xs
xsm
sm
md
lg

บทศึกษา...จากเวเนซุเอลา (1)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


วันนี้...คงต้องวนไป-วนมาอยู่ที่เวเนซุเอลากันอีกนั่นแหละทั่น คือถึงแม้เป็นเรื่องอยู่ไกลจากบ้านเราแทบคนละซีกโลก แต่ภายใต้ยุคโลกาภิวัตน์ที่แทบไม่มีพรมแดนอีกต่อไปแล้ว อีกทั้งการเมืองโลกที่เริ่มส่งผลให้แทบ “ไม่เหลือพื้นที่เป็นกลาง” ยิ่งเข้าไปทุกที เรื่องของเวเนซุเอลาทุกวันนี้...จึงอาจถือเป็น “บทเรียน-บทศึกษา” ที่น่าสนใจเอามากๆ เพราะถือเป็นการส่งออกการปฏิวัติหรือ “ปฏิวัติส่งออก” ครั้งล่าสุด ชนิดใหม่เอี่ยมถอดด้าม ที่อาจมีรายละเอียดผิดแผกแตกต่างไปจากครั้งเก่าๆ เดิมๆ อย่างการปฏิวัติส่งออกในยุโรปตะวันออก หรือในตะวันออกกลาง ซึ่งเคยเรียกๆ ว่าปฏิวัติสีส้ม ปฏิวัติดอกกุหลาบ กำมะหยี่ ฯลฯ อะไรทำนองนั้น ไปจนกระทั่งการก่อ “สงครามกลางเมือง” ขึ้นมาในซีเรียแบบดื้อๆ ทื่อๆ ฯลฯ อันอาจเป็นอะไรที่ “เชยซ์ซ์ซ์” ไปแล้วก็ไม่แน่...

สำหรับองค์ประกอบที่อาจใช้เป็นตัวชี้วัด “ความสำเร็จหรือความล้มเหลว” ไปจนถึง “ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้” ระหว่างฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งตามกฎหมาย อย่าง “นายนิโคลัส มาดูโร” (Nicolas Maduro) กับฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีชั่วคราวที่มาจากการสถาปนาตัวเองโดยมีคุณพ่ออเมริกาเป็นเจ้าภาพ อย่าง “นายฮวน กุยโด” (Juan Guaido) ผู้มีชื่อที่ออกจะเรียกยากส์ส์ส์อยู่สักหน่อย คือถ้าออกเสียงเป็น “Guido” อย่างที่ “นายไมค์ ปอมเปโอ” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ หลุดปากออกมา ก็อาจกลายเป็น “คำแสลง” ที่ชาวอเมริกันเคยใช้เรียกพวก “จิ๊กโก๋อิตาลี” ในยุคอดีตเอาง่ายๆ เอาเป็นว่า...ไม่ว่าจะเป็น “ไกวโด” หรือ “กูวัยโด” ขออนุญาตถือเป็น “นายกุยโด” รายนี้ก็แล้วกัน องค์ประกอบหลักๆ ที่อาจนำมาใช้เป็นตัววัดตัดสินดังกล่าว น่าจะมีอยู่ประมาณ 3 ประการด้วยกัน...

ประการแรก...ก็คือการประกาศให้การรับรองต่อฝ่ายใด-ฝ่ายหนึ่งจาก “ภายนอก” หรือจากบรรดาประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลกนั่นแล ซึ่งคุณพ่ออเมริกาท่านพยายามเร่งเร้าให้แต่ละประเทศต้อง “เลือกข้าง” ให้รู้แล้ว รู้แรดโดยเร็ว ซึ่งถ้าหากดูจากฝ่าย “นายกุยโด” ที่มีคุณพ่ออเมริกาถือหาง ต้องยอมรับเอาจริงๆ นั่นแหละว่า...ออกจะหนาแน่นอย่างเป็นพิเศษ อันเนื่องมาจากอำนาจ อิทธิพลแห่งความเป็น “ประมุขโลก” ของอเมริกา ยังคงไม่ได้ “เสื่อม” ลงไปถึงขนาด นอกจากอเมริกาและแคนาดาแล้ว บรรดาประเทศอเมริกาใต้ ที่อยู่ภายใต้เครือข่ายองค์กร “OAS” หรือองค์ความร่วมมือของประเทศในละตินอเมริกา ที่มี “ซีไอเอ” หนุนหลังมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ไม่ว่าจะเป็นบราซิล, อาร์เจนตินา, ชิลี, เปรู,โคลัมเบีย, ปารากวัย, เอกวาดอร์, กัวเตมาลา, คอสตาริกา, ฮอนดูรัส, ปานามา ต่างยืนเรียงแถวหน้ากระดาน หันมาหนุน “นายกุยโด” ไปด้วยกันทั้งสิ้น ขณะที่ฝ่ายซึ่งยังหนุนประธานาธิบดี “มาดูโร” มีแค่โบลิเวีย, คิวบา, นิการากัว อาจแถมด้วยเม็กซิโก ที่ยังออกอาการกั๊กไป-กั๊กมาอยู่บ้างเล็กน้อย นอกเหนือไปจากนั้นก็คงมีรัสเซีย, จีน, อิหร่าน, ตุรกี หรืออินเดีย นั่นแหละ ที่พอช่วยให้เกิดความอุ่นอก อุ่นใจ ได้มั่ง...

