ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
บทความที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นเนื้อส่วนหนึ่งของหนังสือเกี่ยวกับกัญชาเล่มใหม่ชื่อ “สุริยัน กัญชา อัมฤตย์โอสถแห่งความหวัง” เขียนโดย อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งจะเปิดตัวเป็นครั้งแรกในวันอาทิตย์ที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เวลา ๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น. ณ เวทีกลางศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จึงขอเรียนเชิญท่านผู้อ่านทุกท่านเข้าร่วมงานเปิดตัวหนังสือดังกล่าวมา ณ โอกาสนี้ด้วย
กัญชาได้ถูกนำมาใช้ในการทำให้นอนหลับและเจริญอาหาร และมีการใช้กันโดยทั่วไปหลายตำรับในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และแต่ละตำรับแม้จะมีความแตกต่างในรายละเอียด แต่เมื่อนำมาพิจารณารวมกันแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าการให้นอนหลับและการเจริญอาหารนั้นถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งนี้ในวารสารทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาด้านการทดลองเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันวิทยา American Journal of Clinical and Experimental Immunology เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้รายงานงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าการอดนอนจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตกลง ซึ่งรวมไปถึงกิจกรรมของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Natural Keller Cell หรือ NK Cell ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำลายเซลล์มะเร็งนั้นลดประสิทธิภาพลงไปด้วย [1]
สำหรับยาไทยนั้นการมีกัญชาผสมอยู่นั้นรู้กันมานานหลายร้อยปีว่าสามารถช่วยการนอนหลับได้ แต่ก็ไม่ได้ผสมให้มากจนเกิดอาการขาดกลัวหรือออกฤทธิ์ทางจิตประสาท หวาดกลัว มึนเมาปวดศีรษะ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตำรับยาไทยที่เข้ากัญชานั้นมักจะผสมพริกไทยเพื่อขับลมออกประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือมักจะทำให้เกิดความสุขหลังการใช้ตำรับยาที่เข้ากัญชา ไม่ใช่ความหวาดกลัว อีกทั้งยังมีความปลอดภัยในระดับทูลเกล้าฯถวายพระมหากษัตริย์สยามมาช้านานแล้ว ดังจะได้รวบรวมเรื่องตำรับสำหรับให้นอนหลับที่น่าสนใจดังนี้
สำหรับตำรับยาที่เก่าแก่ที่สุดนั้นเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยอยุธยา ปรากฏในคัมภีร์ธาตุพระนารายน์ มี ๒ ตำรับคือ "ยาศุขไสยาสน์" และ "ยาทิพากาศ" ดังนี้
๑. ยาศุขไสยาศน์
“ยาศุขไสยาศน์ ให้เอา การบูรส่วน ๑ ใบสะเดา ๒ ส่วน สหัสคุณเทศ ๓ ส่วน สมุลแว้ง ๔ ส่วน เทียนดำ ๕ ส่วน โกฏกระดูก ๖ ส่วน ลูกจันทน์ ๗ ส่วน ดอกบุนนาค ๘ ส่วน พริกไทย ๙ ส่วน ขิงแห้ง ๑o ส่วน ดีปลี ๑๑ ส่วน ใบกันชา ๑๒ ส่วน ทำเปนจุณละลายน้ำผึ้ง เมื่อจะกินเศกด้วยสัพพีติโย ๓ จบ แล้วกินพอควร แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลังกินเข้าได้ นอนเป็นศุขนักแล ๚” [2]
๒. ยาทิพากาศ
"ยาทิพากาศ ให้เอายาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร ๔ ส่วน ฝิ่น ๔ ส่วน ใบกัญชา ๑๖ ส่วน สุราเป็นกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายให้ชอบโรคร้อนแลเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันระส่ำระสาย กินเข้ามิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแล ๚" [2]
