xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อกฎเกณฑ์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการกำลังประหารการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
(การวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล)
อาจารย์ประจำสาขาวิชา วิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) ออกกฎเกณฑ์ใหม่ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ และระบุว่างานวิชาการใดก็ตามที่อาจารย์เขียนร่วมกับนักศึกษา ห้ามนำมาใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการยกเว้นอาจารย์ที่เป็นอาจารย์สายวิทยาศาสตร์จึงจะทำเช่นนั้นได้ ได้ทราบมาว่าอาจารย์สายวิทยาศาสตร์ออกมาโวยวายกันเพราะหากไม่มีนักศึกษาเป็น lab boy หรือเป็นลูกมือช่วยทำ lab ให้ งานวิจัยต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ก็แทบจะเกิดไม่ได้ ในทางกลับกันหากปราศจากอาจารย์ขอทุน หาอุปกรณ์เครื่องมือ กำหนดแนวทางในการวิจัย การทดลอง วิเคราะห์ผลและเขียนรายงานผมเพื่อนำไปตีพิมพ์ นักศึกษาก็ไม่สามารถจะจบการศึกษาได้

เงื่อนไขในสถาบันอุดมศึกษาขณะนี้คือ นักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ที่ต้องทำวิทยานิพนธ์ (ซึ่งนักศึกษาปริญญาเอกแทบทุกคนต้องทำวิทยานิพนธ์) ต้องตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยให้ได้จึงจะสำเร็จการศึกษาได้

สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นพนักงานสัญญาจ้างสมัยนี้ก็ทำสัญญาจ้างเป็นคราว ๆ ไป เช่น หนึ่งปี สามปี ห้าปี สิบปี และการต่อสัญญาจ้างต้องมีผลงานตีพิมพ์และต้องมีตำแหน่งทางวิชาการ จากอาจารย์ต้องเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ภายในสามปี จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ต้องเป็นรองศาสตราจารย์ภายในกี่ปี ๆ และจากรองศาสตราจารย์ต้องเป็นศาสตราจารย์ภายในกี่ปี ๆ

กฏเกณฑ์ใหม่ในการขอตำแหน่งทางวิชาการนี้ห้ามอาจารย์สายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ใช้ผลงานที่อาจารย์เขียนร่วมกับนักศึกษาขอตำแหน่งทางวิชาการอย่างเด็ดขาด แต่นักศึกษาต้องจบการศึกษาปริญญาโท-เอกได้ ต้องตีพิมพ์เอง

ใครเคยเรียนปริญญาโท-เอกมา แล้วคงจำได้ว่าการตีพิมพ์ครั้งแรกหรือแม้แต่การเขียนวิทยานิพนธ์เป็นครั้งแรก อาจารย์ที่ปรึกษาต้องอ่านต้องดูแล ต้องแก้ไขงาน ต้องให้คำปรึกษา แทบจะจับมือเขียนให้กันมาแล้วทั้งนั้น งานวิจัยของนักศึกษานั้นบ่งชี้และสะท้อนภูมิความรู้และการดูแลเอาใจใส่ของอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นอย่างยิ่ง

การที่ สกอ และสภาวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ออกกฏเกณฑ์ในการขอตำแหน่งวิชาการ มาห้ามมิให้อาจารย์ที่ปรึกษานำงานที่เขียนร่วมกับนักศึกษาไปขอตำแหน่งวิชาการเลยนั้น ทำให้เกิดผลเสียหลายอย่าง

