xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิปัญญากัญชาพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ ๓/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ครั้งใหญ่ พร้อมทั้งขยายอาณาเขตพระอาราม ใช้เวลานานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน

ในการนี้โปรดให้เหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิตรวบรวมตรวจสอบและคัดเลือกสรรพความรู้ในสาขาต่างๆ จารึกประดับไว้ในอาคารเขตพุทธาวาส เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ราษฎร มีทั้งตำราการแพทย์ โบราณคดี และวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทั้งหลาย เป็นต้น นำมาจารึกลงบทแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามบริเวณผนัง คอสอง เสาของระเบียงรอบพระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารคต และศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัด

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในคำนำหนังสือประชุมจารึก วัดพระเชตุพนฯฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. ๒๔๖๒ ว่า:

“... ในการที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ มีพระราชประสงค์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะให้เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชนไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์ ถ้าจะเรียกอย่างนี้ทุกวันนี้ ก็คือจะให้เป็นมหาวิทยาลัย เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์หนังสือไทย การเล่าเรียนส่วนสามัญศึกษาที่มีเรียนอยู่ตามวัดทั่วไป แต่ส่วนวิสามัญศึกษาอันจะเป็นวิชาอาชีพของคนทั้งหลายยังศึกษาได้แต่ในสกุล ผู้อยู่นอกสกุลโดยเฉพาะที่เป็นพลเมืองสามัญ ไม่มีโอกาสที่จะเรียนได้

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ จึงสมควรจะเล่าเรียนให้เป็นชั้นสามัญศึกษามาตรวจแก้ไข ใช้ของเดิมบ้าง หรือประชุมผู้รู้หลักในวิชานั้นๆโดยมาก เพื่อคนทั้งหลายไม่เลือกว่าตระกูลชั้นใดๆ ใครมีใจรักวิชาอย่างใด ก็ให้สามารถเล่าเรียนได้ จากศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ จึงมีหลายอย่าง ทั้งเป็นความรู้ส่วนวรรณคดี โบราณคดี และศาสตราคมต่างๆ เป็นอันมาก และได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษา”[1]

สำหรับวิชาการแพทย์แผนไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สืบเสาะหาตำราที่ศักดิ์สิทธิ์ ตำราลักษณะโรคทั้งปวง ตามพระราชาคณะ ข้าราชการ ตลอดจนราษฎรมาจารึกในแผ่นศิลา โดยผู้ถวายตำรายาต้องสาบานว่า ยาขนานนั้นตนได้ใช้มามีผลดีและไม่ปิดบัง แล้วให้พระยาบำเรอราชแพทย์ตรวจอีกทีก่อนจะนำไปจารึก [2]

เมื่อถึงขั้นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่ากว่าที่จะมีการลงบันทึกในศิลาจารึกนั้น นอกจากจะมีการเสาะหาตำราการแพทย์ มีการตรวจสอบความถูกต้อง แล้วยังต้องให้มีการสาบานอีก ซึ่งในสมัยยุคนั้นการสาบานย่อมมีความสำคัญยิ่งกว่าสัญญาใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นโครงการที่ดำเนินไปตามพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ไทย

เรื่องราวในการปฏิสังขรณ์ บันทึกไว้อย่างละเอียดว่าผู้ใดมีหน้าที่รับผิดชอบส่วนไหน ได้มีการจารึกลงศิลาบอกไว้ที่นั้น และเขียนเป็นคำร้อยกรอง ดังปรากฏโคลงต้นเรื่อง ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯว่า

“พระยาบำเรอราชผู้ แพทยา ยิ่งฤา
รู้รอบรู้รักษาโรคพื้น
บรรหารพนักงานพา โอสถ ประสิทธิ์เอย
จำหลักลักษณะยาพื้น แผ่นไว้ทานหลัง”

สำหรับตำรับยาที่อยู่ในแผ่นศิลาที่เข้ากัญชา อันเป็นภูมิปัญญาพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นมีมากถึง ๑๗ ตำรับ ซึ่งกัญชาในตำรับยาส่วนใหญ่ในช่วงเวลานี้ ไม่ใช่ทั้งยาตรง ไม่ใช่ยารอง กัญชาจึงอยู่ในสถานภาพยาเสริมและยาแต่งรสเท่านั้น

ยาเสริม หรือตัวยาเสริมหรือตัวยาคุม เพื่อช่วยควบคุมความแรงของตัวยาสำคัญ หรือช่วยออกฤทธิ์ให้ดียิ่งขึ้น หรือในบางกรณีเป็นตัวยาเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน หรือยาบำรุง แต่ถึงกระนั้นยาหลายขนานซึ่งมีความน่าสนใจ กลายเป็นสิ่งที่ต้องห้ามเพราะมีการเข้ากัญชาผสมอยู่ด้วย ทั้งๆที่โรคที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรง หรือน่าจะเป็นโรคที่น่าจะยากแก่การรักษา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

สันทฆาตเพื่อกาฬ เป็นโรคเกี่ยวกับการเกิดเม็ดฝีตามอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดเลือดและหนองเปื่อยลาม จัดอยู่ในโรคในกลุ่มอาโปหรือเสมหะ เป็นหนึ่งในคัมภีร์มุจฉาปักขันธิกา หรือระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ ช้ำรั่ว ๔ ประการ ปรากฏอยู่ที่ฝาผนังศาลา ๗ เสา ๗ แผ่น ๑ ความว่า :

“ ปุนะจะปะรัง ลำดับนี้จะกล่าวด้วยนัยหนึ่งใหม่ ว่าด้วยลักษณะสันทฆาตอันบังเกิดเพื่อกาฬ เกิดขึ้นภายในดี ตับ ปอด และในหัวใจเป็นคำรบ ๒ สัณฐานดุจเมล็ดข้าวสารหัก บางทีขึ้นในไส้อ่อนไส้แก่ ถ้าขึ้นในดีให้คลั่งให้เพ้อ ถ้าขึ้นในตับให้ตับหย่อน ให้ตกโลหิตมีอาการดุจปีศาจเข้าสิง อันนี้แจ้งอยู่ในคัมภีร์อติสารวรรคโน้นแล้ว ถ้าขึ้นในปอดให้กระหายน้ำเป็นกำลัง ถ้าขึ้นในหัวใจให้นิ่งไปเจรจามิได้ ถ้าขึ้นในไส้อ่อนไส้แก่ ให้จุกโลหิตท้องขึ้นท้องพองดังมานกระษัย ถ้าผู้ใดเป็นดังกล่าวนี้ ท่านกำหนดไว้ใน ๗-๘-๙ วัน โลหิตจะแตกออกทวารทั้ง ๙ เรียกรัตบีตโรค เป็นต้น แห่งสันทฆาต เป็นอติสัยโรค ยามิได้เลย ถ้าจะรักษาให้รักษาแต่โลหิตมิทันแตก ได้บ้างเสียบ้างดุจอาจารย์ท่านกล่าวไว้ดังนี้ฯ

ถ้าจะแก้เอา โกฐจุฬาลัมพา โกฐพุงปลา โกฐสอ สะค้าน ผักแพวแดง ดองดึง ว่านน้ำ มหาหิงคุ์ ยาดำ กันชา อุตพิด ชะเอม สิ่งละส่วน ขิงแห้ง ดีปลี สิ่งละ ๒ ส่วน พริกไทย แก่นแสมทะเล สิ่งละ ๑๕ ส่วน ทำเป็นจุณบดละลายน้ำผึ้งรวงกิน ๑ สลึง แก้สันทฆาตอันบังเกิดเพื่อกาฬนั้นวิเศษนักฯ”

มุศกายธาตุอติสาร ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงของธาตุน้ำ อันเป็นหนึ่งในลักษณะอติสารวรรค ปรากฏอยู่ที่ ศาลา ๑ เสาที่ ๓ ความว่า :

“สิทธิการิยะ จะกล่าวในลักษณะมุศกายธาตุอติสาร อันเป็นโบราณกรรมเป็นคำรบ ๔ นั้น เกิดแต่กองอาโปธาตุ มีปิตตังเป็นต้น มีมุตตังเป็นที่สุด และลักษณะอาการประเภทนั้น คือบริโภคอาหารนั้นสำแลงแห่งธาตุ จึงเป็นโลหิตเสมหะเน่า เหม็นดังกลิ่นศพให้กุจฉิยาวาต โกฏฐาสยวาตระคนกัน ให้ท้องขึ้นปะทะอยู่หน้าอกให้แน่น ให้อาเจียนเป็นลมเปล่า ให้เหม็นอาหาร จะลุกนั่งมิได้ ให้หน้ามืดยิ่งนักฯ

อนึ่ง เอากันชา ใบสะเดา ใบทองหลางใบมน ใบคนทีสอ ใบมะตูม เสมอภาค ทำเป็นจุณบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำกระสายอันควรแก่โรค กินแก้มุศกายธาตุอติสารวิเศษนักฯ”

ป่วงหิว หรือโรคที่มีอาการท้องเดินอย่างรุนแรง และอาเจียน อาจจะเกิดจากการติดเชื้อหรืออาหารเป็นพิษ ศาลา ๗ เสา ๒ แผ่น ๒ ความว่า:

“สิทธิการิยะ จะกล่าวลักษณะป่วงหิว อันบังเกิดแต่กองปัศวาตอติสาร อันเป็นคำรบ ๔ นั้นโดยวิเศษ และลักษณะป่วงหิวนั้น กระทำให้ลงให้ราก ให้ตัวเย็นเป็นเหน็บ ให้เหงื่อตก เช็ดมิได้ขาด ให้สวิงสวายในอกเป็นกำลัง

