xs
xsm
sm
md
lg

ความล้มเหลวและทางรอดของพรรคประชาธิปัตย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมเขียนบทความนี้ในฐานะของคนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาโดยตลอด ผมอาจจะไม่ได้ชื่นชมพรรคประชาธิปัตย์มากนัก แต่ก็คิดว่าเป็นตัวเลือกที่เลวน้อยที่สุดในทางการเมืองจึงได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผมไม่อาจจะยอมรับตนเองได้หากจะต้องกากบาทเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง ๆ ที่ในเขตเลือกตั้งของผมนั้นผู้แทนสมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นคนที่ดีและมีคุณภาพอย่างยิ่งในสายตาของผมและผู้แทนพรรคการเมืองที่ถูกเลือกนั้นผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคการเมืองที่ผมกากบาทให้นั้นก็ไม่ได้มีอะไรดีมากนักและไม่ได้มีความรู้ความสามารถอะไรนัก แต่ผมก็เลือกพรรคการเมืองนั้นเพื่อจะไปเป็นตัวแทนในการต่อสู้ทางการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งที่ผมคิดว่ามีความคิดเห็นทางการเมืองที่ค่อนข้างต่อต้านและไม่เป็นมิตรกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ทำไมผมถึงมีพฤติกรรมย้อนแย้งในตนเองเช่นนั้น?

ประการแรก ผมคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ขาดความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกทางการเมือง (Political sentiments) ของประชาชนเป็นอย่างสิ้นเชิง พรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขาดความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่เป็นฐานเสียงเดิมของตนเองและไม่ถนอมน้ำใจฐานเสียงเดิมของตนเอง

การศึกษาวิจัยโดยใช้ฐานข้อมูลของ กกต. ซึ่งผมให้ลูกศิษย์ทำเป็นวิทยานิพนธ์ นั้นพบว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยสามารถรักษาฐานเสียงทางการเมืองของตนเองไว้ได้ค่อนนั้นค่อนข้างแน่นหนาโดยพบว่าสัดส่วนในการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2548 สัมพันธ์กับสัดส่วนในการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2550 ในแต่ละเขตเลือกตั้งสูงมาก (ค่าสหสัมพันธ์ = .85) และเช่นเดียวกันสัดส่วนในการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2550 ก็สามารถทำนายสัดส่วนในการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2554 ได้เป็นอย่างดี (ค่าสหสัมพันธ์=.90)

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์สูญเสียฐานเสียงไปอย่างสิ้นเชิงจนทำให้เป็นพรรคที่มี ส.ส. ต่ำกว่า 100 คนและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต้องลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคไปดังที่ตนเองได้ลั่นวาจาไว้

เหตุใดพรรคประชาธิปัตย์จึงสูญเสียฐานเสียงไปมากเช่นนี้?

ท่าทีของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้นไม่เป็นคุณกับพรรคประชาธิปัตย์เลยหรือไม่? และไม่เป็นคุณกับผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคด้วยหรือไม่? โดยเฉพาะท่าทีหน้าตาที่ดูค่อนข้างขึงขังที่ค่อนข้างก้าวร้าวและประกาศกร้าวและสร้างศัตรูทางการเมืองไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและไม่อาจทำงานร่วมกันกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้

ท่าทีแบบก้าวร้าวนี้ทำให้ผมนึกถึงยิ้มละไม ใจเย็น ไม่เป็นศัตรูกับใคร ของแม่ถ้วน หลีกภัยที่คนส่วนใหญ่รักและเคารพ ผมอยากให้ลองส่องกระจกดูหน้าตัวเองเวลาพูด แล้วดูภาพเก่า ๆ เวลาคนมาหาแม่ถ้วนบ้างว่าแม่ถ้วนยิ้มอย่างไร มีเมตตาแบบไหน

