xs
xsm
sm
md
lg

“ยิงปืนนัดเดียวได้นก 17 ตัว” คือพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ผศ.ประสาท มีแต้ม
รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

1. สถานการณ์พลังงานของประเทศไทย

ในปี 2561 ประเทศไทยใช้พลังงานขั้นสุดท้ายคิดเป็นมูลค่า 2.080 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 13.46 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในจำนวนนี้เป็นค่าไฟฟ้าจำนวน 6.50 แสนล้านบาท

ตารางข้างล่างนี้ ได้นำเสนอข้อมูลในช่วงกว้างคือจากปี 2539 ถึงปี 2560 ทำให้เราได้เห็นแนวโน้มและเห็นปัญหาสำคัญมาก 3 ประการ คือ

หนึ่ง การพึ่งตนเองด้านพลังงานมีแนวโน้มลดลง (หรือต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น) จาก 31% ในปี 2539 เป็น 64% ในปี 2549 และแม้ในปี 2560 ได้ลดลงมาเหลือ 49% ก็ไม่ได้หมายความว่ามีการนำเข้าลดลง แต่เป็นเพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดต่ำมาก (ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2549 เท่ากับ $66.05 ต่อบาร์เรล ในขณะที่ปี 2560 ราคาเฉลี่ย $50.84 ต่อบาร์เรล (https://www.macrotrends.net/1369/crude-oil-price-history-chart)

สอง ร้อยละของมูลค่าการใช้พลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมีราคาลดลงมากในช่วง 7-8 ปีมานี้

สาม หากนโยบายพลังงานของไทยยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ความเหลื่อมล้ำทุกด้านจะยิ่งสูงขึ้น ปัญหามลพิษโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี PM 2.5 จะยิ่งรุนแรงขึ้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ นโยบายพลังงานของไทยเป็นนโยบายที่มีแนวโน้มต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศมากขึ้นๆ และเป็นฟอสซิลซึ่งเป็นพลังงานที่ผูกขาดและตรงกันข้ามกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเน้นความมีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันตนเองอย่างสิ้นเชิง

2. ทำไม “ยิงปืนนัดเดียวได้นก 17 ตัว”

ปัญหาใหญ่ที่สำคัญอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์ก็คือ “การคิดแบบแยกส่วน” แทนที่จะเป็น “การคิดอย่างบูรณาการและเชื่อมโยง” เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่เริ่มตั้งแต่เป้าหมายแรกคือ “ไม่มีความยากจน” ก็เป็นการคิดแบบแยกส่วน แม้เมื่อรวมเป้าหมายรวมทั้ง 17 เป้าหมายเข้าด้วยกันแล้วจะครบความเป็นองค์รวมที่จำเป็นก็ตาม แต่ก็ยังขาดความเป็นเหตุและเป็นผลของแต่ละเป้าหมาย

กล่าวเฉพาะเป้าหมาย “ไม่มีความยากจน” จะไม่มีความยากจนได้อย่างไร ในเมื่อกระแสไฟฟ้า (เรื่องพลังงาน) ซึ่งโดยธรรมชาติสามารถไหลได้ 2 ทิศทาง แต่ได้ถูกฝ่ายการเมืองบังคับให้ไหลได้ทางเดียว คือ ไหลจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เข้าสู่บ้านเรือน แล้วเงินก็ไหลออกในทิศทางเดียวคือจากบ้านเรือนเข้าสู่กระเป๋าของเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ปีแล้วปีเล่า เจ้าของบ้านจึงต้องยากจนลง

แท้ที่จริงแล้ว ในยุคนี้บ้านเรือนทุกหลังสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกกว่าที่โรงไฟฟ้าผลิต แต่อำนาจรัฐไม่ยินยอมให้ผลิตด้วยกติกาที่ประหลาด

มาถึงเป้าหมายที่สาม “สุขภาพดีและมีสุขภาวะ” ยกตัวอย่างกรณีฝุ่นขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ถ้าเราวิเคราะห์กันให้ถึงที่สุด PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทุกชนิด ทั้งน้ำมันทุกชนิด ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และฟางข้าว ฯลฯ แต่ผู้บริหารประเทศก็พยายามบิดประเด็นมาเป็นเฉพาะรถยนต์ดีเซลควันดำอย่างเดียว และไม่ได้มาจากโรงงาน เป็นต้น

องค์กรระหว่างรัฐบาลที่ชื่อว่า International Renewable Energy Agency (IRENA-มีสมาชิก 158 ประเทศ) ได้ออกรายงานเรื่อง “Rethinking Energy 2017” ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ มีเป้าหมายที่ 7 คือ “พลังงานที่สะอาดและราคาไม่แพง” เป็นแกนกลาง หรือเป็นหัวใจที่เป็นต้นเหตุของอีก 16 เป้าหมายที่เหลือ (ดูภาพถัดมาประกอบ)