ทั้งนี้โดยปกติ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มักกำหนดค่าตอบแทนในการดูแลวิทยานิพนธ์และการค้นคว้าอิสระไว้ต่ำมากกว่างานอื่น ๆ อยู่แล้ว ทำให้ในความเป็นจริง อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมาก ไม่สนใจและไม่อยากรับนักศึกษามาทำวิทยานิพนธ์เพราะจะเป็นภาระเหมือนเลี้ยงลูกหลาย ๆ คนที่จะกระจองอแงขอความช่วยเหลือ ต้องป้อนข้าวป้อนน้ำกันตลอดเวลา ต้องปากเปียกปากแฉะ advise นักศึกษาอาทิตย์ละหลาย ๆ ชั่วโมง ให้ทำวิจัยเป็น แก้งาน นั่งสอบ proposal และ สอบ defend เล่มจบ อ่านและช่วยแก้วิทยานิพนธ์หนาเป็นร้อยหน้าจนปวดตากัน ลำพังนักศึกษาจะลุกขึ้นมาทำงานวิจัยเอง คิดเอง เขียนเองจนตีพิมพ์ได้เป็นเรื่องที่ยากมาก หากไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยให้สำเร็จ เอาเป็นว่าขนาบซ้ายขนาบขวา พูดสอนจนปากเปียกปากแฉะก็ยังไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวเป็นส่วนใหญ่มากกว่า แต่อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ได้ผลตอบแทนเงินพันสองพันบาทต่อเล่ม เอาไปขอตำแหน่งทางวิชาการก็ไม่ได้ เป็นการไม่คุ้มค่ากับการทำหน้าที่เลย หลายคนก็จะคิดแบบนี้

ถ้าเช่นนั้นเมื่ออาจารย์ไม่ได้อะไรเลย ต่อไปใครจะดูแลให้คำปรึกษานักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ บางกฎเกณฑ์ที่ออกโดยสกอ นี้ราวกับไม่เคยสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยและคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยจะชั่วช้าฉ้อฉลไปเสียทุกคน ซึ่งก็คงไม่ใช่ แล้วผลเสียจะตกกับใครถ้าไม่ใช่นักศึกษา

ถ้าจะเทียบในแง่การทำงานวิจัยให้ได้เนื้องาน ก็จ้างผู้ช่วยนักวิจัย ที่เป็นนักศึกษาที่จบแล้วมือดีๆ ไว้ทำงานก็จะได้งานเป็นเนื้อเป็นหนังและมีคุณภาพดีกว่ามาก ไม่ต้องปากเปียกปากแฉะไม่ต้องสอนมาก ไม่ต้องจับมือทำ ไม่ต้องทำให้ดู ไม่ต้องเสียเวลาตรวจอ่านงานและแก้ไขงานอย่างละเอียดและใช้เวลามากเหลือเกิน สู้มุ่งหน้าเขียน proposal ขอทุนวิจัยให้ได้มากๆ ดีกว่า อย่ามาเสียเวลาดูแลวิทยานิพนธ์นักศึกษา เพราะท้ายที่สุดเอาไปขอตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้เลย

ถ้ามองในแง่ค่าตอบแทน ไปทำงานที่ปรึกษาภายนอกหรือสอนปริญญาโท-เอก ภาคพิเศษก็ได้ค่าตอบแทนเยอะกว่ามาก หรือมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบแล้วผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ได้ค่าตอบแทนเดือนละสอง-สาม-สี่-ห้า แสนบาท ซึ่งคงไม่คุ้มที่จะเสียเวลามาดูแลให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์กับเด็กนักศึกษา
แล้วอนาคตของชาติจะอยู่ที่ตรงไหน นี่คือกฏเกณฑ์ที่ประหารการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาปริญญาโท-เอกโดยแท้จริง

กฏเกณฑ์แบบนี้กำลังฝืนกฏแห่งกรรม คือการทำชั่ว โดยการละทิ้งผลักไสไม่ดูแลวิทยานิพนธ์นักศึกษาแล้วจะได้ดี เอาเวลาไปทำอย่างอื่น เช่น ไปนั่งทำวิจัยเองคนเดียว นับผลงานได้เต็ม ๆ ขอตำแหน่งทางวิชาการได้เร็วกว่า ไม่ควรมีนักศึกษาในที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์แม้แต่คนเดียว เพราะจะเป็นตัวถ่วงความเจริญก้าวหน้าของตำแหน่งวิชาการของตัวอาจารย์เอง นี่กฏเกณฑ์กำลังทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ขาดจิตสำนึกอยู่แล้วในระดับหนึ่งยิ่งสิ้นไร้ความเป็นครูหนักข้อขึ้นไปอีก

