xs
xsm
sm
md
lg

อุทาหรณ์จากกรณี “แขกตีกับแขก” (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท





การที่ “แขกอินเดีย” กับ “แขกปากีฯ” ซึ่งต่างก็มี “บ้องข้าวหลามยักษ์” ระดับติดหัวรบนิวเคลียร์มากบ้าง-น้อยบ้าง ไปด้วยกันทั้งคู่ต่างพยายามหันมา “ลดระดับความขัดแย้ง” กันโดยรวดเร็ว หันกลับไปขายถั่ว ขายโรตี หรือขายอะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ แทนที่จะยัดเยียดบ้องข้าวหลามยักษ์ใส่กันและกันนั้น ล้วนเป็นไปตามข้อวิเคราะห์ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ นักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียอย่าง “Alexey Kupriyanov” แห่งสถาบัน “Russia’s IMEMO institute” หรืออดีตทูตอินเดียประจำปากีสถาน อย่าง “Gopalaswami Parthasarathy” ได้ให้ความเห็นเอาไว้กับสำนักข่าว “รัสเซีย ทูเดย์” เมื่อวันสองวันที่ผ่านมานั่นแหละว่า “Tempers run high, but India & Pakistan will avoid all-out war” หรือไม่ว่าอุณหภูมิความขัดแย้งมันจะร้อนแรงเพียงใด แต่ทั้งอินเดียและปากีฯ...ต่างพยายายามหลีกเลี่ยงการยกระดับไปสู่ “สงคราม” ด้วยกันทั้งสิ้น...

และสิ่งที่ออกจะเป็นตัวช่วยลดระดับความขัดแย้ง อันเนื่องมาจาก “มรดกบาป”ที่บรรดาพวก “นักล่าอาณานิคมตะวันตก” เคยยัดเยียดเอาไว้ให้ได้อย่างชนิดเป็นเรื่อง เป็นราวยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะเป็นเพราะ “ลมตะวันออกที่กำลังพัดกลับ” หรือเพราะความพยายามหันมาสร้างความร่วมมือ ร่วมใจ ในการ “พัฒนาทางเศรษฐกิจ” ระหว่างพื้นที่แต่ละพื้นที่ ชนิดที่ทำให้เส้นกั้น เส้นแบ่งเขตแดนที่ถูกขีดๆ เขียนๆ ขึ้นมาเป็น “แผนที่” ประเทศต่างๆ นั้น ยิ่งหมดความหมายลงไปทุกที อย่างเช่นแผนการพัฒนา “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” (China-Pakistan Economic Corridor) อันเป็นส่วนหนึ่งของ “อภิมหาโครงการเปลี่ยนโลก” หรือโครงการ “One Belt, One Road” ของคุณพี่จีนเขานั่นแหละที่เริ่มต้นขึ้นมาในปี ค.ศ. 2015 ด้วยเงินลงทุนไม่น้อยไปกว่า 46,000 ล้านดอลลาร์ในขั้นแรก เพื่อพัฒนาถนน เส้นทางรถไฟ และท่อขนส่งพลังงาน ฯลฯ เชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ทางบกไปจนเชื่อมต่อกับทางทะเล หรือไหลไปลงมหาสมุทรอินเดียกันโน่นเลย...

อันมีผลให้ประเทศอินเดีย...ซึ่งมีความร่วมมือแบบใกล้ชิด ติดพัน อยู่กับประเทศจีน ในฐานะหนึ่งในประเทศกลุ่ม “BRICS” หรือในกลุ่มก้อนประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง “บราซิล-รัสเซีย-อินเดีย-จีน-และแอฟริกาใต้” อยู่แล้ว เลยหนีไม่พ้นต้องโดดเข้ามาให้ความร่วมมือกับแผนการ หรือโครงการดังกล่าว แทนที่จะไปงัดง้าง งัดข้อ หรือยอมหลวมตัวเป็นเพียงแค่ “เครื่องมือของตะวันตก” ในการปิดล้อมประเทศจีน ตามแผนยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific Strategy) ของคุณพ่ออเมริกา ที่แทบไม่ได้อะไรเลยขึ้นมาเลย แม้จะดูเก๋ ดูเท่ ในแง่ชื่อเสียงเรียงนาม แต่เมื่อเทียบกับ “ผลพวงแห่งความขัดแย้ง” อันเป็น “มรดาบาป” ที่บรรดาอดีตนักล่าอาณานิคมทั้งหลาย พยายามยัดเยียดเอาไว้มาโดยตลอด นักชาตินิยมชาวอินเดียอย่างนายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” ที่ต้องถือว่ามี “ความเป็นตัวของตัวเอง” ไม่น้อยไปกว่านักชาตินิยมชาวมาเลเซีย อย่างท่านนายกฯ “มหาเธร์ โมฮัมหมัด” ท่านจึงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับหนทางแห่ง “ความร่วมมือ ร่วมใจ” แทนที่จะเลือกหนทางแห่ง “ความขัดแย้ง” และนั่นเอง...ที่ทำให้ไม่ว่าปากีสถาน หรืออินเดีย ต่างเห็นพ้องต้องกัน และเห็น “ประโยชน์ร่วมกัน” ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกถาวรของกลุ่มประเทศ “องค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้” หรือกลุ่มประเทศ “SCO” (Shanghai Cooperation Organisation) ตั้งแต่เมื่อช่วงปี ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา...

