xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นค่าจ้างค่าแรงเพื่อหาเสียง เศรษฐกิจไทยจะเดี้ยง แรงงานไทยจะขี้เกียจและไร้ประสิทธิภาพและตกงาน?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


การเลือกตั้งโค้งสุดท้ายกำลังจะมาถึงภายในวันที่ 24 มีนาคมนี้ พรรคการเมืองต่างๆต่างออกนโยบายมาหาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งและได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีความหวังว่าจะได้เป็นรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง

นโยบายที่นำมาหาเสียงนั้นผมได้ทักทวงไปแล้วมากมายโดยเฉพาะนโยบายที่มีลักษณะเป็นประชานิยมอันจะก่อให้เกิดภาระหนี้ผูกพันระยะยาวกับประเทศชาติและเป็นอันตรายต่อวินัยการคลังของประเทศซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากและเป็นการสร้างหนี้ไว้ให้ลูกหลานไทย

ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนหารด้วยผลผลิตมวลรวมประชาชาติสูงเป็นอันดับที่ 15 ของโลกประมาณ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันหนี้สาธารณะหรือหนี้ของรัฐบาลหารด้วยผลผลิตมวลรวมประชาชาติของประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นจาก 5% เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 42% ต่อ GDP ในรอบ 15-20 ปีที่ผ่านมา น่าจะสะท้อนภาวะการไร้วินัยทางการคลังอย่างรุนแรง มีการทำงบประมาณแผ่นดินขาดดุลมาโดยตลอด

ประเทศไทยเองเคยได้รับบทเรียนจากการขึ้นค่าแรงแบบปุบปับทั่วทั้งประเทศเป็น 300 บาทต่อวันในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโดยที่แรงงานไทยไม่ได้ยกระดับฝีมือแรงงานขึ้นมาแต่อย่างใดแต่กลับได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดเกิดการย้ายฐานการผลิต การปิดโรงงานจำนวนหนึ่ง ทำให้แรงงานจำนวนมากตกงานในท้ายที่สุด

หลักสำคัญในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคือ

หนึ่ง ต้องสะท้อนภาวะเงินเฟ้อซึ่งหมายความว่ารายได้ที่แท้จริงหลังจากปรับภาวะเงินเฟ้อด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคหรือ consumer Price index แล้วนั้น จะต้องทำให้แรงงานได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นหรือมีค่าแรงที่แท้จริงเพิ่มขึ้น

สอง ค่าแรงขั้นต่ำยังต้องสะท้อนค่าครองชีพ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นซึ่งแตกต่างกันไปในบางจังหวัดของประเทศไทยนั้นมีค่าครองชีพที่สูงสูงมากกว่ากรุงเทพฯเสียด้วยซ้ำ เช่น จังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวและสินค้ามีราคาค่อนข้างแพงมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ไม่ควรจะเท่ากันเสมอกันไปทั้งประเทศ

สาม ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ยังจะต้องสะท้อนผลิตภาพของแรงงาน (Labor productivity) ซึ่งต้องสร้างมูลค่าในการผลิตได้มากกว่าค่าแรงที่ขึ้นมา

ประเทศไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาความสามารถในการแข่งขันไม่ได้ดีขึ้น ค่าแรงของเราไม่ได้ถูกเหมือนแต่ก่อน ทำให้ประเทศต่าง ๆ ซึ่งเคยมาลงทุนผลิตในประเทศไทยเพราะเคยมีค่าจ้างแรงงานถูกและมีทรัพยากรค่อนข้างดี ต่างพากันย้ายฐานการผลิต (Relocation) ไปยังประเทศอื่น ๆ อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งย้ายฐานการผลิตไปที่บังคลาเทศหรือกัมพูชาจนเกือบหมดสิ้นแล้วเพราะแรงงานไทยมีค่าจ้างที่แพงมากจนไม่คุ้มค่าที่จะผลิตในประเทศไทยอีกต่อไป

ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมซึ่งต่อไปจะต้องพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มใช้ความรู้เป็นฐาน (knowledge-based economy) หรือเศรษฐกิจที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ (creative economy) แรงงานฝีมือของไทยนั้นอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนมากโดยเฉพาะแรงงานระดับอาชีวศึกษา เราไม่สามารถหาแรงงานฝีมือที่ดีได้ในประเทศไทยได้เพียงพอ จนกระทั่งภาคเอกชนต้องมาเปิดการเรียนการสอนเองที่เรียกว่า (Corporate University) ไม่ว่าจะเป็น ปตท. เครือซีเมนต์ไทยหรือเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ CP ต่างก็เปิดสถาบันวิทยสิริเมธี โรงเรียนอาชีวะของเครือซีเมนต์ไทยและ สถาบันปัญญาภิวัฒน์ขึ้นมาเพื่อผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตนเองและในอนาคตคงจะมีบริษัทเอกชนจำนวนมากที่จะดำเนินการเช่นนี้ ทั้งนี้สามารถนำไปหักภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าด้วย

การขึ้นค่าแรงถูกปรับโดยปราศจากปุบปับโดยปราศจากเหตุผลที่เหมาะสมเพียงพอเช่นต้องสะท้อนภาวะเงินเฟ้อ ต้องสะท้อนค่าครองชีพ และต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ดีขึ้น จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย

ประการแรก ประเทศไทยจะยิ่งเสียความสามารถในการแข่งขันหรือ competitive advantage ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อุตสาหกรรมจะปรับตัวไม่ทันและอาจจะล้มหายตายจากไป

ประการที่สอง ธุรกิจในประเทศที่ต้องใช้แรงงานฝีมือเป็นจำนวนมากจะต้นทุนสูงอาจจะต้องปรับตัวไปใช้ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนค่าจ้างแรงงานที่มีราคาสูงขึ้น และมีการเรียกร้องต่าง ๆ มาก เช่นสหภาพแรงงานเข้ามาร่วมเรียกร้องหรือสวัสดิการต่าง ๆ

เมื่อใช้หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์แทนมนุษย์ยิ่งจะทำให้แรงงานซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labor) ยิ่งตกงานหนักมาก เป็นการซ้ำเติมภาวะสังคมผู้สูงอายุ (aging Society) ของประเทศไทยให้หนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ประการที่ 3 การเพิ่มค่าจ้างแรงงานโดยที่ไม่เพิ่มผลิตภาพ (productivity) หรือไม่มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน ยิ่งทำให้แรงงานในประเทศไทยล้าหลังตกยุคและมีแนวโน้มจะตกงานต่อไปได้อย่างรวดเร็วอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างพลิกผันที่เรียกว่า disruptive technology

โปรดอย่าลืมว่าแม้กระทั่งโปรแกรมเมอร์ซึ่งทำงานในบังกาลอร์ของอินเดียก็ถูกไล่ออกจากงานในปีที่แล้วมากกว่า 3 แสนคนและมีผู้พยากรณ์ว่าภายใน 10 ปี programmer ในอินเดียกว่าร้อยละ 70 จะล้าหลังและตกงานในที่สุดเนื่องจากไม่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการพัฒนาโปรแกรมให้สามารถทำงานได้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) การเรียนรู้ด้วยเครื่องจักร (Machine Learning) การคำนวณแบบก้อนเมฆและการกระจาย (Cloud and distributed computing) ซึ่งต้องอาศัยคณิตศาสตร์เป็นอย่างมากและโปรแกรมเมอร์ของอินเดียรุ่นเก่าไม่สามารถเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ได้เร็วเพียงพอจึงต้องตกงานและออกไป

ประการที่ 4 การเพิ่มขึ้นของค่าแรงมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดเงินเฟ้อซึ่งเป็นเงินเฟ้อชนิดที่เรียกว่าเงินเฟ้ออันเกิดจากอุปสงค์ที่สูงขึ้น (demand-pull inflation) เนื่องจากแรงงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้นโดยผิดปกติไม่ได้เกิดจากเงินเฟ้อที่เกิดจากการผลักดันของต้นทุนสูงขึ้น (cost-push inflation) แต่อย่างใด

นโยบายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มีการประกันรายได้เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิข้าวขาว มันสำปะหลัง ข้าวโพด เมล็ดยางพารา และปาล์ม ตลอดจนการประกันภัยพืชผลจะต้องใช้งบประมาณมากเพียงใดและจะนำมาสู่ปัญหาหนี้สาธารณะหรือไม่?

