xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนวังหีบกับ “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อหัวค่ำของวันที่ 25 มกราคม 2562 ผมได้มีโอกาสนั่งล้อมวงเพื่อรับฟังชาวบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดพัทลุงที่มายื่นหนังสือเพื่อคัดค้านโครงการเกี่ยวกับการจัดน้ำที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กทม. ท่ามกลางฝุ่นมลพิษ PM2.5 ที่เกินมาตรฐานชาวบ้านมาจาก 5 พื้นที่เพื่อคัดค้าน 5โครงการ แต่เพื่อให้การเล่าได้ใจความครบประเด็นสำคัญในบทความเดียว ผมจึงขอนำเอาเรื่องเขื่อนวังหีบ มาเล่าเพียงอย่างเดียว

ต้องขออภัยพี่น้องอีก 4 พื้นที่ด้วยนะครับ แต่เรื่องทั้งหมดมันสะท้อนสิ่งเดียวกันคือความล้มเหลวและไม่จริงใจของรัฐบาล ที่ได้ชูคำขวัญแบบเท่ๆ ว่า “ประเทศไทย 4.0” เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศหลงเชื่อตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วมันยังล้าหลังอย่างไม่น่าให้อภัย

เท่าที่ผมเข้าใจ “ประเทศไทย 4.0” เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ เน้นการพัฒนาองค์ความความรู้ ความคิดริเริ่ม และนวัตกรรมแทนที่จะเน้นการใช้แรงงานรวมทั้งการใช้พลังงานอย่างเข้มข้นเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เน้นการพัฒนามนุษย์ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง

แต่เรามาดูในการปฏิบัติจริงของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่ได้ริเริ่มคำขวัญนี้ออกมา

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับโครงการเขื่อนวังหีบ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยรูปภาพก่อนครับ

ผมได้ถามชาวบ้านคนหนึ่งว่า “หมู่บ้านวังหีบเกิดขึ้นมานานกี่ปีแล้ว” ได้รับคำตอบว่า “ปู่ของผมเกิดที่บ้านวังหีบ และในปี 2519 พ่อผมเองได้ร่วมกับชาวบ้านคนอื่นๆ ขับไล่บริษัทซึ่งได้รับสัมปทานตัดไม้ที่วังหีบ บริษัทจึงได้ย้ายไปได้สัมปทานตัดไม้ที่ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมโคลนถล่มเมื่อปี 2531 มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน เราคงยังจำกันได้ดี” พร้อมกับชี้ให้ผมดูภาพถ่ายต้นไม้ใหญ่ขนาด 13 คนโอบที่เหลืออยู่ในหมู่บ้านมีคนบอกว่าต้นนี้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ผมกลับถึงบ้านตอน 5 ทุ่มกว่า ผมรีบทำการบ้านรวมทั้งหารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาอ่านประกอบ แล้วได้ผลสรุปส่วนหนึ่งดังภาพถัดไปครับ

ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการเขื่อนวังหีบได้กำหนดว่ามีวัตถุประสงค์รวม 5 ข้อ เรามาดูกันทีละข้อครับ

ข้อแรกเพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำสำหรับไว้เพื่อการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง

รายงานอีไอเอดังกล่าวไม่ได้ระบุว่ามีการเพาะปลูกอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด และขาดน้ำจำนวนเท่าใด ได้เขื่อนแล้วจะเอาน้ำไปใช้อะไร อย่างละเท่าใด

แต่จากการเปิดเผยผ่านรายการสภากาแฟ NEWS1 ของ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร) ให้เป็นเลขานุการและคณะทำงานศึกษาข้อมูลกรณีเขื่อนวังหีบ บอกว่า

