา อัมฤตย์โอสถแห่งความหวัง”  นั้นส่วนหนึ่งมาจากการรวบรวมบทความของผู้จัดการสุดสัปดาห์ ในคอลัมน์ บ้านพระอาทิตย์ ของ ผู้เขียน  อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาในหลากหลายมิติ และได้ทำการปรับปรุงเพิ่มหลักฐานเพื่อความครบถ้วนสำหรับการอ้างอิงพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชามากขึ้น

เนื้อหาในหนังสือดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงการเปิดเผยงานวิจัยยุคใหม่ที่เกี่ยวข้องกับกัญชา และกัญชงในทางการแพทย์ ทั้งในมิติข้อบ่งใช้ ปริมาณที่ใช้ ประโยชน์ และโทษ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับกัญชาในตำรับยาไทย ตัวอย่างเช่น ใบลานสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, ตำรับยาในสมัยรัชกาลที่ 2 ของราชวงศ์จักรี, ตำรับยาในศิลาจารึกในวัดโพธิ์, ตำรับยาในสมัยรัชกาลที่ 5, ไปจนถึงความคาดหวังการใช้กัญชากับผู้ป่วยโรคมะเร็ง, การบูรณาการอาหาร วิถีชีวิต และตำรับยาสำหรับโรคมะเร็ง, รวมไปถึง 16 ตำรับยาไทยที่รับรองโดยกระทรวงสาธารณสุข, ความคืบหน้าและบทสัมภาษณ์นักวิจัยที่เกี่ยวกับกัญชาของมหาวิทยาลัยรังสิต, การเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมและมหาวิทยาลัยรังสิต เกี่ยวกับสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7, ฯลฯ

ดังนั้นหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ จึงมีเนื้อหาที่หลากหลายเกี่ยวกับกัญชาทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย ประวัติศาสตร์ การเมือง ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะการรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตำรับยาไทยที่หาชมได้ยาก ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการมองภาพกัญชาแบบองค์รวม และเป็นหลักฐานยืนยันไม่ให้ชาติอื่นมาจดสิทธิบัตรในสิ่งที่คนไทยได้รู้จักใช้กัญชามาหลายร้อยปีแล้ว

ทั้งนี้  “กัญชา” เป็นสมุนไพรที่มีเริ่มต้นจากภูมิปัญญาตะวันออกในแถบเอเชียหลายพันปี โดยเริ่มจากประเทศจีน อินเดีย ไม่ต่ำกว่า 4-5 พันปีก่อนแล้วเผยแพร่ต่อมาในแถบเอเชีย แล้วจึงได้รับการนำไปใช้ต่อในเปอร์เซียและ ยุโรปต่อมาเมื่อไม่ต่ำกว่า 3-4 พันปีก่อน โดยครอบคลุมไปถึงการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในหลายรูปแบบ อาทิ บำบัดโรคเกาท์ บำบัดรูมาตอยด์ แก้ไข้ ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดฟัน ลดอาการปวดหู บำบัดโรคลมชัก บำบัดโรควิตกกังวล บำบัดโรคหลอดลมอักเสบ บำบัดเนื้องอก บำบัดดีซ่าน ระงับประสาท แก้หอบ แก้ท้องร่วง ฯลฯ

ส่วนประเทศไทยนั้นได้มีการแพทย์แผนไทยซึ่งรับอิทธิพลมาจากการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย โดยได้มีการวิวัฒนาการผ่านพุทธศาสนา โดยกัญชาได้เป็นส่วนหนึ่งของตำรับยาไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งปรากฏหลักฐานกว่า 300 ปี ในสมัยอยุธยาว่ามียาตำรับที่มีส่วนผสมของกัญชาทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่นเดียวกับตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมอีกจำนวนมากในสมัยราชวงศ์จักรี ของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยตำรับยาไทยจำนวนมากที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมนั้นจะช่วยในการ ลดไข้ ทำให้นอนหลับและเจริญอาหาร ลดความเครียด ฯลฯ เช่นเดียวกัน จึงย่อมมีผลทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูร่างกายหรือหายจากอาการเจ็บป่วยผ่านตำรับยาต่างๆได้

