“โลกนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน” เป็นคำพูดสะท้อนให้เห็นความลำบากของมนุษยชาติที่จะต้องต่อสู้กับสภาพแวดล้อม ธรรมชาติพิโรธ ปัญหาอาชญากรรม ความยากจน และวิกฤตอื่นๆ ที่มนุษย์ด้วยกันกระทำ เช่น ก่อสงครามฆ่าฟันยาวนานไม่สิ้นสุด
ปัจจุบัน ภัยจากภาวะแวดล้อม โรคร้ายต่างๆ เป็นความเสี่ยงต่อชีวิตและความปลอดภัยของมนุษย์ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไว้ 10 ประเภท สำหรับปี 2019 ครอบคลุมทั้งภัยพิบัติ แมลงร้าย รวมทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศ
เป็นปัญหาเร่งด่วนสำหรับสุขภาพ ซึ่งต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างมาก
อันดับแรกซึ่งเคยเป็นปัญหาเฉพาะของสหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นปัญหาของคนทั้งโลก นั่นคือความไม่ใส่ใจ ไม่เต็มใจในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งมีให้บริการโดยทั่วไป ทำให้สร้างปัญหาในการพัฒนาวัคซีนเพื่อจัดการกับโรคต่างๆ
วัคซีนโดยทั่วไปมีไว้สำหรับป้องกันโรคต่างๆ อย่างได้ผล การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากโรคภัยต่างๆ สำหรับคนประมาณ 2-3 ล้านคนในแต่ละปี และจำนวนอีก 1.5 ล้านคนสามารถได้รับประโยชน์ถ้าบริการฉีดวัคซีนพัฒนาให้ทั่วถึง
เช่นวัคซีนป้องกันโรคหัด มหานครนิวยอร์กเคยผจญกับการระบาดของโรคหัดทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน องค์การอนามัยโลกรายงานว่าภาวะการระบาดของโรคหัดในโลกเพิ่ม 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่บางประเทศแทบสูญพันธุ์ไปแล้ว
นอกจากนั้นเชื้อโรคต่างๆ สามารถดื้อต่อยาที่รักษา ทั้งยาปฏิชีวนะ ยาป้องกันไวรัส ยาป้องกันมาลาเรีย ส่วนหนึ่งการรักษาต่อเนื่องทำให้เชื้อโรคมีแรงต้าน และกลายพันธุ์ ทำให้ยากต่อการรักษา จำเป็นต้องคิดค้นพัฒนาสูตรตัวยาชนิดใหม่
นั่นคือปัญหา ยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจไม่ได้ผลเพราะอาการดื้อยา จะทำให้โลกต้องย้อนไปสู่สภาพที่ยังไม่เคยพัฒนายาเพื่อรักษาโรคบางชนิดที่เคยรักษาได้ เช่น ปอดบวม วัณโรค หนองใน และเชื้อซัลโมเนลโลซิส อาการติดเชื้อในอาหาร
มีคนเสียชีวิตเพราะวัณโรคปีละ 3 หมื่นราย เพราะยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล ในยุโรป มีคนเสียชีวิตเพราะโรคนี้ปีละ 3.3 หมื่นราย ในปี 2017 มี 6 แสนรายที่ป่วยเป็นวัณโรคมีอาการดื้อต่อยาไรแฟมพิซิน ซึ่งเป็นยาที่ใช้ได้ผลที่สุด และยาชนิดอื่นๆ
องค์การอนามัยโลกพยายามให้ความรู้แก่ประชาชนให้ตระหนักถึงภัยจากเชื้อโรคร้ายต่างๆ การป้องกันการติดเชื้อ และระมัดระวังในการใช้ยารักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเชื้อโรคดื้อยา ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณหรือเปลี่ยนตัวยาให้ได้ผลดีกว่า
อากาศเป็นพิษเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคน 7 ล้านรายต่อปี และ 90 เปอร์เซ็นต์ของเหยื่อเกิดจากการสูดลมหายใจเข้า ฝุ่นละอองพิษที่เกิดในกรุงเทพฯ ขณะนี้สามารถเข้าไปถึงระบบทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ และสมอง
ฝุ่นละอองพิษเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง หัวใจวาย โรคหัวใจ และโรคปอด องค์การฯ คาดว่าช่วงปี 2030-2050 สภาวะอากาศแปรปรวนจะทำให้คนเสียชีวิตเพิ่ม 2.5 แสนรายต่อปีเพราะโรคขาดอาหาร มาลาเรีย ท้องร่วงและเครียดจากอากาศร้อน
การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ก็สร้างความกังวล คาดว่าจะเกิดขึ้นทั่วโลกอีกรอบ เพียงแต่กำหนดเวลาไม่ได้ และความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ที่ผ่านมาเป็นเชื้อ เอช 1 เอ็น1 หรือไข้หวัดหมู ซึ่งระบาดในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 50 ปี
เชื้อชนิดนี้เคยระบาดไปทั่วโลกในช่วง 40-50 ปีก่อนหน้านี้ คนที่เคยป่วยติดเชื้อชนิดนี้หรือใกล้เคียงจะมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง 153 สถาบันต่างๆ ใน 114 ประเทศทั่วโลกอยู่ในภาวะเฝ้าระวังการเกิดระบาดและเตรียมรับมือ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง
ภัยจากเชื้ออีโบลาในแอฟริกา และนิปาห์ในตอนใต้ของอินเดีย โรคซิกาในตะวันออกกลาง ในปีที่ผ่านมาทำให้องค์กรต่างๆ ต้องระวัง เร่งคิดค้นหายารักษา รวมทั้งโรคเมอร์ส และซาร์ส ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อรุนแรงผ่านระบบทางเดินหายใจ
ภัยจากโรคอื่นๆ คืออาการเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่ใช่อาการระบาด มีการคาดหมายว่าปัญหาการขาดแคลนอินซูลินในปี 2030 สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยทั่วไปคนเกรงกลัวโรคติดต่อ แต่ความจริงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตทั่วโลกเกิดจากโรคที่ไม่มีอาการติดต่อกัน เช่น มะเร็ง เบาหวาน หัวใจล้มเหลว เป็นต้น
ในจำนวนผู้เสียชีวิตมี 15 ล้านรายที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร อยู่ระหว่าง 30-69 ปี ด้วยโรคไม่ติดต่อเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์มากเกินไป ทานอาหารไม่เป็นประโยชน์และอากาศเป็นพิษ
โรคไข้เลือดออก ซึ่งเกิดจากยุงกัด ยังเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และความแปรปรวนของสภาพอากาศก็มีผลทำให้เชื้อโรคไข้เลือดออกมีความรุนแรง ซึ่งมีคนป่วยด้วยโรคนี้ 390 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี
ประชากรโลก 40 เปอร์เซ็นต์อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก ผู้เสียชีวิตมีมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนของผู้ป่วยอยู่ในขั้นรุนแรง ในเขตมีฝนตกชุก เช่นบังกลาเทศและอินเดีย มีความเสี่ยงสูง ถ้าไม่สามารถกำจัดการแพร่พันธุ์ของยุง
โรคที่ยังสร้างปัญหาคืออาการติดเชื้อเอชไอวี และเชื้อเอดส์ ซึ่งยังมีข่าวดีด้านการพัฒนาตัวในการทดลองและรักษาอาการ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ 37 ล้านคนทั่วโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ อาการติดเชื้อมีอยู่ในกลุ่มสตรีอายุระหว่าง 15-24 ปี ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง
มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี ดังนั้นการระวัง การเอาใจใส่รักษาสุขภาพอนามัยเป็นการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับทุกโรค