จุฑามาศ บำรุงสุข
ในห้วงปีที่ผ่านมาไม่มีประเด็นเศรษฐกิจใดจะร้อนแรงไปกว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและจีนต่างมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก โดยสหรัฐอเมริการถือเป็นตลาดบริโภคที่ใหญ่ที่สุด ขณะที่จีนเป็นฐานการผลิตสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลกเช่นกัน ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจึงส่งผลกระทบต่อประชาคมและเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สงครามการค้าคืออะไร? สงครามการค้า คือ สถานการณ์ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในของตน และประเทศต่าง ๆ ได้ขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเพื่อตอบโต้การดำเนินมาตรการดังกล่าว จนท้ายที่สุดแล้วแต่ละประเทศต่างดำเนินมาตรการขึ้นอัตราภาษีนำเข้า ส่งผลให้การค้าและเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะชะงักงัน และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและสงครามในที่สุด ตัวอย่างที่ผ่านมาในอดีต คือ กรณี Smoot Hawley โดยในปี 1930 สหรัฐอเมริกาได้ออกพระราชบัญญัติ Smoot Hawley เพื่อขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร 900 รายการ จากอัตราโดยเฉลี่ยร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 48 ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นการตอบโต้ ทำให้มูลค่าการส่งออกของสหรัฐอเมริกาลดลงประมาณ 3 เท่า มูลค่ารวมของการค้าโลกลดลงประมาณร้อยละ 65 ซึ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงปี 1929-1939
มีการกล่าวอ้างว่าสงครามการค้าอันเนื่องจาก Smoot Hawley เป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นให้เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอกสำคัญในการผลักดันแนวคิดการลดอุปสรรคทางภาษีและการค้าเสรี โดยได้มีการจัดทำความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีและการค้า 1947 (General Agreement on Tariff and Trade: GATT 1947) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในปัจจุบัน
แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการดำเนินนโยบายปกป้องจนลุกลามกลายเป็นสงครามการค้าในอดีต จนหันมาเป็นตัวตั้งตัวตีเรียกร้องให้มีการเปิดเสรีการค้า โดยการลดหรือยกเลิกอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี หากแต่เมื่อต้นปี 2018 สหรัฐอเมริกาได้เริ่มต้นดำเนินมาตรการทางการค้าโดยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มเติมจากอัตราปกติที่จัดเก็บ ตามด้วยสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้แคนาดา จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย เม็กซิโก และตุรกีประกาศดำเนินมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นการตอบโต้ หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาได้ประกาศดำเนินขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอีก 3 ครั้ง รวม 7,133 รายการ หากแต่จำกัดวงเฉพาะสินค้าที่นำเข้าจากจีนเท่านั้น ในเวลาเดียวกันจีนได้ดำเนินการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริการวม 6,058 รายการ เป็นการตอบโต้ อย่างไรก็ตาม หลังการพบปะหารือระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ และประธานาธิบดีสี ระหว่างการประชุม G20 เมื่อปลายปี 2018 ผู้นำทั้งสองเห็นควรให้ระงับการดำเนินมาตรการขึ้นภาษีตอบโต้กันและกันเพิ่มเติมเป็นการชั่วคราว และเปิดให้มีการเจรจาหาข้อยุติภายในเดือนมีนาคม 2019
คำถามที่เกิดขึ้น คือ ทำไมรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์จึงมีพฤติกรรมขัดแย้งกับหลักการการค้าเสรีซึ่งสหรัฐอเมริกายึดถือและผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการมาโดยตลอด เมื่อพิจารณารายการสินค้าที่สหรัฐอเมริกาดำเนินมาตรการขึ้นอัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีนเป็นการเฉพาะพบว่าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเทคโนโลยีภายใต้นโยบาย Made in China ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีเพื่อทดแทนการนำเข้าและส่งเสริมการการคิดค้น ต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก เฉกเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป สืบเนื่องจากการถือครองเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่าวเสริมสร้างอิทธิพลของประเทศในแวดวงการค้า การเมือง และความมั่นคงระหว่างประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจหากสหรัฐอมริกาจะถือว่านโยบาย Made in China เป็นภัยคุกคามต่อสถานะการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐอเมริกา
