xs
xsm
sm
md
lg

อย.รื้อกม.ลูก‘ปลดล็อกกัญชา’…เพิ่มสัดส่วนกก.รับพรบ.ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - อย.เร่งออกกม.ลูก "กัญชา" รองรับ พ.ร.บ.ยาเสพติด เผย กม.ลูก 5 ฉบับรวมเรื่องนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา ต้องเอามาพิจารณาใน คกก.ยาเสพติดใหม่ หลังกฎหมายแม่ สั่งเพิ่มสัดส่วนกก. คาดประชุมได้ 22 ก.พ.นี้ เผยราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ เปิดทางให้ใช้พืชกระท่อมและกัญชาทางการแพทย์ หัวใจ ลอบขาย-เสพ เจอคุก

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.จะต้องเร่งดำเนินการออกกฎหมายลูก เพื่อรองรับพ.ร.บ.ยาเสพติดฯ มีผลบังคับใช้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายลูก 5 ฉบับ โดยเป็นกฎกระทรวงเกี่ยวกับการผลิต การปลูก การสกัด การวิจัย การนำเข้า การจำหน่าย และการส่งออก 1 ฉบับ และประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับ โดย 3 ฉบับเป็นประกาศเกี่ยวกับการนิรโทษผู้ครอบครองกัญชาให้มาแจ้งใน 90 วัน หลังจากกฎหมายบังคับใช้ และอีกฉบับ เป็นประกาศตำรับที่มีส่วนประกอบของกัญชาที่จะใช้ในส่วนของแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน ที่จะอนุญาตให้ปรุงยา

"เดิมคณะกรรมการยาเสพติดฯ มีมติผ่านร่างกฎหมายลูกไปแล้ว แต่ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ระบุว่า การพิจารณาเกี่ยวข้องกับกัญชา จะต้องเพิ่มสัดส่วนกรรมการที่เกี่ยวข้อง คือ ต้องเพิ่มสัดส่วนกรรมการอีก 8 ท่าน คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากกรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สภาแพทย์แผนไทย แพทยสภา และสภาเภสัชกรรม”

โดยกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่พิจารณาเรื่องเกี่ยวกับกัญชาเท่านั้น จึงต้องมีการประชุมพิจารณาร่างกฎหมาย 5 ฉบับใหม่อีกครั้ง คาดว่าจะเชิญประชุมได้ภายในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ส่วนการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายลูกจะประกาศในเว็บไซต์ และจะมีการประชาพิจารณ์อย่างรอบด้านอีกเช่นกัน" นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า คิดว่า ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งก็น่าจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับพ.ร.บ.ยาเสพติด เพื่อประกอบกัน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 มาตรา 34 มาตรา 37 มาตรา 38 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

สำหรับเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและสอดคล้องตามหลักสากล ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ขึ้นไว้ และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ส่วนเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บางบัญญัติที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ได้ปรากฏผลการวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชาและพืชกระท่อมมีประโยชน์ทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กัญชาและพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดเสพหรือนำไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยหรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และยังกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครองด้วย

ดังนั้นเพื่อเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับและใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาและพัฒนาทางการแพทย์ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ได้รับอนุญาต เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ให้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านยาของประเทศ และป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดทางด้านยา สมควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อเปิดโอกาสให้นำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และใช้รักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้

ในประกาศกำหนดให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายกแพทยสภา นายกสภาการแพทย์แผนไทย และนายกสภาเภสัชกรรม เป็นกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษด้วย เฉพาะในวาระที่เกี่ยวกับกัญชาและพืชกระท่อม รวมถึงมาตรา 20 ที่บัญญัติภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

นอกจากนี้ ผู้ใดที่มีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือการศึกษาวิจัย อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ไม่ต้องรับโทษ โดยจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ แต่ถ้ากรณีที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้กัญชานั้นตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุขหรือให้ทำลาย.


กำลังโหลดความคิดเห็น