ในความเป็นครูนั้น การให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์ ปั้นนักศึกษามากับมือ จากไม่รู้อะไรเลย จนเขียนงานเป็นชิ้นเป็นอันได้ คือความชื่นใจและภาคภูมิใจของคนเป็นครูและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

ในต่างประเทศเมื่อสำเร็จปริญญาเอก คนที่จะ hooding ให้ในพิธีรับปริญญาบัตรคืออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์คือผู้ทำคลอดและให้กำเนิดดุษฎีบัณฑิตคนนั้น ๆ เวลาเจอกันเขาไม่นิยมถามด้วยซ้ำว่าจบมาจากมหาวิทยาลัยไหน เขาถามว่า Who is your mentor? หรือใครคือที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของคุณ แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมตะวันตกให้ความสำคัญกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์มาก ธรรมเนียมเรื่อง hooding โดย dissertation advisor ในงานรับปริญญานี้เป็นกันแทบทุกมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยคาทอลิค ซึ่งสาเหตุก็คงเปรียบได้กับพระอุปัชฌาและ/หรือพระพี่เลี้ยงจะช่วยกันครองจีวรให้พระนวกะผู้บวชใหญ่ การสำเร็จการศึกษาก็เหมือนการเปลี่ยนผ่านจากคนธรรมดาเป็นผู้บวชเรียน

ที่สำคัญก็คือในต่างประเทศมหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งยอมให้ใช้งานที่อาจารย์ทำร่วมกับนักศึกษาเพื่อไปขอตำแหน่งทางวิชาการได้ทั้งนั้น แต่ Thailand only เป็นพิเศษ ที่ห้ามอาจารย์นำผลงานที่ทำร่วมกับนักศึกษาเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ก็คงมีสาเหตุมาจากอาจารย์ที่ปรึกษาจำนวนมากอาศัยเกาะชื่อ big name เป็น co-advisor หรือเป็น advisor โดยใช้อิทธิพลหรือบารมี ได้ชื่อในงานไป แล้วให้นักศึกษากับอาจารย์คนอื่นทำงานเขียนงานวิจัยจนตีพิมพ์ได้ อาจารย์ชั่ว ๆ แบบนี้ก็คงมีอยู่ทุกที่ คือไม่ได้มีความสามารถจริง แต่ไปอาศัยอิทธิพลใช้คนอื่น ๆ ทำงานให้ หรือกลายเป็นว่าอาจารย์ไปบังคับให้นักศึกษาที่เก่งมาก ๆ มีความสามารถเพียงพอในการทำงานวิจัยได้เอง โดยที่อาจารย์ไม่ต้องแนะนำ ให้ทำงานวิจัยให้ตนเองและตนเองอาศัยเกาะชื่อนักศึกษา

