xs
xsm
sm
md
lg

รุมกระแทก"ลุงตู่"ทุกทิศทาง จะทนทานไหวหรือสติแตก !

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

** แน่นอนว่า การเลือกตั้งคราวนี้ถือว่า "มีเดิมพันสูง" กันทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองขั้วหลัก ไม่ว่าจะเป็น "ขั้วประยุทธิ์" กับ"ขั้วทักษิณ" และอีกขั้วก็คือ "ขั้วประชาธิปัตย์" ที่รับรองว่าต้องขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด เพราะเดิมพันสูงที่ว่านี้ก็คือการ"เดิมพันครั้งสุดท้าย" เลยก็ว่าได้
เริ่มจาก "ขั้วประยุทธ์" ก่อนก็แล้วกัน ก็อย่างที่เข้าใจกันดีว่าย่อมหมายถึง "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เวลานี้เป็นแคดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐ ถือว่าได้เปิดหน้าลงมาเต็มตัว ไม่ต้องอ้อมค้อม และเวลานี้ ในบรรดาผลสำรวจจากสำนักหลักๆ หลายแห่งผลออกมาตรงกันว่า เขาได้รับความนิยมนำหน้าคนอื่น เรียกว่าเป็น "เต็งหนึ่ง" ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนต่อไป
แน่นอนความเป็นเต็งหนึ่งดังกล่าวนี่แหละมันก็มีทั้งผลดี และผลเสีย ผลดีก็คือสามารถนำไปขยายผล ขยายความแบบซ้ำๆ ทำให้พรรคที่สนับสนุนเขาได้รับการเลือกตั้ง มีคะแนนเพิ่มขึ้น เพราะหากจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกรอบก็ต้องเลือกพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงเลือกพรรคที่ประกาศสนับสนุน เขาเป็นนายกฯ ซึ่งก็เหมือนกับการตัดสินใจต้องเลือกข้างอะไรประมาณนั้น
ขณะเดียวกัน การตัดสินใจสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเลือกพรรคพลังประชารัฐ และพรรคที่ประกาศสนับสนุนเขาเป็นนายกฯ บางครั้งก็ด้วยเหตุผลที่ต้องการ "สกัดกั้น" อีกขั้วหนึ่งไม่ให้มีโอกาสได้กลับมา นั่นคือ "ขั้วของ ทักษิณ ชินวัตร" ซึ่งจะได้อธิบายขยายความในลำดับถัดไป
ขณะที่ในมุมมองด้านลบก็คือ จากสภาวะดังกล่าวส่งผลให้เกิดแรงกดดันมาจากทุกทิศทาง ทำให้ "ลุงตู่" กลายเป็นเป้านิ่ง หรือกลายเป็น "หมู่บ้านกระสุนตก" อยู่ในเวลานี้ เพราะในเมื่อเป็นผู้นำ ได้รับความนิยมสูง มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องถูกคู่แข่ง ฝ่ายตรงข้ามต้องทำทุกวิถีทางที่จะโจมตี ดิตเครดิต หรือแม้แต่ใช้ช่องทางกฎหมายร้องเรียนในแบบเตะตัดขาให้ล้มคว่ำลงให้ได้
**สำหรับ "ลุงตู่" หรือ"บิ๊กตู่" นั้นนาทีนี้ถือว่ามีเดิมพันสูงในแบบ "แพ้ไม่ได้" เช่นเดียวกัน เพราะหากไม่ได้ไปต่อ ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี มันก็เกิดความเสี่ยงว่า หลายโครงการที่ริเริ่มเอาไว้ในรัฐบาลของเขาจะถูกรื้อทิ้ง ทบทวนใหม่ รวมไปถึงอาจลุกลามไปถึงเรื่อง "ถูกเช็กบิล" ตามมาอีกด้วย เพราะบางพรรค บางกลุ่มการเมืองได้ประกาศเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะรื้อทิ้งแทบทุกอย่าง ดังนั้นเมื่อพิจารณากันสั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้มันถึงเป็นคำตอบว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงแพ้ไม่ได้ และต้องกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ อย่างน้อยก็เพื่อ "สานงานต่อ" ที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อย
ส่วนอีกขั้วสำคัญก็คือ"ขั้วทักษิณ ชินวัตร" ที่รับรู้กันว่าดำเนินกิจกรรมทางการเมืองผ่านพรรคการเมืองเครือข่ายในพรรค "ตระกูลเพื่อ" ทั้งหลาย โดยมีพรรคเพื่อไทย เป็นเครือข่ายหลัก แม้ว่าจะมีการยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เพื่อป้องกันผลกระทบทางกฎหมาย แต่รับรองว่าในความเข้าใจของคนทั้งสังคม ย่อมรับรู้ว่า มันใช่ และยังเกี่ยวข้องกันในแบบ "นอมินี" เสียด้วย