ทั้งนี้ทางกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกได้จัดให้ตำรับยาทิพากาศนี้ เป็นกลุ่มตัวยาที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ได้เพราะมีการผสมฝิ่นในตำรับยาขนานนี้ด้วย จึงกลายเป็นตำรับยาที่ขัดกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ
๓. ประสะกันชา ปรากฏในคัมภีร์สรรพคุณเภสัชว่าด้วยกันชา ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีการใช้กัญชาเป็นส่วนผสมมากที่สุดเท่าที่ปรากฏในตำราแพทย์แผนไทยทั้งหมด คือมีใบกัญชาเป็นส่วนผสมถึงครึ่งหนึ่ง ปรากฏข้อความตรงกันอยู่ใน เวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่มที่ ๒ และ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ความว่า :
“ กันชา แก้ไขผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่นเสียงสั่น เปนด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ เอาตรีกระฏุก จันทน์ทั้ง ๒ ใบสะเดา ใบคนทีเขมา พริกล่อนเสมอภาค ใบกันชาเท่ายาทั้งหลายทำผง เอาน้ำมะพร้าว น้ำผึ้ง น้ำส้มส้า น้ำตาลทราย กระทือสด น้ำเบญจทับทิมต้มละลายยากินหายแล ๚” [3] [4]
๔. สำราญนิทรา ตำรับยาขนานนี้แม้จะตั้งชื่อว่าทำให้หลับอย่างสำราญ แต่ความจริงแล้วเป็นการแก้ลมเป็นหลัก โดยปรากฏอยู่ในตำราเวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป โดยพระยาพิษณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนสโมสร รัตนโกสินทร์ ศก. ๑๒๗ บันทึกเอาไว้ว่า
“ยาสำราญนิทรา เอาพิมพ์เสน ๑ โกศหัวบัว ๑ ลูกจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กะวาน ๑ กานพลู ๑ สิ่งละ ๒ สลึง จันทน์ทั้ง ๒ กฤษณา ๑ กะลำพัก ๑ ขอนดอก ๑ ชะลูด ๑ การบูร ๑ กันชา ๑ รากข้าวเรื้อ ๑ ผลสะบ้าปิ้งไฟ ๑ กลอย ๑ อบเชยเทศ ๑ สิ่งละ ๓ ส่วน หญ้าฝรั่น ๒ ส่วน ตำเปนผง บดด้วยน้ำดอกไม้แทรกพิมเสนแก้ลม” [5]
๕. ยาสุขไสยาสน์ (ตำรับที่ไม่มีฝิ่นหรือเห็ดขี้วัว)
สำหรับตำรับยาที่ทำให้นอนหลับนอกจากดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังปรากฏอยู่ใน คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม ๑ เขียนและเรียบเรียงโดย ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) แพทย์แผนไทย ผู้เป็นบิดาของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งมีตำรับยาขนานชื่อมีว่า "ยาสุขไสยาสน์" คล้ายคลึงกันกับ "ยาศุขไสยาสน์" ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ธาตุพระนารายน์ แต่กลับมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน ดังนั้นทางกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกมีความเห็นว่าตำรับยานี้เห็นควรให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
“ยาสุขไสยาสน์ เอาโกศหัวบัว ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน กานพลู เนื้อไม้ กระลำ ภัก ชะลูด ขอนดอก อบเชย หัวกลอย เมล็ดสะบ้าปิ้งไฟ รากข้าวต้ม การบูร กัญชา เอาสิ่งละ ๒ บาท บดปั้นเป็นแท่ง ละลายน้ำดอกไม้เนื้อไม้ต้ม น้ำจันทน์แดง แทรกหญ้าฝรั่น พิมเสน กิน แก้พิษไข้แลลมที่ทำให้มีอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ แก้พิษกาฬและทำให้กลุ้มหัวใจ หายแล”[6]
