xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส ยกเลิก 7 สิทธิบัตรกัญชา “ก่อนเลือกตั้ง 52 วัน เพื่อเฮวันหย่อนบัตร” แต่ทุนต่างชาติอุทธรณ์ 60 วันกลับคืนมาได้หลังเลือกตั้งหรือไม่? !!!/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรและมาตรการด้านสิทธิบัตร นั้นเริ่มถูกจับได้แล้วว่า ...

“ไม่ใช่คำสั่งยกเลิกสิทธิบัตรกัญชา”

แต่เป็นคำสั่ง “ช่วยขยายความในแนวปฏิบัติให้ชัดเจน” เพื่อให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปดำเนินการยกเลิก ว่ากัญชาและสารสกัดกัญชานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับความคุ้มครองที่จดสิทธิบัตร ตาม พระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 “มาตรา 9(5)”

ทั้งนี้ มาตรา 9 ของพระบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 บัญญัติเอาไว้ว่า:

“มาตรา 9 การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ

(1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากพืช

(2) กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
(3) ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์
(4) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์
(5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน”


จะเห็นได้ว่าการจดสิทธิบัตร “กัญชาหรือสารสกัดกัญชาที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์” นั้นอาจเข้าข่ายการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 9 คือ

“มาตรา 9 (1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากพืช

มาตรา 9 (4) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์

มาตรา 9 (5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน”


นอกจากนั้นการบังคับใช้มาตรา 9 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ยังถูกบัญญัติให้อยู่ภายใต้ “มาตรา 5” ของพระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งจะต้อง “เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่, เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และ,​ เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม”อีกด้วย

อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาหรือสารสกัดกัญชาอยู่ในขณะนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ตรวจเบื้องต้น และประกาศโฆษณาคำขอและยังคงค้างเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 7 ฉบับ และเป็นการประกาศโฆษณาคำขอที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาถึง 6 ฉบับ ซึ่งเป็นของ “กลุ่มบริษัทเดียวกันทั้งหมด” คือ “โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ร่วมกับ จีดับเบิ้ลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด”

โดยเฉพาะ “โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล”นั้น เป็นบริษัทที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2559 ได้พบผู้บริหารของ “โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล” ด้วย โดยภายหลังจากกลับมาจากที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบว่า หลังจากการพบบริษัทยักษ์ใหญ่ 5 แห่งในประเทศญี่ปุ่นแล้ว กลุ่มทุนญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้มีการเร่งรัดการจดสิทธิบัตร โดยฝ่ายรัฐบาลได้มีการสั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งรัดสิทธิบัตรให้เป็นรูปธรรมไปเรียบร้อยแล้ว

จะด้วยเหตุผลนี้หรือไม่ จึงเป็นผลทำให้ “อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา” ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งนอกจากสนับสนุนประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาให้ “โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ร่วมกับ จีดับเบิ้ลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด”เพียงกลุ่มเดียวแล้ว จนถึงวันนี้ก็ไม่กล้าแตะต้องหรือยกคำขอกลุ่มบริษัทนี้เพียงบริษัทเดียวอีกด้วย

ทั้งนี้ “กัญชาและสารสกัดจากกัญชา” ล้วนแล้วแต่เป็น “พืช หรือสารสกัดจากพืช”ใช่หรือไม่? ถ้าใช่ ก็ควรจะต้องมีการยกคำขอโดยอาศัย มาตรา 9(1) แห่ง พระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ตั้งแต่แรกจริงหรือไม่?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยนั้นมีภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ที่มีการใช้กัญชาในการเข้าตำรับยาจำนวนมาก ตำรับจากคัมภีร์จำนวนมากเหล่านี้จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองตาม “พระราชบัญญัติคุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542” ดังนั้นโรคลมชัก โรคลมบ้าหมู โรคจิต ทำให้นอนหลับ เจริญอาหาร ฯลฯ ที่มีการใช้กัญชาในภูมิปัญญาเดิมของชาติไทยอยู่แล้วนั้นจึงย่อม “ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ซึ่งก็ต้องมีการยกคำขอโดยอาศัยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ตั้งแต่แรกจริงหรือไม่?