อนึ่งเอา ลูกเบญจกานี ลูกกล้วยตีบอ่อน ลูกทับทิมอ่อน ใบทับทิม ใบสะแส ดินกิน กรดทั้ง ๕ ใบสะเดา ใบทองหลางใบมน ใบมะตูมอ ใบกันชา ใบกะเม็ง สิ่งละส่วน ใบกระท่อม ๒ ส่วน ขมิ้นอ้อย ๓ ส่วน ไพร ๔ ส่วน เทียนดำ ๕ ส่วน ทำเป็นจุณบดทำแท่งไว้กินแก้ป่วงหิวหายดีนัก ๚”

อย่างไรก็ตามการที่ตำรับยาเหล่านี้ปรากฏเป็นตัวอักษรในศิลาจารึกในวัดเชตุพนนั้น ก็สะท้อนให้นัยอยู่ ๓ ประการดังนี้

ประการที่หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงเห็นว่าการศึกสงครามที่ผ่านมาทำให้องค์ความรู้ตำรับตำราทั้งหลายสูญหายกระจัดกระจายไป จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการรวบรวมเอาไว้อย่างเป็นระบบและยากแก่การสูญหาย โดยการจารึกเอาไว้ในแผ่นศิลา จึงมีความคงทนถาวรกว่าการบันทึกในรูปแบบอื่น และเป็นผลทำให้องค์ความรู้ดังกล่าวนี้เป็นมรดกตกทอดจนมาถึงปัจจุบันได้แม้เวลาจะผ่านมานานกว่าร้อยปีแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่จารึกนั้นย่อมต้องมีคุณค่าเพียงพอที่จะกลายเป็นมรดกให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปได้

ประการที่สอง การที่องค์ความรู้เหล่านี้อยู่บนศิลาจารึกในวัดพระเชตุพน โดยพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ยังมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การที่จะตัดสินพระราชหฤทัยว่าควรจะบันทึกสิ่งใดให้มีความคงทนในแผ่นศิลา ย่อมมีการตรวจสอบคัดกรองความถูกต้องโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในราชสำนัก จึงถือว่าเป็นองค์ความรู้ในระดับตำราหลวง ดังตัวอย่างปรากฏในทางการแพทย์นั้นแม้จะมีการตรวจสอบความถูกต้องแล้ว ก็ยังให้เจ้าขององค์ความรู้นั้นสาบานความถูกต้องนั้นเอาไว้ด้วย

ประการที่สาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น การเล่าเรียนส่วนสามัญศึกษาที่มีเรียนอยู่ตามวัดทั่วไป แต่ส่วนวิสามัญศึกษาเพื่อวิชาชีพนั้นนั้นยังศึกษาได้แต่ในราชสกุล พลเมืองสามัญไม่มีโอกาสที่จะเรียนได้ แต่การที่ได้นำความรู้ที่เป็นระดับวิสามัญมาจารึกในแผ่นศิลาประดับไว้ที่วัดนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีพระราชประสงค์ให้ความรู้วิชาชีพขั้นสูงนี้เป็นของมหาชนทั้งหลายโดยไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์ หรือชั้นวรรณะ และที่สำคัญไม่ต้องการให้องค์ความรู้นี้ผูกขาดอยู่กับราชสำนัก รัฐบาล ภาครัฐ หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

จากเหตุผลข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าความรู้ทางการแพทย์ที่มีการใช้กัญชาในตำรับยาขนานต่างๆ รวมถึงยาขนานที่มีกัญชานั้น คือองค์ความรู้พระราชทานที่ทรงคุณค่าและให้สำหรับคนทั่วไป เป็นของปวงชนชาวไทย ไม่ให้ผูกขาดอยู่กับรัฐ หรือเอกชนรายใดรายหนึ่ง

ความรู้และความงดงามของพระอารามหลวงนี้ สุนทรภู่นักกวีเอกของไทยได้กล่าวถึงวัดโพธิ์ไว้ว่า

“เห็นโพธิ์โสภาสถาพร สง่างอนงามพริ้งทุกสิ่งอัน
โอ้วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง ไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์”

การที่มีศิลาจารึกการใช้กัญชาของชาวสยามที่พระราชทานจากบูรพมหากษัตริย์ไทยนั้น เป็นหลักฐานที่มีคุณค่ายิ่ง ที่ชนชาติอื่นไม่มี ในโอกาสที่กฎหมายของไทยได้เริ่มยอมรับกัญชาที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยที่จะได้ทวงคืนกัญชามาใช้ในกับตำรับยาแพทย์แผนไทยทุกขนาน ให้สืบทอดภูมิปัญญาพระราชทานของบูรพมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่และพัฒนาต่อยอดให้ก้าวไกลต่อไป

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. ๒๔๖๒

[2] กล่มงานวิชาการเภสัชกรรมแผนไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. ตำราพื้นฐานวิชาการแพทย์แผนไทย เล่ม ๑ วิชาปรัชญาและพื้นฐานการแพทย์แผนไทย พิมพ์ที่ บริษัท พิมพ์ดี จำกัด ๓๐/๒ หมู่ ๑ ลงเจษฎาวิถี ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๖๑ ISBN 978-616-11-3509-6


กำลังโหลดความคิดเห็น