โครงการเขื่อนวังหีบเป็นโครงการในพระราชดำริตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งตอนนั้นชาวบ้านต้องการน้ำสำหรับทำนาข้าว แต่ปัจจุบัน (ดร.สิตางศุ์ ยืนยันว่ามาจากข้อมูลของกรมชลประทานเอง) พบว่า พื้นที่ทำนาเหลือเพียง 0.2% เท่านั้น พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่คือ 95% เป็นสวนยางพารา และอีก 1.8% เป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งในพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนปีละ 1,700 ถึง 2,000 มิลลิเมตร มันเพียงพอสำหรับการปลูกยางพาราอยู่แล้ว หากขาดแคลนบ้างในฤดูแล้งก็สามารถส่งเสริมให้ชาวบ้านทำแก้มลิง หรือขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เองได้

คณะทำงานชุดนี้ได้ใช้เวลา 6 เดือน เพื่อศึกษาโดยลงพื้นแล้วสรุปรายงานให้ รมช.วิวัฒน์ (หรืออาจารย์ยักษ์) ทราบ ดร.สิตางศุ์ ไม่ได้บอกว่ารายงานสรุปไว้ว่าอย่างไร บอกแต่เพียงว่า “หลังจากส่งรายงานแล้วรัฐมนตรีว่าการ (นายกฤษฎา บุญราช) ได้ดึงงานเรื่องนี้ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของอาจารย์ยักษ์ไปดูแลเอง”

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ชาวบ้านได้ยื่นจดหมายเพื่อคัดค้านโครงการ แต่แล้วในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 18 ธันวาคม คณะรัฐมนตรีก็มีมติอนุมัติ “โครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช และขออนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีในการขอใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ”

โปรดสังเกตนะครับว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ หมายถึงมีสภาพป่าชั้นดี ผู้ใดจะเปลี่ยนสภาพพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

ข้อสอง เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคของราษฎร และสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่โครงการและใกล้เคียง

รายงานอีไอเอ (หน้า 2-41) บอกว่าจะส่งน้ำไปยังสำนักประปาทุ่งสง แต่ ดร.สิตางศุ์ได้ให้ข้อมูลว่า ถ้าจะส่งน้ำดิบจากเขื่อนวังหีบไปยังเทศบาลทุ่งสงจะต้องผ่านลุ่มน้ำอื่นอีก 3 ลุ่มน้ำ (เช่น คลองท่าโหลน คลองเปิด และคลองโยง ดูภาพแรกประกอบ) จะต้องส่งไปตามท่อซึ่งจะมีต้นทุนสูงมาก ถ้าการประปาทุ่งสงต้องการน้ำดิบจริง (ปีละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร) ทำไมไม่เอาน้ำจากคลองอื่นๆ ซึ่งมีปีละกว่า 20 ล้านลูกบาศก์เมตรและอยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันด้วย

ข้อที่สามเพื่อใช้เป็นแหล่งแพร่และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดให้ราษฎรได้ใช้บริโภคและมีรายได้เสริมจากการจับสัตว์น้ำ

เรื่องนี้ฟังดูเผินๆ แล้วก็เป็นเรื่องดีครับ แต่ความหมายของ “ประเทศไทย 4.0” ต้องใช้องค์ความรู้อย่างบูรณาการ ข้อมูลในภาพข้างล่างนี้ได้บอกว่า แหล่งน้ำจืดของประเทศไทยมีค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำที่สุดในโลก (จากการสำรวจ 141 ประเทศ) คือ 2.98 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นระดับที่สัตว์น้ำจะเจริญเติบโตได้ลำบาก ข้อมูลนี้อาจจะเก่าไปหน่อยแต่ความจริงมันก็ฟ้องถึงปัจจุบันว่าแหล่งน้ำสาธารณะของไทยไม่ค่อยมีปลา ในบางพื้นที่ผมเคยสำรวจและวัดด้วยตนเองพบว่าค่าออกซิเจนในน้ำเป็นศูนย์