นอกจากนี้ยังมีการไปให้สัตยาบันร่วมกับอีกห้าพรรคการเมืองซึ่งเคยเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับตนเองและเป็นฝ่ายการเมืองที่ตรงข้ามกับฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์อย่างสิ้นเชิง อันได้แก่ พรรคเพื่อไทย และ พรรคอนาคตใหม่ เป็นอาทิ โดยจะร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ย่อมทำให้ฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์เกิดความอึดอัดใจและไม่เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นตัวแทนที่จะมีน้ำยาเพียงพอในการที่จะต่อสู้ทางการเมืองกับฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นฝั่งที่ประชาชนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการให้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองอันจะนำไปสู่ความเดือดร้อนวุ่นวายได้

ในอดีตที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังหักหาญรานน้ำใจกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยททั้งที่เคยเป็นกลุ่มเดียวกันมาก่อน จึงอาจกล่าวได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ก่อศัตรูไว้ถึง 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 2. กลุ่มพรรคพลังประชารัฐและกองทัพตลอดจนมวลชนที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ 3. พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นศัตรูดั้งเดิม

การแสดงท่าทีดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าพรรคก็หาได้เปลี่ยนใจคนที่สนับสนุนระบอบทักษิณซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้วในกลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์ได้สำเร็จ แต่กลับเป็นการผลักไสมิตรเดิมให้ไปเลือกพรรคอื่นแทน แม้จะยังมีมิตรจิตมิตรใจกับพรรคประชาธิปัตย์เหลืออยู่บ้าง แต่เพื่อบ้านเมืองและความมั่นคงของชาติก็จำเป็นต้องเลือกตัวแทนที่มีพลังในการต่อสู้กับอีกขั้วทางการเมืองมากกว่า

ดังนั้นการแสดงท่าทีดังกล่าวทำให้ประชาชนรับไม่ได้และหันไปเลือกตัวแทนในการต่อสู้กับการเมืองอีกขั้วหนึ่งเพราะการเมืองไทยนั้นมีการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรงมาเป็นระยะเวลายาวนานและพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับอีกฝั่งขั้วทางการเมืองได้สำเร็จเลย

นอกจากนี้การที่พรรคประชาธิปัตย์มีท่าทีที่ไม่ชัดเจนหรือแทงกั๊กไปมานั้นทำให้ประชาชนที่เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์รู้สึกว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ปราศจากความจริงใจต่อประชาชน เล่นแต่การเมืองเป็นหลัก จนจะไม่มีการเมืองให้เล่น โดยไม่คำนึงถึงจิตใจของประชาชนอย่างแท้จริงหรือมีการตีสองหน้าทางการเมืองหรือไม่ รักษาหลักการสวยหรูมากกว่ารักษาบ้านเมืองหรือไม่?

นอกจากนี้ในอดีตที่ผ่านมาประชาชนก็ยังจำได้ว่าอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้นเอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์วุ่นวายที่พัทยาและที่กระทรวงมหาดไทยมาด้วยเหตุผลใดและโดยใคร และการจัดตั้งรัฐบาลที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเกิดขึ้นในราบ 11 หรือไม่ การแสดงพฤติกรรมโดยการออกมาด่าทอฝ่ายที่เคยช่วยเหลือถึงขั้นเคยช่วยชีวิตและช่วยให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในสายตาของประชาชนที่เป็นฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน เพราะในความเป็นไทยนั้นอาจจะมองได้ว่าเป็นการเนรคุณ ถึงแม้กองทัพจะต้องทำตามหน้าที่เพื่อความมั่นคงของชาติก็ตาม แต่พรรคประชาธิปัตย์หากเลือกที่จะอยู่นิ่งเฉยและไม่แสดงท่าทีก้าวร้าวด่าทอเช่นนั้น ก็อาจจะยังพอเป็นที่ยอมรับของประชาชนที่เป็นฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ได้

