xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนและไม่เลื่อนเลือกตั้ง : ความต้องการของใคร? สามารถ มังสัง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในขณะนี้ผู้คนในสังคมไทยกำลังสับสน และแตกแยกทางความคิดเกี่ยวกับการเลื่อน และไม่เลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งแต่เดิมได้กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ หรืออีกเดือนจากนี้

แต่ต่อมาได้มีข่าวจากรัฐบาลว่าอาจมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นเดือนมีนาคม แม้ถึงกระนั้นจนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน แต่ถ้าพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมทางการเมือง และเจตนารมณ์ของคนในรัฐบาล ซึ่งแสดงออกผ่านทางพฤติกรรมทางการเมืองแล้ว พออนุมานได้ว่าต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้ง จะด้วยเกรงว่าผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ (ไม่ได้ ส.ส.จำนวนมากพอที่จะตั้งรัฐบาลได้) หรือมีอะไรอื่นที่มากกว่านี้ เป็นต้นว่า มีโอกาสทำคะแนนนิยมเพิ่มจากการได้มีส่วนในการจัดกิจกรรมสำคัญๆ เป็นต้น ทั้งหมดที่ว่ามาคือการคาดการณ์ในเชิงตรรกะ ส่วนในความเป็นจริง การเลื่อนหรือไม่เลื่อน รวมถึงการเลื่อนไปเป็นเมื่อไหร่นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในการกำหนดวันเลือกตั้ง

ดังนั้น ในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศ ถึงแม้จะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดวันเลือกตั้ง แต่จะต้องไปลงคะแนนเลือกตั้งสำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และทั้งผู้ที่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หรือแม้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ไม่ไปใช้สิทธิ ก็จะได้รับผลกระทบทั้งในทางลบและทางบวก จากผลของการเลือกตั้ง ในฐานะผู้ถูกปกครองจากการกระทำของผู้ได้รับการเลือกตั้ง และเข้าไปเป็นรัฐบาลปกครองประเทศในฐานะฝ่ายบริหาร และการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ จึงเกิดความสับสนและกังวล มิใช่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง แต่เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ถ้าผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นคนดี มีคุณธรรม และจริยธรรม ที่นักการเมืองในฐานะบุคคลสาธารณะจะต้องมี ประกอบกับเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถมากพอที่จะทำงานรับใช้ประเทศชาติ และประชาชนโดยรวม ก็จะทำให้ประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชน ทั้งในด้านบริหาร และในด้านนิติบัญญัติ

2. ในทางกลับกัน ถ้าผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นคนไม่ดี เนื่องจากไม่มีคุณธรรม และจริยธรรมที่บุคคลสาธารณะจะต้องมี ประกอบกับไม่มีความรู้ ความสามารถมากพอที่จะทำงานรับใช้ประชาชน ไม่ว่าในด้านนิติบัญญัติหรือในด้านบริหาร ซึ่งตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งประเทศ และประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อันใดจากนักการเมืองประเภทนี้ จะเป็นได้ก็แค่ยกมือออกเสียงให้ครบตามจำนวนเท่านั้น

แต่จากสภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การเมืองไทยไม่แตกต่างไปจากหลายปีที่ผ่านมา ในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมือง ทั้งในส่วนตัวของนักการเมือง อันเป็นปัจเจกและในส่วนของพฤติกรรมของพรรคการเมืองเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกตามกำหนดเดิม หรือเลื่อนออกไป คงจะไม่ทำให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตามที่ประชาชนคาดหวังไว้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะไม่ช่วยให้ประชาชนชาวไทยได้รัฐบาล และสภานิติบัญญัติตามที่คาดไว้แน่นอน

ทั้งนี้ เนื่องจากในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกครอบงำด้วยระบบทุนนิยมสามานย์ และแม้กระทั่งในปัจจุบันระบบนี้ก็คงยังเป็นอยู่เช่นเดิม จะเห็นได้จากการปราศรัยหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มุ่งเน้นการให้วัตถุในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการออกมาตรการช่วยเหลือคนจนในรูปแบบของการลด แลก แจก แถมของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้ชื่อนโยบายประชานิยม

ดังนั้น ถ้ามีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นไปตามกำหนดเดิมหรือเลื่อนออกไป ผลที่ได้ก็คงไม่ต่างกันคือ จะได้รัฐบาลในรูปคณาธิปไตย และได้สภานิติบัญญัติประเภทพวกมากลากไป

ทางเดียวที่จะป้องกันได้ก็คือ จะต้องไม่เลือกตั้ง ไม่ว่าจะในเดือนกุมภาพันธ์ หรือในเดือนมีนาคม และจัดให้มีรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อทำการปฏิรูปประเทศในด้านสำคัญๆ เช่น การศึกษา ระบบราชการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อให้มีความพร้อมที่จะรองรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้อย่างสมบูรณ์แล้วค่อยเลือกตั้ง ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 1-2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น