การออกกฏเกณฑ์แบบนี้คือการเผาบ้านทั้งหลังเพื่อหาหนูตัวเดียวหรือไม่ และที่แย่ที่สุดคือการทำลายอนาคตของชาติหรือไม่ เป็นการลงโทษอาจารย์ที่ดีที่ดูแลนักศึกษาดีอยู่แล้วหรือไม่ และเป็นการทำให้อาจารย์กับนักศึกษาไม่ต้องทำงานร่วมกัน เป็นการตัดอนาคตและโอกาสในการเรียนรู้จากอาจารย์ของนักศึกษาหรือไม่ และถ้าอาจารย์ทุกคนเห็นแก่ตัวคิดแต่จะทำตำแหน่งวิชาการ ก็จะไม่ยอมมาเสียเวลาให้คำปรึกษาหรือดูแลนักศึกษาที่ต้องทำวิทยานิพนธ์เลย อนาคตการศึกษาของประเทศไทยจะอยู่ที่ไหน ทำเช่นนี้เท่ากับส่งเสริมให้อาจารย์ไม่ดูแลนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์หรือไม่ แล้วถ้ามีกฏเกณฑ์เช่นนี้แล้วอาจารย์ที่เอาเปรียบหรือคดโกงแอบอ้างเอาผลงานนักศึกษามาเป็นผลงานของตัวเองจะหมดไปอย่างนั้นหรือ? อาจารย์มหาวิทยาลัยที่กั๊กเด็กไว้ใช้งานก็มี พวกไม่ช่วยอะไรเด็กแล้วเอาผลงานเด็กมาเป็นผลงานตัวเองก็มี แต่ระบบไหนถ้าอาจารย์มันจะเลวมันก็เลวได้ทั้งนั้น ทำแบบนี้ยิ่งเท่ากับบอกให้ อาจารย์ลอยแพเด็กนักศึกษา ไม่สนใจใยดีนักศึกษา ตกลงมหาวิทยาลัยจะเป็นโรงงานผลิตเปเปอร์แต่ไม่ต้องสร้างคนเพื่อไปสร้างชาติหรือไม่

การมีกฏเกณฑ์เช่นนี้จะทำให้เกิด salami slice หรือ salami publication โดยที่อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จะดูแลนักศึกษาให้น้อยที่สุด ให้ตีพิมพ์เกรดต่ำสุด ๆ และให้นักศึกษาเก็บข้อมูลหรือทดลองมากกว่าที่จะให้เขียนลงในเล่มวิทยานิพนธ์หรือไม่ยอมบอกวิธีหรือแนวทางในการวิเคราะห์สังเคราะห์ที่ดีกว่าลุ่มลึกว่าให้กับนักศึกษา ให้นักศึกษาทำงานวิจัยและตีพิมพ์งานวิจัยให้ดีเพียงแค่พอจะจบไปได้ หลังจากนักศึกษาตะเกียกตะกายตีพิมพ์จนจบได้แล้ว อาจารย์ก็ค่อยนำข้อมูลของนักศึกษา ซึ่งจบไปแล้ว ไม่ได้เป็นนักศึกษาแล้วมาวิเคราะห์เพิ่มเติม มาวิเคราะห์ใหม่ สร้างโจทย์วิจัยใหม่ ให้ดีกว่า ลุ่มลึกกว่า หรือมีข้อค้นพบใหม่ที่สำคัญกว่าแล้วจึงตีพิมพ์ในชื่อของตนเอง (โดยไปอ้างอิงว่าใช้ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์นักศึกษา) แต่อาจจะไม่ได้เป็นผู้เขียนร่วม หรือเป็นผู้เขียนร่วมก็บีบคอนักศึกษาให้ลงนามยินยอมให้ได้เปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งผลงานให้มาก ๆ และให้นักศึกษาน้อย ๆ ก็ทำได้ เพราะนักศึกษาจบออกไปแล้ว

ถ้าตั้งกฏมาเพื่อห้ามการทำชั่วอย่างนี้ แทนที่จะตัดสินและใช้อำนาจเป็นราย ๆ ไป ก็ไม่ได้ต่างไปจากการเผาบ้านทั้งหลังเพื่อฆ่าหนูตัวเดียว และอาจจะเป็นเหมือนคนไข้มะเร็งที่แพ้เคมีบำบัดหรือเกิดโรคแทรกซ้อนจากเคมีบำบัดจนเสียชีวิต แทนที่จะเป็น target therapy อย่างที่ควรจะเป็นหรือจะผ่าตัดเนื้อร้ายออกไปก่อนก็น่าจะสมเหตุสมผลมากกว่า