ในทางธุรกิจหรือมองในเชิงการตลาด การที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกกลยุทธ์แทงกั๊กเช่นนี้ ถือว่าติดหล่มอยู่ตรงกลา งจะเดินหน้าก็เดินต่อไปไม่ได้ จะถอยหลังก็ถอยหลังไม่ได้อีกเช่นกัน ไปไหนไม่ได้สักทางเรียกว่า Stuck in the middle ถ้าจะกล่าวในเชิงการตลาดต้องบอกว่าตำแหน่งผลิตภัณฑ์หรือตรายี่ห้อทางการตลาด (Product/Brand positioning) ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่ชัดเจนสักทาง ความไม่ชัดเจนของตำแหน่งทางการตลาดนั้นทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจและขาดความศรัทธาเชื่อถือและย่อมไม่เลือกใช้สินค้าและบริการนั้นเพราะไม่รู้ว่าตกลงสินค้าและบริการนั้นจะตอบสนองความต้องการอะไรของตนเองกันแน่เนื่องจากตัวสินค้าเองก็ยังไม่มีความชัดเจน

นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้สมัครตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ชิงกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกมาเขียนข้อความว่า

เรือที่ชื่อประชาธิปัตย์
การนำพาเรือที่ชื่อประชาธิปัตย์ ภายใต้กัปตันท่านนี้ ได้พิสูจน์ถึง ความผิดพลาดครั้งใหญ่มาก ๆ ครั้งนี้ไม่ใช่แค่อัปปางน้ำรั่ว หรือผนังเรือพังเท่านั้น แต่เป็นการอัปปางเกือบจะเหลือแต่ซาก

การกำหนดทิศทางเรือที่ผิดพลาด ไม่รบกับศัตรูเดิม แต่เปิดศึกสร้างศัตรูใหม่ ทั้ง ๆ ที่น่าจะเป็นแนวร่วม ไปเล่นในเกมส์ที่คนอื่นกำหนด ขณะที่กำลังรบเราก็ไม่มาก ยิ่งทำให้เกิดความไม่พอใจต่อคนดู ที่มีอำนาจลงคะแนน สุดท้ายประชาชนก็ลงโทษเรา

แม้นักรบในเรือหลายคน คาดเดาถึงความหายนะที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เหมาะสมที่จะพูดในสถานการณ์สู้รบ คิดว่าจะช่วยกันมากอบกู้เมื่อทุกอย่างสงบ แต่ความรุนแรงของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นมหาศาล จนต้องสูญเสียนักรบ เกือบทุกภาคของประเทศ แม้แต่กรุงเทพฯก็เป็นศูนย์

กัปตันและทีมแม้จะเอาชีวิตรอดมาได้ แต่ก็แลกกับชีวิตทางการเมืองของเพื่อน ๆ หลายชีวิตมาก บนซากปรักหักพังนี้ ถึงเวลาจริง ๆ แล้ว ที่พวกเราต้องไม่เกรงใจกัน ต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิด วิธีทำงานกันครั้งใหญ่

อย่ามองกันในแง่ร้ายว่าจะมายึดเรือลำนี้ เพราะพวกเราต้องอยู่ร่วมกัน ขอให้เพียงแต่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ไม่เอาแต่พรรคพวก เปิดใจให้กว้างกับคนที่คิดต่าง เพราะคิดเหมือนกันได้ถูกพิสูจน์ว่าล้มเหลว......ถึงเวลาต้องเปลี่ยนจริง ๆ แล้วครับ


แต่ก็ได้ข่าวมาว่าคนในพรรคประชาธิปัตย์ก็กลับจองหอง ไม่รับฟัง อวดดื้อและถือดีออกมากล่าวว่าเป็นการด่าพ่อแม่ตัวเอง และจะขับคุณหมอวรงค์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้แต่ผิดหวังซ้ำสองแล้วถอนหายใจอีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้ พรรคประชาธิปัตย์จึงเสียฐานเสียงในกรุงเทพมหานครและในภาคใต้ให้พรรคพลังประชารัฐไปมากเหลือเกิน อย่างเหลือเชื่อ แม้กระทั่งเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดตรัง ฐานเสียงสำคัญของอดีตนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัยก็ยังพ่ายแพ้

