xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องถอนสัมปทาน ‘เอราวัณ-บงกช’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องคดีร้องเพิกถอนประกาศสัมปทานแหล่งเอราวัณและบงกช ชี้เป็นเป็นอำนาจตามกฎหมายของคณะกรรมการปิโตรเลียม

วานนี้ ( 11 ก.พ.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา ยกฟ้องในคดีหมายเลขแดง ที่ ฟร. 1/2562 ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องคณะกรรมการปิโตรเลียม คณะรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ร่วมกันออกประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจ หรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ลงวันที่ 19 ต.ค. 60 ขัดต่อกฎหมาย เอื้อประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทานเดิม โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุด สั่งเพิกถอนประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ดังกล่าว และกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. 2561

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมโดยการให้สัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการนั้น การได้ผลประโยชน์ และภาระหน้าที่ของรัฐจะแตกต่างกัน ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต สามารถจูงใจผู้ประกอบการได้มากกว่าสัญญาจ้างบริการ และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการปิโตรเลียม โดยความเห็นชอบของครม. มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ ว่า ที่ใดสมควรดำเนินการสำรวจ หรือผลิตปิโตรเลียม ในรูปแบบใด

ดังนั้น การที่คณะกรรมการปิโตรเลียมใช้ดุลพินิจกำหนดให้การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม ที่สามารถดำเนินการในรูปแบบสัญญาจ้างบริการเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสำรวจพบเป็นปริมาณที่มากกว่าที่มีการค้นพบแล้วในประเทศไทย จึงมีเหตุผลสนับสนุน และไม่อาจรับฟังได้ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งตามประกาศพิพาท กำหนดให้มีการทบทวนโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ ของประเทศไทย ทุกๆ 3 ปี โอกาสที่รัฐจะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัญญาจ้างบริการ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ส่วนกรณีกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. 2561 นั้น แบบของสัญญาตามกฎกระทรวงดังกล่าว จึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น