xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ดึงคนนอกร่วมทีมสอบ"ยุบพรรคทษช."

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน360- กกต. ประกาศรับรองบัญชีนายกฯแล้ว 45 พรรค 69 รายชื่อ มี "ลุงตู่-หญิงหน่อย-ชัชชาติ" ไร้แคนดิเดตนายกฯพรรค ทษช. ขณะที่ปมยุบพรรคได้ข้อสรุปว่า ต้องตั้งคณะกรรมการไต่สวน สอบปมแคนดิเดต นายกฯ ทษช. เข้าข่ายผิด ม.92 ต้องชงยุบพรรคหรือไม่ เร่งหาคนนอกร่วม คกก. เหตุละเอียดอ่อน-ผลสอบต้องเป็นที่ยอมรับ นัดถกต่อวันนี้ ด้าน"ศรีสุวรรณ" ร้องยุบพรรค ทษช. "รุ่งเรือง" ยื่นหนังสือแสดงความบริสุทธ์ใจต่อ กกต. เผยลาออกจากสมาชิกพรรค ทษช. ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.แล้ว เพราะไม่เห็นด้วยกับมติพรรค ที่เสนอบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ขณะที่ "เรืองไกร" กินแห้ว ร้องคัดค้าน "บิ๊กตู่" เป็นแคนดิเดตนายกฯของพปชร. ไม่สำเร็จ ตลาดหุ้นร่วง 13.68 จุด ผลพวงการเมืองไม่นิ่ง

วานนี้ (11ก.พ.) มีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณารับรองรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ในบัญชีของพรรค โดยหลังกาประชุม ทางสำนักงาน กกต.ได้ออกเอกสารข่าว แจ้งว่า กกต. ได้มีการประชุม เพื่อพิจารณา ประเด็นการแจ้งรายชื่อบุคคล เพื่อเสนอชื่อให้รัฐสภา ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีประกาศ กกต. เรื่อง การแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 11 ก.พ. 62 แล้ว โดยไม่รวมถึง พระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งได้รับการเสนอโดย พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เพราะ พระบรมราชวงศ์ทุกประองค์ ทรงอยู่ในหลักการ เกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง ของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ ตามพระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรธน. ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 8 ก.พ.62 ประกอบรธน.60

ทั้งนี้ ตามประกาศ กกต. เรื่องการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ลงนามประกาศในครั้งนี้ มีพรรคการเมือง และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ จากพรรคการเมืองได้รับการประกาศรายชื่อ ทั้งสิ้น 45 พรรคการเมือง รวม 69 คน ประกอบด้วย

1. พรรคกรีน นายพงศา ชูแนม 2. พรรคกลาง นายชุมพล ครุฑแก้ว 3. พรรคกสิกรไทย นายทรรศชล พงษ์ภควัต 4. พรรคคนงานไทย นายธีระ เจียบุญหยก 5. พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย นายธนพร ศรียากูล 6. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน นายปรีดา บุญเพลิง 7. พรรคคลองไทย นายสายัณห์ อินทรภักดิ์ 8. พรรคความหวังใหม่ นายชิงชัย มงคลธรรม 9. พรรคชาติไทยพัฒนา น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา 10. พรรคชาติพัฒนา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ

11. พรรคชาติพันธุ์ไทย นายโกวิทย์ จิรชนานนท์ นายพลศุภรักษ์ ศิริจันทรานนท์ นายภราดร พรอำนวย 12. พรรคฐานรากไทย นายบวร ยสินทร ว่าที่ร.ต.ญาณวุฒิ พรหมเดชากุล 13. พรรคทางเลือกใหม่ นายราเชน ตระกูลเวียง 14. พรรคไทยธรรม นายอโณทัย ดวงดารา นายภูษิต ภูปภัสศิริ นายกิติกร วิชัยเรืองธรรม 15.พรรคไทยศรีวิไลย์ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ นายณัชพล สุพัฒนะ น.ส.ภคอร จันทรคณา 16. พรรคประชากรไทย นายสุมิตร สุนทรเวช นายคณิศร สมมะลวน 17.พรรคประชาชาติ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม 18. พรรคประชาธรรมไทย นายพิเชษฐ สถิรชวาล นายชัยวุฑ ตรึกครอง 19.พรรคประชาธิปไตยใหม่ นายสุรทิน พิจารณ์ 20. พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

21. พรรคประชานิยม พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ นายปฐมฤกษ์ มณีเนตร 22. พรรคประชาภิวัฒน์ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ นางนันทนา สงฆ์ประชา ศาสตราจารย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ 23. พรรคแผ่นดินธรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ร.ท.บรรจบ บรรณรุจิ นายกรณ์ มีดี 24.พรรคพลเมืองไทย นายเอกพร รักความสุข 25.พรรคพลังชาติไทย พล.ต.ทรงกรด ทิพย์รัตน์ 26.พรรคพลังท้องถิ่นไทย นายชัชวาลล์ คงอุดม ศาสตร์จารย์โกวิทย์ พวงงาม 27.พรรคพลังไทยดี นายสาธุ อนุโมทามิ 28.พรรคพลังไทยรักไทย พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล 29. พรรคพลังประชาธิปไตย นายพูลพิพัฒน์ นิลรังสี 30. พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

