xs
xsm
sm
md
lg

คนมีเงินและมีการศึกษา ไม่ออกไปเลือกตั้ง บ้านเมืองจะยังอยู่ดีได้หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมเห็นข่าวในโทรทัศน์ที่ป๋าเปรม พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้มีอายุร่วมร้อยปี ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษออกจากบ้านสี่เสาเทเวศน์ มาเลือกตั้งล่วงหน้าที่โรงเรียนสุโขทัย ป๋ามาด้วยรถเข็น ใส่สายอ็อกซิเจนไว้ตลอดเวลาในขณะที่ไปเข้าคูหา กากบาทและหย่อนบัตรเลือกตั้ง ภาพป๋าออกไปเลือกตั้งทั้งในขณะที่ยังสุขภาพดีหรือไม่ค่อยดีนักก็ตามเป็นภาพที่ผมได้เห็นจนเจนตามาหลายสิบปี ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนว่าแม้สังขารของป๋าจะไม่อำนวยในการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากนัก และหากจะออกมาเลือกตั้งในวันเลือกตั้งจริงในวันที่ 24 มีนาคม นี้ก็คงจะไม่สะดวกนักเพราะคนอื่น ๆ คงมาใช้สิทธิ์ในวันจริงมาก ป๋าคงเกรงใจประชาชนที่จะทำให้คนอื่นติดขัดเพราะป๋าต้องมาด้วยรถเข็น

เห็นภาพป๋ามาเลือกตั้งแล้วทำให้ผมนึกถึงงานวิจัยที่ผมเองเพิ่งทำเสร็จไปหนึ่งชิ้น เป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับลูกศิษย์ สุพัฒน์ วงศ์สุขุมอมร โดยความกรุณาให้ข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่เก็บโดยสถาบันพระปกเกล้าและสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากทั่วประเทศและสุ่มตัวอย่างอย่างเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เราศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับความตั้งใจที่จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ครั้งล่าสุด (2554) ของคนไทย ดูรายละเอียดได้จาก https://www.tci-thaijo.org/index.php/pajournal/article/download/164073/118885/ การเก็บข้อมูลนี้เก็บก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 และถามว่าตั้งใจจะไปเลือกตั้งหรือไม่

ผลการวิเคราะห์นั้นพบว่าประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รับรู้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของครอบครัวดี มีระดับการศึกษาสูง มีแนวโน้มที่จะไม่ไปเลือกตั้ง !!! พูดง่าย ๆ คือคนฐานะร่ำรวยและคนที่มีการศึกษาจะไม่ออกไปเลือกตั้ง

ข้อนี้อาจจะไม่เป็นที่กังขาสำหรับคอการเมืองในประเทศไทยเลย เราจะสังเกตได้ชัดเจนมากว่าในการเลือกตั้งทุกครั้ง เขตเลือกตั้งในเมืองหรือในกรุงเทพมหานคร จะมีสัดส่วนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าเขตเลือกตั้งในต่างจังหวัดหรือในชนบท ซึ่งประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีระดับรายได้และระดับการศึกษาต่ำกว่าคนในเมือง

แม้ว่าการรับรู้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของครอบครัวจะไม่ใช่ตัวแปรเดียวกันกับระดับรายได้ แต่ก็เป็นตัวแปรที่สัมพันธ์กันพอสมควร และเป็นตัวแปรที่เป็นตัวแทนของระดับรายได้ เพราะเมื่อสอบถามเรื่องรายได้แล้วนั้น ผู้ตอบมักจะไม่สะดวกใจในการให้ข้อมูลที่แท้จริงนัก

เหตุผลใดที่การรับรู้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของครอบครัวจึงสัมพันธ์กับแนวโน้มที่จะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เรื่องนี้อธิบายได้สามแนวทาง