ในความเป็นจริงแล้วพืชหลายชนิดก็ไม่ได้เป็นแค่ยารักษาโรคเท่านั้น แต่พืชหลายชนิดก็สามารถเป็นอาหารได้ด้วย ยาและอาหารจึงย่อมเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยกัญชาในประเทศไทยนั้นก็ไม่ได้ใช้เพียงแค่ปรุงยาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนานไม่ใช่การสูบแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาหารหลายชนิดและทำให้รสชาติอาหารดีขึ้น

ดังนั้นบทบาทของประวัติศาสตร์ของกัญชาที่ส่องสว่างไปทั่วโลกซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากซีกโลกตะวันออก เปรียบเสมือนช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจากฝั่งตะวันออก แต่ปี พ.ศ. 2522 ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้บังคับกฎหมาย 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งคือพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งได้มีการกำหนดให้กัญชาและกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 และอีกฉบับหนึ่งคือ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 อันเป็นอิทธิพลที่มาจากมหาอำนาจ ที่ทำให้ให้ประเทศไทยจะต้องเคารพและปฏิบัติตามสิทธิบัตรของผู้ที่ได้รับการอนุมัติสิทธิบัตร ซึ่งรวมถึงต่างชาติด้วย หลังจากนั้นกระแสของกัญชาได้หายไปจากซีกโลกตะวันออกอย่างสิ้นเชิง เปรียบเสมือนกัญชากับแสงสว่างของดวงอาทิตย์ก็คือการเข้าสู่ห้วงเวลาตะวันตกดิน และเข้าสู่ความมืดมิดของพืชสมุนไพรที่ชื่อกัญชา

แต่ในความเป็นจริงของความมืดมิดแล้ว ล้วนแล้วแต่แฝงความซ่อนเร้นอยู่ การที่กัญชากลายเป็นยาเสพติดให้โทษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ย่อมส่งผลทำให้ตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมอยู่กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายไปด้วยเป็นเวลาถึง 40 ปี ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยไม่สามารถนำกัญชามาวิจัยหรือสืบทอดองค์ความรู้ในการใช้ในมนุษย์ได้

ในอีกด้านหนึ่งกลุ่มทุนบริษัทยาต่างชาติได้เริ่มวิจัยในเรื่องกัญชาอย่างต่อเนื่อง และรู้ว่าสารสกัดจากกัญชามีคุณประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมหาศาล ทำให้นอนหลับ ทำให้เจริญอาหาร ลดความเครียด ลดอาการข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง ลดอาการเกร็งที่ผิดปกติทั้งหลาย ฯลฯ สารสำคัญของกัญชาเหล่านั้นได้ถูกจดสิทธิบัตรการรักษา อีกทั้งยังนำมาเป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดด้วย เพื่อนำกลับมาขายให้กับโลกตะวันออกสร้างความมั่งคั่งมหาอำนาจในซีกโลกตะวันตก โลกจึงได้ตื่นรู้ว่าพืชกัญชาของชาวตะวันออกเป็นตัวอย่างของการช่วงชิงความมั่งคั่งในระดับนานาชาติตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2562 ประเทศไทยได้แก้ไขกฎหมาย โดยประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้ทำให้แสงสว่างของกัญชาเริ่มกลับขึ้นมาสู่โลกตะวันออกอีกครั้งหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดการรื้อฟื้นภูมิปัญญาชาติให้กลับมาได้อีกครั้ง เปรียบเสมือนการเข้าสู่ยุคใหม่ของกัญชาที่เรียกว่า "สุริยัน กัญชา" 

 "อัมฤตย์โอสถ"  หนึ่งในตำรับยาที่มาจากตำรายาหลวงชื่อ  "ไฟสุมขอน" ที่ถูกนำมาบันทึกในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งรวบรวมโดยพระยาพิศณุประสาทเวชนั้น นอกจากจะเป็นตำรับที่มีคุณค่าเพราะมีการผสมกัญชามากที่สุดตำรับหนึ่งเพื่อแก้โรคกระษัยลมทั้งปวงแล้ว ยังเป็นตำรับยาที่สอดคล้องกับพระนามเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอมฤตย์ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้รวบรวมตำราเวชศาสตรฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 แต่กลับไม่ได้บันทึกตำรับยาอัมฤตย์โอสถเอาไว้ อัมฤตย์โอสถจึงเป็นตำรับยาที่เกือบจะสูญหายไปแล้ว และถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นตำราที่อาจจะมีคุณค่าจนไม่ได้เปิดเผยให้คนทั่วไปได้รับรู้ในครั้งนั้น แต่นัยที่ตั้งชื่อนี้แปลความหมายว่าเปรียบเสมือนเป็นยาอายุวัฒนะที่มีคุณค่ายิ่ง ซึ่งชื่ออมฤตนี้มีเรื่องราวและความเชื่อในเรื่องน้ำอมฤตอยู่ในหลายประเทศของโลกตะวันออก