ขณะเดียวกัน หลายคนยังมองออกอีกว่า แม้ว่ารายชื่อของแคดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคตระกูลเพื่อทั้งหลาย จะเป็นใครก็ตาม นอกเหนือจากเป้าหมายหลักคือการ "ได้อำนาจรัฐ "กลับมาแล้ว เป้าหมายหลักที่เชื่อว่า "ซุกซ่อน" อยู่ข้างหลังนั่นก็คือ "ต้องการกลับมา" ในแบบที่ไม่ต้องรับโทษ นั่นคือ จะทำทุกทางเพื่อให้มี "นิรโทษกรรม" ในทางใดก็ทางหนึ่งให้ได้ อย่างน้อยก็ถูกจับได้ไปแล้ว จาก"ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์" ที่ผ่านมา ดังนั้น หากพิจารณาจากเป้าหมายดังกล่าว ทักษิณ ชินวัตร ก็แพ้ไม่ได้ เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหากพวกเขาพลาดจากการควบคุมอำนาจรัฐต่อเนื่องไปอีก 4-5 ปีข้างหน้า มันก็คือหายนะทางการเมืองประเภทกู่ไม่กลับ แล้ว และต้องเร่ร่อนอยู่ต่างประเทศแบบตลอดชีวิต
ขณะที่อีกขั้วหนึ่ง นั่นคือ "ขั้วประชาธิปัตย์" ที่มีชื่อของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคเป็นแกนหลัก และย้ำว่านี่คือ "ขั้วที่ 3 "โดยก่อนหน้านี้มีการวางเดิมพันด้วยว่า หากการเลือกตั้งคราวนี้ พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งโดยได้ ส.ส.ไม่ถึง 100 คน เขาก็จะลาออกจากหัวหน้าพรรคทันที แม้จะไม่ได้ประกาศว่าหากสมาชิกเลือกกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกรอบ จะรับอีกหรือไม่ก็ตาม แต่นาทีนี้ก็ถือว่าเขาก็ได้ "วางเดิมพัน" ทางการเมืองครั้งสุดท้ายเอาไว้เหมือนกัน เพราะจะว่าไปแล้วมันก็สมควรแก่เวลาสำหรับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในทางการเมืองแล้ว สำหรับการช่วงชิงเก้าอี้สำคัญแบบนี้
อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินจากทั้งสามกลุ่มแล้ว นาทีนี้ก็ยังสมควรที่จะโฟกัสไปที่ "ลุงตู่" เอาไว้เป็นลำดับแรกในฐานะที่เป็นเต็งหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมถูกถล่มเข้ามาจากทุกทิศทางเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นการเข้าสู่บทบาทใหม่ในทางการเมือง ที่ต้องใช้ฐานสนับสนุนทางการเมืองเป็นหลัก เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งในแบบประชาธิปไตย ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถทนกับแรงกดดันที่นับวันจะหนักหน่วงแบบนี้ได้อย่างไร จะทำให้"สติแตก"หรือไม่
ขณะเดียวกันในทางตรงกันข้าม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถปรับตัวได้ เพราะมีการเตรียมการณ์รับมือเอาไว้ล่วงหน้า เนื่องจากรับรู้เอาไว้แล้วว่าต้องเจอกับสภาพแบบนี้ และที่ผ่านมาหากสังเกตจะเห็นลีลาการเคลื่อนไหว การพูดจาปราศรัยเวลาพบปะกับชาวบ้านทำได้ไม่ต่างจากนักการเมือง ซึ่งนั่นอาจเป็นคำตอบให้เห็นแล้วว่า "เขาพร้อม" แล้วก็ได้ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น