xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.รุกพัฒนาที่ดินสถานีธนบุรี21ไร่ ผุดโรงแรม-ศูนย์สุขภาพกว่า3พันล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รฟท.เปิดพื้นที่ “สถานีรถไฟธนบุรี” แปลงใหญ่ 21 ไร่ ดึงนักลงทุนพัฒนาผุดศูนย์สุขภาพ-โรงแรม 3 ดาว รองรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ พร้อมผุดพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1 หมื่น ตร.ม.พลิกโฉมที่ดินย่านฝั่งธนบุรี คาดลงทุนกว่า 3.3 พันล้านบาท ชูศักยภาพสูง เชื่อมต่อรถไฟสายสีแดง-สีส้มสุดสะดวก
วานนี้ (7 มี.ค.) นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ การถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟท.เปิดเผยว่า รฟท.ได้จัดการสัมมนา รับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน(Market Sounding) ในโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น การพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีธนบุรี ตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งในย่านสถานีธนบุรีมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 120 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็น 4 โซน โดยจะนำโซน 3 มีเนื้อที่ 21 ไร่ 3 งาน 65.22 ตรว.เปิดประมูลก่อน โดยแนวคิดการพัฒนารูปแบบ Mixed User Project ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงพยาบาล หรือ Health & Wellness และโรงแรมที่พักอาศัย ศูนย์สุขภาพ ร้านค้า เพราะพื้นที่รอบข้างมีศักยภาพสูง ซึ่งจะสรุปการศึกษาในเดือนเม.ย.และนำเสนอตามขั้นตอน PPP โดยมีเป้าหมาย เปิดให้บริการในปี 2565-2566 เพื่อให้พร้อมกับการเปิดเดินรถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์
“โดยโครงการมี มูลค่าลงทุน 3,332 ล้านบาท พื้นที่พัฒนา 1.1 แสนตารางเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี มีอายุสัญญา 30 ปี โดยที่ดินมีมูลค่าประมาณ 1,800 ล้านบาท หรือ 2.2 แสนบาท/ตารางวา โดยแบงชำระค่าธรรมเนียมการเช่าครั้งแรก 20% (198 ล้านบาท) และจ่ายค่าเช่ารายปี เริ่มต้นที่ 36 ล้านบาทในปีที่ 1 และปรับขึ้นทุกปีๆละ 5% โดยค่าเช่ารวมตลอดอายุสัญญา 30 ปี กว่า 2,400 ล้านบาท” นายวรวุฒิ กล่าว
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า เบื้องต้น มีผู้ประกอบการโรงแรม โรงพยาบาลให้ความสนใจโครงการ โดยแบ่งการพัฒนาเป็น4 ส่วน คือ 1. โรงแรมและร้านค้า เพื่อรองรับญาติผู้ป่วยที่มาใช้บริการรพ.ศิริราช เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว หรือ Budget Hotel ราคาห้องไม่เกิน 1,000บาท 2. ศูนย์ด้านสุขภาพ รองรับผู้พักฟื้น ที่ต้องดูแลสุขภาพ ของรพ.ศิริราชและรพ.ธนบุรี 3. ที่พัก( Serviced Apartment & Retirement) รองรับกลุ่มแพทย์ และผู้สูงวัย 4. อาคารที่พักอาศัยพนักงานรถไฟ โดยทั้ง 4 ส่วน จะก่อสร้างเป็นอาคารสูง 13 ชั้น หรือความสูงไม่เกิน40 เมตร ตามข้อบัญญัติ กทม. โดยปัจจุบันพื้นที่ 21 ไร่ เป็นบ้านพักพนักงานรถไฟ จำนวน 305 ครอบครัว ดังนั้น เฟสแรก จะต้องพัฒนาในส่วนของอาคารที่พักพนักงานรถไฟก่อน เพื่อย้ายพนักงานจากพื้นราบขึ้นตึกสูง ซึ่งในส่วนนี้ ยังป็นสวัสดิการของรถไฟ ที่จะหักออกจากรายได้ของโครงการ
“ในโครงการจะพื้นที่เชิงพาณิชย์ ร้านค้าต่างๆ ประมาณ 10,000 ตรม. มีพื้นที่สีเขียว ซึ่งพื้นที่มีศักยภาพแต่เนื่องจากเป็นจุดที่มีบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย กลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งมีรายได้ปานกลาง-สูง กำหนดรูปแบบบริการที่เหมาะสม เป็นโรงแรม3ดาว เพราะเก็บแพงมากจะขายไม่ออก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างปรับแก้พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 ซึ่งโครงการที่ให้เช่าพื้นที่ อาจจะไม่ต้องเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ2556. ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการได้เร็วขึ้น แต่ขณะนี้ การปรับแก้ยังไม่เสร็จ จะต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ2556 ไปก่อน” นายวรวุฒิ ระบุ
ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า พื้นที่สถานีธนบุรีเหมาะกับการพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและโรงแรมที่พัก มีกลุ่มเป้าหมาย แพทย์ กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาตัว กลุ่มญาติ ผู้สูงอายุ ที่ไม่ต้องการเดินทางไปกลับ ซึ่งคาดหมายว่าจะมีประมาณ 2,000-3,000 คน/วัน หรือ 5 ล้านคน/ปี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเป้าหมายรอบโครงการรัศมี 2-5 กม. อีกกว่า 2 แสนคน โดยประเมินการลงทุน 3,332 ล้านบาท มีผลตอบแทนการลงทุน ( IRR) 12% โดยในส่วนของกลุ่มโรงแรม ร้านค้า พื้นที่กว่า 4 หมื่นตรม. ค่าพัฒนา 1,300 ล้านบาท กลุ่ม Serviced Apartmen พื้นที่ 2.2 ตรม. ค่าพัฒนา 754 ล้านบาท กลุ่มบริการด้านสุขภาพ พื้นที่ กว่า 2 หมื่นตรม. ค่าพัฒนา 880 ล้านบาท และกลุ่มที่พักอาศัยพนักงานรถไฟ พื้นที่ 2.6 หมื่นตรม. ค่าพัฒนา กว่า 425 ล้านบาท
“การพัฒนาพื้นที่แปลงอื่นๆ เช่น สถานีแม่น้ำ, กม.11 ,มักกะสัน ,ย่านพหลโยธิน อยู่ในขั้นตอนเสนอคณะกรรมการ PPP อนุมัติ ส่วนพื้นที่ศูนย์พหลโยธิน แปลง A จำนวน 35 ไร่ ซึ่งอยู่ติดสถานีกลางบางซื่อ จะสรุปร่างTOR ในวันที่ 7 มี.ค.นี้ โดยคาดว่าจะประกาศTOR เพื่อรับฟังความคิดเห็นได้ในมี.ค.-เม.ย. โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หากไม่มีความเห็นเพิ่มเติม คาดว่าจะประกาศประกวดราคา ตามขั้นตอนการประกวดราคา PPP ได้ ซึ่งจะร่วมลงทุน PPP Net Cosy ระยะเวลา 30 ปี ก่อสร้าง 4 ปี วงเงินลงทุนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจ โรงแรมระดับ 3 ดาว เพื่อรองรับนักเดินทาง โดยตั้งเป้าเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2564 พร้อมกับการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง มีความสะดวก” นายวรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย.
กำลังโหลดความคิดเห็น