xs
xsm
sm
md
lg

ศึกอินเดีย-ปากีสถานแต่ยั้งชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์


เกือบไปแล้วมั้ยละ การปะทะกันด้วยเครื่องบินรบระหว่างอินเดียกับปากีสถานทำให้เป็นจุดเดือดใหม่บนชมพูทวีปอีกรอบสัปดาห์ก่อน เมื่อทั้ง 2 คู่แค้นกว่า 70 ปีมีอาวุธนิวเคลียร์พอฟัดพอเหวี่ยงกัน ทำท่าจะเปิดสงครามเพื่อประลองกำลังล้างตาอีกครั้ง

ยังดีที่ผู้นำอินเดียและปากีสถานไม่จัดอยู่ในกลุ่มคนหัวร้อน ทำให้วิกฤตที่ถึงขั้นดวลกันกลางอากาศสิ้นสุดลง ส่วนใครจะยังมีอารมณ์แค้นคุกรุ่นอยู่ ขึ้นอยู่กับการประเมินว่าใครเสียท่ามากกว่า โดยเฉพาะอินเดียซึ่งเสียเครื่องบินรบ ถูกยิงตก 1 ลำ

ผู้นำนเรนทรา โมดี ไม่ใช่ประเภทห้าวเป้ง วางมาดผู้นำสายเหยี่ยว เป็นนักแสวงหาพรรคพวก มิตรรักในแดนใกล้และไกล หวังผลด้านการค้าและการเมือง ทำนองว่าอยากญาติดีกับทุกฝ่าย ที่ผ่านมาก็เดินสายเยี่ยมเยือนหลายประเทศ

นายโมดีได้ไปเยือนทั้งรัสเซีย จีน ขณะที่ยังมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ส่วนปัญหาชายแดนกับปากีสถานระอุเป็นระยะเพราะการวิกฤตยืดเยื้อกับแคว้นแคชเมียร์ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนภายใต้การปกครองของแต่ละประเทศ

ฝ่ายปากีสถานเพิ่งได้ผู้นำใหม่ไม่นาน เป็นอดีตนักคริกเกตชื่อดังระดับนานาชาติ อิมรอน ข่าน วัย 66 ปี ซึ่งโดยธรรมชาติก็ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ ไม่ใช่ประเภทหัวร้อน สายเหยี่ยว ลำพังการปกครองประเทศก็ไม่ง่ายเพราะปัญหาสารพัด

อิมรอน ข่าน ดับชนวนความขัดแย้งได้เร็ว ด้วยการส่งตัวนักบินให้อินเดีย หลังจากได้มีภาพนักบินโดนชาวบ้านลงไม้ลงมือหลังจากถูกจับกุมตัว สร้างความไม่พอใจให้คนอินเดีย เมื่อได้รับตัวกลับ นักบินก็ได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษสงคราม

ปากีสถานมีพรมแดนติดกับจีน อินเดีย และอัฟกานิสถาน มีผู้ก่อการร้ายเช่นอัล กออิดะห์ ไอซิส และตอลิบัน ข้ามแดนไปมา นอกเหนือจากกลุ่มชนเผ่าทรงอิทธิพล ในพื้นที่ซึ่งอำนาจรัฐเข้าไปไม่ถึง นอกจากกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ อีก

ปากีสถานนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งของการแบ่งแยกจากอินเดียหลังจากการสิ้นสุดการปกครองโดยอังกฤษ และตั้งประเทศใหม่ในปี 1947 คนมุสลิมเดินทางขึ้นเหนือไปสร้างรัฐปากีสถาน ส่วนอินเดียนับถือศาสนาฮินดู

ในอินเดียยังมีคนมุสลิมตกค้างอยู่ แต่ไม่ได้สร้างปัญหาเหมือนกลุ่มก่อการร้ายที่แทรกซึมเข้ามาจากต่างประเทศ สร้างความเสียหายให้อินเดียหลายครั้ง โดยเฉพาะการบุกเข้ายึดโรงแรม 5 ดาวในนครมุมไบหลายปีก่อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย

ทั้ง 2 ประเทศเปิดสงครามกันหลายรอบ ทั้งระดับชายแดนและศึกใหญ่ อินเดียเป็นผู้มีชัย หลังจากศึกในปี 1999 ปากีสถานจึงมุ่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ มีจีนเป็นผู้สนับสนุนหลักด้านการเมือง การทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ไม่เกิดศึกอีก

แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นภาวะปลอดความขัดแย้ง เพราะมีตัวแปรคือกลุ่มก่อการร้าย