และด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การสร้างความเจริญเติบโตให้กับพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในเขตแดนปากีสถาน หรืออินเดียก็แล้วแต่ อย่างน้อยที่สุด...ก็น่าจะช่วยให้ความแตกต่างในเรื่องความเป็นชาติพันธุ์ เผ่าพันธุ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ไปจนถึงศาสนาและนิกายต่างๆ ฯลฯ มันน่าจะลดน้อยถอยลงกันไปได้มั่ง ไม่ต้องกลายเป็น “มรดกบาป” ที่ยังคงต้องสืบทอด ยังคงใช้หนี้กันไม่หมดกันจนตราบเท่าทุกวันนี้ หรือยังต้องกลายเป็น “เครื่องมือ” ให้อดีตนักล่าอาณานิคมทั้งหลาย หยิบเอามาใช้เพื่อการ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” บรรดาประเทศที่เคยต้องตกเป็นอาณานิคมของชาวตะวันตกมาในระดับแทบทั้งโลก หรือแทบทุกซีกโลกมาโดยตลอดนั่นเอง...

ส่วนกรณีที่ผู้ก่อการร้ายกลุ่ม “จาอิช อี โมฮัมหมัด” แถวๆ แคว้นแคชเมียร์ เกิด “ลูกบ้า” ขึ้นมา จนต้องแอบไปวางระเบิดฆ่าตัวตายสังหารทหารอินเดียไปถึง 40 รายในคราวนี้ มันจะเป็นเพราะการตกเป็น “เครื่องมือ” ของใคร หรือไม่ อย่างไรก็ตามที อันนั้น...คงไม่ต้องเสียเวลาไปหาคำตอบอะไรกันมากมาย เพราะเป็นเรื่องที่ยากส์ส์ส์จะหาหลักฐาน ข้อพิสูจน์มายืนยันกันได้ง่ายๆ แต่การที่รัฐบาลกลางแห่งปากีสถาน ของประธานาธิบดี “อิมรอน ข่าน” ซึ่งต้องปวดหัวกับ “มรดกบาป” ของพวกนักล่าอาณานิคมตะวันตกไม่น้อยไปกว่าผู้นำปากีสถานยุคก่อนๆ นับแต่เริ่มแรก รวมทั้งรัฐบาลอินเดีย ภายใต้การนำของนายกฯ “นเรนทรา โมดี” ที่มี “ความเป็นตัวของตัวเอง” มากพอที่จะปฏิเสธคำขู่ คำเตือนของมหาอำนาจตะวันตกอย่างคุณพ่ออเมริกา ไม่ว่ากรณีการซื้ออาวุธ S-400 จากรัสเซีย กรณีซื้อน้ำมันอิหร่าน หรือซื้อน้ำมันเวเนซุเอลา ฯลฯ ต่างหันมาช่วยกัน “ลดระดับความขัดแย้ง” เพื่อไม่ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง...มันต้องบานปลาย ปลายบานเกินไปกว่านี้ จึงต้องถือเป็นการแสดงออกถึงการมองโลก มองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในโลกนี้ ได้แบบแจ่มแจ้งชัดเจนพอสมควร...

คือมองไปในแนวเดียวกันกับที่ผู้นำรัสเซีย อย่างประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” ท่านกล่าวเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้นั่นแหละว่า เนื่องจากโลกทุกวันนี้...ย่อมไม่มีประเทศหนึ่ง ประเทศใดเอาเลยแม้แต่น้อย ที่จะสามารถเป็น “อิสระได้อย่างแท้จริง” (Truly Independent) ด้วยเหตุเพราะแรงกด แรงบีบ หรือแม้แต่ด้วย “มรดกบาป” ที่บรรดานักล่าอาณานิคมตะวันตกทั้งหลายยัดเยียดและไข่ทิ้งเอาไว้ให้ หนทางที่จะดำรง รักษา “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ไปจนถึง “ความเป็นประเทศ” ของบรรดาประเทศต่างๆ เอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ย่อมไม่ใช่การหันไปมั่วกันอยู่แต่เฉพาะเรื่องพื้นที่ เรื่องเส้นเขตแดน การแบ่งพรมแดน ที่พวกนักล่าอาณานิคมเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาแบบหยาบๆ ง่ายๆ แต่ต้องหันมาอาศัยความรู้สึกลึกๆ ลงไปถึงจิตใจ จนเห็นถึงความสำคัญของ “ความร่วมมือ-ร่วมใจ” ของแต่ละประเทศ ที่มองว่าโลกๆ นี้คือ “โลกแห่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน” (Interdependency) เท่านั้น ถึงจะสามารถ “ปลดปล่อย” บรรดาประเทศต่างๆ ออกจากแรงกด แรงบีบ ออกจากความพยายามควบคุมบังคับของผู้ที่พยายามสถาปนาตัวเองเป็น “จ้าวโลก” หรือเป็น “ประมุขโลก” อันได้แก่บรรดาอดีตนักล่าอาณานิคมชาวตะวันตกทั้งหลาย ผู้เคยกระทำย่ำยีต่อโลกตะวันออก หรือทั่วทั้งโลกมาโดยตลอดนั่นแล...
กำลังโหลดความคิดเห็น