นโยบายการประกันค่าแรง 120,000 บาทต่อปีหรือเดือนละ 10,000 บาทต่อปีต่อคน อาจจะดูเหมือนไม่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากนัก แต่การประกันรายได้เดือนละ 10,000 บาทนั้นมีต้นทุนที่สูงพอสมควรเนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยในขณะนี้อยู่ที่ 300 บาทต่อวัน และหากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด แม้ว่าการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจาก 300 บาทขึ้นมานั้น น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นและสะท้อนภาวะค่าครองชีพตลอดจนภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทย

แต่ในความเป็นจริงหากต้องการให้ประชาชนหรือแรงงานมีรายได้ 120,000 บาทต่อปี หรือเดือนละ 10,000 บาทนั้นต้องให้แรงงานทำงาน 30 วันต่อเดือนและได้ค่าจ้างแรงงานประมาณ 300 กว่าบาท

แต่ในความเป็นจริงแรงงานจะหยุดงาน 2 วันต่อสัปดาห์หรือ 8 วันต่อเดือนซึ่งจะต้องหายไปอีก 2,400 บาทในแต่ละเดือน ดังนั้นคงจะต้องมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อให้ได้ 10,000 บาทต่อเดือนหรือไม่ก็ต้องบังคับทำงาน 7 วันไม่มีวันหยุดซึ่งก็เป็นอันตรายและไม่เป็นการคุ้มครองแรงงานแต่อย่างใด

การเพิ่มเบี้ยผู้ยากไร้เป็น 800 บาทต่อเดือนต่อคนนั้นต้องไปคำนวณในทางคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial valuation) ว่าจะเกิดภาระหนี้ผูกพันในระยะยาวต่อไปข้างหน้าอีกปีละเท่าไหร่และใช้เงินงบประมาณแผ่นดินอีกปีละเท่าไหร่ คนไทยจะมีอายุยืนยาวไปมากแค่ไหน และจะมีเศรษฐฐานะอย่างไร ยิ่งมีผู้ยากไร้ที่อายุยืนยิ่งเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากขึ้นไปเท่านั้น

เช่นเดียวกับเบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือนทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัย และมีการฉายภาพจำนวนประชากร (Demographic projection) ผู้มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการสังคมหรือประชานิยมเหล่านี้ให้ชัดเจน

พรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องมีการคำนวณตัวเลขเหล่านี้ ตลอดจนแผนการและภาระงบประมาณหรือภาระหนี้ผูกพันที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในอนาคตให้ชัดเจน ก่อนที่จะประกาศนโยบายเหล่านี้ออกมาหาเสียง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายรายวันและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันการหาเสียงซึ่งงวดใกล้การเลือกตั้งจริงอย่างดุเดือด รุนแรง และทันควันกันในลักษณะของการข่มทับกันไปมาระหว่างพรรคการเมือง

นโยบายที่ใช้หาเสียงของพรรคพลังประชารัฐไม่ได้แตกต่างจากเมื่อครั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งได้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดเป็น 300 บาทต่อวัน

พรรคพลังประชารัฐต้องการผลักดันค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 400 ถึง 425 บาทต่อวันอันเพิ่มจากฐานเดิมหรือ 300 บาทประมาณร้อยละ 33 ถึงร้อยละ 40 มากกว่าเงินเฟ้อของประเทศไทยซึ่งเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ถึง 10 เท่า แล้วภาคเอกชนจะอยู่ได้อย่างไร?

การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในครั้งที่นายกรัฐมนตรีคือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ประกาศว่ารับประกันเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ทฤษฎีสามสูงอะไรของอภิมหาเศรษฐีนั้นก็โผล่มา แต่สุดท้ายคนที่รวยเพิ่มขึ้นอย่างมากมายคือใครสังคมไทยก็ต่างทราบกันดีและความเหลื่อมล้ำก็ยังคงยิ่งเพิ่มมากขึ้น

พรรคพลังประชารัฐใช้นโยบายแบบเดียวกันกับพรรคเพื่อไทยในอดีตแต่เพิ่มขึ้นเป็นเงินเดือนระดับปริญญาตรีจบใหม่ 20,000 บาทซึ่งเพิ่มขึ้นมาประมาณร้อยละ 33.33 จากฐานเดิมเช่นเดียวกันอันมากมายมหาศาลเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเฟ้อในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้การประกาศให้อาชีวะมีเงินเดือน 1.8 หมื่นโดยไม่ได้คำนึงถึงฝีมือแรงงานอาชีวะเลย นั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

อันที่จริงเงินเดือนของภาคอาชีวะซึ่งมีฝีมือแรงงานชั้นดีนั้นปัจจุบันแพงกว่า 18,000 บาทไปแล้วมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ช่างไฟฟ้ามือดีที่รับเดินไฟในอาคารบางรายได้ค่าจ้างวันละ 2,000 บาท ช่างต่อเฟอร์นิเจอร์ชั้นดีหรูหราฝีมือดีที่เป็นเฟอร์นิเจอร์บิลด์อินก็ได้รับค่าแรงวันละ 2,500 ถึง 3,000 บาทต่อวัน ถ้าหากมีฝีมือดีและทำรายได้ให้กับเจ้าของกิจการได้มาก

สิ่งที่จะต้องพิจารณาคือจะทำยังไงให้แรงงานไทยยกระดับฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานฝีมือทองมีทักษะขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานฝีมือชั้นสูงได้แทบจะหมดสิ้นทุกอย่าง ต่อไปคนไทยที่มีฝีมือแรงงานชั้นต่ำหรือไร้ฝีมือจะไม่สามารถหางานหรือทำงานเพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้ ตกงานกันไปทั้งหมด แทนที่รัฐบาลจะเอาเงินเหล่านี้มาเพิ่มค่าแรงค่าจ้างให้แรงงานทำไมไม่คิดจะพัฒนาฝีมือแรงงานให้ดีขึ้นและให้เขาอยู่รอดได้ในระยะยาว หาใช้แค่การหาเสียงในระยะสั้นเช่นนี้ไม่

แม้กระทั่งเด็กจบใหม่ซึ่งเสนอยกเว้นภาษี 5 ปีนั้น ก็เป็นนโยบายที่ไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน เนื่องจากหากเป็นบัณฑิตจบใหม่ในสาขาที่เป็นต้องความต้องการของตลาดแรงงานก็ได้รับรายได้ที่สูงมากกว่าอยู่แล้วซึ่งสมควรจะต้องเสียภาษีเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติมากกว่าที่จะไปยกเว้นให้โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร และระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยก็เป็นขั้นบันไดในอัตราก้าวหน้าตามรายได้พึงประเมินอยู่แล้ว อันเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างที่สมควรจะเป็นมากกว่า

นโยบายพรรคพลังประชารัฐที่เสนอยกเว้นภาษีแม่ค้าออนไลน์เป็นเวลาสองปีเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายมากเช่นกัน เพราะทุกวันนี้รัฐบาลก็เก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์แทบจะไม่ได้อยู่แล้ว และต่อไปทุกคนจะไปค้าขายออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางในการหนีภาษีกันทั้งหมด จนทำให้ไม่สามารถเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มได้เลยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินงบประมาณแผ่นดินที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศ แม้กระทั่งการจ่ายเงินเดือนข้าราชการก็อาจจะมีเงินไม่เพียงพอ และจะต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาจ่าย อันเป็นการสร้างภาระหนี้ผูกพันต่อรัฐบาลหรือหนี้สาธารณะต่อไปอีกในอนาคตทำให้ลูกหลานมีหนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่