อย่างไรก็ตามยังมีตำรับยาบางขนานของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) ที่มีกัญชาเข้าในตำรับซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการนอนหลับ แต่กลับปรากฏว่าทางกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ได้จัดให้กลุ่มตัวยาต่อไปนี้กฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ได้เพราะมีการผสมฝิ่นหรือเห็ดขี้วัวในตำรับยา จึงกลายเป็นตำรับยาที่ขัดกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบอยู่ในอนุสัญญา CITES หรือ WHO ดังต่อไปนี้
๖. ยาแก้ไขนอนไม่หลับ
“ยาแก้ไข้นอนไม่หลับ เอาจันทน์ทั้ง ๒ ดอกลำโพงกาสลัก โหราอำมะริก โหราเท้าสุนัก โหราเดือยไก่ ฝิ่น กัญชา โกศสอ โกศหัวบัว รำพัน การบูร บดปั้นแท่งละลายน้ำดอกไม้แทรกขันทศกร น้ำตาลกรวดกิน”[7]
สำหรับตำรับยานี้ส่วนที่ไม่อนุญาตให้ใช้เพราะมีส่วนประกอบอยู่ในอนุสัญญา CITES หรือ WHO หรือกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ได้แก่ ฝิ่น ลำโพงกาสลัก โหราอมฤต โหราเท้าสุนัขและโหราเดือยไก่อยู่ในตำรับ
๗. ยาสุขไสยาสน์ แก้ไข้นอนไม่หลับ(ตำรับที่มีฝิ่นและเห็ดขี้วัว)
“ยาสุขไสยาสน์ แก้ไข้นอนไม่หลับ เอาลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน กานพลู กฤษณา กระลำภัก เห็ดขี้วัวคั่ว ขอนดอก จันทน์หอม ชะมด ขิงแห้ง พิมเสน ดีปลี เอาสิ่งละ ๑ สลึง ฝิ่น ๒ สลึง กัญชา ๒ สลึง เกสรบัวหลวง ๒ บาท บดปั้นแท่งด้วยน้ำดอกไม้แทรกพิมเสนดีงู ละลายน้ำดอกไม้กิน” [8]
สำหรับตำรับยาขนานนี้ไม่อนุญาตให้ใช้ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้เพราะผสมฝิ่นและเห็ดขี้วัวอยู่ในตำรับ
๘. ยาประทุมไสยาสน์
“ยาประทุมไสยาสน์ เอาเกสรบัวหลวง โกฏบัวหลวง จันทน์แดง เอาสิ่งละ ๑ บาท กันชา ยาฝิ่น ชะมด พิมเสน เอาสิ่งละ ๑ สลึง บดปั้นแท่งด้วยน้ำดอกไม้เทศ ละลายน้ำดอกไม้กิน ทำให้นอนหลับดี” [9]
๙. ยาประทุมไสยาสน์จันทบุรี ปรากฏอยู่ในอายุรเวทศึกษา ของขุนนิทเทศสุขกิจ เล่ม ๒ แม้จะชื่อคล้ายกันกับยาประทุมไสยาสน์ของ ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) แต่มีรายละเอียดไม่เหมือนกัน และเป็นยาที่กฎหมายไม่อนุญาตเช่นกัน ดังนี้
“ยาประทุมไสยาสน์จันทบุรี เอาจันทน์หอม เกสรบัวหลวง สิ่งละ ๑ บาท กฤษณา กระลำพัก ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กัญชา กลอย สิ่งละ ๑ สลึง ขอนดอก พิมเสน ฝิ่น ดีงูเหลือม ชะมด สิ่งละ ๑ เฟื้อง ลูกผักชี การบูร สิ่งละ ๑ สลึง บดเป็นแท่งละลายน้ำดอกไม้ กินแก้นอนไม่หลับ”[10]
๑๐. ตำรับยาแก้เด็กนอนไม่หลับ ตามปกติแล้วคนทั่วไปมักจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้กัญชากับเด็ก แต่ในความจริงแล้วกัญชาเป็นทางออกสำหรับเด็กที่เป็นโรคลมชักได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรื่องนี้ปรากฏว่ามีตำรับยาขนานหนึ่งซึ่งมาจากตำรับยาเกร็ดหมวดเวชศาสตร์ได้ระบุตำรับยาสำหรับการทำให้เด็กนอนหลับโดยใช้กัญชาเข้าไปมีส่วนเป็นน้ำกระสายด้วยดังนี้
“ยาแก้เด็กนอนไม่หลับ กระเทียม ๑ มหาหิงคุ์ ๑ ว่านน้ำ ๑ บอระเพ็ดเท่าใบชุมเห็ดเทศเท่ายาทั้งหลาย บดทำให้เด็กกินนอนหลับ กันชาเป็นกระสาย” [11]
จากตำรับยาข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามีหลายตำรับยาที่มีทั้งกัญชาและฝิ่นผสมกันอยู่ และการเป็นตำรับยาต้องห้าม เพราะผิดกฎหมาย ซึ่งแม้ยาทั้งสองชนิดนี้จะทำให้หลับได้ทั้งคู่ แต่ต่อมในการรับสารสำคัญของกัญชาและฝิ่นในร่างกายมนุษย์นั้นมีความแตกต่างกัน แม้กระทั่งการบรรเทาอาการปวดก็ไม่เหมือนกัน เช่น ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายนั้นมักจะใช้มอร์ฟีนได้ผลดีกว่ากัญชา ในขณะที่ประเทศที่มีการใช้สารสกัดกัญชาในผู้ป่วยโรคมะเร็งอาจลดการใช้มอร์ฟีนลงได้ถึงประมาณ ๓๐%
