xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนเสนอกกพ.ให้ไฟฟ้าชีวมวลใช้ ‘RDF’ ช่วยลดขยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360 - สมาคมการค้าพลังงานขยะ ถกยื่นข้อเสนอ "กกพ." ให้นำเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF ป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล 25% ของเชื้อเพลิงที่ใช้หวังลดปริมาณขยะแบบเร่งด่วนและช่วยโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิง

นายมนตรี วิบูลย์รัตน์ นายกสมาคมการค้าพลังงานขยะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.สมาคมฯได้ร่วมหารือถึงข้อเสนอโครงการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงขยะ (RDF)เชิงพาณิชย์กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ด้วยการนำไปเป็นเชื้อเพลิงเสริมให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลในสัดส่วนไม่เกิน 25% ของเชื้อเพลิงชีวมวลที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เพื่อก่อให้เกิดการคัดแยกขยะในการกำจัดขยะชุมชนได้อย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

"นอกจากเหนือจะช่วยลดปริมาณขยะแล้ว จะทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีปัญหาขาดชื้อเพลิงหลักโดยเฉพาะไม้สับหรือ Wood Chip ที่ขณะนี้เกิดปัญหาราคาแพงมากเพราะจีนนำไม้ยางพาราคาลดลงจึงทำให้เกษตรกรไม่ได้ตัดต้นยางโดยราคาบางช่วงขึ้นไปถึง 1,400 บาทต่อตันจากเฉลี่ย 500 บาทต่อตัน การนำ RDF จากขยะชุมชนมาเสริมเป็นเชื้อเพลิงก็จะช่วยได้ในเรื่องของต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่ง" นายมนตรีกล่าว

ปัจจุบัน RDF ส่วนใหญ่ที่เป็นเกรดคุณภาพสูงจะนำไปใช้เชื้อเพลิงสำหรับอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ และบางส่วนก็ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าขยะและ RDF ที่เกิดจากชุมชนเองหากจะจำหน่ายจะต้องผ่านการขนส่งไปป้อนโรงงานดังกล่าวที่อยู่ห่างไกลออกไป หากนำมาเสริมเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลจะทำให้สามารถลดต้นทุนและทำให้โอกาสของชาวบ้านที่จะจำหน่าย RDF หรือธุรกิจชุมชนเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นจะต้องมีการปรับปรุงระบบเตาเผาใหม่ มีการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ (CEMS)

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการค้าพลังงานขยะ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางสมาคมฯได้ยื่นหนังสือเพื่อให้พิจารณาการส่งเสริมให้เกิดการใช้ RDF ในเชิงพาณิชย์มากขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้โดยเป็นการศึกษาของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ซึ่งยืนยันปริมาณ RDF ที่ใช้ในโรงปูนซิเมนต์และโรงไฟฟ้าขยะในไทยไม่เพียงพอจึงควรยกระดับ RDF ให้เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น และล่าสุดทางกกพ.ได้เรียกหารือและเห็นชอบในหลักการ

"เราเห็นว่าโรงไฟฟ้าขยะชุมชนภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ (PDP 2018) 400 เมกะวัตต์นั้นไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายเพราะของเก่าเกิดจริงยังน้อยอยู่มากเพราะส่วนหนึ่งถูกต่อต้านอาจใช้เวลานับ 10 ปี ระยะเร่งด่วนนี้น่าจะเปิดให้นำมาเสริมกับโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงได้เพื่อกำจัดขยะชุมชนให้เกิดขึ้นเร็ว ซึ่ง RDF ที่จะนำมาทำจะเป็นขยะในหลุมผังกลบเก่าเป็นหลัก ส่วนโรงไฟฟ้าขยะใครจะทำได้ก็จะต้องมีขยะในมืออยู่แล้วและเป็นขยะใหม่จึงไม่ซ้ำซ้อนกันหรือจะเกิดปัญหาได้ " นายพิชัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น