ความคาดหวังว่ากัญชาเปรียบเสมือนเป็นยาอมฤตที่จะรักษาความเจ็บป่วยทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เพียงแต่สร้าง  "ความหวัง"  ให้กับผู้ป่วยและคนในครอบครัวของผู้ป่วยจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้หลายคนอาจจะคิดถึงขั้นคาดหวังผลของการรักษาเกินความเป็นจริง หรือใช้มากเกินพอดีจนอาจเกิดผลเสียได้ หรือคาดหวังกัญชาแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้สนใจการบูรณาการปัญญาเพื่อรักษาเหตุแห่งโรค

ในขณะเดียวกันกัญชาในฐานะเป็นอมฤตโอสถนี้ ก็ได้สร้างความหวังในการทำธุรกิจสร้างความร่ำรวยในหลายมิติเช่นกัน ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่ายุค  "สุริยัน กัญชา" นี้ เป็นช่วงเวลาที่มีการช่วงชิงผลประโยชน์จากกัญชาด้วยเล่ห์เพทุบายมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของประวัติศาสตร์กัญชา อมฤตโอสถนี้จึงไม่ได้เพียงสร้างความหวังของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังสร้างความโลภและการช่วงชิงให้กับผู้คนและกลุ่มทุนอีกจำนวนมากทั้งในเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจอีกด้วย

การต่อสู้ช่วงชิงในยุค  "สุริยัน กัญชา"  อันมีสถานภาพเป็นอมฤตย์โอสถนี้ ทำให้นึกถึงการช่วงชิงระหว่างเทวดากับอสูรในการ  "กวนเกษียรสมุทร" ซึ่งเป็นทะเลของน้ำนมตามคติความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู ถึงการกวนเกษียรสมุทรที่จะทำให้เกิดน้ำอมฤตที่เมื่อดื่มกินจะเป็นอมตะและมีกำลังมากขึ้นกว่าที่เคยมี พระวิษณุได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในการย้ายภูเขามันทรคีรี ซึ่งเป็นภูเขาที่เป็นแหล่งกำเนิดมณีนพรัตน์มาไว้เกษียรสมุทร แต่เนื่องจากเทวดาฝ่ายเดียวไม่สามารถกวนเกษียรสมุทรให้สำเร็จได้จึงต้องชักชวนอสูรมาร่วมกวนด้วย และเกิดการใช้เล่ห์เพทุบายโดยราหูได้แปลงตนเป็นเทวดาทำให้ได้ดื่มน้ำอมฤตก่อน แต่พระอาทิตย์และพระจันทร์ทราบเรื่องจึงฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงขว้างจักรตัดราหูขาดเป็นสองท่อน ราหูจึงมีความโกรธแค้นพระอาทิตย์กับพระจันทร์เมื่อเจอกันครั้งใด ก็จะอมพระอาทิตย์และพระจันทร์อยู่ทุกครั้งไป การช่วงชิงกัญชากับวรรณกรรมที่เกี่ยวกับน้ำอมฤตนี้ดูจะมีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์การช่วงชิงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างน่าอัศจรรย์

 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทวงคืนกัญชาให้กลับคืนมาเป็นของคนไทย และยังผลักดันทำให้กัญชาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เป็นการทั่วไป ตลอดจนถึงให้เกษตรกรให้มีโอกาสปลูกได้ เพื่อที่จะได้พึ่งพาตนเองได้ แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคจากกลุ่มผลประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรต่างชาติ พันธุ์พืชต่างชาติ บริษัทยา การตั้งกฎเกณฑ์เพื่อกีดกันประชาชนเป็นการทั่วไป นอกจากนั้น วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการทำวิจัยในเรื่องกัญชาเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยมานานกว่าสิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีใครสนใจว่าจะวิจัยกัญชาไปเพื่ออะไร อีกทั้ง  คณาจารย์หลายคนและนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  ยังได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยผลักดันเพื่อให้เพิกถอนสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติอีกด้วย อาจกล่าวได้ว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยรังสิตซึ่งมีสัญลักษณ์เป็น  "พระอาทิตย์"  และ "สุริยเทพ"  ภายใต้การนำของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ได้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุค "สุริยัน กัญชา"  ที่จะกลับมาส่องแสงจากโลกตะวันออกอีกครั้ง ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ที่ชื่  "สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์" และเปิดตัวใน"วันอาทิตย์" อีกด้วย