นอกจากนี้การที่ สกอ และสภาวิชาการของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำไมจึงมีทัศนคติที่ดูถูกเหยียดหยามสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และให้โอกาสสายวิทยาศาสตร์มากกว่า ต่อให้เป็นสายมนุษยศาสตร์ก็ต้องมีการวิเคราะห์ วิจารณ์ สังเคราะห์ความรู้ ซึ่งต้องอาศัยการชี้นำ ความรู้และความชำนาญ ประสบการณ์ในการตีพิมพ์เช่นกัน ไม่ใช่ว่านักศึกษาที่เพิ่งเขียนงานครั้งแรก ทำวิจัยครั้งแรก จะทำได้ทุกคน (ความเป็นจริงคือหนึ่งในพันของนักศึกษาที่จะสามารถเขียนเปเปอร์ตีพิมพ์ได้เองโดยลำพังไม่ต้องให้อาจารย์ที่ปรึกษาช่วยเหลือใด ๆ เลย)

ยิ่งสายสังคมศาสตร์มีการทดลองแทบจะไม่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์ เช่น สายเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและจิตวิทยาหรือแม้กระทั่งครุศาสตร์ก็มีการทดลองแทบทั้งนั้น มี lab ได้แทบทั้งนั้น การทดลองเป็นแค่วิธีการหาความรู้วิธีการหนึ่ง ในเมื่อสายวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ให้อาจารย์มีสิทธิ์ใช้งานที่เขียนร่วมกับนักศึกษาขอตำแหน่งทางวิชาการได้ แล้วทำไมสายอื่นๆ จะทำไม่ได้ สังคมศาสตร์หรือ social science ก็คือวิทยาศาสตร์สังคมอย่างหนึ่ง ชื่อก็บ่งชี้ชัดเจนเช่นนั้นแล้ว ทำแบบนี้ใครจะดูแลเด็กให้จบไปครับ?

กฏเกณฑ์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการที่ออกมาเช่นนี้ เหมือนกดคนรุ่นหลัง (รุ่นกูรอดละ) ต้องรีบชักกะไดหนี ใช่หรือไม่?

กฏเกณฑ์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการที่ออกมาเช่นนี้เป็นการทำลายการสร้างเครือข่ายในงานวิจัย ส่งเสริมการโชว์เดี่ยว ซึ่งทำให้งานไปไม่ไกลนัก งานวิจัยในปัจจุบันซับซ้อนทำคนเดียวไม่ได้ แล้วตัดโอกาสที่เด็กกับอาจารย์จะได้เรียนรู้ร่วมกันหรือไม่? อาจารย์หลายท่านคงคิดในใจว่าไม่อยากเขียนงานร่วมกับใคร รำคาญเรื่องแบ่งเปอร์เซ็นต์ และคงไม่อยากจะเขียนงานกับนักศึกษาหรือ advisee ด้วยเพราะทำแล้วขอตำแหน่งวิชาการไม่ได้ อาจารย์หลายท่านเริ่มแสดงความคิดเห็นว่า ทำงานวิจัยเองง่ายกว่า advice ให้นักศึกษาทำมากกว่าเยอะ ยิ่งแบบนี้จะไม่รับดูแลวิทยานิพนธ์เลย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า