ประการที่สอง พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีอะไรที่ใหม่ และไม่มีคนรุ่นใหม่ที่จะมาสู้ พรรคไทยรักไทยนั้นชนะเลือกตั้งถล่มทลายเพราะนำเสนอนโยบายสาธารณะที่เป็นรูปธรรม แปลกใหม่ และปฏิบัติได้จริง แม้จะเป็นประชานิยมที่ส่งผลเสียหายแก่ประเทศชาติมากมายในภายหลังก็ตาม แต่ก็มีความแปลกใหม่ และได้รับความสนใจจากประชาชน พรรคประชาธิปัตย์เองแม้กลุ่มยุวประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ โดยเฉพาะหากเทียบกับนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ ที่มีนวภาพ (Originality) และมีสิ่งที่น่าสนใจและน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองได้มากกว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เน้นความหนุ่มสาวแบบสวยหล่อ หน้าตาดี ตระกูลดี ฐานะ การศึกษาดี แต่ไม่มีอะไรใหม่ในสายตาประชาชน ทำให้ไม่โดนใจวัยรุ่นหรือ First-time voters คนที่มาเลือกตั้งครั้งแรกถึง 7.5 ล้านคน และพรรคประชาธิปัตย์ก็สูญเสียฐานเสียงเหล่านี้ไปให้พรรคอนาคตใหม่เช่นกัน

ประการที่สาม พรรคประชาธิปัตย์ มีภาพลักษณ์เป็นพรรคอนุรักษ์นิยม ยึดติดกับแนวทางเดิมสูงมาก ในสมัยก่อนพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ได้ใจประชาชนเพราะเป็นพรรคการเมืองที่ต่อสู้กับเผด็จการทหารมาโดยตลอด เป็นพรรคที่กล้าพูดความจริง และเป็นฝ่ายค้านที่ดี มีหัวก้าวหน้าและค่อนข้างเสรีนิยม แต่ปัจจุบันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ แม้กระทั่งการวิเคราะห์ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยและความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองของประชาชนก็ไม่แม่นยำ หรือหัวหน้าพรรคจะรับฟังแต่พรรคพวกเก่า ๆ เดิม ๆ ทำให้มองไม่เห็นและมองอะไรไม่ออกก็ไม่ทราบ แต่เมื่อมี branding แบบนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ขายไม่ออก และไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนเท่าที่ควร

ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์คงต้องทบทวนตัวเองอย่างหนัก มากกว่าที่จะทะเลาะกัน พรรคนี้ตีกันจนแทบพรรคแตกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะสมัย พระฤาษีเลี้ยงลิง กลุ่ม 16 มกรา และอีกสารพัดความขัดแย้ง ก็เคยมีมาตลอดและคงมีมาตลอดไป

ทางรอดของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องคุยกันเองอย่างสามัคคี ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การกู้และรื้อฟื้นพรรคให้กลับมาได้ อย่างแรกที่ต้องทำคือพรรคประชาธิปัตย์ต้องทำความเข้าใจ อารมณ์ ค่านิยม ความรู้สึกนึกคิดของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานเสียงของตัวเอง แล้วกำหนดท่าทีทางการเมืองให้สอดคล้องกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ หากยังยึดแต่หลักการโดยไม่ฟังฐานเสียงหรือไม่ฟังประชาชนเลย พรรคประชาธิปัตย์จะไปไม่รอด

สิ่งที่น่าคิดหรือทางรอดในระยะสั้นที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องตัดสินใจให้ชัดเจนนั้นมีดังนี้

เงื่อนไขหลักที่จะนำไปสู่รัฐประหารอีกครั้งคือการไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งใด โดยมีต้นเหตุมาจากการแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในขณะนี้แบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน คือฝ่าย กปปส. ในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการเข้าร่วมรัฐบาล และฝ่ายผู้หลักผู้ใหญ่เดิมในพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการเป็นฝ่ายค้าน

หากฝ่ายกปปส. กับฝ่ายผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์เกิดการแตกแยกกัน จนพรรคประชาธิปัตย์แตกจริง ๆ

