วันนี้...เปลี่ยนบรรยากาศมาว่ากันเรื่อง “เศรษฐกิจ-การค้า” น่าจะเหมาะกว่า เพราะว่าเรื่อง “การเมือง-การทหาร” ในระดับโลก ยังออกไปทางวนไป-วนมา ไม่มีใคร “ใจถึง” ระดับพร้อมลงมือ ลงตีน โดยไม่คิดหน้า-คิดหลัง อันส่งผลให้ฉากสถานการณ์โดยรวม ยังไม่ถึงระเบิดเถิดเทิงจนเกินไป ไม่ว่ากรณี “แขกตีกับแขก” ในอินเดีย-ปากีสถาน หรือเลยไปถึงเวเนซุเอลาก็ตามแต่...
แต่สำหรับเรื่อง “เศรษฐกิจ-การค้า” นั้น...อาจเพราะมันไม่ถึงกับเลือดตก ยางออก อะไรมากมายนัก เลยเกิดการ “ใส่” กันแบบสุดฤทธิ์ สุดหลอด อันถือเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญ ที่ส่งผลให้แนวโน้มความเป็นไปในทางเศรษฐกิจระดับโลก มันออกไปทาง “สาละวันเตี้ยลงๆ” มาโดยตลอด จีดีพีโลกในปี ค.ศ. 2018 ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่แล้ว ในปีนี้...หรือปี ค.ศ. 2019-2020 จึงยังคงถูกปรับให้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ว่าโดยองค์กรระดับโลกอย่าง “IMF” หรือ “World Bank” ที่ต่างเห็นพ้องไปในแนวเดียวกันประมาณว่า “ปีที่แล้วเผาหลอก-ปีนี้เผาจริง” อะไรทำนองนั้น อันเนื่องมาจากเหตุผลหลักๆ ไม่กี่อย่าง เช่น เพราะเสถียรภาพการเมืองโลกที่ยังไม่มั่นคง เพราะภาวะการเงินโลกที่ทำท่าว่าจะตึงตัวยิ่งขึ้น และที่สำคัญเอามากๆ ก็คือ...เพราะบรรยากาศ “สงครามการค้า” โดยเฉพาะระหว่างคุณพ่ออเมริกากับคุณพี่จีน ที่ถือเป็น “เสาหลักทางเศรษฐกิจ” ของโลกไปด้วยกันทั้งคู่...
และแม้ว่าสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน...ทำท่าว่าใกล้จะยุติกันภายในปลายเดือนนี้ อาจเกิดการลงนามข้อตกลงทางการค้าระหว่าง “ทรัมป์บ้า” กับ “สีทนได้” ในอีกไม่ช้า-ไม่นาน หลังจากที่อเมริกาชักเริ่มหมดเรี่ยว หมดแรง ในการ “เตะตัดขา” บริษัทผู้นำสินค้าเทคโนโลยีของจีน อย่างบริษัท “หัวเว่ย” ให้พังพินาศลงไปกับฝ่าตีน แต่กระนั้นก็ตาม...โดยประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ก็ดูจะไม่ได้ช่วยให้เกิดความคึกๆ คักๆ หวนคืนกลับมาสักเท่าไหร่ การขยายตัวของตัวเลขจีดีพียังอยู่แค่ 6-6.5 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าปีที่แล้วที่อุตส่าห์ดิ้นรนไปได้ถึง 6.6 เปอร์เซ็นต์ ชนิดที่ทำให้นายกรัฐมนตรีจีน “นายหลี่ เค่อเฉียง” (Li Keqiang) ต้องออกมาบอกกล่าวระหว่างรายงานกิจการรัฐบาลประจำปี เมื่อช่วงวัน-สองวันที่ผ่านมา ว่าเศรษฐกิจจีนยังคงต้องเผชิญหน้ากับ “การต่อสู้อันยากลำบาก” อย่างมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้...
แต่ที่น่าจะส่งผลให้ต้อง “เสียบรรยากาศ” หนักขึ้นไปใหญ่...ก็คงเป็นข่าวคราวเรื่องคุณพ่ออเมริกา ได้ตัดสินใจยกเลิกระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรโดยทั่วไป หรือที่เรียกๆ กันว่า “GSP” (Generalized System of Preferences) กับคุณปู่อินตะระเดีย แบบดื้อๆ ทื่อๆ ไปเมื่อช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา งานนี้...แม้ว่าอาจดูเป็นเรื่องจิ๊บๆ จ๊อยๆ เพราะผลเสียหายต่อสินค้าอินเดียที่ส่งออกไปยังอเมริกาตามมาตรฐาน “GSP” ก็มีมูลค่าอยู่เพียงแค่ประมาณ 5,600 ล้านดอลลาร์เท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดีย ที่พุ่งขึ้นไปถึง 126,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงปี ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษที่แล้ว การตัด “GSP” ของสินค้าอินเดียที่ส่งไปยังสหรัฐฯ จึงน่าจะก่อให้เกิด “ผลกระทบในขอบเขตจำกัด” แบบที่เลขาธิการด้านการพาณิชย์ของอินเดีย “นายAnup Wadhawan” ได้บอกกล่าวเอาไว้กับสำนักข่าวต่างๆ นั่นแล...