การทำงานเป็นทีม นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาการบินของนก นกอพยพจะไปเป็นฝูง โดยมีหัวหน้าฝูง และบินเป็นรูปตัววี หัวหน้าฝูงจะเป็นผู้นำ มีทิศทางที่แน่นอน การไปเป็นฝูงผู้ตามจะได้รับแรงพยุงของผู้นำ ทำให้ออกแรงน้อยลง การบินจากไซบีเรีย มาถึงประเทศไทย ผู้นำต้องออกแรง 100% ผู้ตามจะออกแรงบินถึงเป้าหมายเพียง 71% เท่านั้น
เช่นเดียวกัน อาจารย์กับศิษย์ทำงานด้วยกัน ทุกคนมีส่วนช่วยกัน ไม่ว่างานทางด้านวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ ถ้าเป็นงานวิชาการแล้ว จะต้องมีส่วนร่วมมือช่วยกัน นักศึกษาถ้าขาดอาจารย์ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะจบการศึกษา ที่ได้ผลงานอย่างดี ถ้าไม่ต้องใช้อาจารย์ ก็เรียนเองที่บ้านก็ได้ ดังนั้นผลงานวิชาการที่ดี และสามารถเผยแพร่สู่ชาวโลกได้ เกิดจากการทำงานร่วมกัน ทุกคนมีส่วนร่วม
ดังนั้นการขอตำแหน่งวิชาการ อาจารย์จึงควรจะใช้ผลงานที่ทำร่วมกับนักศึกษา มาขอตำแหน่งวิชาการได้ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ และควรจะแสดงให้เห็นว่า ใครมีส่วนร่วมตรงไหน ให้ชัดเจน
อาจารย์ก็ไม่ควรแอบอ้างมากเกินไป ถ้าเป็นไปตามความเป็นจริง ทำไมจะเอาไปขอตำแหน่งวิชาการไม่ได้ มีแต่เมืองไทย ที่บางมหาวิทยาลัย กำหนดในสายสังคมศาสตร์ ห้ามใช้งานของนักศึกษา แล้วต่อไปจะมีใครอยากคุม วิทยานิพนธ์ หรือเสนอแนะข้อคิดเห็นร่วมทำร่วมคิดกับนักศึกษา อาจารย์มานั่งทำผลงานตัวเองไม่ดีกว่าเหรอ ที่จะมาคุมวิทยานิพนธ์ ทั้งมีการพูดถึงในระเบียบ กพอ ทางสังคมศาสตร์ ก็จะเป็นยุคไดโนเสาร์
ในปัจจุบันนี้ งานที่จะมีผลกระทบต่อสังคมสูง จะต้องเกิดจากการทำงานร่วมกัน เหมือนช่วยกัน ต่อจิ๊กซอว์ ให้ได้ภาพสวยงาม


ศ.ดร.มณฑารพ ยมาภัย เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สำนักเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า

โดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์เป็นไปไม่ได้เลย นักศึกษาเรียนรู้จากการเป็นผู้ช่วยวิจัยให้อาจารย์ เป็นการเรียนแบบทำจริงๆ แต่คิดว่าสาขาอื่นก็เช่นกัน เด็กจะเอาเงินทุนที่ไหนมาทำวิจัย อันนี้ปัญหา สกอ อย่างแท้จริง


ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า

เถียงกันมานานแล้วค่ะ คนที่สนับสนุนเรื่องนี้มีเยอะ ได้แก่ พวกไม่เคยทำวิจัย พวกเคยทำแต่งานเล็กๆ พวกไม่เคยมีทีม พวกใจแคบ พวก.....เราเลิกบ่น แล้วมารวมพลังโวยกันเป็นเรื่องเป็นราวดีไม๊คะ


ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นว่า

การจะไม่มีอาจารย์อยากดูแลวิทยานิพนธ์เป็นประเด็นที่คมมาก สกอ ต้องดูแลใส่ใจ


รองศาสตราจารย์ พันทิพา พงษ์เพียจันทร์ จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แสดงความเห็นว่า

