ดร.อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“รอยบาดแผลแห่งอดีตหลังการแยกประเทศปี 1947” กระทั่งปี 2019 เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยัง “ลืมตาและขับเคลื่อน” เด่นชัดกว่าภาพ “รอยยิ้ม” ผ่านเส้นพรมแดนอินเดีย-ปากีสถาน หากนับรวม ๆ ก็มากกว่า 70 ปีที่ภาพความรุนแรงดังกล่าวยังสะท้อนให้ใครหลายคน “กังวลและตื่นกลัว” เหมือนเดิม หนำซ้ำปมแห่งอดีตได้ลามเลียสังคมอนุทวีปและกระชากความสัมพันธ์อันดีของผู้คนได้อย่างน่าใจหาย บาดแผลในอดีตยังคงสะท้อนออกมาผ่านท่าที มุมมอง แง่คิด ทัศนะคติ ตลอดจนความเชื่อของผู้คนในรุ่นปัจจุบัน
บ่อยครั้งที่เราเสพข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องราวของความขัดแย้ง ความรุนแรง ระเบิดและการฆ่าฟันจากพื้นที่แห่งนี้ กระนั้น ในภาพความรุนแรงก็ยังมีรอยยิ้มและความพยายามในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่น่าเสียดายที่ “ภาพความรุนแรง” ทำงานเร็วกว่า “วิถีแห่งสันติ” ยิ่งไปกว่านั้น “หยดเลือดมีสีแดงเด่นชัดกว่ารอยยิ้ม” อย่างที่เราเห็นและรับรู้กัน
ความพยายามของภาคประชาสังคมในการสร้างความปรองดองนั้นถูกดำเนินมาโดยตลอด เพราะคนเหล่านี้ต่างรู้ดีว่า “เส้นพรมแดนที่มาแบ่ง” เป็นเพียง “เขตแดนแห่งความต่างและความเชื่อ” ทว่า หลังเส้นพรมแดนเหล่านั้นคือ “รากเหง้าและเครือญาติของกันและกัน” ใต้รากเหง้าแห่งอนุทวีปอินเดีย
ภาคประชาชนขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวเพื่อให้เกิดสันติภาพระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งแน่นอน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำในนามของ “ภาครัฐ” หรือ “การทูตระหว่างประเทศ” ทว่ากระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในนาม “ภาคประชาสังคม” หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือ “การทูตของภาคประชาชน” (Citizen Diplomacy)
การเมืองระหว่างประเทศมักมี “เส้นพรมแดนของผลประโยชน์แห่งชาติ” แฝงเร้นอยู่เสมอ ทว่า ภาคประชาสังคมไม่ได้มี “ผลประโยชน์” ดังกล่าวเป็นเดิมพัน แต่สิ่งหนึ่งที่ภาคประชาชนมีร่วมกันหลังการปะทะนั่นก็คือ “หยดเลือดริมพรมแดน” ซึ่งไม่ต่างจากคำให้การของประชาชนในละแวกใกล้เคียงที่ได้สะท้อนภาพให้เราเห็นผ่านเหตุการณ์ปะทะกันครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 ผ่านผู้สื่อข่าวชาวปากีสถานของบีบีซีว่า “คุณเห็นได้ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวบ้านและดูสิครับ ตรงนี้คือ ส่วนของกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงมา เมื่อไหร่ที่ความตึงเครียดสูงขึ้นระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ คือคนกลุ่มแรกที่ต้องทนทุกข์ทรมาน” [1]
มีการพยายามของภาคประชาชนหลายส่วนที่จะปลิด “รอยร้าวด้วยรอยยิ้ม” ภาคประชาสังคมจึงกลายเป็น “ตัวแสดงหลัก” ในการสร้างสันติภาพบนพื้นที่รอยต่อทางความเชื่อเพื่อก้าวข้ามเส้นพรมแดนความขัดแย้งเหล่านี้ ซึ่งองค์กรที่มีบทบาทสำคัญพอจะสรุปได้ให้เห็นภาพดังต่อไปนี้
1.Routes 2 Roots (R2R)
องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ในประเทศอินเดียภายใต้ชื่อ “Routes 2 Roots” ได้ก้าวออกมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติภาพบนพื้นที่แห่งนี้ ด้วยการนำเสนอการติดต่อระหว่างกันของผู้คนชาวอินเดียและปากีสถานผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางองค์กรได้จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา กิจกรรมเหล่านั้นได้แก่ การเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านภาพเขียน ศิลปะ ภาพยนตร์ บทเพลงและงานเทศกาลต่าง ๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการ “แบ่งปันริมเขตแดนของอินเดีย-ปากีสถาน”
