xs
xsm
sm
md
lg

อนุมัติต่อขยายรถไฟสายสีแดงมูลค่า 1.67 หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- ครม.อนุมัติรถไฟสีแดงต่อขยาย 2 สาย เชื่อมตลิ่งชัน-ศาลายา และรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ "อาคม"สั่งเร่งประมูลใน 2 เดือน พร้อมสีแดง Missing Link ระดมตอกเข็มปี 62 เปิดเดินรถปี 65 เล็งชงครม.ในมี.ค. เคาะ PPP ร่วมทุนก่อสร้างและเดินรถสายสีส้มกว่าแสนล้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วานนี้ (26 ก.พ.) มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. กรอบวงเงิน 6,570.40ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. กรอบวงเงิน 10,202.18ล้านบาท โดยรฟท.จะเร่งจัดทำTOR ภายใน 1-2 เดือน คาดว่าจะเปิดประมูล e-bidding หาผู้รับจ้างและเริ่มก่อสร้างในปี 2562แล้วเสร็จในปี 2565

โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการ ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบรายปี หรือกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม ซึ่งสายสีแดงช่วง รังสิต-มธ.รังสิต มี 4 สถานี ได้แก่ สถานีคลองหนึ่ง, สถานีเชียงราก สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร 28,150 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มเป็น 64,080 คน/วัน ภายใน 20 ปี

สีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีศาลายา, สถานีศาลาธรรมสพน์, สถานีกาญจนาภิเษก, สถานีบ้านฉิมพลี, และสถานีเพิ่มเติม ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน คือ สถานีพระราม6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และ คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร 47,570 คน-เที่ยว/วัน

ส่วน สายสีแดงอ่อน ช่วง ตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 7,469.43ล้านบาท จะเสนอครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า เนื่องจากต้องปรับลดกรอบวงเงินตามความเห็นของ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) ในส่วนของการปรับปรุงโรงซ่อมรถจักรสถานีธนบุรี วงเงิน 824.4ล้านบาท โดยเหลือกรอบวงเงินที่ 6,645.03 ล้านบาท ตั้งเป้าเปิดประมูลและก่อสร้างในปี 2562 เปิดเดินรถในปี 2565คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร 55,200 คน-เที่ยว/วัน

สำหรับสายสีแดง (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วง บางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. ซึ่งครม.อนุมัติตั้งแต่ปี 2559 แต่เนื่องจากมีการปรับรูปแบบและรถความชัดเจนของการก่อสร้างช่วงสถานีจิตรลดา-พญาไท ที่จะต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งปัจจุบันรวมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในรูปแบบของคลองแห้ง (Open Cut) ซึ่งรฟท.จะรายงานครม.ในการปรับกรอบเวลาในการก่อสร้างใหม่ โดยยังคงใช้กรอบวงเงินเดิม ที่ประมาณ 44,000 ล้านบาท ซึ่งตั้งเป้าให้เปิดประมูลและก่อสร้างในปี 2562 แล้วเสร็จในปี 2565

ทั้งนี้จะทำให้โครงการรถไฟสายสีแดง แนวเหนือ-ใต้ ออก-ตก ครบ ยกเว้นส่วนใต้ที่ต่อจากหัวลำโพง-มหาชัยที่อยู่ระหว่างปรับแบบและสำรวจเส้นทางใหม่ในช่วงที่ประชาชนต่อต้าน

ส่วน ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 16.4 กม. ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ที่เห็นชอบแล้ว คาดว่าจะเสนอครม.ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ มีวงเงินลงทุน 109,342 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการในส่วนตะวันออกได้ในปี 2566 และทั้งเส้นภายในปี 2568


กำลังโหลดความคิดเห็น