xs
xsm
sm
md
lg

อยากได้คนแบบไหนเป็นผู้นำ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมานั้น ก็ยังมีเสียงถามมาตลอดว่า เราจะมีการเลือกตั้งไหม ผมตอบตลอดว่า ต้องมีเพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ถ้าเรามองตามกลไกของรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกต่างๆ ไม่ใช่มองจากปัจจัยที่อ้างอิงไม่ได้แล้วคาดเดากันออกไปโดยไม่มีที่มาที่ไป

จนกระทั่งวันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า เราจะได้เลือกตั้ง ส.ส.ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม

นับจากนี้หวังว่า จะได้ยินพรรคการเมืองเสนอนโยบายที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม และสะท้อนผลประโยชน์ของประเทศมากกว่าการสาดโคลนกันทางการเมือง

แต่ในสภาพความเป็นจริง พรรคการเมืองกว่าร้อยพรรค นักการเมืองหน้าเก่าและหน้าใหม่ ขั้วอำนาจในปัจจุบัน มองจากตัวละครการเมืองหน้าฉากและหลังฉากถามว่า เรามีคนที่มีความสามารถโดดเด่นมากพอที่จะนำพาประเทศไทยในกระแสของโลกปัจจุบันไหม สำหรับผมแล้วคิดว่า มองไม่เห็นเลยว่า จะมีใครที่มีความโดดเด่นในภาวะเช่นนี้

ยังไม่นับว่า เงื่อนไขของการเลือกตั้ง กติกาที่ถูกเขียนขึ้นให้ไม่มีความเท่าเทียมกันในการเลือกตั้งครั้งนี้ มันแทบจะเขียนคำตอบให้เราล่วงหน้าว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง นักการเมืองร่วมรัฐบาลที่จะมาร่วมบริหารประเทศมีสภาพหน้าตาเป็นอย่างไร

พูดกันเลยก็ได้ว่า มันไม่ได้แตกต่างจากภาพการเมืองที่เคยเป็นอยู่ก่อนหน้านี้หรือในขณะนี้ และจากเงื่อนไขเป็นไปได้สูงมากที่อาจจะได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม แต่มีส่วนผสมของนักการเมืองมากขึ้น นักการเมืองเหล่านั้นก็คือ คนที่เคยวนเวียนอยู่กับอำนาจของผู้นำที่หลายคนอาจเคยออกไปขับไล่มาก่อน แต่เปลี่ยนขั้วมาสนับสนุนขั้วอำนาจอีกฝั่ง

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกของการเมืองแบบไทย เพราะพรรคการเมืองของไทยที่ตั้งขึ้นนั้นไม่ได้ยึดมั่นกับแนวทางและอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน แต่เวียนมาบรรจบกันด้วยผลประโยชน์เป็นหลัก และเก้าอี้นายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารที่ผูกติดกับที่เก้าอี้ ส.ส.ฝ่ายนิติบัญญัติ คนที่อยากเป็นนายกฯ จึงต้องกวาดต้อนคนที่มีคะแนนเสียงในระบบเลือกตั้งเข้ามาเป็นพวกให้มาก

และเมื่อการแข่งขันทางการเมืองในระยะหลังของสังคมไทย ระบอบทักษิณได้สร้างบรรทัดฐานให้เห็นว่า การชนะเลือกตั้งต้องสร้างนโยบายประชานิยมที่จับต้องได้ให้กับประชาชน พรรคการเมืองทุกพรรคจึงแข่งกันที่จะสร้างนโยบายประชานิยมมากกว่านโยบายที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศในด้านต่างๆ ในระยะยาว

แต่อย่าลืมว่า เมื่อความนิยมของทักษิณนั้นมันยังตรึงใจคนจำนวนมากอยู่ ดังนั้นพรรคการเมืองต้องคิดให้ได้ว่า จะมีนโยบายประชานิยมอะไรที่จะซื้อใจประชาชนออกมาจากหัวใจของทักษิณให้ได้ แล้วลองคิดว่า บัตรคนจนของรัฐบาลประยุทธ์นั้นจะสามารถเปลี่ยนความคิดซื้อใจให้เสียงข้างมากออกจากทักษิณมาสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐได้ไหม เพื่อจะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งจากที่พรรคของทักษิณและนอมินีชนะเลือกตั้งมานับสิบปี หรือกลับกลายเป็นเครื่องตอกย้ำให้คนระดับล่างซาบซึ้งคิดถึงทักษิณยิ่งกว่าเดิม

แม้ว่า พรรคการเมืองไม่อาจละทิ้งนโยบายประชานิยมซึ่งกลายเป็นอาหารเสริมของระบอบประชาธิปไตยในฐานะประชาธิปไตยที่กินได้ไปแล้ว เราน่าจะต้องการพรรคการเมืองและนักการเมืองที่สะท้อนวิสัยทัศน์ที่จะนำพาประเทศชาติไปในการแข่งขันของโลกในทศวรรษนี้ได้ และมีความสามารถที่จะนำพาประเทศไปในทศวรรษหน้าด้วยความรู้และสติปัญญา

เมื่อไทยกำลังเปลี่ยนไปเป็นประเทศสังคมสูงอายุ เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนไปเป็นโลกของเอไอที่จะมาทำงานแทนมนุษย์ ดูเหมือนว่า ถ้าเราสามารถก้าวทันเทคโนโลยีอาจจะสามารถทดแทนแรงงานที่กำลังเข้าสู่วัยชราและมีภาวะคนวัยทำงานที่น้อยลงได้ แต่เราเห็นพรรคการเมืองพรรคไหนเสนอแนวทางที่จะนำพาไปบนหนทางนี้ไหม

นอกจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากคนวัยทำงานน้อยลง การเสียภาษีเงินได้ก็จะน้อยลงจากที่ต่ำอยู่แล้วด้วย แต่รัฐมีภาระที่จะต้องดูแลคนด้วยระบบสวัสดิการต่างๆ ที่มากขึ้น และด้วยข้อเรียกร้องที่สูงขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบทางด้านสังคมตามมา บอกตรงๆ ว่ายังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนและวิสัยทัศน์จากนักการเมืองคนไหนในเรื่องนี้เลย

หรือเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นมีเอไอมากทำงานแทนคน เงื่อนไขแรงงานราคาถูกซึ่งเคยเป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายของทุนที่เคยวิ่งไปตามแหล่งที่มีแรงงานราคาถูกจะเปลี่ยนไป เพราะเขาไม่ได้พึ่งพาแรงงานของคนมากนัก คนที่ทำงานเป็นคนที่มีศักยภาพสูงในฐานะคนควบคุมกลไกที่ใช้คนน้อย กลุ่มทุนเหล่านั้นจะไหลกลับประเทศไหม แล้วประเทศของเราจะยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองอย่างไร

นโยบายอีอีซีที่รัฐบาลนี้พยายามขับเคลื่อนดูเหมือนจะตอบสนองกลุ่มทุนต่างชาติมากกว่า และยังสนับสนุนแรงงานต่างชาติด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากกว่าคนไทยนั้นจะตอบสนองประโยชน์อะไรแก่ประเทศไทย หรือเราจะมีตัวเลขจีดีพีสูงขึ้นอันเป็นผลพวงมาจากการส่งออกไว้อวดตัวเลขที่สวย แต่เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น เหมือนวันนี้ที่เราพยายามจะอวดตัวเลขจีดีพีแต่คนระดับล่างไม่รู้สึกว่า ได้รับอานิสงส์จากระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลบอกว่ากำลังดีขึ้นเลย

ผลกระทบด้านต่างๆ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปทำลายล้างโครงสร้างอุตสาหกรรมและการบริการแบบเก่าจะรับมืออย่างไร เมื่อกำลังเดินไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ เราจะแก้ไขเยียวยาหรือประคับประคองธุรกิจที่กำลังล่มสลายอย่างไร หรือเราจะทิ้งคนที่อ่อนแอไว้ข้างหลัง หรือเมื่อแต่ละชาติตั้งรับด้วยการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองด้วยกระแสชาตินิยมในแต่ละชาติที่สูงขึ้น เราจะมีนโยบายต่อเรื่องนี้อย่างไร

สิ่งเหล่านี้แม้จะไม่ใช่เรื่องที่จะใช้หาเสียงเพื่อขอคะแนนในหีบเลือกตั้ง แต่ต้องการผู้นำที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ด้วย

ยังไม่รวมถึงภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การรับมือกับภัยธรรมชาติที่สูงขึ้น ภาวะฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่เราเจอทุกวันนี้ เราจะแก้ปัญหาด้วยการเอารถมาฉีดน้ำเมื่อวนเวียนมาอีก ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ เราจะสวดมนต์ภาวนา หรือว่าจะหาทางแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างไร เราจะปกป้องระบบธรรมชาติหรือทำลายธรรมชาติเพื่อใช้มาเป็นพลังงานในการพัฒนาระบบอุตสาหกรรม ไม่ว่าเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อแลกกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างไร

ถึงวันนี้เราต้องคิดว่าจะให้ประเทศเดินไปทางไหนที่มีความสมดุลที่จะดำรงอยู่รอดในโลกทศวรรษหน้า ต้องคิดให้ได้ว่าเราต้องเลือกผู้นำที่ดีมีวิสัยทัศน์และมีนโยบายที่ชัดเจนและนำตัวเองออกจากความเคยชินและความสัมพันธ์แบบเดิมหรือไม่ เอาความคิดออกจากพวกพ้องและความขัดแย้ง

ฤดูหาเสียงและปี่กลองการเมืองกำลังจะเริ่มขึ้น เราต้องตัดสินใจเพื่อประเทศของเรา เพราะประชาธิปไตยน่าจะมีคุณค่ามากกว่าสิทธิ์ในการเลือกตั้ง และได้นักการเมืองมาปกครองเรา

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan
กำลังโหลดความคิดเห็น