งานหลักของ R2R คือ “การสร้างสถานีองค์ความรู้” ของผู้ที่มีฐานทางความเชื่อและเส้นพรมแดนแห่งชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน
R2R ได้เริ่มดำเนินโครงการที่ชื่อว่า “เพื่อนทางจดหมายข้ามพรมแดน” ในเดือนกันยายน 2010 ซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจาก 2 ประเทศนี้ประมาณ 2,400 คนจาก 10 โรงเรียนในเดลลี (Delhi) มุมไบ (Mumbai) การาจี (Karachi) และลาโฮร์ (Lahore) หลังจากโครงการในปีแรกประสบความสำเร็จและกระแสตอบรับเป็นอย่างดี โครงการดังกล่าวได้เพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมขึ้นในปีถัดไปเป็น 3,500 คนจากเด็กประมาณ 17 โรงเรียนในเดลลี (Delhi) จันดิการ์ (Chandigarh) มุมไบ (Mumbai) การาจี (Karachi) ลาโฮร์ (Lahore) และราวัลพินดี (Rawalpindi) ซึ่งโครงการดังกล่าวนั้นมีระยะเวลา 14 เดือน [2]
กิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้เด็ก ๆ ทั้งสองประเทศกว่า 50,000 คนจากเมืองมุมไบ (Mumbai) เดลลี (Delhi) และเดห์ราดูน (Dehradun) ของอินเดียมีส่วนร่วมและได้กลายเป็น “เพื่อนทางจดหมาย” กับเด็กน้อยชาวปากีสถานจากเมืองลาโฮร์ (Lahore) การาจี (Karachi) และระวัลพินดี (Rawalpindi) / อิสลามาบัด (Islamabad) [3] ซึ่งเยาวชนเหล่านี้มีอายุระหว่าง 9-14 ปี จาก 37 โรงเรียนในพื้นที่ 7 จังหวัดของอินเดียและปากีสถาน กิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นผ่าน “การเขียนจดหมาย” เช่น โปสการ์ด ภาพตัดปะ สื่อต่าง ๆ และการบันทึกวิดีโอ เพื่อนำเสนอเรื่อราวของสองประเทศก่อนเกิดการแบ่งแยกในปี 1947 [4]
R2R หวังให้เกิดสันติภาพและความเข้าใจระหว่างกันของผู้คนในประเทศแถบเอเชียใต้แห่งนี้ ภายใต้สโลแกนของกลุ่มที่ได้ก่อตั้งขึ้นนั่นก็คือ “จงภูมิใจในตัวคุณเอง คุณกำลังเปลี่ยนชีวิตของเด็กน้อย ผู้ที่จะโตขึ้นเป็นอนาคตของโลกใบนี้ ความตั้งใจของคุณเป็นสิ่งที่น่าเชยชมที่สุด อย่ายอมแพ้” [5] การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้ Routes 2 Roots กลายเป็นองค์กรที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในฐานะ NGO ที่ทำงานทางด้านวัฒนธรรม “The Best Cultural NGO” ของประเทศอินเดีย
2.The Citizens Archive of Pakistan (CAP)
กลุ่ม CAP ตั้งอยู่ในเมืองการาจี (Karachi) และเมืองลาโฮร์ (Lahore) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรและทำงานเกี่ยวกับการรักษาอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ชาติ อีกทั้งยังให้การศึกษาเกี่ยวกับสังคมและการเฝ้าระวังประวัติศาสตร์แห่งชาติ เพื่อให้ธำรงไว้ซึ่งมรดกแห่งความเป็นพลเมืองปากีสถาน
CAP มีเป้าหมายหลัก 3 อย่างคือ (1) เพื่อเก็บรักษาเอกสารเก่า ๆ (2) เพื่อสร้างและสนับสนุนการศึกษา (3) เพื่อพัฒนาพื้นฐานของผลผลิตทางการศึกษา อีกทั้งยังได้จัดเตรียมองค์ความรู้เกี่ยวกับปากีสถานทางด้านการศึกษา CAP ทำงานร่วมกันกับกลุ่ม Routes 2 Roots ของอินเดีย โดยเฉพาะการประสานงานทางด้าน “นักศึกษาแลกเปลี่ยน” ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก โดยเฉพาะอเมริกา ซึ่งในปี 2014 ได้มีการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวผ่านกลุ่มนักศึกษาในอเมริกาประมาณ 250 คน จากลาโฮร์ (Lahore) นิวยอร์ค (New York) และโคโลราโด (Colorado) เพื่อสร้างองค์ความรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
3. Aman Ki Asha (AKA)
