xs
xsm
sm
md
lg

สาราณียธรรม 6 : หลักการในการอยู่ร่วมกัน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง





สาราณียธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติของผู้ที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ตั้งแต่ขนาดเล็ก เช่น ครอบครัวไปจนถึงระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งในระดับโลกมีอยู่ 6 ประการ ซึ่งป.ปยุตฺโต หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ในปัจจุบันได้นำมารวบรวม และอธิบายความไว้ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมดังต่อไปนี้

1. เมตตากายกรรม ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้า และลับหลังคือ ช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมหมู่คณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกันทั้งต่อหน้า และลับหลัง

2. เมตตาวจีกรรม ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลังคือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือน ด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือทั้งต่อหน้า และลับหลัง

3. เมตตามโนกรรม ตั้งเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน

4. สาธารณโภคิตา ได้สิ่งของใดมาก็แบ่งปัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมา แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจานให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน

5. สีลสามัญญตา มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของหมู่คณะ

6. ทิฏฐิสามัญญตา มีทิฏฐิดีงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ เห็นชอบร่วมกันในข้อที่เป็นหลักการ อันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ ขจัดปัญหา

โดยนัยแห่งสาราณียธรรม 6 ประการข้างต้น จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเน้นให้ผู้ที่อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ หรือทำงานร่วมกัน จะต้องมีเมตตา คือ ความหวังดีต่อกัน ไม่ริษยากัน ไม่ชิงดี ชิงเด่นต่อกันและกัน ไม่ว่าจะด้วยการกระทำหรือจะด้วยการพูด หรือแม้กระทั่งการคิดใน 3 ประการแรก

ส่วน 3 ประการหลัง เป็นการวางเงื่อนไขหรือกติกาในการอยู่ร่วมกัน โดยกำหนดให้ผู้ที่อยู่ร่วมกันต้องรู้จักการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และจะต้องมีความประพฤติอันดีงามเสมอภาคกัน และที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องมีความคิดเห็นถูกต้อง และเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับผู้อื่น

ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ เนื่องจากประชากรของประเทศส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิกายเถรวาทหรือหินยาน

ด้วยเหตุนี้ วิถีชีวิตของคนไทยจึงผูกพันอยู่กับคำสอน และพิธีกรรมตามแนวทางของศาสนาพุทธ จึงทำให้ผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในชนบทอยู่อย่างสงบ และเรียบง่าย ซึ่งเป็นไปตามหลักสันโดษ 3 ประการคือ

1. ยถาลาภสันโดษ คือ ยินดีตามที่หามาได้โดยชอบธรรม

2. ยถาพลสันโดษ คือ ยินดีตามกำลังของตน เช่น กำลังกายมีน้อยก็ทำแต่น้อย และกำลังทรัพย์มีน้อย ก็จ่ายแต่น้อย เป็นต้น

3. ยถาสารุปปสันโดษ คือ ยินดีตามสมควรแก่สถานะของตนเอง ทั้งในด้านสังคม และทางเศรษฐกิจ

นอกจากอยู่อย่างสงบ และเรียบง่ายแล้ว คนไทยผู้เป็นพุทธมามกะจะอยู่ร่วมกัน และมีความสามัคคีภายในกลุ่ม เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากคำสอนของศาสนาพุทธที่เรียกว่า สาราณียธรรม 6 ประการข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในชนบทซึ่งเป็นสังคมปฐมภูมิที่มีความสัมพันธ์ภายในกลุ่มในรูปแบบขององค์กรอรูปนัย (Informal Organization)

แต่ในปัจจุบัน การอยู่ร่วมกันในรูปแบบข้างต้นได้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในสังคมเมือง ซึ่งเป็นสังคมทุติยภูมิ ดังนั้น ความสัมพันธ์ภายในกลุ่มจึงขาดหายไป สมาชิกภายในกลุ่มต่างคนต่างอยู่ จะรวมกันได้ก็โดยมีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ หรือที่เรียกว่า องค์กรรูปนัย (Formal Organization) และสังคมในรูปแบบนี้เองที่ขาดเอกภาพ จึงทำให้ความสามัคคีภายในกลุ่มเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากขาดหลักสาราณียธรรมข้อสาธารณโภคิตา คือ การแบ่งปัน จึงทำให้ผู้คนในสังคมต่างคนต่างอยู่ ไม่พึ่งพาอาศัยกัน

ดังนั้น ถ้าจะให้ผู้คนในสังคมลักษณะนี้มีเอกภาพ และเกิดความสามัคคี ก็จะต้องให้ผู้คนเรียนรู้ และปฏิบัติตามหลักสาราณียธรรม 6 ประการ โดยเฉพาะข้อที่ 5 และข้อที่ 6 ก่อน แล้วข้อ 1-4 ก็จะเกิดขึ้นตามมาเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น