xs
xsm
sm
md
lg

วาทกรรมเรื่อง “ฝ่ายประชาธิปไตย” ความจริงหรือบิดเบือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ในการอภิปรายที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อไม่นานมานี้ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ คาดการณ์ผลการเลือกตั้งว่า “เพื่อไทย ไทยรักษาชาติ และพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน จะได้มากกว่า 251 เสียง คิดว่า 200 เขตเก่าที่เคยชนะ ไม่เปลี่ยนใจในการลงคะแนน อีก 150 เขต คือตัวแปรที่พรรคใหม่ ๆ จะมีโอกาสช่วงชิง”

ผมถกเถียงในเรื่องจำนวน ส.ส.นะครับ เพราะผมเองเชื่อว่าอาจจะเป็นเช่นนั้น และวิเคราะห์มาตลอดว่า พรรคเพื่อไทยและบริวารน่าจะยังได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทน เหตุผลสำคัญคือ การเมืองไทยยังแบ่งเป็นขั้วชัดเจน ที่สำคัญยังไม่มีใครสามารถเปลี่ยนทัศนคติของมวลชนที่สนับสนุนระบอบทักษิณ และเคยวิเคราะห์ว่า บัตรเลือกตั้งใบเดียวนี่แหละที่จะทำให้ประชาชนต้องตัดสินใจลงแบบเลือกข้างโดยไม่สนใจว่าผู้สมัครจะเป็นใคร

แต่ที่ผมติดใจคือคำว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย”

ความจริงผมได้ยินคำคำ นี้มานานแล้วนะครับจากฝ่ายระบอบทักษิณที่พยายามผลิตคำนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตัวเอง ว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตย และพยายามเรียกฝ่ายที่ออกมาต่อต้านระบอบทักษิณว่า ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย

แต่เมื่อคำนี้ถูกยกขึ้นโดยอาจารย์รัฐศาสตร์มันก็มีเรื่องชวนให้ขบคิด แม้จะเกิดขึ้นจากปากของอาจารย์ที่เราทราบจุดยืนทางการเมืองชัดเจนว่า ยืนอยู่ฝั่งไหน เป็นเรื่องแปลกบางคนเวลาผมบอกว่า เป็นเสื้อแดงเขาจะโกรธและปฏิเสธนะครับ โดยเฉพาะคนเป็นนักวิชาการ

ทั้งที่ผมไม่ได้มองว่า การเป็นเสื้อแดงเป็นสิ่งที่ผิด ผมมีเพื่อนเสื้อแดงหลายคน แต่เมื่อผมเห็นว่า คนคนนั้นมีทัศนคติทางการเมืองสนับสนุนความคิดของฝ่ายคนเสื้อแดงมันก็ชัดเจนอยู่แล้ว ผมก็จะบอกว่าเขาเป็นเสื้อแดง เหมือนบอกว่าคนนั้นเป็นซ้าย เป็นขวา เป็นมาร์กซิสต์ จากจุดยืนของเขา

แม้ผมเห็นว่า ทักษิณเมื่อมีอำนาจกระทำในสิ่งที่ผิดหลายเรื่อง แต่ผมไม่โทษคนที่สนับสนุนระบอบทักษิณเขาอาจมีเหตุผลของเขาและเห็นว่าระบอบทักษิณทำให้เกิดประโยชน์ต่อเขา ความเห็นต่างทางการเมืองอุดมการณ์ที่ต่างกันทางการเมืองเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าต้องโต้แย้งกันทางการเมืองผมก็ยืนในจุดของผมอย่างเต็มที่ ไม่มีฝ่ายไหนถูกหมดหรือผิดหมด ใช้เหตุและผลในการโต้แย้งกัน