แนวทางแรก อธิบายได้ว่า การออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นการให้รางวัลและการลงโทษ กล่าวคือ หากประเมินว่าสภาพเศรษฐกิจของตนเองหรือครอบครัวดีขึ้นก็จะให้รางวัลผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งก็คือผู้สมัครจากพรรคที่เป็นรัฐบาลหรือพรรคที่ประกาศนโยบายที่จะทำให้สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น โดยการไปลงคะแนนให้ ในทางตรงข้าม หากประเมินสภาพเศรษฐกิจของตนเองหรือครอบครัวว่าแย่ลงก็จะลงโทษ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยการไปลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคอื่น หรือไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเลย เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งสามารถประเมินโดยการมองย้อนกลับไปในอดีต ผลงานที่ผ่านมา และผลการดำเนินนโยบาย หรือมองไปข้างหน้าจากแนวโน้มของการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง

งานวิจัยเกี่ยวกับการชุมนุมขับไล่ทางการเมืองในหลายประเทศพบว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจจะกระตุ้นให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง เพราะต้องการจะให้รัฐบาลรับผิดชอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่แย่โดยการทำให้พ้นไปจากอำนาจรัฐ นอกจากนี้งานวิจัยที่เปรียบเทียบการใช้สิทธิการเลือกตั้งในหลายประเทศก็พบว่า ในภาพรวมประเทศที่มีสภาวะเศรษฐกิจที่แย่หรือเติบโตต่ำจะมีอัตราการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสูง กว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจดีซึ่งมักจะมีอัตราการไปลงคะแนนเสียงต่ำกว่า

แนวทางที่สอง อธิบายได้ว่า การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นการทำพฤติกรรมเพื่อให้ตนเองได้อรรถประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รับรู้สภาพเศรษฐกิจของครัวเรือนหรือตนเองไม่ดีนัก มีความคาดหวังจากการหาเสียงและนโยบายต่าง ๆ รวมไปถึงนโยบายประชานิยม ที่ให้ผลประโยชน์หรืออรรถประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ตนเองมากที่สุด จึงมีความคาดหวังว่าหากไปเลือกตั้งแล้วจะได้ในสิ่งที่ต้องการ ในขณะที่คนที่รับรู้สภาพเศรษฐกิจของตนเองและครัวเรือนดีจะไม่สนใจหรือคาดหวังอะไรจากการเลือกตั้งหรือนักการเมืองเลย เพราะสามารถทำมาหากินบนลำแข้งของตนเองได้ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องพึ่งพานโยบายสาธารณะของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองแต่อย่างใด อาจจะมีความเบื่อหน่ายทางการเมือง (Political apathy) รวมอยู่ด้วย เลยไม่สนใจและไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

แนวทางที่สาม คนที่รับรู้สภาพเศรษฐกิจของครัวเรือนหรือตนเองดีกว่าเช่นประชาชนในเขตเมืองซึ่งมักจะมีระดับการศึกษาและระดับรายได้ที่สูงกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตชนบท การมีภาระหน้าที่การงานและการทำมาค้าขายอาจจะเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สะดวกเท่าประชาชนในเขตชนบท เนื่องจากต้องทำงานเพื่อหารายได้ แม้จะมีการเลือกตั้งล่วงหน้าก็อาจจะไม่สะดวกเต็มที่ การจราจรที่ติดขัด การเดินทางไม่สะดวกในเขตเมืองก็อาจจะเป็นปัจจัยร่วมเช่นกัน ดังนั้นการเลือกตั้งทางออนไลน์ จะเป็นคำตอบหรือไม่ ที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First-time voter) ที่เป็น Digital native อาจจะสนใจและไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น

สำหรับระดับการศึกษานั้น ก็พบว่าคนไทยที่มีระดับการศึกษาสูง มีแนวโน้มที่จะไม่ไปเลือกตั้งเช่นกัน ในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา เราจะพบว่าในเขตเทศบาลและในกรุงเทพมหานคร สถิติการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะต่ำกว่านอกเขตเทศบาลและในต่างจังหวัดอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยที่ประชากรที่อาศัยในเขตเทศบาลและในกรุงเทพมหานครหรือสังคมเมืองมักจะมีระดับการศึกษาสูงกว่าประชากรนอกเขตเทศบาลหรือในกรุงเทพมหานคร

การที่ผู้มีสิทธิออกเสียงในเมืองหรือในกรุงเทพที่มีระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงกว่าอาจจะมีภาระหน้าที่รับผิดชอบและทำมาค้าขายมากกว่าคนในสังคมชนบทที่เป็นสังคมเกษตร ทำให้ไม่มีเวลามาสนใจการเมืองหรือไม่สะดวกที่จะไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้ง

แต่ในอีกด้านหนึ่งทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้อธิบายไว้ว่า คนเมืองผู้มีการศึกษาสูงกว่าไม่เห็นอรรถประโยชน์ในการออกไปเลือกตั้งมากนัก เพราะฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ในชนบทและอาจจะรู้สึกว่าผลของการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรไม่ว่าจะเป็นใครที่ชนะก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับตน เพราะสามารถพึ่งพิงตนเองได้อยู่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องมาเสียเวลากับการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ผลการวิจัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดสงขลาโดย ศิริรักษ์ จวงทอง ในปี 2553 ก็ยังพบว่าประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับต่ำเพียงระดับประถมศึกษาเท่านั้น ดังนั้นข้อค้นพบนี้จึงค่อนข้างเห็นได้ชัดทั้งในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด

การที่คนไทยที่มีการศึกษาสูงและรับรู้ว่าครัวเรือนของตนมีสภาพเศรษฐกิจดีกลับไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังมาก

คนไทยมีความรู้สึกสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ในการออกไปเลือกตั้ง อันเป็นกระบวนการพื้นฐานที่สุดของประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็หาไม่ ขนาดป๋าเปรม ซึ่งท่านอายุมากแล้วและไม่แข็งแรงนักก็ยังอุตส่าห์ นั่งรถเข็นใส่สายอ็อกซิเจนที่จมูกตลอดเวลามากากบาทใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า

ผลการวิจัยในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกานั้นกลับพบว่าตรงกันข้ามกับประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง ผู้ที่มีการศึกษาที่สูงจะมีแนวโน้มที่จะออกไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำ เพราะการศึกษาที่มากขึ้นนั้นจะทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในการเมืองมากยิ่งขึ้น และตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองต่อสังคมที่จะต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นอย่างน้อย

ข้อค้นพบนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่า การศึกษาของไทยไม่ได้ช่วยยกระดับจิตสำนึกในการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศแต่อย่างใด ยิ่งการศึกษายิ่งสูง คนไทยที่การศึกษาสูงยิ่งเห็นแก่ตัว คิดแต่ผลประโยชน์ส่วนตน ไม่สนใจบ้านเมือง ไม่ไปเลือกตั้งเพราะคิดว่าตนเองไม่ได้ประโยชน์อะไร และเมื่อเกิดการเสียผลประโยชน์จึงออกมาขับไล่หรือล้มรัฐบาลหรือไม่ เป็นไปตามทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยหรือไม่?

ท่านพุทธทาสภิกขุได้เทศน์กล่าวไว้ว่า ประชาธิปไตย ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นใหญ่นั้นมันไม่แน่ ประชาชนบ้าบอก็ได้ ของประชาชน โดยประชาชน ถ้าประชาชนเห็นแก่ตัวแล้วฉิบหายหมด



เราถึงเวลาเปลี่ยนการศึกษาของเราให้สร้างพลเมืองดีของประเทศหรือไม่ Civic education หรือ Democratic Education ควรทำอย่างจริงจัง ให้ประชาชนที่ได้รับการศึกษาเป็นผู้มีการศึกษา (Educated man หรือ ศึกษิต) มีความเห็นแก่ตัวลดลงและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเพิ่มมากขึ้นหรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น