แต่กระนั้นก็ตาม...สิ่งที่เรียกๆ กันว่า “GSP” อันเป็นสิ่งที่ประเทศซึ่งพัฒนาแล้วพร้อมที่จะมอบสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลากรให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ย่อมต้องถือเป็น “สัญลักษณ์แห่งยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์อันมีคุณค่า” อย่างที่อเมริกาเคยมอบให้กับอินเดียตามที่ “นายAnup” ท่านเอาไว้นั่นแหละ ยิ่งถ้าหากมองถึง “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของอเมริกาในแปซิฟิก” หรือยุทธศาสตร์ “Indo-Pacific Strategy” ด้วยแล้ว จู่ๆ...การที่ประเทศอเมริกาซึ่งเพียรพยายามเกลี้ยกล่อมอินเดียให้ช่วยกัน “ปิดล้อมจีน” มาโดยตลอด ดันลุกขึ้นมาตัด “GSP” หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของตัวเอง จึงแทบไม่ต่างไปจากการ “ยกฝ่าตีนลูบหน้า” อินเดียเอาดื้อๆ!!!
จะด้วยเหตุเพราะอินเดียได้แสดงออกถึง “ความเป็นตัวของตัวเอง” โดยไม่ยอมตามใจ หรือยอมตาม “ลัทธิอำเภอใจ” ของคุณพ่ออเมริกามาในหลายต่อหลายเรื่อง หรือไม่ อย่างไร ก็มิอาจสรุปได้ แต่สิ่งที่ผู้นำอเมริกาอย่าง “ทรัมป์บ้า” ได้ให้เหตุผลในการตัด “GSP” อินเดียนั้น ออกจะเป็นอะไรที่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความตระหนักต่อ “ยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์อันมีคุณค่า” ระหว่างอเมริกากับอินเดียเอาเลยแม้แต่น้อย ดังเช่นคำพูดที่พ่นๆ ให้กับบรรดาพวกนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมในอเมริกา ช่วงวันเสาร์ (2 มี.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งระบุไว้ว่า... “อินเดียคือประเทศที่ตั้งอัตราภาษีศุลกากรไว้สูงมาก เมื่อเราส่งมอเตอร์ไซค์ไปขายในอินเดีย เราถูกเก็บภาษีถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พออินเดียส่งมอเตอร์ไซค์มาขายเรา กลับไม่ต้องเสียอะไรเลย” คือไม่ได้แสดงออกถึงสิ่งที่ “ประเทศพัฒนาแล้ว” พึงมีและควรมีต่อ “ประเทศที่กำลังพัฒนา” เอาเลยแม้แต่น้อย หนักไปทาง “America First” โดยไม่ต้องสนใจมนุษยธรรม ความเป็นธรรม หรือศีลธรรมใดๆอีกต่อไป...
และการแสดงออกในลักษณะเช่นนี้นี่เอง...เลยทำให้เรื่องราวดังกล่าว ถูกนำไปตั้งคำถาม ตั้งเป็นข้อสังเกต ว่าอาจไม่ได้เป็นแค่เรื่องจิ๊บๆ จ๊อยๆ แต่เพียงเท่านั้นอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจชาวจีน “นายHu Weijia” ได้แสดงความคิด ความเห็น ไว้ในข้อเขียน บทความ ซึ่งเผยแพร่อยู่ในสื่อทางการของจีน อย่าง “Global Times” นั่นแหละว่า “หลายต่อหลายฝ่ายเริ่มรู้สึกกังวลใจว่าอินเดีย อาจกำลังกลายเป็น...เป้าหมายใหม่...ของผู้นำอเมริกาในการโจมตีทางเศรษฐกิจ หรือไม่ อย่างไร???” ยิ่งโดยเฉพาะเมื่ออินเดีย ได้แสดงออกถึง “ความเป็นตัวของตัวเอง” ยิ่งขึ้นเท่าไหร่...ไม่ว่าเรื่องการซื้ออาวุธ S-400 จากรัสเซีย, ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน, ซื้อน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลามากลั่นในอินเดีย, สมัครเข้าเป็นสมาชิกถาวรของกลุ่มประเทศเซี่ยงไฮ้ ไฟว์ (SCO), ไปจนถึงการพร้อมให้ความร่วมมือต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ที่เรียกขานกันในนาม “เขตระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” (China-Pakistan Corridor) อันเป็นส่วนหนึ่งของอภิมหาโครงการ “One Belt, One Road” ฯลฯ ฯลฯ การยกฝ่าตีนลูบหน้าอินเดีย ในกรณีการตัด “GSP” จึงส่งผลให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจ การค้า ที่ออกจะแย่ๆ อยู่แล้ว มันเลยยิ่ง “เสียบรรยากาศ” หนักขึ้นไปใหญ่...
พูดง่ายๆ ว่า...ตราบใดที่ “ทรัมป์บ้า” ยังคงเป็นผู้นำอเมริกา และตราบใดที่อเมริกายังคงยึดมั่นอยู่กับ “ความเห็นแก่ตัว” ตามแบบฉบับ “America First” ตราบนั้น...โอกาสที่แนวโน้มความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก จะหวนกลับมาสู่ความคึกๆ คักๆ กันใหม่ เหมือนอย่างเท่าที่เคยเป็นมา น่าจะแทบเป็นไปไม่ได้เอาเลย มีแต่ต้อง “ใส่” กันแบบชนิด “Zero-Sum Game” หรือต้อง “เจ๊ง” กันไปข้าง อะไรประมาณนั้น...