AKA หนึ่งในทีมทำงานเพื่อสันติภาพบนพื้นที่ความรุนแรง ซึ่งมีการขับเคลื่อนผ่านสื่อยักษ์ใหญ่ของสองประเทศคือ The Jang Group of Pakistan และ The Time of India ซึ่งทั้งสองนี้ถือเป็นองค์กรสื่อระดับมือชำนาญที่พยายามสร้างสันติภาพผ่านตัวอักษรบนหนังสือพิมพ์ของประเทศเกี่ยวกับการเรียกร้องทางด้านสันติภาพและพัฒนาความร่วมมือทางการทูตและวัฒนธรรมร่วมกัน ส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันของบรรดาศิลปิน นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักเคลื่อนไหวและภาคประชาสังคมของสองประเทศนี้
AKA แปลว่า “ความหวังแห่งสันติภาพ” (Destination Peace) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2010 เกิดจากแรงบันดาลใจของกลุ่ม NGO ที่ทำงานเพื่อสังคมผ่านสโลแกนที่ว่า “เพื่อนไร้พรมแดน” (Friend without Borders) การทำงานดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่างกันใต้การทำงานที่ชื่อว่า “Dil se Dil” (ใจส่งถึงใจ)
สำหรับ “ใจส่งถึงใจ” (Heart to Heart) เป็นหนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ของ AKA เพื่อดูแลเด็กยากจนในอินเดียและปากีสถาน การทำงานหลาย ๆ กิจกรรมของ AKA ส่งผลให้ได้รับรางวัลอย่างมากมายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น The Best in 'Brand Awareness Across Platforms' Award, the Best Campaign Award at the APNS annual award ceremony in 2011 และอื่น ๆ
หลังแยกประเทศปี 1947 อินเดีย-ปากีสถานตกอยู่ใน “สภาวะแห่งมิตรภาพอันขาดดุล” มาโดยตลอด ซึ่งเกิดจากปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง เช่น ปัญหาการอพยพย้ายถิ่น ความมั่นคง พื้นที่พรมแดน หนำซ้ำปัญหาหลักของสองประเทศนี้ที่พร้อมจะปะทุได้ทุกเมื่อคือ “ข้อพิพาทแคชเมียร์” สองประเทศนี้จึงเริ่มต้นก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยการสร้างสันติภาพและความสงบสุขผ่านความร่วมมือระหว่างกัน การเจรจาสันติภาพในพื้นที่แห่งนี้จึงมีความจำเป็นประการแรก ๆ เพื่อให้เกิดสันติสุขในอนาคตอันใกล้นี้ สื่อทั้งสองประเทศนี้ได้ตัวแสดงสำคัญในการนำเสนอข่าวสารเชิงบวกและสร้างกระบวนการสำคัญในประเด็นดังกล่าว [6]
แม้ “งานสันติภาพบนพื้นที่เอเชียใต้” ในขณะนี้มี “ความชัด” น้อยกว่า “หยดเลือดของความรุนแรง” กระนั้น “ความหวังแห่งสันติภาพ” ก็ทำให้คนเรายิ้มได้เสมอ แม้นต้องคอยอีกช่วงเวลาหนึ่งก็ตาม เพราะไม่มีใครสามารถทนดูสภาพความรุนแรงอันหดหู่ได้อย่างสงบนิ่ง เมื่อความรุนแรงมันสุกงอม มันก็จะหล่นหายไปจากผืนดินของเราเสมอ ๆ ไม่ต่างไม้ผลทีถึงฤดูเก็บเกี่ยว
เมื่อถึงตอนนั้น สันติภาพก็จะแทงรากลงสู่พื้นดินพร้อมชูช่อหน่ออ่อน ๆ มาเชยชมพื้นโลก
เราก็หวังไม่ต่างกัน.
จินตนาการใหม่ในเพลงชาติอินเดียและปากีสถาน
บรรณานุกรม
[1] https://www.bbc.com/thai/international-47435816 (Accessed 12 March 2019)
[2]https://www.internationalnewsandviews.com/routs-2-roots-in-collaboration-with-the-citizens-archive-of-pakistan-launched-exchange-for-change-2013-2015-in-karachi/ (Accessed 12 March 2019)
[3] https://www.bbc.com/thai/international-45191826 (Accessed 12 March 2019)
[4] https://interculturalinnovation.org/routes-2-roots/ (Accessed 12 March 2019)
[5] http://www.routes2roots.com/ (Accessed 12 March 2019)
[6] Zumera Batool, Suaeem Yasin and Tabinda Kurrshid, Comparative Study of Peace Process between Pakistan and India in the News, Daily Dawn and the Time of India: A Case study of ‘Aman Ki Asha’ Journal of Politics Studies, 2 (2) 2015. หน้า 525.