ผู้ที่ร่างและออกแบบ “พระราชบัญญัติคุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542” มีความลึกซึ้งมองการณ์ไกลที่คิดจะปกป้องภูมิปัญญาชาติ และสมุนไพรของชาติ ไม่ให้ใครนำ “สมุนไพร” ที่ใช้ในการแพทย์แผนไทยมาขโมยเอาไปโดยอ้างสิทธิบัตรทั้งหลายสักวันหนึ่งในวันข้างหน้าด้วย ซึ่ง “กัญชาและสารสกัดกัญชา”ในฐานะ “สมุนไพร” อันปรากฏอยู่ในตำรับยาไทยก็ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองด้วย

ทั้งนี้มาตรา 3 ของ “พระราชบัญญัติคุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542” บัญญัติเอาไว้ว่า:

“สมุนไพร” หมายความว่า พืช สัตว์ จุลชีพ ธาตุวัตถุ สารสกัดดั้งเดิมจากพืชหรือสัตว์ที่ใช้หรือแปรสภาพ หรือผสมหรือปรุงเป็นยาหรืออาหารเพื่อการตรวจวินิจฉัย บําบัด รักษา หรือป้องกันโรคหรือส่งเสริมสุขภาพร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ และให้หมายความรวมถึงถิ่นกําเนิดหรือถิ่นที่อยู่ของสิ่งดังกล่าวด้วย”

“กัญชาและสารสกัดจากกัญชา” จึงย่อมเป็นพืชสมุนไพรที่ย่อมต้องได้รับการคุ้มครองตาม “พระราชบัญญัติคุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542” อีกด้วย จริงหรือไม่?

นอกจากนั้น 7 สิทธิบัตรที่มีการประกาศโฆษณาคำขอนั้น ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับ “การบำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์” ซึ่งสามารถยกคำขอได้ตั้งแต่แรกโดยอาศัย มาตรา 9 (4) แห่ง พระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 อีกด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สถานภาพของ “กัญชาและสารสกัดจากกัญชา” และ “สารสังเคราะห์เหมือนองค์ประกอบสารในกัญชา” ได้ถูกำหนดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ คนไทยและนักวิจัยยังไม่สามารถวิจัยในมนุษย์ได้เหมือนกับนักวิจัยต่างชาติ จะปล่อยให้มีการจดสิทธิบัตรได้อย่างไร?

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเพื่อแสดงให้เห็นว่า 7 คำขอสิทธิบัตร ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศโฆษณาคำขอให้กับ “โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ร่วมกับ จีดับเบิ้ลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด” นั้น เป็นคำขอที่ขัดต่อมาตรา 5 มาตรา 9(1) มาตรา 9(4) และมาตรา 9(5) ทั้งสิ้น และสามารถยกเลิกคำขอและประกาศโฆษณาคำขอด้วยอำนาจของ “อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา” เพียงคนเดียวเท่านั้น

ทั้งนี้การยกคำขอการยื่นขอสิทธิบัตรด้วยเหตุผลตามมาตรา 5 หรือมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 นั้น เป็นอำนาจของ “อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา” ทั้งสิ้น กล่าวคือ ถ้าเป็นช่วงเวลาที่มีการยื่นคำขอตั้งแต่แรกอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็สามารถยกเลิกได้ตามมาตรา 28

หรือ แม้แต่หลังจากผ่านการตรวจสอบและได้มีการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรไปแล้ว แต่เมื่อพบในเวลาต่อมาว่าไม่ชอบด้วยมาตรา 5 หรือมาตรา 9 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็สามารถยกเลิกได้อีกเช่นกันตามมาตรา 30

สรุปก็คือ ถ้ามีคำขอสิทธิบัตรทั้ง 7 ฉบับที่ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 นั้น อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีอำนาจยกคำขอด้วยตัวเอง เป็นไปตามกฎหมายปกติ โดยไม่ต้องอาศัยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2562 เลย จริงหรือไม่?

ถ้าอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ยอมยกคำขอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็สามารถสั่งการให้อธิบดีฯดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ตั้งนานแล้ว โดยไม่ต้องต้องอาศัยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2562 เลย จริงหรือไม่?

หรือถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งการให้ยกคำขอไปแล้ว แต่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีก็มีอำนาจปลด โยกย้ายเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ตั้งนานแล้ว โดยไม่ต้องต้องอาศัยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2562 เลย จริงหรือไม่?

และถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไม่ปลดอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพราะเกรงใจรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็สามารถใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “ปลด” และ “เปลี่ยนตัว” อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ตั้งนานแล้ว ใช่หรือไม่?

ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นก็คือ เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สิ่งที่ควรทำที่สุดก็คือเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ทำตามกฎหมาย และตั้งกรรมการสอบและลงโทษอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้ตั้งนานแล้ว ใช่หรือไม่?

แต่ใครเป็นคนร่างคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2562 ให้แก้ไขไม่ตรงจุด เหมือนเพื่อหลอกให้ประชาชนหลงดีใจในระยะสั้นก่อนการเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่? เพราะนอกจากจะไม่ใช่คำสั่งยกเลิกสิทธิบัตรแล้ว หากอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปยกเลิกคำขอโดยอาศัยมาตรา 9(5) แล้ว ก็ยังมีโอกาสกลับคืนสถานภาพเดิมได้หรือไม่?

คำถามที่ตามมาคือ ถ้าบริษัทผู้ขอจดสิทธิบัตรอุทธรณ์ใน 60 วัน โดยระหว่างนั้นพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับใหม่ บังคับใช้เมื่อไหร่ ก็จะสามารถคืนสถานภาพหลังการเลือกตั้งได้โดยทันทีได้หรือไม่?


ทั้งนี้ “เงื่อนไขเวลา” ในการ “บังคับใช้กฎหมาย” โดยเฉพาะ “ลำดับ” การยกเลิกสิทธิบัตร “ก่อน” หรือ “หลัง” การทูลเกล้าฯ ร่างพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

เพราะ ร่าง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 นี้ กำลังจะเปลี่ยนสถานภาพ “กัญชา” จาก “ยาเสพติดให้โทษเพียงอย่างเดียว” ให้กลายเป็น “ยารักษาโรค” ได้ด้วย

ดังนั้นพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งจะเป็นผลทำให้ข้ออ้างการยกคำขอสิทธิบัตร ตามมาตรา 9(5) สิ้นผลไป เพราะไม่สามารถใช้เหตุผลในเรื่อง “การขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน” ต่อไปได้อีกในทางกฎหมายทั้งในประเทศและในทางสากล

คำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 นั้น แท้ที่จริงไม่ใช่คำสั่งยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาฯ แต่เป็นการขยายความแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า กัญชาว่าขัดต่อมาตรา 9(5) ของ พระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เพื่อให้ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไปยกคำขอสิทธิบัตรตามกฎหมายด้วยตัวเอง จนอธิบดกรมทรัพย์สินทางปัญญามายกคำขอในวันนี้

แต่ในคำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 นั้นก็มีความชัดเจนว่า หาก พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) บังคับใช้เมื่อใด คำจำกัดความเรื่องกัญชาที่ขัดต่อมาตรา 9(5) ของ พระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ก็จะสิ้นผลไปด้วย


ดังนั้นยิ่งทูลเกล้าฯ พระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เร็วเท่าไหร่ (โดยเฉพาะหากเร็วกว่า คำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 ที่เตรียมเอาไว้ล่วงหน้า) หากอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายกเลิกคำขอด้วยมาตรา 9(5) ช้าสุดเท่าไหร่เท่าที่ประชาชนจะจับไม่ได้ การยกเลิกคำขอด้วยมาตรา 9(5) ก็จะสิ้นผลเร็วขึ้นเท่านั้นตามการบังคับใช้ ” พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่”

เพราะถ้ายกเลิกสิทธิบัตรฯหมดก่อน หรือยิ่งเสร็จสิ้นเวลายกคำขอในชั้นอุทธรณ์แล้ว สิทธิบัตรเหล่านั้นจะมาจดใหม่ซ้ำของเก่าไม่ได้อีก ตาม พระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522


ทั้งนี้ ในข้อ 2 วรรคสอง ของคำสั่ง คสช. 1/2562 ยังได้ระบุว่า หากอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายกคำขอสิทธิบัตรแล้ว ผู้ขอรับสิทธิบัตร สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ “ภายใน 60 วัน”(ตามมาตรา 72 ของ พระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ.2522)

นั่นหมายความว่า หากพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ ฉบับใหม่ ที่เสนอโดย นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรวม 44 คน ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้กฎหมายเมื่อไร แล้วช่วงระหว่างนั้นเป็นเวลาที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ยกเลิกคำขอก็ดี หรืออยู่ในช่วงที่ยกเลิกไปแล้วแต่ยังอยู่ในเวลาอุทธรณ์ 60 วันก็ดี หรือนานไปกว่านั้นคืออยู่ในช่วงเวลาที่คณะกรรมการวินิจฉัย หรือมีการฟ้องร้องนำคดีขึ้นสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา 7 สิทธิบัตรที่ประกาศโฆษณาคำขอจะมีสิทธิ์กลับคืนสู่สถานภาพเดิมหรือไม่?

ซึ่งนับจากวันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งเหลือเวลาไม่เกิน 52 วัน หมายความว่าหากแม้วันนี้ ”อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา”จะได้ยกเลิกคำสั่ง 7 คำขอสิทธิบัตร กว่าประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จะรู้ว่าผู้ที่ถูกยกคำขออุทธรณ์คำสั่งในวันที่ 60 หรือไม่ ก็อาจจะเลยวันหย่อนบัตรเลือกตั้งไปแล้ว จริงหรือไม่?

ทั้งนี้จะต้องตีความหมาย ข้อ 4 ของ คำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 ที่ว่า

“ข้อ 4 ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีการนำกัญชาไปทำการศึกษาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ให้ข้อ 1 และ ข้อ 2 ของคำสั่งนี้เป็นอันยกเลิกนับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรที่ได้ยื่นไว้แล้วต่อไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนตามข้อ 1 และ 2 จนกว่าจะแล้วเสร็จ”

คำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 ข้อ 4 นี้แปลความก็คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่บังคับใช้เมื่อไหร่ เหตุผลว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษอย่างเดียว ซึ่งได้ใช้ยกเลิกสิทธิบัตรโดยอาศัยมาตรา 9(5) ของพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 นั้น จะไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปแล้ว แต่สำหรับคำขอสิทธิบัตรเก่าที่ได้ยื่นไว้แล้วก็ยังต้องทำตามเหตุผลเรื่องกัญชาขัดต่อมาตรา 9(5) ตามคำสั่ง คสช. ข้อ 1 และ 2 จนแล้วเสร็จ

คำถามที่ต้องตีความในข้อ 4 คือ การดำเนินการต่อสิทธิบัตรเก่า “จนแล้วเสร็จ” คืออะไร แต่นักกฎหมายบางคนตีความเห็นคุณประโยชน์ของคำสั่งข้อ 4 นี้ว่า “เป็นเซียนกฎหมาย” เพราะสิทธิบัตรเก่าทั้งหมดต้องยกเลิกโดยให้เหตุผลตามมาตรา 9(5) จนแล้วเสร็จ เพื่อช่วยอธิบายความว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมา ไม่มีผลช่วยเหลือกับสิทธิบัตรเก่าที่อยู่ระหว่างการประกาศโฆษณาคำขอทั้ง 7 ฉบับ

แต่ความจริงแล้ว “วรรคสอง” ของคำสั่ง คสช. ข้อ 2 ซึ่งเป็นวรรคสุดท้ายของข้อนี้มีข้อความชัดเจนว่า

“คำสั่งยกเลิกขอรับสิทธิบัตรของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามวรรคหนึ่ง ผู้ขอรับสิทธิบัตรอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตรา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542”

เมื่อตีความอ่านไปที่วรรคสุดท้ายของข้อ 2 ในคำสั่งนี้หมายความว่า “ผู้ถูกยกคำขอสามารถอุทธรณ์ต่อภายใน 60 วัน” ตามมาตรา 72 ของ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ด้วย ดังนั้นการยื่นอุทธรณ์จึงเป็นขั้นตอนสุดท้ายของคำว่าแล้วเสร็จ ส่วนผลของการอุทธรณ์จะต้องเป็นอย่างไร คำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 ก็ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นเช่นไรด้วย

ถ้าตีความตามนี้ ก็จะแสดงให้เห็นว่า หากพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษประกาศบังคับใช้เมื่อไหร่ การอุทธรณ์คำสั่งยกคำขอสิทธิบัตรกัญชาของชาวต่างชาติ ก็มีความเสี่ยงที่จะกลับคืนสถานภาพได้ด้วย


แต่สมมุติว่านักกฎหมายบางคนจะตีความว่า “สำหรับสิทธิบัตรเก่า” ในขั้นตอนอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือการยื่นขอให้ทบทวนต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรฯ จะยังคงให้เหตุผลการยกเลิกด้วยมาตรา 9(5) ของพระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ต่อไปได้ ทั้งๆที่ในขณะนั้นสถานภาพกัญชาไม่ได้เป็นยาเสพติดให้โทษในกฎหมายใหม่แล้ว คำสั่ง คสช. 1/2562 ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะล้ำเส้นกฎหมายปกติ มีโอาสถูกฟ้องและมีความเสี่ยงพ่ายแพ้ต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ด้วย

คำถามที่ตามมาก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ก็เพราะมีการยื่นพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯ ให้เร็วกว่า คำสั่งคสช. 1/2562 ใช่หรือไม่? คำตอบที่ได้คือไม่เชิงถูกต้องนักเสียทีเดียว เพราะปัญหาที่แท้จริงก็คือไม่ควรรับจดสิทธิบัตรตั้งแต่แรก หรือเมื่อรับจดไปแล้วก็ควรจะยกคำขอไปตั้งนานแล้ว

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เพราะเกิดการ“การตระบัดสัตย์” ที่ สนช.บางคนซึ่งผิดสัญญากับภาคประชาชน โดยการยื่นพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯ ก่อนยกเลิกสิทธิบัตรให้เสร็จสิ้น ใช่หรือไม่?


พอภาคประชาชนจับโกหกสืบค้นได้เองจน “โป๊ะแตก” เกือบเที่ยงคืนวันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562 เปิดโปงข้อมูลว่าได้มีการตระบัดสัตย์ ทูลเกล้าฯพระราชบัญญัติยาเสพติดใด้โทษก่อนยกเลิกสิทธิบัตรตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562 จึงเป็นเหตุให้มีการแก้ลำต่อมาอย่างรวดเร็วด้วยการออกคำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 ในวันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562 เพื่อให้ประชาชนหลงประเด็น ใช่หรือไม่?

แต่จนถึงวันนี้เมื่อพิจารณาเนื้อหาคำสั่ง คสช. 1/2562 ยิ่งชัดเจนว่าเป็นการอำพรางประชาชนเพื่อให้ผ่านว้นหย่อนบัตรเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เท่านั้น โดยแท้ที่จริง หากมีการยกคำขอต่างชาติก็ยังจะสามารถอุทธรณ์หลังเลือกตั้งเหลืออีก 8 วัน คือระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 1 เมษายน 2560 กลับคืนสภาพหลังเลือกตั้งได้ด้วย ใช่หรือไม่?

ร่าง พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ ฉบับใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562 ตามรัฐธรรมนูญหากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบก็จะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่ทูลเกล้าฯ ซึ่งหากในเวลาที่ได้มีการประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ อยู่ในระหว่างอุทธรณ์คำสั่ง “7 สิทธิบัตร”ที่ถูกยกคำขอ ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้สิทธิบัตร “คืนสภาพ” กลับมาได้เช่นกัน หรือไม่?

เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562 วันที่ 90 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์เมื่อทรงเห็นชอบได้ตามรัฐธรรมนูญ คือ วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562 นี่คือช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งว่าจะประกาศบังคับใช้กฎหมายเมื่อใด

แม้วันนี้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ยกเลิกประกาศโฆษณาคำขอ 7 สิทธิบัตรโดยอาศัยมาตรา 9(5) ของพระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ไปแล้ว สมมุติว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษบังคับใช้ภายหลังจากจนเลยเวลาอุทธรณ์คำสั่งไปแล้ว แต่เมื่อ “พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่” บังคับใช้เมื่อไหร่ บริษัทต่างชาติรายเดิมก็สามารถ “ดัดแปลงสิทธิบัตรเดิม”ที่ถูกยกเลิกไป ก็สามารถกลับเข้ามาดัดแปลงแก้ไขจดสิทธิบัตรใหม่ได้อีกทันทีอยู่ดี แต่คราวนี้สถานการณ์จะหนักกว่าเดิม เพราะประเทศไทยจะไม่สามารถอ้างเรื่องยาเสพติดให้โทษเพื่อมายกเลิกโดยอาศัยมาตรา 9(5) ได้อีกต่อไปแล้ว

เมื่อถึงเวลานั้นต่างชาติคงทะลักเข้ามาจดสิทธิบัตรอีกจำนวนมาก ส่วนประเทศไทยกว่าจะวิจัยในมนุษย์ แถมยังต้องอยู่ภายใต้บทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษด้วยระบบราชการที่ยุ่งยากมากกว่าต่างชาติ คงจะไม่มีทางไล่ต่างชาติได้ทันการจดสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติที่จะไหลทะลักเข้ามาอย่างแน่นอน จริงหรือไม่?

คำถามสำคัญมีอยู่ว่า เหตุใด คำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 จึงช่วยขยายความแนวปฏิบัติโดยใช้ “เหตุผลชั่วคราว” ในการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาใช้มาตรา 9(5) ของ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งจะเป็นผลทำให้ผู้ถูกยกเลิกคำขอกลับคืนสภาพเดิมมาได้ เมื่อ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ ประกาศบังคับใช้

แต่เหตุใด คำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 จึงไม่ขยายความอธิบายไปใน “เหตุผลถาวร”ในการยกเลิกสิทธิบัตร ร่วมไปด้วยว่ากัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ ขัดต่อพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 9(1) เพราะเป็นพืชและสารสกัดจากพืช หรืออาศัยมาตรา 9(4) เพราะเป็นการ บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ ซึ่งหากอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายกเลิกคำขอสิทธิบัตรไปแล้ว ผู้ขอรับสิทธิบัตรที่มีกัญชาเกี่ยวข้องจะไม่สามารถจดใหม่ได้อีก ไม่ว่าจะดัดแปลงอย่างไรก็ตาม แม้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ ประกาศบังคับใช้ก็จะไม่มีใครมาจดสิทธิบัตรกัญชาได้อีกเช่นกัน

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าเมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาคนปัจจุบันยังไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ในการยกเลิกคำขอสิทธิบัตร 7 คำขอสิทธิบัตรของ “โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ร่วมกับ จีดับเบิ้ลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด” โดยอาศัย พระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 5, มาตรา 9(1) และมาตรา 9(4) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การ“ประวิงเวลาให้นานที่สุด” จนถึงเวลานี้ ก็เพราะหวังที่จะ “รอ” ให้ใกล้วันที่ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่บังคับใช้ ให้มากที่สุดใช่หรือไม่?

และเมื่อถึงเวลาที่ไม่สามารถใช้มาตรา 9(5) มายกเลิกสิทธิบัตรใหม่ต่อไปได้อีกแล้ว อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาคนนี้จะยกเลิกสิทธิบัตรจดใหม่ด้วย
มาตรา 5, มาตรา 9(1) และมาตรา 9(4) ของพระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 หรือไม่? เมื่อต่างชาติจะกลับเข้ามาดัดแปลงสิทธิบัตรเดิมแล้วแห่กันมาจดสิทธิบัตรใหม่ด้วยจำนวนมากกว่าเดิม อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาคนปัจจุบันจะนำพาประเทศไทยจะเดินไปสู่จุดจบเรื่องสิทธิบัตรกัญชาอย่างไร ?

ดังนั้น ถ้านายกรัฐมนตรีต้องการลดความเสี่ยงในเกมซึ่งสลับซ้บซ้อนนี้ ก็ขอให้ลองพิจารณาข้อเสนอที่ตรงไปตรงมาง่ายกว่านั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนในเรื่องของสิทธิบัตรกัญชา จะดีกว่าหรือไม่? ดังนี้

1. ใช้ คำสั่ง คสช. เปลี่ยนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ได้คนที่พร้อมปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 5, มาตรา 9(1), และมาตรา 9(4) อย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลก็เร่งรัดแก้ไขผ่อนปรนกฎเกณฑ์จำนวนมากอยู่ในเวลานี้ เพื่อทำให้ภูมิปัญญาไทยมีสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชามาให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ภายใต้เงื่อนไขเหตุผลนี้ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องไม่รับจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาดังที่ผ่านมากลับมาอีก ไม่ว่าจะมีการดัดแปลงอย่างไรก็ตาม เพราะขัดต่อกฎหมายหลายฉบับของประเทศไทย

2. หากมีความไม่ชัดเจนเรื่องการตีความของกัญชา หรือเพื่อให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาในวันนี้หรือในวันข้างหน้าดำเนินการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาโดยไม่ให้บิดเบือน (ซึ่งจริงๆแล้วยังไม่จำเป็นหากได้อธิบดีฯที่เข้าใจและกล้าหาญเพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ) ก็ให้แก้ไขเพิ่มเติม คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 1/2562 ในเรื่องกัญชาหรือสารสกัดกัญชาให้ชัดเจนว่า กัญชาไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรด้วย “เหตุผลชั่วคราว” เพราะกัญชาไม่เพียงขัดตามมาตรา 9(5) ของ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เท่านั้น แต่เพิ่มเติม “เหตุผลถาวร”คือ กัญชาหรือสารสกัดกัญชาขัดต่อมาตรา 5 มาตรา 9(1) มาตรา 9(4) ของ พระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ด้วย ได้รือไม่?

อย่าปล่อยให้ความคุมเครือจากประเด็นสิทธิบัตรกัญชาเอื้อประโยชน์ต่างชาติ สร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนในวันข้างหน้าเลย

ด้วยความปรารถนาดี

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต



กำลังโหลดความคิดเห็น