ส่วนที่น่าผะอืดผะอมเอามากๆ...เห็นจะเป็นบรรดาพวก “อียู” ที่ออกไปทาง “อีย้วย” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสเปน, อังกฤษ, เยอรมนี, ฝรั่งเศส ที่ออกมาประสานเสียง “ยื่นคำขาด” ว่าให้ประธานาธิบดี “มาดูโร” ต้องประกาศเลือกตั้งครั้งใหม่ภายใน 8 วัน ไม่งั้นจะหันไปหนุน “นายกุยโด” ให้รู้แล้ว รู้แรด หรือให้รู้ว่า “อียู” ก็ยังคงเป็น “ลูกกระโป่งอเมริกา” อย่างมิอาจปฏิเสธ แต่แม้ว่า “อียู” จะยังคงดำรงตนเป็น “อีย้วย” ก็เถอะ สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ถึงกับเป็นตัว “ชี้ขาด” ว่าใครชนะ-ใครแพ้ เพราะอย่างน้อย...ความพยายามของคุณพ่ออเมริกาเมื่อช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมา (26 ม.ค.) ที่จะเสนอเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ประกาศรับรอง “นายกุยโด” ก็ได้ถูกคัดค้านโดยประเทศจีน, รัสเซีย, แอฟริกาใต้ และอิเควทอเรียลกินี จนเป็นอันตกไป...

อีกทั้งถ้านำไปเทียบเคียงกับความพยายามโค่นล้มระบอบปกครอง “อัล-อัสซาด” ในซีเรีย ถึงแม้ประเทศอาหรับแทบทั่วทั้งตะวันออกกลาง รวมทั้งยุโรปแทบทั้งยุโรป จะยอมเป็น “ลูกกระโป่งอเมริกัน” กันไปถึงขั้นไหน สุดท้าย...ทุกวันนี้ ประธานาธิบดี “อัล-อัสซาด” ท่านก็ยังคงอยู่ได้-สบายดี แถมใครต่อใครทำท่าว่าอยากจะหันมา “จูบปาก” เช่นเดิม หลังจากที่มีพันธมิตรอย่างรัสเซีย อิหร่าน พร้อมจะร่วมหัว-จมท้ายแบบถึงไหน-ถึงกัน การแทรกแซงทางการเมืองจาก “ภายนอก” จึงไม่อาจถือเป็นตัวชี้ขาด ชี้วัดตัดสินมากมายสักเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะถ้าหากรัฐบาลนั้นๆไม่ถึงกับโดดเดี่ยว หรือ “โฮมอโลน” จนเกินไป...

