xs
xsm
sm
md
lg

ความขาดแคลนผู้นำ : วิกฤตในการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า ผู้นำ หรือ Leader ในภาษาอังกฤษได้มีผู้ให้คำนิยามไว้หลากหลาย แต่มีอยู่ประการหนึ่ง (ที่น่าสนใจ และควรแก่การจดจำ ทั้งยังสอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน และคำนิยามที่ว่านี้ก็คือ คำนิยามที่นำเอาคำว่า Leader มาอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรดังต่อไปนี้

1. L=learned ได้แก่ผู้ที่เรียนรู้ด้วยตนเองจากการลงมือทำด้วยตนเอง ด้วยการอ่าน การฟัง การคิด การถาม และจดบันทึก เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง

2. E=educated ได้แก่ผู้ที่ได้รับการศึกษาจากสถาบันการศึกษา โดยมีผู้สอนและเมื่อเรียนจบแล้วได้รับวุฒิทางการศึกษา และมีประกาศนียบัตรรับรอง

3. A=active ได้แก่ผู้ที่กระตือรือร้นในการทำงาน ไม่เฉื่อยชา เป็นต้น

4. D=decisive ได้แก่ผู้ที่มีความสามารถในการตัดสินใจ ไม่ลังเลหรือชักช้าจนเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะเพื่อส่วนรวม

5. E=experienced ได้แก่ผู้ที่มีประสบการณ์ มีทักษะในการแสดงออก ทั้งในด้านการพูด และการกระทำ

6. R=responsible ได้แก่ผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อคำพูด และการกระทำของตน รวมไปถึงองค์กรซึ่งตนเองเป็นผู้ทำอยู่

ทั้ง 6 ประการข้างต้นคือ คำนิยามของคำว่า ผู้นำ

แต่นอกจากจะมีคุณสมบัติ 6 ประการข้างต้นแล้ว ถ้าเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อคนหมู่มาก จะต้องมีหลักธรรมในการปกครองหรือที่เรียกตามนัยแห่งคำสอนทางพุทธศาสนาว่า ราชสังคหวัตถุ 4 ประการ ด้วยจึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักปกครองที่ดี หลักธรรม 4 ประการนี้ก็คือ

1. สัสสเมธะ ได้แก่ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรม

2. ปุริสเมธะ ได้แก่ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ

3. สัมมาปาสะ ได้แก่ความรู้จักเอาใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมเงินเพื่อไปลงทุนทำการค้า เป็นต้น

4. วาชเปยะ ได้แก่การรู้จักพูดจาปราศรัย ด้วยถ้วยคำอันไพเราะ สุภาพ นุ่มนวล มีเหตุผลและประกอบด้วยประโยชน์

ในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อมาทำหน้าที่ปกครองประเทศ ดังนั้นประการแรกที่ ส.ส.ซึ่งได้รับเลือกเข้ามาจะต้องทำหน้าที่แทนปวงชน ซึ่งเลือกตนเองเข้ามา จะเลือกผู้นำประเทศที่มีภาวะ 6 ประการ และมีคุณธรรม 4 ประการดังกล่าวข้างต้น ครบถ้วนหรือไม่ และหรือมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอันเป็นองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1. ผู้ที่รับเลือกเข้ามาเป็นตัวแทนปวงชนมีจิตสำนึกในความเป็นตัวแทนมากน้อยแค่ไหน ถ้าทุกคนหรือส่วนใหญ่มีจิตสำนึกดีพอ ก็จะเลือกผู้นำที่ดีมีภาวะผู้นำ และมีคุณธรรม

2. ผู้ที่อยู่ในฐานะเป็นคู่แข่งในการเป็นผู้นำ ซึ่งพรรคการเมืองเสนอมีคุณสมบัติของความเป็นผู้นำมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีก็คงทำให้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้นำที่ดีได้ แต่ถ้าไม่มีก็คงจะปิดโอกาสให้ได้ผู้นำที่ดี

จากผลการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ประกาศออกมาอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทยมีโอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลก่อนพรรคอื่นๆ

ส่วนว่าพรรคใดในสองพรรคข้างต้น พรรคใดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนสามารถรวบรวมเสียงได้มากพอจะเป็นรัฐบาลได้หรือไม่

ดังนั้น การที่จะบอกว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศ มีคุณสมบัติ 6 ประการ และมีหลักธรรม 4 ประการข้างต้นครบถ้วนหรือไม่ คงจะต้องรอไปก่อน

แต่ในขั้นนี้ จึงเป็นหน้าที่ของ ส.ส.รวมไปถึง ส.ว.ทุกคนจะต้องนำคุณสมบัติ และคุณธรรมสำหรับผู้นำไปเป็นเครื่องมือประกอบการพิจารณาในการเลือก และไม่เลือกผู้นำเพื่อให้ได้ผู้นำที่ดี ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศ และประชาชนโดยรวม ทั้งยังเป็นการช่วยกันพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กันด้วย

สุดท้ายขอจบด้วยกลอน 2 บทต่อไปนี้

เลือกคนผิด คิดอย่างไร ก็ไม่ถูก

เหมือนคนปลูก ไม้พิษ ชีวิตเฉา

ไม่ยิ่งโต คนยิ่งตาย ไม่บรรเทา

ด้วยมัวเมา เลือกพาลมา พาล่มจม

ใครเลือกผิด คิดได้ ทำให้ถูก

ไม้ที่ปลูก ถอนให้สิ้น เอาดินถม

ปลูกไม้ดี มีกลิ่นหอม ไว้คอยดม

ทุกข์ระทม จะได้จาง หายไป

กำลังโหลดความคิดเห็น