เพียงแต่ผมมองเห็นว่า ถ้าจะเรียกฝั่งที่สนับสนุนระบอบทักษิณว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” มันมีเรื่องที่ถูกต้องเพียงเรื่องเดียวคือ รัฐบาลของทักษิณและนอมินีนั้นมาจากการเลือกตั้ง แต่ในทางรัฐศาสตร์ต้องรู้นะครับว่า การเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายแค่ว่าชนะการเลือกตั้งแล้วได้อำนาจมาอย่างเดียว

แน่นอนว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน แต่การได้อำนาจโดยเสียงข้างมากก็ไม่ใช่จะทำให้รัฐบาลที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนในการทำทุกเรื่องได้โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ความชอบธรรม หลักธรรมาภิบาล คุณธรรม ยกตัวอย่างแค่สิ่งที่ทักษิณทำคือการแก้กฎหมายให้บริษัทของตัวเองได้ประโยชน์ด้วยเสียงข้างมากนี่เป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตยไหม

หัวหน้าโจรขอมติจากลูกน้อง20คนแล้วได้รับเสียงข้างมากให้ไปปล้นก็ไม่ใช่ความถูกต้อง แม้หัวหน้าโจรคนนั้นจะมาจากการเลือกตั้งของเสียงข้างมาก ดังนั้นประชาธิปไตยจึงไม่ใช่แค่มาจากการเลือกตั้ง

ยกเว้นถ้าอาจารย์รัฐศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่า ทักษิณและพรรคของระบอบทักษิณที่ถูกประชาชนอีกฝ่ายออกมาขับไล่นั้น ไม่เคยกระทำในสิ่งที่ชอบธรรมหรือใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลเลย หรือในประเด็นที่ประชาชนออกมาขับไล่นั้นไม่มีเหตุผลเพียงพอเลย

นักวิชาการจำนวนหนึ่งบอกว่า การเมืองต้องแก้ไขด้วยการเมือง ผมเคยถามหลายครั้งว่า ถ้าคนที่เราเลือกเข้าไปบริหารประเทศและใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล เราควรปล่อยให้บริหารต่อไปจนครบวาระหรือ สำหรับผมตอบว่า ไม่นะครับ เพราะผมถือว่าการขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมคือความชอบธรรม แต่มีนักวิชาการหลายคนบอกว่า ก็ให้บริหารไปจนครบวาระและถ้าไม่ดีถึงเวลาประชาชนก็จะไม่เลือกมาอีก

ผมถามนะครับว่า มวยมีกำหนด5ยก มีกติกาชัดเจน แต่พอขึ้นไปบนเวทีคนหนึ่งทำผิดกติกาตลอด เราควรปล่อยให้มวยชกไปครบ 5ยกตามกติกาไหม แล้วถ้ากรรมการเห็นทำผิดก็ไม่ห้ามเพราะกลัวกองเชียร์ซึ่งส่วนใหญ่เชียร์คนที่ทำผิดกติกาเราจะใช้ว่านี่เป็นหลักเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยที่นักวิชาการฝ่ายชื่นชมระบอบทักษิณชอบอ้างได้ไหม

ถ้าถามว่า การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงมีความเท่าเทียมกันไหม ผมก็บอกว่า ไม่เท่าเทียมนะครับ เพราะฝ่ายขั้วอำนาจปัจจุบันที่ตั้งพรรคกลับมาเล่นการเมืองนั้นมีส.ว.ที่ตั้งมากับมือถึง250เสียง แต่มีอำนาจเท่ากันกับส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งคือ สามารถยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แน่นอนนี่เป็นความเอาเปรียบ ส่วนตัวผมก็ไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้และไม่ได้โหวตรับรัฐธรรมนูญ2560ด้วยประเด็นนี้

แต่เมื่อมันผ่านประชามติแล้วและไปดูกติกาลึกลงไป แน่นอนว่า ฝ่ายอำนาจปัจจุบันต้องการตั้งรัฐบาลก็ใช้เสียงส.ส.อีกเพียง 126 เสียงก็ตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่สามารถบริหารประเทศได้แน่ สุดท้ายก็ต้องกลับไปให้อำนาจประชาชนตัดสินใหม่ และบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจแบบนี้มีอายุแค่5ปี ดูสิว่าจะทานอำนาจประชาชนได้ไหมถ้าเขาต้องการอีกอย่าง