จากประสบการณ์ด้านสายวิทยาศาสตร์ประยุกต์ วิทยานิพนธ์เกือบ 100% มาจากงานที่อาจารย์ศึกษามา มีความชำนาญทางด้านนั้น เห็นช่องว่างที่ต้องศึกษาต่อให้เต็ม หาทุน หาเครื่องมือ แนะวิธีการอ่าน-เขียน ตรวจเอกสารเพื่อขอทุน เพื่อเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ ตรวจงานว่าใช้ได้ไหม ผิดตรงไหน มีรูโหว่ตรงไหนบ้าง และสุดท้าย เอาชื่ออาจารย์เป็นประกันในการลงตีพิมพ์ ว่างานนั้นมีคุณภาพ และแนะนำนักวิจัยหน้าใหม่ ถ้าไม่มีชื่ออาจรย์แปะไปด้วย ดูจะได้ลงตีพิมพ์ยากมาก เพราะหน้าใหม่ ไม่เคยมีชื่อเสียงในงานด้านนั้นมาก่อน จะเชื่อถือได้หรือไม่ ธรรมเนียมเป็นแบบนี้ทั่วโลก โดยเฉพาะสำหรับสายวิทยาศาสตร์
อีกเรื่องที่ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจคือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย และคนที่อยู่ตามกรม กอง ศูนย์หรือสถาบันวิจัยต่างๆมีหน้าที่ต่างกัน ในฐานะที่เคยทำงานเป็นผู้ประสานงานสายไบโอเทค ให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งหนึ่ง ในการพิจารณาขอทุนของแต่ละโครงการ หากเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัย เราจะให้ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน เพราะถือว่า หน้าที่หลักของอาจารย์คืองานสอนที่บังคับ งานวิจัยเป็นงานรองที่ไม่บังคับ เมื่อมาทำงานวิจัย ถือเป็นการเพิ่มภาระ แต่ที่มาจากศูนย์/กรม/กอง ที่มีหน้าที่หลักโดยตรง ต้องวิจัยพัฒนาแล้ว จะไม่มีการให้เงินเดือน จะเบิกได้เฉพาะค่าเบี้ยเลี้ยงเวลาออกท้องที่/เบี้ยประชุม เท่านั้น เพราะฉนั้น งานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์ทำกับนักศึกษาจัดเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากงานสอนหลักในห้องเรียน เพราะใช้เวลามาก ไม่มีเวลาตายตัว ไม่มีเสาร์-อาทิตย์ ดึกดื่นคิดขึ้นมาได้ต้องลุกมาคอมเมนต์ แล้วจะไม่ให้เป็นผลงานบ้างเลยหรือ


ผศ. ธนา หงษ์สุวรรณ แห่งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้แสดงความคิดเห็นว่า

กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด มันก็ผิดกันไปหมด สกอ. ออกกฏเพื่อป้องกันคนไม่ถึง 1 % ที่ใส่ชื่อใน Paper โดยไม่ได้ทำ เพื่อมาขอตำแหน่งวิชาการ เพราะดันเอาเงินไปผูกกับตำแหน่งวิชาการ เลยกลัวคนจะโกงเอาเงิน คนดีๆ เลยเดือดร้อนกันไปหมด


อ.ดร.มณฑล สรไกรกิติกูล แห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า

Could not agree more? ก้มหน้าแก้งานไป วันนี้ก็มีเมล์จากวารสารให้กลับมาแก้บทความที่ส่งไป มีความสุขกับการทำงาน ได้สร้างองค์ความรู้ บอกเรื่องราวที่เป็นจริงให้สังคมได้ทราบ และนำไปพัฒนาต่อไป
คงจะเป็นความสุขที่คงทำได้อีกไม่นาน เพราะสุดท้าย ระบบบอกว่าพวกนี้นับไม่ได้


อาจารย์ นายแพทย์ ไวกูณฐ์ สถาปนาวัตร ภาควิชาศัลยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้แสดงความเห็นว่า

ที่สถาบันผม กำลังจะมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ครับ ไม่มีคนจะคุมวิจัยเด็กครับ เพราะไม่อยากให้ไอเดียตัวเองหลุดออกไป เก็บไว้ใช้ของตัวเอง...ที่เป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากนักศึกษาไทย เอาเข้าจริง เวลามาให้อาจารย์เป็นที่ปรึกษา มักจะใช้ไอเดียอาจารย์เยอะมากๆ ครับ แต่ถ้าขอแค่คำแนะนำจริงๆ คงไม่มีปัญหานะครับ ที่ผ่านมาผมก็โดนทำนองนี้ครับ


คงต้องถาม สกอ และสภาวิชาการ และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ว่าการใช้กฏเกณฑ์เช่นนี้ในการห้ามนำงานที่อาจารย์ทำร่วมกับนักศึกษามาขอตำแหน่งวิชาการจะเป็นการทำลายคุณภาพการศึกษาของชาติหรือไม่? ได้คุ้มกับที่เสียไปหรือไม่ ขอให้พิจารณาให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่เด็กนักศึกษาจะไม่มีใครอยากจะดูแลให้จบการศึกษาเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น