อย่างไรก็ตาม กัญชาและฝิ่นมีผลข้างเคียงที่ตรงกันข้ามกันในเรื่องความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ กล่าวคือกัญชาลดความดันโลหิตให้ต่ำลง อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ในขณะที่ฝิ่นหรือมอร์ฟีนเพิ่มความโลหิต แต่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ทั้งกัญชาและฝิ่นจึงสามารถลดผลข้างเคียงซึ่งกันและกันได้ แต่ตำรับยาที่กล่าวมาข้างต้นจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรนั้น ถึงเวลานี้ไม่สามารถจะวิจัยผ่านฝิ่นได้ แต่อาจจะต้องวิจัยผ่านมอร์ฟีนในรูปยาแผนปัจจุบันแทน (ซึ่งแพทย์แผนไทยก็ไม่สามารถใช้ฝิ่นมอร์ฟีนมาวิจัยในแพทย์แผนไทยได้)
แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็ตรงที่ว่า ไม่มีใครปฏิเสธว่าฝิ่นเป็นยาเสพติดได้ง่ายกว่ากัญชาอย่างมหาศาล ในขณะที่กัญชาหรือแม้กระท่อมซึ่งเสพติดได้ยากกว่าฝิ่นมาก อีกทั้งยังให้อารมณ์ผ่อนคลายหรือลดอาการปวดได้แตกต่างกันด้วย การที่กัญชามาผสมกับฝิ่นได้ อาจเป็นผลไม่เพียงลดผลข้างเคียงซึ่งกันและกันเท่านั้น แต่อาจมีเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ผู้ที่ได้ใช้ยานั้นถอนตัวออกจากการใช้ยาฝิ่นได้ดีกว่าการใช้ฝิ่นแต่เพียงอย่างเดียวด้วย
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าการแพทย์แผนไทยนั้นสืบทอดฐานความรู้จากอายุรเวทของอินเดีย แต่ก็ได้มีวิวัฒนาการผ่านพุทธศาสนาด้วย ดังนั้นตำรับยาไทยทั้งหมดจะต้องทำให้ไม่ให้เกิดการมึนเมาหรือเสพติดโดยอาศัยการสมดุลของรสยา ๙ รสอยู่แล้ว ซึ่งหากมีการวิจัยเพื่อหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ อาจเป็นผลทำให้เราจะสามารถถอดรหัสถึงเหตุผลที่แท้จริงการผสมกัญชาและฝิ่นอยู่ในตำรับยาหลายขนานของแพทย์แผนไทยต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ปรากฏตำรับยาขนานหนึ่งของ ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) ปรากฏอยู่ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณ เล่ม ๓ ชื่อ "ยาอดฝิ่น" ความว่า
“ยาทำให้อดฝิ่น เอาขี้ยา (หมายถึงขี้ยาฝิ่น) ๒ สลึง เถาวัลย์เปรียงพอประมาณ กัญชาครึ่งกำ ใบกระท่อม เอาให้มากกว่ายาอย่างอื่น ต้มกิน ให้กินตามเวลาที่เคยสูบฝิ่น เมื่อกินไป ๑ ถ้วย ให้เติมน้ำ ๑ ถ้วย ให้ทำดังนี้จนกว่ายาจะจืด เมื่อกินจนน้ำจืดแล้วยังไม่หาย ให้ต้มกินหม้อใหม่ต่อไป” [12]
ในขณะที่วารสารเกี่ยวกับกัญชาและสารสกัดกัญชาที่ชื่อว่า Cannabis and Cannabinoid Research, ฉบับออนไลน์เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๐ ได้ออกรายงานวิจัยรวบรวมผลของการทดลองทางพรีคลินิก (การทดลองก่อนการทดลองในมนุษย์) โดยสรุปว่ามีหลักฐานที่แสดงเห็นถึงศักยภาพของกัญชาที่จะช่วยในการถอนอาการต่างๆในการใช้ฝิ่น ลดการใช้ฝิ่น ลดความอยากฝิ่น ลงแดง การป้องกันการกลับมาใช้ฝิ่น ช่วยบำบัดอาการผิดปกติการใช้ฝิ่นหรือสารสกัดจากฝิ่นเป็นเวลานาน ลดการเสียชีวิตในการใช้ฝิ่น [13]
เช่นเดียวกับกระท่อมซึ่งมีรายงานตีพิมพ์ในวารสาร Innovations in Clinical Neuroscience เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ โดยมีรายงานกรณีศึกษาของผู้ป่วย ๓ รายที่ใช้กระท่อมแก้ไขปัญหาการเกิดวิกฤติของผู้ป่วยที่ใช้ฝิ่นได้ [14]