แต่ทำไมรัฐบาลไทยจึงไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้แหล่งน้ำสาธารณะเป็นแหล่งแพร่และเพาะพันธุ์แหล่งอาหารให้คนไทย จนปัญญาแล้วหรือจึงต้องสร้างเขื่อนขึ้นมาเพื่อทดแทน

ข้อที่สี่ เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลากซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ

ดร.สิตางศุ์ได้ให้ข้อมูลว่า มีนักการเมืองท้องถิ่นอ้างว่าโครงการเขื่อนวังหีบจะช่วยลดความรุนแรงของน้ำท่วมเทศบาลเมืองทุ่งสง แต่จากแผนที่ในภาพแรกเราจะเห็นว่า คลองวังหีบไม่ผ่านเทศบาลทุ่งสง ดังนั้นเขื่อนวังหีบจึงไม่สามารถลดปัญหาน้ำท่วมเทศบาลทุ่งสงได้ แต่ในกรณีที่มีฝนตกหนักจริงๆ ถึงสร้างเขื่อนวังหีบแล้ว น้ำก็ยังท่วมได้ เพราะน้ำจะไหลบ่ามาตามผิวดินข้างคลอง (side flow) ซึ่งมีจำนวนมากเป็น 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่เขื่อนวังหีบสามารถเก็บน้ำได้เพียง 20 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

ข้อที่ห้า ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของราษฎรที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงกับโครงการ

ข้อนี้เป็นเรื่องน่าขันและน่าเย้ยหยันที่สุด เพราะตอนนี้ในลำธารคลองวังหีบก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและหาได้ยากมากอยู่แล้ว ดังภาพทางขวามือผมได้มาจากเฟซบุ๊กตามที่ระบุครับ ถ้าสร้างเขื่อน โขดหินความสวยงามก็จะจมอยู่ใต้น้ำแบบถาวร

ดร.สิตางศุ์ได้ตั้งสังเกตขั้นพื้นฐานสำคัญ 2 ประการ

หนึ่ง คือความจำเป็นของโครงการ กรมชลประทานตอบไม่ได้โครงการนี้เป็นโครงการพระราชดำริตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งชาวบ้านต้องการน้ำไปทำนา แต่ในวันนี้พื้นที่ทำนามีเพียง 0.2% เท่านั้น 95% เป็นสวนยางพาราซึ่งใช้น้ำน้อย ถ้าต้องการใช้น้ำก็ยังมีทางเลือกอีกมากมาย โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ แต่ที่ผ่านมากรมชลประทานทำแค่การประชาสัมพันธ์โครงการเท่านั้น

สอง ความคุ้มทุนของโครงการซึ่งลงทุนถึง 2,377 ล้านบาท แต่ได้น้ำเพียง 20 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

ผมยังอ่านรายงานอีไอเอไม่จบครับ แต่ลองคำนวณคร่าวๆ ดู สมมติว่าแต่ละปีได้ใช้น้ำ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าอายุการใช้งานนาน 50 ปี สามารถคำนวณได้ว่า ต้นทุนน้ำดิบราคา 4.75 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

เขียนมาถึงตอนนี้ ผมจึงลุกขึ้นไปหยิบใบเสร็จค่าน้ำประปาของการประปานครหลวงมาดู พบว่า เขาคิดต้นทุนน้ำดิบ 0.15 บาทต่อลูกบาศก์เมตร นั่นคือน้ำจากโครงการวังหีบแพงกว่า 32 เท่าตัว

นี่หรือ “ประเทศไทย 4.0” ที่พลเอกประยุทธ์พล่ามหลอกคนไทยมาตลอดทุกสัปดาห์ เขาคิด เขาบริหารประเทศกันแบบนี้เองหรือ นี่ยังไม่ได้นับวิธีการบริหารงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ที่ใช้ “อำนาจ” เหนือ “องค์ความรู้” เรื่องนี้สังคมไทยต้องร่วมกันทำความจริงให้ปรากฏและเรียนรู้ครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น