ข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาต่อจีนระหว่างการเจรจาเพื่อหาข้อยุติสงครามการค้า พบว่าประเด็นที่สหรัฐอเมริกาให้น้ำหนักอย่างสูง คือ การเรียกร้องให้ยกเลิกข้อบังคับว่าด้วยการถ่ายโอนเทคโนโลยีของนักลงทุนสหรัฐอเมริกา และการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบกับสถานการณ์ที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Huawei หรือการแสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลหากมีการใช้เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ของ Huawei สะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะกีดกันการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนโดยสหรัฐอเมริกา อาจกล่าวได้ว่า การแก้ไขการขาดดุลการค้าต่อจีน หรือความต้องการปกป้องอุตสาหกรรมภายใน เป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่อนำมาเป็นเหตุผลสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางภาษี โดยมีเป้าหมายแท้จริงในการสกัดกั้นการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของจีน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกเสรีในการเผชิญหน้ากับลัทธิสังคมนิยมภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต และเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นผู้นำโลกเพียงหนึ่งเดียวซึ่งทรงอิทธิพลทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน การเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจีนในห้วงระยะเวลา ปีที่ผ่านมา ทำให้จีนทวีบทบาทในเวทีเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ อาจกล่าวได้ว่าบทบาทของจีนโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้จีนยังแสดงให้เห็นความพยายามในการแพร่ขยายอำนาจและอิทธิพลของตนในแวดวงการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ
หากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงความขัดแย้งทางการค้า หรือการดำเนินมาตรการทางภาษีตอบโต้กันไปมาคงไม่สร้างความห่วงกังวลมากมายให้แก่ประชาคมโลก หากแต่ข้อกังวลสำคัญของประชาคมโลก คือ สงครามการค้าที่เกิดขึ้นขณะนี้ป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของกับดักธูสิดิดีส (Thucydides’s Trap) หรือไม่ กับดักธูสิดิดิส คือ สถานการณ์การผงาดขึ้นมาของรัฐมหาอำนาจใหม่ซึ่งท้าทายและสร้างความหวาดระแวงแก่รัฐมหาอำนาจเดิม ส่งผลให้รัฐมหาอำนาจเดิมตัดสินใจ ทำสงครามกับรัฐมหาอำนาจใหม่ ดังเช่นในยุคกรีกโบราณที่นครรัฐเอเธนส์ (รัฐมหาอำนาจเดิม) ตัดสินใจทำสงครามกับนครัฐสปาตาร์ (รัฐมหาอำนาจใหม่) โดยสงครามเพโลพอนนีเซียน (Peloponnesian war) หรือสงครามแย่งชิงอำนาจดังกล่าวกินเวลานานเกือบ 30 ปี จนในที่สุดอำนาจได้ถูกเปลี่ยนถ่ายไปยังนครรัฐสปาตาร์
เมื่อนำภาพที่ละภาพ พฤติกรรมแต่ละพฤติกรรม สถานการณ์แต่ละสถานการณ์มาร้อยเรียงเชื่อมโยงกัน ภาพของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจึงเป็นมากกว่าประเด็นความขัดแย้งทางการค้า หรือการดำเนินมาตรการทางภาษีตอบโต้กันไปมา หากแต่เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งที่ปรากฏต่อสายตาประชาคมโลกเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สถานการณ์และพัฒนาการของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจึงเป็นศูนย์กลางความสนใจของประชาคมโลก ผลการเจรจาเพื่อหาข้อยุติซึ่งมีกำหนดเส้นตายในเดือนมีนาคม 2019 จึงเปรียบเสมือนสัญญาณสำคัญที่จะสะท้อนทิศทางและจุดยืนของสหรัฐอเมริกาและจีนในเกมการแย่งชิงอำนาจ แม้ว่าปัจจุบันโลกจะอยู่ในสถานการณ์ที่อึมครึม ไม่ชัดเจน หากแต่ความมุ่งหมายของประชาคมโลกนั้นชัดเจนและเป็นหนึ่งเดียว คือ สหรัฐอเมริกาและจีนจะสามารถจัดการความสัมพันธ์และความขัดแย้งในเกมการแย่งชิงอำนาจได้โดยสันติ แม้ว่าจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในช่วง 500 ปี จะมีเพียง 4 กรณี จาก 16 กรณี ที่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจเป็นไปอย่างสันติ ไม่ได้จบลงด้วยสงคราม เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 มันกว้างขวางและใหญ่มากพอสำหรับการแบ่งปัน และอยู่ร่วมกัน มหาอำนาจไม่จำเป็นต้องมีเพียงหนึ่งเดียว