สะท้อนให้เห็นว่การใช้กัญชากับฝิ่นของแพทย์แผนไทยนั้นน่าจะมีภูมิปัญญาที่ซ่อนความหมายอยู่มากกว่าที่คนยุคนี้จะเข้าใจด้วยความฉาบฉวยว่าห้ามใช้ตำรับยาเหล่านี้ เพียงเพราะว่าฝิ่นเป็นยาเสพติด และองค์ความรู้ดังกล่าวข้างต้นนี้อาจจะเป็นเบาะแสองค์ความรู้ในการพัฒนาตำรับยาสำหรับผู้ป่วยที่ใช้มอร์ฟีนในโรงพยาบาลในอนาคตด้วยก็ได้
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่าตำรับยาอดฝิ่นนั้นก็กลับเป็นตำรับยาต้องห้ามไปเสียอีก เพียงเพราะว่ามีการผสมขี้ยาฝิ่น จึงทำให้ตำรับกัญชาที่ผสมฝิ่นที่ทำให้นอนหลับอย่างมีความสุขนั้นคงต้องสูญหายไปอีกไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะทวงคืนกลับมาได้
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] Nayyab Asif, Razia Iqbal, and Chaudhry Fahad Nazir, Human immune system during sleep, 2017; 6(6): 92-96. Published online 2017 Dec 20.
[2] ตำราพระโอสถพระนารายน์ สมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนี โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน ในงานศพพระยาแพทยพงษา (นาก โรจนแพทย์). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ๒๔๖๐
[3] กรมศิลปากร. หอสมุดแห่งชาติ, ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่มที่ ๒ กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๒ ISBN 974-417-443-9
[4] กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สถาบันภาษาไทย, แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๒๕๔๗ ISBN 978-974-01-9742-3
[5] พระยาพิศณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร รัตนโกสินทร์ ศก. ๑๒๗ เวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๑, ๒, ๓
[6] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร). คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์; ๒๕๐๔ หน้า ๓๑๕
[7] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร). คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์; ๒๕๐๔ หน้า ๓๐๖
[8] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร). คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์; ๒๕๐๔ หน้า ๓๑๐
[9] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร). คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม ๓. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์; ๒๕๐๔ หน้า ๒๗๒
[10] นิเทศ (ถมรัตน์) พุ่มชูศรี, อายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม ๒ กรุงเทพฯ: พร้อมจักรการพิมพ์; ๒๕๑๖ หน้า ๑๕๕
[11] ตำรับยาเกร็ดหมวดเวชศาสตร์ เลขที่ ๒๗๓ มัดที่ ๒๐ ตู้ ๑๑๒ ชั้น ๒/๒
[12] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร). คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม ๓. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์; ๒๕๐๔ หน้า ๒๖๕
[13] Beth Wiese and Adrianne R. Wilson-Poe, Emerging Evidence for Cannabis Role in Opioid Use Disorder, Cannabis and Cannabinoid Research, 2018;3(1) : 179-189, Published Online 2018 Sep 1. doi: 10.1089/can.2018.0022, PMCID: PMC6135562, PMID: 30221197
[14] Durga Bestha, Kratom and the Opiod Crisis, Innovations in Clinical Neuroscience, 2018 June 1; 15 (5-6) : 11, Published online May-June 2018, PMCID: PMC6040724, PMID: 30013812