31. พรรคพลังสังคม นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน 32.พรรคพัฒนาประเทศไทย นายศิลปิน หาญผดุงธรรมะ 33. พรรคเพื่อคนไทย นายวิทยา อินาลา 34. พรรคเพื่อชีวิตใหม่ นายกฤติวัฒน์ กลางชัย 35. พรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ 36. พรรคเพื่อธรรม นางนลินี ทวีสิน 37. พรรคภราดรภาพ ม.ร.ว.ดำรงดิศ ดิศกุล 38. พรรคภาคีเครือข่ายไทย น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ 39. พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล 40. พรรคมหาชน นายอภิรัต ศิรินาวิน นายพาลินี งามพริ้ง นายสุปกิจ คชเสนี

41. พรรคเศรษฐกิจใหม่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ 42. พรรคสยามพัฒนา นายอเนก พันธุรัตน์ 43. พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 44. พรรคเสรีรวมไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และ 45. พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

** ถกตั้งกก.สอบยุบพรรคทษช.วันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม กกต. ได้ข้อสรุปที่จะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีมีการร้องขอให้ตรวจสอบว่าการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ ที่เสนอชื่อแคนดิเนตนายกรัฐมนตรี ว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นเหตุให้ กกต.ต้องเสนอความเห็นต่อศาลรธน. พิจารณาสั่งยุบพรรคหรือไม่ โดยเห็นว่า คณะกรรมการไต่สวนควรจะมีจำนวน 5-7 คน และมีคนนอกเข้ามาร่วมมากกว่าคนใน เนื่องจากเรื่องดังกล่าว มีความละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูง รวมทั้งผลการสอบสวนต้องได้รับการยอมรับจากบุคคลภายนอก จึงให้ทางสำนักงานไปพิจารณาตัวบุคคล แล้วมาเสนอต่อที่ประชุม กกต. ก่อนไปทาบทาม และมาเสนอ กกต. มีคำสั่งแต่งตั้งต่อไป ซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะมีการพิจารณาในการประชุมกกต.อีกครั้งในวันนี้ (12 ก.พ.)

**"ศรีสุวรรณ"ร้องยุบพรรค ทษช. จี้

วันเดียวกันนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ ประธานกกต. และ นายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ไต่สวนวินิจฉัย และยื่นต่อศาลรธน. พิจารณา ว่า การที่พรรคทษช. เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ( 2 ) หรือไม่

การกระทำของพรรค ทษช. ถือว่าไม่เหมาะสม และเมื่อมีพระราชโองการ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็ยิ่งเท่ากับชัดเจนว่า พรรค ทษช. กระทำการโดยไม่เหมาะสม ไม่บังควร ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ดึงสถาบันฯ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามระเบียบหาเสียงเลือกตั้ง จึงเห็นควรให้ กกต. ต้องดำเนินการให้ได้ข้อยุติ และเป็นบรรทัดฐานโดยเร็ว ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้


** "รุ่งเรือง"ยื่นลาออกจาก ทษช.

นายรุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตกรรมการบริหารพรรคทษช. เข้ายื่นหนังสือลาออกจาการเป็นสมาชิก และกรรมการบริหารพรรค ทษช. ลงวันที่ 4 ก.พ. ต่อกกต. เพื่อยืนยันว่า ตนได้มีการลาออก และไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ กก.บห. มีมติเสนอชื่อว่าที่นายกฯ ก่อนหน้านี้ โดยนายรุ่งเรือง กล่าวว่า ตนได้ยื่นหนังสือขอลาออกฉบับนี้ ต่อหัวหน้าพรรคไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 ก.พ. เนื่องจากก่อนหน้านั้น เดือน ม.ค. คุยกับทางครอบครัวแล้ว ไม่อยากให้ตนทำงานการเมือง เนื่องจากลูกอายุน้อย และอยู่วัยที่ต้องการเวลาจากพ่อแม่ แต่ก็คิดว่าจะช่วยทำงานพรรคอีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อไปช่วยหาเสียงที่ชัยนาทเสร็จ ในวันอาทิตย์ที่ 3 ก.พ. เช้าวันที่ 4 ก.พ. จึงตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกกับ หัวหน้าพรรค

**"เรืองไกร"แห้ว ค้าน"บิ๊กตู่"บัญชีนายกฯวืด

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรค ทษช. เข้ายื่นหนังสือถึง กกต. ขอให้ตรวจสอบการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เนื่องจากเห็นว่าการเสนอชื่อดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับพรรคพปชร. ที่ต้องมีหนังสือยินยอมจากบุคคลนั้นก่อน แต่ปรากฏว่าพรรคฯ ได้ประชุมและมีมติให้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก่อนได้รับหนังสือยินยอมจาก พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี คือ เป็นนายกฯ และหัวหน้าคสช. ซึ่งถือว่าเข้าข่ายเป็นข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจขัดต่อรธน. เพราะยังรับเงินในเดือนในตำแหน่งดังกล่าวอยู่ เดือนละ 125,590 บาท

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณา แล้วมีมติประกาศรับรองชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐไปแล้ว

*** กดดันตลาดหุ้นไทยร่วง 13.68 จุด

ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวทางการเมืองได้กดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (11 ก.พ) ดัชนีปรับตัวลดลงปิดการซื้อขายที่ 1,638.00 จุด ลดลง 13.68 จุด หรือ 0.83% มูลค่าการซื้อขาย 40,670.81 ล้านบาท โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวพันกับกลุ่มตระกูลชินวัตรปรับตัวลดลงถ้วนหน้า อาทิ ADVANC ปิดที่ 181 บาท ลดลง 3.72% INTUCH ปิดที่ 54.25 บาท ลดลง 4.82% และ SC ปิดมรา 2.98 บาท ลดลง 5.70% ขณะที่ปัจจัยลบต่างประเทศยังคงเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการปิดหน่วยรัฐบาล (ชัตดาวน์) ในสหรัฐฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น