ปัญหาอยู่ที่ฝ่ายปากีสถานซึ่งอินเดียกล่าวหาว่าเป็นแหล่งซ่องสุมผู้ก่อการร้าย และมักข้ามชายแดนเข้ามาโจมตีทหารและชาวบ้านฝั่งอินเดีย วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หน่วยพลีชีพของหน่วยก่อการร้ายข้ามชายแดนจากแคชเมียร์ฟากปากีสถาน

ปฏิบัติการครั้งนั้นทำให้กองกำลังฝ่ายอินเดียเสียชีวิต 40 นาย กองทัพอากาศอินเดียจึงส่งเครื่องบินรบข้ามน่านฟ้าปากีสถานไปโจมตีค่ายผู้ก่อการร้าย ปากีสถานก็ส่งเครื่องบินรบเข้าสกัดและยิงเครื่องฝ่ายอินเดียตก 1 ลำ จับตัวนักบินได้ 1 นาย

ก่อนส่งตัวนักบินคืนให้อินเดีย ผู้นำชาติมหาอำนาจต่างพากันเรียกร้องให้ทั้งอินเดียและปากีสถานยับยั้งอารมณ์ ไม่ให้ตอบโต้กันต่อไปด้วยกำลังอาวุธ เพราะอาจเป็นเหตุทำให้ลุกลามกลายเป็นการต่อสู้กันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เละทั้ง 2 ฝ่าย

หลายประเทศจะพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย เพราะแต่ละประเทศมีชาติมหาอำนาจถือหางอยู่ และศักยภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์ถือว่าพอฟัดพอเหวี่ยงกัน โดยปากีสถานมีอยู่ 140-150 หัวรบ ขณะที่อินเดียมี 130-140 หัวรบ นิวเคลียร์

ศักยภาพโดยรวม อินเดียดูจะเหนือกว่าปากีสถานด้านงบประมาณป้องกันประเทศ โดยอินเดียมีมากถึง 64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปากีสถานมีเพียง 11 พันล้านดอลลาร์ อินเดียมีทหาร 3 ล้านคน ปากีสถานมีประมาณ 1 ล้านคน

อินเดียมีรถถัง เครื่องบินรบ เรือดำน้ำ เรือบรรทุกเครื่องบิน ส่วนปากีสถานมีเครื่องบินรุ่นใหม่กว่าโดยซื้อจากจีน แต่มีชายทะเลสั้นกว่ามาก กองทัพเรือจึงเทียบกันไม่ได้กับอินเดีย ซึ่งได้ทุ่มงบประมาณพัฒนากำลังป้องกันประเทศอย่างรวดเร็ว

อินเดียต้องเฝ้าระวังชายแดนด้านปากีสถานและจีน ทำให้ต้องกระจายกำลังไปด้านจีนซึ่งปะทะด้วยอาวุธบริเวณชายแดนเป็นครั้งคราว ที่สำคัญ จีนเป็นพันธมิตรของปากีสถาน เป็นผู้ขายอาวุธทันสมัยให้ปากีสถานซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหญ่แห่งหนึ่ง

ล่าสุดทหารอินเดียปะทะกับทหารจีนในชายแดนเมืองดอคลัมในปี 2017 มีบาดเจ็บล้มตายทั้ง 2 ฝ่ายแต่ไม่ได้ลุกลาม แม้กระนั้นทั้ง 2 ประเทศอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง และจีนยังมีความสัมพันธ์พิเศษด้านการทหารกับปากีสถานนายกว่า 50 ปี

ฝ่ายอินเดียยังประสบความล่าช้าในอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ เนื่องจากมีฐานการผลิตที่ไม่ทันสมัย เครื่องบินรบที่ถูกยิงตกเป็นมิก 21 ซึ่งล้าสมัย เทียบกับรุ่น เจเอฟ-17 ซึ่งผลิตโดยจีน ซึ่งถูกนำไปเปิดตัวอลังการที่งานแอร์โชว์ ปารีสในปี 2015

ยังมีความแตกต่างที่น่าสะพรึงกลัว การบัญชาการหน่วยรบนิวเคลียร์ของอินเดียถูกคุมโดยส่วนกลาง แต่ปากีสถานนั้นอำนาจการตัดสินใจอยู่กับผู้บัญชาการในพื้นที่ ดังนั้น ถ้ามีนายทหารหัวร้อนอยากปิดเกมเร็ว นั่นคือหายนะของชาวโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น