นโยบายพรรคพลังประชารัฐที่เสนอการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงร้อยละ 10 โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรก็จะกระทบต่อเงินงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลจะต้องนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศอีกเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงที่เป็นอัตราคงที่หรือ Flat rate ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เนื่องจากคนที่มีรายได้สูงนั้นก็ไม่ควรจะได้รับส่วนลดเหล่านี้ แต่ควรจะลดให้เฉพาะคนที่มีรายได้น้อยเท่านั้น

นโยบายเหล่านี้พรรคการเมืองเช่นพรรคพลังประชารัฐได้คำนวณภาระและรายได้ที่จะสูญหายไปจากรัฐบาลไว้ล่วงหน้าที่จะต้องเข้ามาดูแลหรือไม่ หรือคิดว่าจะเป็นรัฐบาลที่อยู่ได้ไม่นานแล้วต้องจากไปจึง จึงไม่ต้องคิดว่าจะมีภาระอะไรเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต จะคิดสั้นๆเช่นนั้นหรือไม่ และจะมาอ้างต่อไปในภายหลังว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากจึงไม่อาจทำนโยบายเหล่านี้ได้ทั้งหมดเพราะไม่สามารถตกลงกันให้เป็นเอกฉันท์ในพรรคร่วมรัฐบาลได้จึงไม่ต้องรับผิดชอบและพูดออกไปเพื่อหาเสียงทำให้ประชาชนซึ่งขาดความคิดวิจารณญาณหลงเชื่อและกากบาทเลือกตั้งให้และภายหลังไม่ต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้

คำถามง่าย ๆ ซึ่งประชาชนควรจะถามคือเมื่อรัฐบาลมีรายได้ลดลงจากนโยบายเหล่านี้และต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการสังคมและประชานิยมหรือจะเรียกประชารัฐก็ตาม รัฐบาลจะหาเงินมาจากไหนจะทำแบบที่พรรคอนาคตใหม่เสนอคือทำให้กองทัพมีขนาดลดลง ลดการซื้ออาวุธ ลดการซื้อเรือบิน งดการซื้อเรือดำน้ำ งดการซื้อรถถัง งดการซื้อปืน แล้วเอาเงินงบประมาณทหารเหล่านั้นมาใช้เป็นประชานิยมหรือประชารัฐก็ตาม จะเพียงพอหรือไม่ และหากประเทศเกิดศึกสงครามหรือภัยคุกคามแล้วต่อสู้ไม่ได้ มีปัญหาภัยความมั่นคงจะทำเช่นไรก็เป็นสิ่งที่จะต้องคิดเช่นกัน การดำเนินนโยบายสาธารณะจะต้องคิดให้รอบด้านและคิดใคร่ครวญถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกแง่มุมที่เป็นไปได้ แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ยังเป็นเรื่องสำคัญต่อบ้านเมืองหรือไม่?

นโยบายสำหรับพรรคเพื่อไทยก็หาเสียงแบบประชานิยมเช่นเดียวกันโดยโฆษณาว่า

1. เอาลุงคืนไปเอาเงินในกระเป๋าคืนมา คำถามคือเอาเงินในกระเป๋าคืนมาได้อย่างไร จงอธิบายให้ชัดเจน ถ้าประชาชนฉลาดเท่าทันต้องถามเช่นนี้
2. จะเพิ่มรายได้ SME 15% แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำยังไง แต่ก็ยังมีประชาชนหลงเชื่อโดยไม่ใช้ความคิดวิจารณญาณหรือไม่ ฝันกลางวันหรือไม่
3. จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทซึ่งก็เป็นนโยบายที่เหมือนกับพรรคพลังประชารัฐแต่เข้าใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะเพิ่มขึ้นสูงกว่านิดหน่อยเป็น 400 ถึง 425 บาทหรือประมาณ 33% ถึง 40 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกันกับ
4. การเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำเป็น 18,000 บาทต่อเดือน นั้นจะทำให้ภาคเอกชนอยู่ได้หรือไม่ หรือเจ๊งเลิกกิจการไปบ้างเป็นบางส่วน หากเป็นเช่นนั้นจริง ใครที่จะเป็นผู้เดือดร้อน