ดังนั้นถ้ารัฐบาลนี้จะบริหารประเทศหลังเลือกตั้งได้ก็ต้องได้เสียงส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนคือ 250 เสียงอยู่ดี แล้วถ้าประชาชนเขาเลือกให้รัฐบาลนี้ไปต่อด้วยเสียงส.ส.มากกว่า 250 เสียงเราก็จะไม่เรียกว่าประชาธิปไตยหรือ

และหากพูดกันตามตรง แม้มีโอกาสสูงมากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งอีก แต่ก็ใช่ว่าผลของด้านตรงข้ามจะไม่มีโอกาส ถ้านักการเมืองเขาอยากออกจากการกุมอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะรวมกันได้มากกว่า376เสียงก็เป็นได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ตกเวทีไป

มีบทเรียนมาอยู่แล้วว่า หลังการรัฐประหารนั้น พรรคที่ตั้งขึ้นมาสืบทอดนั้นมีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลวและมักจะไม่ยั่งยืน แต่ถามว่า จะไม่ให้เขาตั้งพรรคการเมืองมาต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยเลยหรือ เมื่อมีนักการเมืองอีกฝ่ายประกาศว่า ถ้าได้อำนาจจะจัดการกับคณะรัฐประหาร จะปฏิรูปกองทัพ จะรื้อสิ่งต่างๆที่คณะรัฐประหารทำ ฯลฯ ผมว่าแค่เขาตัดสินใจปกป้องตัวเองโดยการเข้าสู้ในระบอบประชาธิปไตยก็ดีแล้ว

แล้วถ้าเขาได้เสียงข้างมากไปจะบอกว่า พรรคการเมืองที่สนับสนุนฝ่ายนี้แล้วมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตยหรือ พรรคฝ่ายประชาธิปไตยคือ พรรคที่เป็นฝ่ายระบอบทักษิณเท่านั้นหรือ

แน่นอนว่า การรัฐประหารนั้นทำให้ระบอบประชาธิปไตยหยุดชะงัก แต่มันไม่สามารถทำให้ระบอบประชาธิปไตยมันล่มสลายไปได้หรอก แม้วันนี้ทั่วโลกกำลังห่วงความถกถอยของระบอบประชาธิปไตยว่า มันไม่ฟังก์ชั่นกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงไปจากโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนไปของดุลอำนาจข้อมูลข่าวสาร และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ไม่มีขีดจำกัด แต่ยังไม่มีใครเห็นว่าระบอบไหนที่ดีกว่านี้

เราอาจบอกว่าประชาธิปไตยแบบจีนกำลังประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ แต่วิธีการแบบนั้นมันน่าจะใช้ได้กับจีนที่พยายามจะคลี่ม่านเสรีภาพบางด้านให้ประชาชน แต่มันใช้ไม่ได้หรอกกับประเทศที่ให้เสรีภาพกับประชาชนมายาวนานเพื่อกลับไปเป็นแบบนั้น ดังนั้นประชาธิปไตยมันยังไม่ล่มสลาย ถึงยังไงมันก็ต้องกลับมาสู่การเลือกตั้งนี่แหละ คสช.ก็รู้ว่า พาประเทศไปทางอื่นไม่ได้ต้องคืนอำนาจกลับมาให้ประชาชน

เมื่อวันก่อนมีนักวิชาการมาพูดถึงการตั้งมั่นของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผมก็งงๆเพราะประชาธิปไตยมัน “ตั้งมั่น” อยู่แล้วในประเทศนี้ เพียงแต่นักการเมืองนั่นแหละที่ยัง“ไม่ตั้งมั่น”ในการใใช้อำนาจตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย นักวิชาการรัฐศาสตร์หลายคนยังไม่เข้าใจเลยว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายแค่การเลือกตั้ง ซึ่งแสดงว่า ยัง “ไม่ตั้งมั่น” ในหลักการของระบอบประชาธิปไตย

แต่ความล้มเหลวของประชาธิปไตยในบ้านเราเกิดจากอะไร มันเกิดจากนักการเมืองใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม แล้วระบบปกติไม่สามารถตรวจสอบได้ ประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่ เกิดความรุนแรง แล้วทหารก็ออกมายึดอำนาจไม่ใช่หรือ ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า ความล้มเหลวมันเริ่มจากจุดไหน

บางคนอาจบอกว่าในประเทศอื่นเขาก็ชุมนุมขับไล่รัฐบาลกัน ในมาเลเซีย ในฝรั่งเศส แต่ไม่ได้จบลงด้วยการรัฐประหาร แล้วในประเทศนั้นเขาเอาอาวุธสงครามมาไล่ยิงฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลไหม

มีคนพูดกันว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์มีตอนนี้ มันก็ถูก ถ้าผู้ได้อำนาจใช้มันอย่างชอบธรรม เผด็จการอาจจะไม่ได้อำนาจมาอย่างชอบธรรม แต่ถ้าผู้ปกครองที่ได้อำนาจมาปกครองอย่างชอบธรรมมันอาจจะดีก็ได้ ถ้าให้เลือกว่า ระหว่างประชาธิปไตยที่ใช้อำนาจฉ้อฉลกับเผด็จการที่ใช้อำนาจเป็นธรรม ผมเชื่อว่าถ้าเป็นแบบนี้คนส่วนใหญ่ต้องเลือกเผด็จการที่ใช้อำนาจเป็นธรรมนะ

แต่ผมไม่ได้บอกให้เลือกเผด็จการ เราต้องเลือกประชาธิปไตยแน่ เพราะเป็นอำนาจของเราในการตัดสินเลือกผู้นำ แต่เมื่ออำนาจในการเลือกเป็นของประชาชน อำนาจในการขับไล่รัฐบาลที่ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมก็ต้องเป็นของประชาชน นี่จึงเรียกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง

ผมไม่เคยได้ยินนะครับว่า ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งคนไหนใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมแล้วถูกประชาชนขับไล่

แต่ผมคิดว่า สิ่งต่างๆ ที่ประชาชนซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันอย่างชัดเจนในปัจจุบันนั้นจะต้องตระหนักเช่นกันก็คือ เราต้องมีความชัดเจนในหลักการของระบอบประชาธิปไตยว่า แม้เราให้ฉันทานุมัติใครไปด้วยเสียงข้างมาก เขาจะต้องใช้อำนาจอย่างชอบธรรม อย่ามองว่า เพราะเราเลือกเขามาและเขาเป็นฝ่ายเราจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้

มันเห็นชัดมากเลยครับว่า เวลานี้ถ้าฝั่งตรงข้ามที่ตัวเองสนับสนุนทำอะไรก็ผิดหมดเพราะหลักการเหตุผลยกมาสาธยาย แต่ถ้าฝ่ายตัวเองทำแบบเดียวกันผิด แล้วอ้างหลักการมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลต่างๆนานา อย่างที่เกิดขึ้นในสองฟากฝั่งการเมืองเวลานี้ ไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านธรรมดานักวิชาการตีนแดงก็เป็นเหมือนกัน แบบนี้ก็ไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องของระบอบประชาธิปไตยแน่

ประชาธิปไตยนั้นแปลว่า ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ประชาชนคือมนุษย์ที่เราเชื่อว่าเป็นผู้รู้ผิดชอบชั่วดี ดังนั้นประชาธิปไตยจึงต้องยึดถือความถูกต้องเป็นหลักการด้วย

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น