 สุริยัน กัญชา  ผู้เขียนตั้งใจเขียนเป็นภาษาอังกฤษทับศัพท์ภาษาไทยบนหน้าปกว่  "Suriyan Ganja " เพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ศัพท์ทั้ง Suriyan เป็นคำศัพท์ที่สามารถค้นหาได้ทั่วโลกตรงกันว่ามีความหมายถึง "พระอาทิตย์" และคำว่า "Ganja"  นั้นเป็นคำที่สามารถค้นได้ทั่วโลกว่าหมายถึงกัญชาจากภาษาสันสกฤต และมีการใช้คำว่า Ganja ซึ่งมีการใช้คำศัพท์นี้ข้ามทวีปขยายไปถึงทวีปสหรัฐอเมริกา สะท้อนถึงอิทธิพลของคำศัพท์ภาษากัญชาของชาวตะวันออกนั้นแผยแพร่ไปไกลโพ้นถึงโลกตะวันตกเพียงใด

นอกจากบทบาทของมหาวิทยาลัยรังสิตแล้ว องค์กรอื่นๆ เช่น มูลนิธิชีววิถี กลุ่มเอฟทีเอ วอทช์ สภาการแพทย์แผนไทย มูลนิธิสุขภาพไทย แพทย์ที่รักความเป็นธรรม ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน และภาคประชาสังคมอื่นๆ ตลอดจนยังมีพี่น้องประชาชนและองค์กรอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเอ่ยนามได้ครบในที่นี้ ต่างมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดการทวงคืนกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ให้กลับคืนมาได้ในครั้งนี้ หลังจากที่รอมานานกว่า 40 ปี ผู้เขียนแม้จะได้มีส่วนร่วมในการผลักดันที่ผ่านมา แต่ก็ต้องขอคารวะทุกท่านที่มีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกัญชาในช่วงเวลาที่ผ่านมา และเชื่อว่าอุปสรรคทั้งหลายที่ยังมีอยู่อีกมากจะต้องฝ่าฟันโดยประชาชนที่มีความห่วงใยชาติบ้านเมืองต่อไปอย่างแน่นอน

 "สุริยัน กัญชา อัมฤตย์โอสถแห่งความหวัง" เป็นหนังสือที่ให้ข้อมูล การเผยแพร่งานวิจัยในหลายมิติ ซึ่งเป็นการรวบรวมบทความที่ผ่านมาของผู้เขียน และยังมีบทความที่ท่านผู้อ่านอาจไม่เคยได้ทราบมาก่อน อีกทั้งยังได้ทำการรวบรวมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่มีการผสมกัญชาด้วยการเขียนตัวอักษรสะกดแบบโบราณเพื่อทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นการยืนยันว่าภูมิปัญญาของชาติไทยในการใช้กัญชามีมาอย่างยาวนานแล้ว และยังได้สอดแทรกประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทยเพื่อช่วยกันสร้างคุณค่าในเกียรติภูมิของบรรพชน และสร้างความชอบธรรมในการใช้กัญชาในประเทศไทยโดยมิยอมให้ชาติอื่นมาช่วงชิงไปด้วยการจดสิทธิบัตรกัญชา หรือถูกรุกรานโดยสิทธิบัตรพันธุ์พืชกัญชาจากชาติอื่น หรือถูกผูกขาดการทำธุรกรรมจากภาครัฐเพื่อเอื้อประโยชน์พันธุ์พืช เทคโนโลยี หรือผลประโยชน์ของเอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ยังได้ให้ทัศนะข้อควรระวังและข้อคิดในเรื่องการไปให้ไกลกว่ากัญชา ด้วยการบูรณาการแห่งปัญญา รักษาที่เหตุแห่งโรค เพื่อทำให้ผู้ป่วยได้มีข้อมูลรอบข้างทั้งข้อดี ข้อเสีย และความเชื่อเกี่ยวกับกัญชาในหลายมิติ และยังได้ให้ข้อคิดในเรื่องอุปสรรคด้านกฎหมายและสิทธิบัตรที่คนไทยทุกคนควรจะช่วยกันระมัดระวังต่อไป

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น