พูดกันแบบสั้นๆ ถ้าเราสามารถบรรลุ “ใช้พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง” ซึ่งต้องไม่ใช่พลังงานฟอสซิลและพลังงานนิวเคลียร์ แต่คือ “พลังงานหมุนเวียน” เท่านั้น เป้าหมายอื่นๆ อีก 16 เป้าหมายก็จะบรรลุตามไปด้วย

นั่นคือ “ยิงปืนนัดเดียวได้นก 17 ตัว”

3. การเยียวยาโลกมีราคาถูกลงแล้ว

แม้โลกของเราจะมีหลายปัญหา แต่เมื่อได้จัดลำดับความสำคัญของปัญหาโดยนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญคือ สตีเฟน ฮอว์กิง รวมทั้งจากการสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่แล้วก็ได้ข้อสรุปที่ใกล้เคียงกันคือ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาสงคราม และปัญญาประดิษฐ์ (หมายเหตุ สงครามส่วนใหญ่เกิดจากการปกป้องและแย่งชิงแหล่งปิโตรเลียมสำคัญของโลก)

ศาสตราจารย์พอล ครุกแมน ได้อ้างถึงรายงานเรื่อง “ปฏิวัติ...เดี๋ยวนี้” ซึ่งเป็นของกรมพลังงาน รัฐบาลสหรัฐอเมริกา แล้วสรุปว่า “การเยียวยาโลกมีราคาถูกลงแล้ว” (ดูภาพประกอบ)

ห้า เทคโนโลยีดังกล่าวก็คือ กังหันลม โซลาร์เซลล์ หลอด LED รถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่

4. ถ้าปฏิบัติตามข้อตกลปารีส ฝุ่น PM 2.5 ก็จะลดลงไปเอง

จากการศึกษาขององค์กรที่ชื่อว่า International Energy Agency (ก่อตั้งปี 2517 มีสมาชิก 30 ประเทศ) พบว่า “ถ้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวกับพลังงานลงเหลือ 37% ในปี 2040 ตามข้อตกลงปารีส มลพิษ PM 2.5 จะลดลงเหลือประมาณ 20% ของกรณีที่ไม่ได้ทำอะไรเลย” (https://www.iea.org/weo/weomodel/sds/)นั่นคือ PM2.5 ไม่เกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

5. 4+1 จอมเทพที่จะมาปราบบริษัทผลิตไฟฟ้าในรูปแบบเดิมให้ราบคาบ

ในปี 2017 Dr.John Farrell ผู้อำนวยการ Institute for Local Self-Reliance ได้ออกเอกสารวิชาการเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตยพลังงาน (Energy Democracy)” พร้อมกับภาพโปสเตอร์ที่ทำให้เราจดจำได้ง่าย

ผมได้ดัดแปลงมาเล่าต่อว่า “4+1 จอมเทพที่จะมาปราบบริษัทผลิตไฟฟ้าในรูปแบบเดิมให้ราบคาบ” ซึ่งก็คล้ายกับที่ศาสตราจารย์พอล ครุกแมน ได้นำเสนอเมื่อปี 2014

ห้าจอมเทพดังกล่าวคือ หนึ่ง สมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ทั้งควบคุมและประสานอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน (Internet of things) สอง โซลาร์เซลล์ สาม รถยนต์ไฟฟ้า สี่ แบตเตอรี่ และห้า กังหันลม ซึ่งไฟฟ้าก็ผลิตจากกังหันลมและโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง

6. คนไทยจะได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปี พ.ศ.ไหน?

เราพอจะทราบกันมาบ้างแล้วว่า ประเทศจีนได้นำรถยนต์ไฟฟ้า (รวมทั้งรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า) มาแก้ปัญหามลพิษในอากาศของเมืองใหญ่ ปัจจุบันประเทศจีนใช้รถยนต์ไฟฟ้าสะสมประมาณครึ่งของโลกแล้ว

แต่ถามจริงๆ เราเคยได้ยินผู้นำรัฐบาลไทยเคยพูดถึงเรื่องนี้บ้างไหม ทั้งๆ ประเทศเราเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ที่สำคัญรายหนึ่งของโลก หรือว่าประเทศไทยจะเป็นแหล่งระบายอะไหล่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันรายสุดท้ายของโลก

จากการศึกษาของ Bloomberg New Energy Finance สรุปว่า ในปี 2026 ราคารถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มถูกกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน (ดูภาพประกอบ)

เช่นเดียวกันครับ ถ้าราคาแบตเตอรี่ลดลงเหลือ $109 ต่อ kwh ต้นทุนในการเก็บไฟฟ้าจากแสงแดดเพื่อเก็บไว้ใช้ในตอนกลางคืนก็จะประมาณ 0.80 บาทต่อหน่วยไฟฟ้าเท่านั้นแสดงว่าแต่ละจอมเทพของเรากำลังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อมาปราบบริษัทผลิตไฟฟ้าที่เป็นต้นเหตุสำคัญของโลกร้อนและมลพิษรวมทั้ง PM 2.5

เชียร์กันหน่อยครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น