นักศึกษาที่จบใหม่ยังไม่มีฝีมือ ไร้ประสบการณ์การทำงาน ยังต้องมาเริ่มเรียนรู้งานใหม่ หากนายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงแพงขนาดนี้ ไม่สู้ไปจ้างคนมีประสบการณ์ทำงานเป็นแล้วย่อมดีกว่าหรือไม่ นโยบายเหล่านี้จะซ้ำเติมให้บัณฑิตใหม่ยิ่งตกงานหรือไม่ ยิ่งเร่งทำให้อัตราการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่ของประเทศไทยยิ่งสูงขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีการผลิตบัณฑิตที่มากเกินความต้องการของสังคมอยู่แล้วในสาขาซึ่งไม่เป็นที่ต้องการมากนัก เช่น สาขาสังคมศาสตร์ จะส่งผลดีต่อบัณฑิตหรือเยาวชนของชาติซึ่งจะจบมาเป็นกำลังแรงงานของประเทศหรือไม่เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนจะต้องคิด

การหาเสียงโดยปราศจากความรับผิดชอบของพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นสิ่งซึ่งต้องรังเกียจอย่างยิ่งและควรได้รับการตรวจสอบจากภาคประชาชน ซึ่งพรรคการเมืองควรจะต้องมีความรับผิดชอบและคำนวณถึงภาระหนี้ผูกพันในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับประเทศชาติและลูกหลานของคนไทยต่อไป

ประชาชนจะต้องมีความคิดวิจารณญาณไม่หลงเชื่อนโยบายเหล่านี้โดยปราศจากหลักฐานและเหตุผลตลอดจนการแสดงวิธีการในการคำนวณให้ถ้วนถี่ หากประชาชนโง่และเห็นแก่ตัวคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนก็เป็นประชาธิปไตยซึ่งนำไปสู่ความเสียหายอย่างหนักของประเทศ เป็นประชาธิปไตยแบบพวกมากลากไปไร้ปัญญา เป็นการเลือกตั้งเพียงเพื่อจะทำให้ตนเองได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวมากที่สุดบนความเสียหายและไปไม่รอดของประเทศชาติตลอดจนลูกหลานไทยในอนาคตซึ่งจะต้องอยู่อย่างยากลำบากและมีภาระหนี้สินต่อไปหรือไม่

วินัยการคลังเป็นเรื่องสำคัญมากที่รัฐบาลทุกรัฐบาลหย่อนยานมาโดยตลอดซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนควรจะต้องคำนึงถึงอย่าคิดถึงแต่ตนเองมากกว่าประเทศชาติจนเกินไป

เศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาที่พร่ำพูดอยู่ตลอดเวลานั้น ได้เอามาปฏิบัติจริงหรือไม่ นโยบายหาเสียงของทุกพรรคการเมืองนั้นโยนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ชอบพูดกันให้ตนเองดูดีทิ้งไปกันจนหมดสิ้นไปทุกพรรคการเมืองหรือไม่?

ผมขอพยากรณ์ว่าหลังการเลือกตั้ง นโยบายเหล่านี้ มีเพียงไม่กี่นโยบายเท่านั้นซึ่งสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง และประชาชนที่หลงเลือกพรรคการเมืองเหล่านี้เข้ามาจะต้องอกหักและเสียใจ ในความเห็นแก่ตัวและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของตนเองในท้ายที่สุด เพราะนักการเมืองแทบจะไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนแต่อย่างใด ประชาชนไปหลงเชื่อเองต่างหากเล่า


กำลังโหลดความคิดเห็น