ฝั่งผู้อาวุโสแม้จะออกไปหรือไล่ฝั่ง กปปส. ออกไป ก็น่าจะไม่ได้ต้องการสมานฉันท์เป็นเนื้อเดียวกับพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด น่าจะไม่ยอมเข้าร่วมรัฐบาลทั้งฝั่งพรรคเพื่อไทยและฝั่งพรรคพลังประชารัฐ

เมื่อเป็นเช่นนี้การจัดตั้งรัฐบาลจะไม่มีวันสำเร็จแม้แต่ฝั่งเดียว จะเกิด deadlock ทางการเมือง เพราะจะไม่มีฝั่งใดชิงตั้งรัฐบาลได้เลย และเมื่อนั้น คสช. ก็อาจจะต้องรักษาการไปจนเกิดฝีแตกหรือเกิดความวุ่นวายทางการเมือง

หากพรรคประชาธิปัตย์แตกเป็นเสี่ยง ๆ จริง ๆ น่าจะหมายความว่าการเมืองไทยจะเข้าสู่จุดอับอีกครั้ง

ทางออกมีได้หลายทาง เช่น ใช้ มาตรา 44 ยกเลิกผลการเลือกตั้ง แล้วจัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็จะโกลาหลไม่แพ้กัน

หากสถานการณ์ถึงทางตัน ทางออกน่าจะมีอยู่ทางเดียว คือการเกิดรัฐประหารอีกครั้ง ซึ่งก็น่าจะลำบาก ทำรัฐประหารแล้วจะเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงและเกิดความรุนแรงต่อไป ปกครองไม่ได้ เพราะเป็นการทำรัฐประการที่เงื่อนไขยังไม่สุกงอมอย่างแท้จริง

ดังนั้นการดำรงอยู่อย่างสามัคคีของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาวิกฤติเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ชี้ชะตาบ้านเมืองไม่น้อย

คำถามถัดไปคือหากพรรคประชาธิปัตย์เป็นชนวนให้เกิด deadlock ทางการเมืองแล้วไซร้ อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นเช่นไรต่อไป

หนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ จะได้รับการยอมรับยกย่องทั้งจากมวลชนฝ่ายทักษิณและธนาธร และจากมวลชนที่สนับสนุนลุงตู่ ผมคิดว่ากรณีนี้เป็นไปไม่ได้เลย

สอง พรรคประชาธิปัตย์ จะถูกด่าจากทั้งสองฝั่ง ฝั่งมวลชนทักษิณและธนาธรก็จะด่าว่าพรรคประชาธิปัตย์แทงกั๊ก ไม่จริงใจ และไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ขณะที่อีกฝั่งก็จะด่ายับเยินว่าเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายในบ้านเมืองและนำไปสู่ deadlock ทางการเมือง

สาม พรรคประชาธิปัตย์ จะได้รับการยกย่องจากมวลชนฝั่งทักษิณและฝั่งธนาธรว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตย แต่จากมวลชนฝั่งลุงตู่จะถูกด่ายับเยิน (อันนี้มีความเป็นไปได้อยู่บ้าง ไม่มากนัก)

สี่ พรรคประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์ ไม่เหลือทางรอด และกลายเป็นพรรคการเมืองที่เคยเป็นสถาบันในตำนาน แต่ไม่อาจจะอยู่ได้ต่อไป

ผมยังไม่แน่ใจว่าจะออกมาเป็นสถานการณ์ที่สองหรือสถานการณ์ที่สี่ หรือทั้งสองสถานการณ์

ณ ขณะนี้ บ้านเมือง อยู่ในมือพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่ง แม้จะล้มเหลวในการเลือกตั้งก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นทางรอดของบ้านเมืองได้อีกเช่นกัน และอาจจะเป็นทางรอดของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเช่นกัน ที่จะจำเป็นต้องกลืนเลือดและหยุดตีกันสักพัก

ที่เขียนมานี้ผมแค่เล่าให้ฟังว่าผมมองว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร และอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ได้บอกว่านี่คือสิ่งที่ควรจะเป็นแต่บอกว่านี่คือสิ่งที่คิดจะว่าน่าเกิดขึ้น

โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง !!!!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น