การเป็นผู้นำยุคนี้จะปล่อยให้รูปร่างหน้าตาเป็นไปตามกาลเวลาของสังขารที่ต้องร่วงโรยลง มนุษย์ทุกคนย่อมต้องรักสวยรักงาม อยากให้ตัวเองดูดี บางพวกต้องการปิดปมบางประการ หรือให้เป็นหน้าฉาก ไม่มีเงินในกระเป๋าก็ต้องให้ดูเป็นคนมีระดับ
ในวงการแฟชั่นย่อมต้องคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ ของเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายให้ดูดีมีรสนิยม ถูกกับกาลเทศะ ถูกกับวัย และเหมาะกับสถานะ ไม่ใช่แบบเว่อร์ แต่งข้ามวัยหรือผิดสภาพของรูปร่างหน้าตา แทนที่จะดูดี ชาวบ้านเห็นแล้วต้องร้องยี้
การทำศัลยกรรมเป็นเรื่องธรรมดาของคนอยากสวย อยากหล่อ ถ้ามีเงินทำให้ความฝันเป็นจริง ก็ไม่มีปัญหา แต่คนบางระดับทำไม่ได้ แม้จะมีเงิน เพราะสถานะและตำแหน่งค้ำคอไว้นั่นเอง ดังนั้น จึงต้องปรับปรุงสภาพให้ดีขึ้นจากที่เป็นอยู่
ผู้นำระดับโลกก็เช่นกัน ไม่แต่งตัวซอมซ่อ ให้เห็นความไร้รสนิยม หรือความขัดสนของงบประมาณ เว้นแต่ผู้นำยึดเครื่องแต่งกายประจำชาติอย่างมั่นคง ไม่ว่าจะออกงานนานาชาติหรือท้องถิ่นก็แต่งกายประจำชาติ นักออกแบบแฟชั่นได้แต่ค้อน
เสื้อผ้ายี่ห้อดังๆ ไม่ได้เงินจากผู้นำชาตินิยม ต้องยอมปล่อยไป!
ล่าสุดผู้นำจีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ถูกสังเกตว่ามีการปรับโฉมให้ดูดีสง่า สุขุมลุ่มลึก น่าศรัทธาเลื่อมใส สมกับเป็นผู้นำชาติมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ในระดับที่ชาติพี่เบิ้มอย่างสหรัฐฯ ยังต้องเกรงใจ
ผู้นำจีนไม่ต้องทำอะไรมากกับใบหน้า ซึ่งไม่ได้ดูขี้เหร่ จุดที่ปรับปรุงเป็นเพียงการยอมให้เส้นผมมีสีเทา สีดอกเลาแซมขึ้นในกลุ่มเส้นผมสีดำ ฉีกแนวจากผู้นำในอดีต เช่นในยุคประธานเหมา ซึ่งในภาพถ่ายหรือในที่สาธารณะ มีเส้นผมดำขลับ
ไม่มีร่องรอยของความเป็นผู้ชรา ดูยังมาดมั่น พร้อมความสมบูรณ์ของร่างกายซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้รับรู้ว่า ผู้นำประเทศยังมีสุขภาพดี ไม่ดูซูบโทรม
สี จิ้นผิง ฉีกแนวด้วยการให้เห็นเส้นผมหงอกขาว ให้ดูว่าตนเองก็เป็นเหมือนคนจีนทั่วไปที่ต้องมีเส้นผมสีดอกเลา หรือเส้นผมขาวตามวัย ต้องการให้สังคมจีนได้เห็นว่าตัวเองก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตแบบธรรมดา เป็นคนของประชาชน
ไม่ย้อมสีผมให้ดำเข้ม รบกับสีดอกเลาซึ่งต้องออกมาตามอายุ การยอมให้สีผมให้ดูสูงวัยตามสภาพ เป็นการให้ตัวเองกลมกลืนกับคนจีนที่เป็นอยู่โดยทั่วไป
ศาสตราจารย์วิลลี่ แลม ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง และนักวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองของจีน อธิบายว่า “ผู้นำระดับโลกต่างก็อยากให้ถูกมองว่าตนเองมีความยิ่งใหญ่กว่าตัวตนที่แท้จริง และภาพที่ปรากฏจะต้องดูดี ไม่มีที่ติ”
กรณีของ สี จิ้นผิง ผู้นำจีนต้องการปรับภาพลักษณ์ให้ดูอ่อนโยน นุ่มนวล เป็นแนวประชานิยม ซึ่งถูกสร้างให้อยู่ในแนวนี้ตั้งแต่ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศในปี 2012 จากนั้น ได้เร่งมาตรการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันอย่างจริงจัง
