ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หลาย ๆ คนคงทราบว่าการขอข้อมูลจากหน่วยราชการเป็นเรื่องที่ยากลำบากเหลือเกินแม้กระทั่งในหน่วยราชการด้วยกันเอง กระทั่งในกรมเดียวกันก็ต่างหวงข้อมูลของตัวเอง ไม่ต้องการให้ใครเห็นข้อมูลของตัวเองทั้งนั้น
พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการพุทธศักราช 2535 แม้มีมาแล้วก็ตามไม่ปรากฏผลที่ทำให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลแต่อย่างใด เป็นหมันเสียมากกว่า เพราะเหตุผลสำเร็จรูปที่ใช้อ้างในการไม่เปิดเผยข้อมูลก็คือเป็นความลับของทางราชการและเป็นเรื่องของความมั่นคง ทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้แม้จะมีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการของแต่ละหน่วยงานก็ตามไม่อาจบังเกิดผลได้จริงและแทบจะไม่มีประโยชน์อันใด
ข้อมูลลับ เช่น งบลับ ผมเข้าใจว่ามีความจำเป็นต่อความมั่นคงของประเทศอยู่ เช่น ต้องเอางบลับไปเลี้ยงโจรเพื่อเป็นสายสืบพฤติกรรมโจรหรือผู้ก่อการร้ายให้มาทำงานเป็นจารชนการข่าวให้กับรัฐบาล หรือการเลี้ยงโจรไว้สู้กับโจร ก็ยังจำเป็น ถ้าไม่ไปแตะงบลับทางทหาร ข้อมูลอื่น ๆ ที่ต้องเปิดเผยก็ยังมีอีกมากและไม่เคยเปิดเผย ไม่เคยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมรับรู้
อย่าว่าแต่ประชาชนเลยแม้แต่ข้าราชการด้วยกัน ไม่ต้องขอข้อมูลข้ามหน่วยงานแค่ข้ามกองที่แม้จะอยู่ในกรมเดียวกันก็แทบทำไม่ได้
ผมเคยมีประสบการณ์เข้าไปช่วยงานในหน่วยราชการแห่งหนึ่ง ซึ่งรัฐมนตรีเป็นคนสั่งการลงมาให้จัดทำโครงการวิเคราะห์ข้อมูลใหญ่ (Big data) เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล แต่ข้าราชการประจำของกระทรวงแห่งนั้นก็มีความสามารถพิเศษในการที่จะปกปิดข้อมูลทุกสิ่งอย่าง และเตะถ่วงไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ทั้งสิ้นเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
คำถามคือทำไมข้าราชการบางส่วนจึงหวงข้อมูลมากมายขนาดนั้น
คำตอบแรก ก็คือ ข้อมูลเป็นอาวุธสำคัญในการทำงาน อย่างที่ทราบมาแล้วว่าสมัยนี้เขาเปรียบเทียบว่าข้อมูลเหมือนกับน้ำมันดิบที่จะเอามากลั่นมากรองมาวิเคราะห์ และนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขัน
สารสนเทศนั้นคืออำนาจ ใครมีข้อมูลในมือก็ย่อมมีอำนาจ การที่หน่วยงานใดมีข้อมูลอยู่ในมือมากก็เท่ากับมีอำนาจมาก และการมีอำนาจมากก็ย่อมนำไปสู่ผลประโยชน์ และอาจจะหมายถึงการทุจริตประพฤติมิชอบก็ได้ เมื่อมีอำนาจในมือเพราะอำนาจในมือที่สมบูรณ์ก็นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นที่สมบูรณ์ได้เช่นเดียวกัน
หลายครั้งการไม่ให้ข้อมูลหรือการหวงข้อมูลเป็นเพียงเกมการเมืองภายในหน่วยงานเพื่อเตะถ่วงและขัดแข้งขัดขากันไม่ต้องการให้ใครดีกว่าใคร ไม่ต้องการให้ใครมีผลงานเพราะหากได้ข้อมูลไป คน ๆ นั้นก็จะมีผลงานเกิดขึ้นมา
ประการที่สอง คือข้อมูลทำให้เกิดความโปร่งใส ทำให้ตรวจสอบได้หากมีการทุจริตประพฤติมิชอบใด ๆ ก็ตามมักจะมีร่องรอยปรากฏอยู่ในข้อมูล และหากข้อมูลเหล่านั้นออกไปสู่สาธารณะหรือกระทั่งสื่อมวลชนก็จะนำไปสู่การตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอย่างร้ายแรงและรุนแรงได้ ทำให้หน่วยราชการต่าง ๆ พากันหวงข้อมูลเพราะไม่ต้องการเปิดแผลของตนเองให้คนภายนอกได้เห็นถึงการประพฤติมิชอบในวงราชการ
