xs
xsm
sm
md
lg

หาแก่นแต่ได้เปลือก : ประชาธิปไตยของไทย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้ถูกนำเข้ามาจากประเทศตะวันตกเมื่อ 80 กว่าปีมาแล้ว แต่จนบัดนี้ คนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง ยังหาแก่นของประชาธิปไตยไม่พบ และที่แย่กว่านี้ก็คือ การเข้าใจว่าการเลือกตั้งซึ่งเปรียบได้กับเปลือกแห่งประชาธิปไตย ว่าเป็นแก่นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว การเลือกตั้งเป็นเพียงรูปแบบเบื้องต้น หรือเป็นแค่เปลือกภายนอกของประชาธิปไตย แต่แก่นแท้ของการปกครองระบอบนี้ก็ได้ประโยชน์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าอำนาจอธิปไตยได้รับ

แต่ประเทศไทยและประชาชนคนไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาแล้วหลายยุคหลายสมัย ทั้งในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ และครึ่งใบ แต่ไม่เคยปรากฏว่าประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์การปกครองในระบอบนี้เท่าที่ควรจะได้รับ เฉกเช่นประชาชนในประเทศ ซึ่งเป็นต้นแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในโลกตะวันตก อันได้แก่ อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเนื่องมาจากมีเหตุปัจจัยอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ดังต่อไปนี้

1. ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่มีความพร้อมที่จะรองรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าโดยปกติแล้ว คนไทยโดยเฉพาะในชนบทมีลักษณะอุปนิสัยเป็นผู้ตาม และไม่สนใจปัญหาไกลตัว ประกอบกับไม่รู้และไม่เข้าใจในหลักการแห่งความเป็นประชาธิปไตย ทั้งขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ของพลเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง จึงตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อกรุยทางขึ้นสู่อำนาจ และเมื่อได้อำนาจมาแล้ว ก็ใช้อำนาจนั้นแสวงหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง ทั้งในรูปแบบของการกินตามน้ำ และทวนน้ำ

2. นักการเมืองส่วนหนึ่งเป็นนักธุรกิจการเมือง เริ่มต้นจากความไม่มีหรือมีแต่ไม่รู้จักพอ ดังนั้นในทันทีที่มีโอกาสกอบโกย จึงไม่รีรอจะทำเช่นนั้น และนี่เองคือคำตอบ คำถามที่ว่า ทำไมนักการเมืองจึงร่ำรวยเร็วกว่าการประกอบธุรกิจอื่น

3. เมื่อนักการเมืองส่วนหนึ่ง (หรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ด้วย) มีลักษณะตามข้อ 2 ทุกครั้งที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การทุจริตในวงราชการในรูปแบบ 3 ประสานคือ นักการเมือง พ่อค้า และข้าราชการ โดยมีวงจรการดำเนินการดังนี้

1. พ่อค้าชี้ช่องและเสนอแนวทาง 2. นักการเมืองรับมาดำเนินการ โดยสั่งการให้ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐปฏิบัติการ เพื่อบรรลุเป้าหมายการทุจริตจึงเกิดขึ้น และการทุจริตปรากฏเป็นข่าว ประชาชนก็ออกมาชุมนุมปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ จึงกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมือง และลุกลามถึงขั้นไล่รัฐบาลกลายเป็นความไม่สงบในบ้านเมือง จากจุดนี้กองทัพได้เข้ามาทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย แล้วปกครองในระบอบเผด็จการ

รัฐบาลในระบอบเผด็จการ เมื่ออยู่นานแล้วก็ตกเป็นเครื่องมือของพ่อค้า และการแสวงหาประโยชน์ก็เกิดขึ้น ในทำนองเดียวกันกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สุดท้ายประชาชนก็ลุกขึ้นต่อต้าน ในที่สุดก็จบลงด้วยการลดความกดดันทางการเมืองด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้ง เป็นมาเยี่ยงนี้หลายครั้งหลายหนในระยะ 80 กว่าปีที่ผ่านมา

ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้น ประชาธิปไตยจึงไม่เจริญก้าวหน้าในประเทศไทย ดังเช่นในหลายประเทศแห่งโลกตะวันตก

จากนี้ไป อีกไม่นานประเทศไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง หลังได้มีการปกครองในระบอบเผด็จการมาเกือบ 5 ปี และการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ถ้าปัจจัย 3 ประการยังคงอยู่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา อนาคตของประชาธิปไตยของประเทศไทย คงจะมีจุดจบไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมาแน่นอน จึงอนุมานได้ว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปในการจัดเลือกตั้ง แต่ที่ไม่คุ้มค่าอย่างเห็นได้ชัดอย่างเป็นรูปธรรมกับเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และเงินที่จ่ายไปกับกระบวนการปฏิรูปประเทศ แต่ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างจริงจังเท่าที่ควรจะเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น