ผสานนโยบายลดความยากจนในหมู่ประชาชน การจับกุมดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์ คนดังๆ ในการรณรงค์ปราบการทุจริตได้กว่า 1 ล้านคน มีทั้งติดคุกยาว ถูกประหารชีวิต ทำให้ สี จิ้นผิง เป็นที่นิยมชื่นชอบของประชาชนมาก
หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญในปีที่ผ่านมา เปิดช่องให้ตัวเองได้กุมตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีวิต และการเร่งทำรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อในความเป็นผู้นำ ทำให้เกิดประเด็นฉาว การย้อมแต้มสีผมอาจเป็นการคาดหวังให้ลดการวิพากษ์วิจารณ์
ก่อนหน้านี้ สี จิ้นผิง ถูกมองว่ากำลังสร้างเสริมบารมีความเป็นผู้นำให้ทาบชั้นประธานเหมา เจ๋อตุง ซึ่งเป็นลัทธิเชื่อมั่นในตัวบุคคล การปรับสีผม ท่าที หรือปรับภาพลักษณ์จะทำให้ สี จิ้นผิง ดูมีมาดอ่อนโยน ไม่ใช่เป็นผู้นำซึ่งนิยมใช้อำนาจ
ยิ่งเศรษฐกิจของจีนอยู่ในภาวะชะลอตัวลง และมีปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐฯ นักวิเคราะห์เชื่อว่าการปรับ “ลุค” เป็นการกำจัดข่าวลือต่างๆ ที่ว่าการเป็นผู้นำของ สี จิ้นผิง ถูกท้าทาย โดยเฉพาะการผูกขาดการถือครองอำนาจยาวนาน
นักวิเคราะห์อีกรายมองว่าท่าทีของ สี จิ้นผิง สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น และไม่มีความท้าทายหรือภาวะคุกคามต่อการกุมอำนาจของตนเอง โดยเฉพาะจากพวกระดับผู้นำ แสดงให้เห็นความแข็งแกร่งในฐานะผู้กุมอำนาจ
นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นว่า สี จิ้นผิง สามารถจะปรับภาพให้คนมองตัวเองอย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำให้ผมเป็นสีดำสนิท แสดงความเยาว์วัยเหมือนในยุคปี 1960-1970 และได้ส่งสัญญาณให้คนในรัฐบาลปรับภาพลักษณ์ด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า ในรัฐบาลมีอย่างน้อย 2 รายซึ่งโชว์เส้นผมแซมด้วยสีดอกเลา นั่นคือ รองนายกฯ ลิ่ว เหอ ซึ่งเป็นผู้นำคณะเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ กรณีสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ต้องเดินทางบ่อยครั้งระหว่างกรุงปักกิ่งกับวอชิงตัน ดี.ซี.
อีกคนคือรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่ปรากฏตัวบนเวทีโลกบ่อยครั้ง นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงจากธรรมเนียมเดิมซึ่งผู้มีผมสีดอกเลามักจะเป็นกลุ่มถูกให้เกษียณอายุ หรือต้องหลุดจากวงจรอำนาจ สิ้นสภาพ อยู่นอกวงการ
การปรับเปลี่ยน “ลุค” อาจสร้างแรงบันดาลใจ หรือเป็นต้นแบบให้บรรดาผู้น้อยทั้งหลายในวงจรอำนาจการเมืองของจีนต้องเดินตามรอยก็เป็นได้
สี จิ้นผิง มีอายุ 65 ปี นับว่ายังอยู่ในวัยหนุ่มสำหรับการเป็นผู้นำสูงสุด เมื่อเทียบกับผู้นำคนอื่นๆ ในอดีต ดังนั้นยังไม่จำเป็นต้องปรับภาพให้หนุ่มกว่าที่เป็นอยู่ การสะท้อนอายุที่เป็นจริง น่าจะได้รับความเห็นใจและเข้าใจจากประชาชนมากกว่า