ประการที่ 3 ประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่ได้มานั้นมักจะไม่ถูกต้อง เช่น การบันทึกข้อมูลไว้ผิดโดยที่ไม่เจตนา อาจจะเกิดจากการพิมพ์ผิด การบันทึกเข้าไปผิดโดยไม่เจตนาโดยสุจริตใจ หรือไม่เคยได้เก็บข้อมูลไว้เลย ซึ่งอย่างหลังนี้มีมากเหลือเกินในประเทศไทย เพราะว่าเราไม่มีวัฒนธรรมในการจดบันทึกข้อมูล โดยเฉพาะถ้าเทียบกับวัฒนธรรมจีนประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประวัติอันยาวนานและมีการจดบันทึกข้อมูลต่างๆไว้ครบถ้วนเหลือเกิน ในขณะที่คนไทยเราไม่มีวัฒนธรรมเช่นนั้น ทำให้ข้อมูลในราชการไทยขาดวิ่นและไม่ครบถ้วนอย่างรุนแรง
ประการที่ 4 การเปิดเผยข้อมูลจะทำให้เห็นความบกพร่องในการทำงานของหน่วยราชการนั้น ๆ เอง เช่นทำงานไม่ได้ผลหรือใช้งบประมาณอย่างไม่สมเหตุสมผลหรือมีปริมาณเนื้องานที่น้อยเกินไปไม่คุ้มกับค่าจ้างของทางราชการ
ประการที่ 5 ข้อมูลของหน่วยราชการไทยจำนวนมากมาจากการรายงานสิ่งที่เป็นความเท็จหรือไม่เป็นจริงเช่น หน่วยเหนือสั่งมาว่าต้องการทราบ จำนวนนกในฟ้า จำนวนปลาในน้ำ และ จำนวนช้างในป่าซึ่งเป็นประชากรอนันต์ ประมาณค่าได้ยากมากและหน่วยราชการไทยไม่ได้มีความรู้ทางสถิติเพียงพอในการประมาณค่าเหล่านี้ซึ่งต้องอาศัยวิธีการที่เรียกว่า จับแล้วปล่อยหลาย ๆ ครั้ง หรือภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Capture-recapture วิธีที่ว่านี้ก็คือจับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นขึ้นมาแล้วติดเครื่องหมาย หลังจากนั้นจึงปล่อยกลับคืนธรรมชาติและจับอีกครั้งหนึ่งแล้วจะทราบว่ามีจำนวนซึ่งเคยจับมาก่อนจากเครื่องหมายที่ทำไว้ ตัวที่เพิ่งจับได้ก็ติดเครื่องหมายใหม่ และทำวนไปเรื่อย ๆ จนสามารถประมาณค่าจำนวนประชากรในธรรมชาติได้ อันเป็นวิธีการที่แสนจะยุ่งยากทั้งในการปฏิบัติจริงและในทางสถิติศาสตร์ ข้อมูลของหน่วยราชการจำนวนมากจึงเป็นข้อมูลที่ปั้นแต่งขึ้นมาโดยที่ผู้ที่มีอำนาจในการสั่งการไม่ได้ทราบถึงปัญหาหรือวิธีการในการเก็บข้อมูลอย่างแท้จริง
ประการที่ 6 ข้อมูลสถิติของทางราชการไทยมักจะล่าช้าและไม่ทันสมัยไปเสียแล้วทำให้การเปิดเผยข้อมูลอาจจะไม่สะท้อนการทำงานจริงของประเทศและสะท้อนความล่าช้าของหน่วยราชการเอง
เหตุผลทั้ง 6 ประการที่ทำให้หน่วยราชการไทยไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูล ทั้งที่กระแสโลกนั้นต้องการพูดถึงข้อมูลเปิดที่เรียกว่า Open Data การมีข้อมูลเปิดและการเปิดเผยข้อมูลนั้นช่วยให้ภาครัฐมีดัชนีความโปร่งใส ธรรมาภิบาลและดัชนีการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีขึ้นในระดับสากล ช่วยในการพัฒนาประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเปิดของภาครัฐนั้นนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมข้อมูลที่เรียกว่า ดาต้าโปรดักส์ หรือ ดาต้าอินโนเวชั่น ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันการพัฒนาประเทศและเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไปและทำให้ภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์และเป็นต่อยอดงานวิจัยเป็นประโยชน์กับประเทศเป็นอย่างมากแต่น่าเสียดายที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย
คำถามก็คือการที่หน่วยราชการต่างพากันหวงข้อมูลและไม่มีการแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกันเองเป็นผลเสียกับประเทศอย่างไรบ้าง
ประการแรก ก็คือทำให้เกิดการเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ
ประการที่สอง เมื่อไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลก็ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนไม่เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลและนำไปสู่การใช้วิจารณญาณในการทำงานหรือการปฏิบัติราชการอันนำไปสู่การประพฤติมิชอบได้โดยง่าย
ในต่างประเทศนั้นก็เคยมีปัญหาเช่นนี้มาก่อน เรียกกันว่าปัญหาไซโลของข้อมูล หรือ (Data silo) ซึ่งแม้กระทั่งในภาคเอกชนเองก็ตามเคยประสบปัญหานี้เช่นกัน ต่างหวงข้อมูลและไม่เกิดการบูรณาการข้อมูล (Data integration)
ในบางประเทศภาครัฐถึงกับต้องออกกฎหมายที่ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลโดยมีลักษณะเป็นการนิรโทษกรรมข้อมูล หากข้อมูลภาครัฐมีความไม่สมบูรณ์ตกหล่นบกพร่องไปบ้าง ก็ขอให้เปิดเผยมาและไม่ถือว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด โดยมีความเชื่อที่ว่าการมีข้อมูลที่คุณภาพไม่ดีนั้นยังดีกว่าการที่ไม่มีข้อมูลใด ๆ เลยหรือที่เรียกว่า Bad data is better than no data. แต่กรณีเหล่านี้ยกเว้นเมื่อทราบว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบจากข้อมูล ซึ่งจำเป็นที่จะต้องลงโทษข้าราชการเมื่อเห็นพฤติกรรมประพฤติมิชอบดังกล่าวจากข้อมูล ส่วนถ้าเป็นเรื่องของการบกพร่องโดยสุจริตหรือการทำหน้าที่ตกหล่นบกพร่องไปบ้างหรือบันทึกข้อมูลผิดหรือไม่มีข้อมูล ก็ให้ยกประโยชน์ให้หน่วยราชการนั้น ๆ ไปและถือว่าให้เริ่มต้นใหม่เป็นการ set Zero เพื่อให้ดำเนินการไปข้างหน้าและทำให้ประเทศมีข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้นและมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นไปเรื่อย ๆ
คำถามคือหน่วยราชการไทยจะยอมรับแนวคิดเช่นนี้ได้หรือไม่หรือจะยังหวงข้อมูลขัดแข้งขัดขากันอยู่แม้กระทั่งในหน่วยราชการด้วยกันเองหากมีกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ขึ้นมา
ข้อมูลหลายอย่างต้องมีการแบ่งปันกันข้ามหน่วยงาน ข้ามกระทรวง ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลอัตลักษณ์ของแรงงานต่างด้าว เช่น แรงงานพม่า หากมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน จะช่วยให้เกิดการแชร์ข้อมูลได้ดีขึ้นมากเพราะข้อมูลอัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวนั้น หากจะมานั่งพิจารณาจากบัตรสีฟ้า สีชมพูสีเขียวที่ใช้กันอยู่ ก็จะตกหล่นบกพร่อง และต้องใช้วิจารณญาณหรือต้องให้ไปร้องเพลงชาติไทยให้กันฟังเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นคนไทยหรือไม่ แต่หากทำอย่างดีโดยใช้ Blockchain technology แล้วอาจจะใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปหน้าของคนที่สงสัยว่าเป็นแรงงานพม่าหรือแรงงานต่างด้าวหลังจากนั้นใช้การพิสูจน์อัตลักษณ์โดยชีวมิติหรือ biometric authentication ซึ่งสามารถทำได้โดยง่ายเพราะมีเทคโนโลยีในการจดจำใบหน้าหรือ facial recognition ซึ่งสมัยนี้แม่นยำและก้าวหน้าไปมาก ไม่ว่าหน่วยราชการใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุขกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ หากมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการแบ่งปันข้อมูลอัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวผ่านการจดจำใบหน้าก็จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในด้านแรงงานต่างด้าวได้เป็นอย่างดีและรวดเร็วจะทำให้ประเทศได้รับการยอมรับและเป็นการยกระดับด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศไทย
อีกปัญหาหนึ่งซึ่งทำให้หน่วยราชการค่อนข้างกังวลในการเปิดเผยข้อมูลก็คือเรื่องปัญหาอัตลักษณ์บุคคลดังที่เราจะมี พ.ร.บ.อัตลักษณ์บุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นในไม่ช้านี้ซึ่งนำมาจากแนวคิดของ GDPR ของสหภาพยุโรป GDPR ย่อมาจาก General Data Protection Regulation กฎหมายซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องของ Data privacy หรือความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของแต่ละบุคคล ข้อมูลบางอย่างเช่นเวชระเบียนทางการแพทย์เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญมากและต้องไม่นำไปเปิดเผย สิ่งที่สำคัญก็คืออาจจะให้ข้อมูลเปิดใดๆเหล่านี้ต้องมีการนำเอาอัตลักษณ์ของบุคคลออกไปเช่นเอาชื่อออกไปเอารหัสบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักและที่อยู่ออกไปกระทั่งอีเมล์ และเบอร์โทรศัพท์หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือก็ต้องเอาออกไปเช่นกัน
ในอดีตที่ผ่านมามีหลายครั้งซึ่งข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลหลุดรอดออกไปจากฐานข้อมูลของราชการเองและนำไปสู่การขายข้อมูลให้กับภาคเอกชน เช่น ขายให้กับบริษัทประกันภัยเพื่อนำไปโทรขายประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์หรือทางออนไลน์ สร้างความรำคาญให้กับประชาชนทั่วไปเป็นอันมาก อันเป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นในอนาคตสิ่งที่ทางราชการจะต้องเตรียมตัวคือต้องพัฒนาบุคลากรทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของทางราชการให้เข้าใจถึงความมั่นคงของสารสนเทศหรือของข้อมูลที่เรียกว่า Data or information Security อันได้แก่การปลดอัตลักษณ์ของบุคคลออกจากข้อมูลก่อนที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลเปิดหรือการ aggregate ข้อมูลเพื่อให้สามารถระบุตัวบุคคลได้อันเป็นการเสนอข้อมูลในภาพรวม
ประเด็นที่น่าคิดคือจะทำอย่างไรให้หน่วยราชการไทยไม่หวงข้อมูลและเริ่มที่จะเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน
แนวความคิดในเรื่องของการแบ่งปันความรู้มีการวิจัยและค้นพบว่าความศรัทธาไว้วางใจระหว่างบุคคล (Interpersonal trust) เป็นประเด็นที่มีความสำคัญสำหรับคนในการที่จะแบ่งปันความรู้หรือข้อมูล หากไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันย่อมไม่มีทางที่จะเปิดเผยข้อมูลให้กันและกันทราบได้ ดังนั้นต้องทำให้หน่วยราชการมั่นใจได้ว่าการเปิดเผยข้อมูลจะไม่เป็นผลร้ายกลับมาทำร้ายตนเองและความคิดที่ว่ามีข้อมูลที่เลวย่อมดีกว่าการไม่มีข้อมูลหรือเลยหรือที่เรียกว่า Bad data is better than no data. หากได้รับการพิจารณาออกเป็นกฎหมายย่อมทำให้คนที่เกี่ยวข้องหรือข้าราชการมีความสบายใจมากขึ้นในการที่จะเปิดเผยข้อมูลและแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน ในขณะ เดียวกันการเสริมสร้างความศรัทธาไว้วางใจกันในหน่วยงานเดียวกันในกลุ่มเดียวกันก็จะทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลมากขึ้น หาใช่การยิ้มใส่กันแล้ว ไพล่ดาบไว้ข้างหลังคนละด้าม เมื่ออีกฝ่ายหันหลังหรือเผลอเมื่อไหร่ก็ตามก็เอามีดดาบนั้นจ้วงแทงกันให้ตายกันไปคนละข้าง อย่างที่เป็นอยู่เสมอในระบบราชการปัจจุบัน