และก็อย่างที่เคยว่าๆ เอาไว้แล้วนั่นแหละ...ว่าประธานาธิบดี “มาดูโร” ท่านก็ไม่ใช่ “ตะเกียงไร้น้ำมัน” ก่อนหน้านั้น...ท่านถึงได้ออก “เดินสาย” ไปเยือนจีน เยือนรัสเซีย เชิญประธานาธิบดีตุรกีมาเยือนถึงหัวกระไดบ้าน ฯลฯ และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของ “ทรัพยากรธรรมชาติ” โดยเฉพาะ “แหล่งสำรองน้ำมัน” ที่ว่ากันว่า...เผลอๆ อาจมากกว่าแหล่งสำรองน้ำมันของซาอุฯ เอาเลยก็ไม่แน่ การ “เข้าถึง” แหล่งน้ำมันในเวเนซุเอลา จึงถือเป็นเรื่องที่ “มหาอำนาจคู่แข่งขัน” (Rival Power) ของอเมริกา ไม่ว่าจีนหรือรัสเซีย คงมิอาจปล่อยมือกันง่ายๆ เม็ดเงินลงทุนของทั้งจีนและรัสเซียในเวเนซุเอลา จึงเพิ่มพรวดๆ พราดๆ นับเป็นหมื่นๆ แสนๆ ล้านดอลลาร์ในช่วงหลังๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านน้ำมันและแก๊ส, อุตสาหกรรมรถยนต์, โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ ฯลฯ การอาศัยการแทรกแซงทางการเมืองจาก “ภายนอก” เพียงอย่างเดียว จึงคงไม่ใช่คำตอบ หรือบทสรุป ได้ง่ายๆ...

ดังนั้น...คงหนีไม่พ้นต้องหันไปดูองค์ประกอบประการที่สอง นั่นก็คือ...การแทรกแซงด้วย “กำลังทหาร” อันเป็นสิ่งที่ผู้นำอเมริกาอย่าง “ทรัมป์บ้า” เคยพูดๆ เอาไว้ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ว่าเป็นกรรมวิธีที่ยังคง “วางเอาไว้บนโต๊ะ” และเป็นกรรมวิธีที่เลขาธิการองค์กร “OAS” อย่าง “นายหลุยส์ อัลมาโกร” (Luis Almagro) เคยพูดๆ เอาไว้ในช่วงเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2018 ประมาณว่า “เราเห็นด้วยกับการแทรกแซงด้วยกำลังทหาร เพื่อโค่นล้มระบอบการปกครองมาดูโร และผมคิดว่า...เราไม่ควรกีดกันทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง” แต่โดยองค์ประกอบที่ว่านี้...ดูเหมือนว่าประธานาธิบดี “มาดูโร” ท่านก็น่าจะพอมองเห็นรางๆ มานานแล้ว การตระเตรียมรับมือ ด้วยการเสริมสมรรถนะ “กองทัพเวเนซุเอลา” ให้ใหญ่โต ให้ก้าวหน้าทันสมัย ยิ่งขึ้นไปอีก จึงปรากฏให้เห็นมาโดยตลอด ไม่ว่าด้วยกำลังพลจำนวนเกือบครึ่งล้าน หรือจำนวนทหารประมาณ 500,000 คน เสริมด้วยหน่วย “National Guard” และ “National Militia” เอาไว้รับมือใครก็ตามที่คิดจะบุกเข้ามา ไม่ว่าจากชายแดนโคลัมเบีย หรือที่ไหนๆ ก็แล้วแต่ อีกทั้งยังพยายามติดเขี้ยวเล็บให้กับทัพบก, ทัพเรือ, ทัพอากาศ ด้วยการจัดหา จัดซื้ออาวุธใหม่ๆ ไม่ว่าเครื่องบินโจมตี Su-30MK จากรัสเซีย เฮลิคอปเตอร์ ปืนใหญ่ และระบบเรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศ ฯลฯ อีกทั้งล่าสุด...ท่านยังประกาศจัดให้มีการ “ซ้อมรบ” ของกองทัพเวเนซุเอลาช่วงระหว่างวันที่ 10-15 กุมภาฯ ที่จะถึงนี้ ถือเป็นการ “ข่มขวัญ” ใครก็ตามที่คิดจะหันไปใช้กรรมวิธีดังกล่าวเพราะอาจต้องเจอกับศึกยืดเยื้อไม่น้อยไปกว่า “สงครามกลางเมืองในซีเรีย” ที่รบกันมา 7 ปี 8 ปี ยังคงไม่แล้วเสร็จ แถมทำท่าว่าเริ่มจะ “พลิก” เป็นฝ่ายชนะ อีกไม่ใกล้-ไม่ไกลนับจากนี้ การ “ส่งออกปฏิวัติ” ในลักษณะเช่นนี้...จึงอาจเป็นอะไรที่ “เชยซ์ซ์ซ์” ไปแล้วก็ไม่แน่!!! เลยคงเหลืออยู่ที่ต้องหันไปดูองค์ประกอบที่สาม หรือองค์ประกอบสุดท้ายวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน...
กำลังโหลดความคิดเห็น