ประการที่ 2 ต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการแบ่งปันข้อมูลจะนำมาสู่ผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน เป็นการให้รางวัลซึ่งกันและกัน หากแบ่งปันข้อมูลออกไปแล้วไม่ได้รับรางวัลอะไร ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับการยกย่องไม่ได้มีหน้ามีตา หรือไม่ถูกนำมาคิดเป็นผลงาน ก็จะไม่มีหน่วยราชการใดต้องการจะแบ่งปันข้อมูล ต่างจะหวงข้อมูลกันไว้ ดังนั้นหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลงานของหน่วยราชการ เช่น สำนักงาน กพร. อาจจะจำเป็นต้องกำหนดเกณฑ์ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยราชการโดยพิจารณาถึงเรื่องความถูกต้องสมบูรณ์ในการแบ่งปันข้อมูลหรือการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยราชการให้ดีขึ้น เป็นน้ำหนักที่มากขึ้นอันเป็นการบังคับทางอ้อมให้หน่วยราชการต้องเปิดเผยข้อมูลและแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันและกันต่อไป
ประการที่ 3 ต้องส่งเสริมให้เอกชนหรือนักวิจัยนำข้อมูลเปิดของราชการไปพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมข้อมูลหรือเกิดนวัตกรรมอื่นต่อเนื่องนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศและนำไปสู่การใช้งานได้จริง ย่อมเป็นรางวัลสำหรับหน่วยราชการที่เปิดเผยข้อมูลเหล่านั้นออกมา และนำไปสู่สิ่งที่นำไปใช้ได้จริงเห็นผลเป็นรูปธรรมย่อมเป็นกำลังใจให้หน่วยราชการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น
ประการที่ 4 ภาครัฐต้องส่งเสริมให้มีวิศวกรข้อมูล (Data Engineer) เพื่อทำหน้าที่ดูแลโครงสร้างพื้นฐานข้อมูล (Data infrastructure) สถาปัตยกรรมข้อมูลใหญ่และทางไหลของข้อมูล (Big data architecture and pipeline) ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล (Data Quality Audit) โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Internet of Things, Censor, Scanner หรืออื่นๆ ที่ลดการบันทึกข้อมูลโดยขน แต่ใช้เครื่องจักรมากขึ้น ซึ่งทำให้ข้อมูลที่ได้มีความถูกต้องสมบูรณ์มากกว่ามนุษย์บันทึกเอง
การที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาพยายามผลักดันเรื่องข้อมูลใหญ่เป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายก็มาตกมาตาย ไม่มีข้อมูลให้วิเคราะห์ ไม่มีข้อมูลให้ใช้ประโยชน์มากนัก ก็ด้วยเหตุผลนี้คือการห่วงข้อมูลแม้ว่าจะเป็นปลายสมัยรัฐบาลนี้แล้วก็ตามแต่เรื่องของการเปิดเผยข้อมูลและข้อมูลใหญ่นั้นยังเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาประเทศและทำให้เกิดความโปร่งใสธรรมาภิบาลการตรวจสอบได้ของภาครัฐจึงอยากจะฝากไว้ให้รัฐบาลในภายภาคหน้าหลังการเลือกตั้งลองพิจารณาเรื่องเหล่านี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย