xs
xsm
sm
md
lg

ถ้ายึดมั่นในข้อตกลงปารีส มลพิษ PM2.5 ก็จะหายไปเอง

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในช่วงนี้คนไทยเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ให้ความสนใจกับเรื่องมลพิษที่มีขนาดเล็กมากหรือที่เรียกว่า PM2.5 ค่อนข้างมากเพราะว่ามีระดับความเข้มข้นเกินมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด (คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ไปกว่าเกินหนึ่งเท่าตัวจนสามารถรู้สึกกระทบต่อระบบการหายใจ ในขณะที่ค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกได้กำหนดเพียง 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ซึ่งถูกอ้างถึงในภาพข้างล่างนี้) ได้ระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทั่วโลกถึงปีละ 9 ล้านคน มากกว่าที่ตายจากความรุนแรงและภัยสงคราม และในภาพเล็กๆ ได้แสดงระดับความเข้มข้นของมลพิษ PM2.5 ในส่วนต่างๆ ของโลก เราจะเห็นว่าในบางส่วนของประเทศไทยมีระดับสีม่วงซึ่งหมายถึงเป็นระดับที่ไม่ถูกสุขลักษณะอย่างมาก โดยที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศถูกระบายด้วยสีแดงซึ่งหมายถึงระดับที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

นอกจากระดับมลพิษของ PM2.5 (ซึ่งเป็นชนิดร้ายแรงมากเพราะมีขนาดเล็กมากจนอวัยวะของร่างกายไม่สามารถดักจับได้ จนสามารถเข้าสู่เส้นเลือดได้) ที่ไม่ถูกสุขลักษณะแล้วเราจะเห็นว่าการตอบสนองของรัฐบาลตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ ต่อปัญหาดังกล่าวไม่ถูกต้องในหลายประเด็น ซึ่งหากมองกันให้ลึกๆ แล้ว อาจมองได้ว่าเป็นการบิดเบือนประเด็นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มผู้เป็นต้นเหตุสำคัญของการก่อกำเนิด PM2.5

ความจริงแล้ว มลพิษ PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลการเผาป่า เผานาข้าว และการหุงต้มในครัวเรือน เพียงแต่มีระดับเข้มข้นแตกต่างกันบ้างเท่านั้น แต่ในช่วงที่ผ่านมาจำเลยหลักจะตกอยู่กับผู้ใช้รถยนต์ดีเซล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ดีเซลที่ปล่อยควันดำเท่านั้น ทั้งๆ ที่ รถเก๋งที่ใช้น้ำมันเบนซิน โรงไฟฟ้า และภาคอุตสาหกรรมก็ร่วมเป็นตัวการสำคัญด้วย

เรื่องการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งเป็นไปตามหลักอริยสัจ 4 ของพระพุทธองค์ หากวิเคราะห์ต้นเหตุผิดพลาด มรรคหรือวิธีการแก้ปัญหาก็ผิดพลาด แก้เท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ แถมอาจจะเกิดปัญหาใหม่ขึ้นโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

เพื่อไม่ให้บทความยาวเกินไป ผมได้นำภาพมลพิษในกรุงปักกิ่งของประเทศจีน เมื่อปี 2015 แต่ต่อมาในปี 2018 ประเทศจีนได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำนวนเกือบครึ่งของโลกเพื่อลดปัญหามลพิษ PM2.5

หากเทียบเป็นจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าต่อหัวประชากรของประเทศจีนก็มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากนอร์เวย์และสวีเดนมากกว่าสหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสที่ครองอันดับ 4 และ 5 ซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยเสียด้วยซ้ำ

ผมไม่ทราบว่า สถานการณ์ PM2.5 ในประเทศจีนตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างแล้ว แต่ผมเข้าใจว่าวิธีการแก้ปัญหาด้วยการนำรถยนต์ไฟฟ้า (รวมทั้งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า) มาใช้เป็นการแก้ปัญหาในระยะกลางที่ถูกต้อง เพราะรถยนต์ที่มีระบบเผาไหม้ภายในทุกคันล้วนก่อให้เกิดมลพิษ PM2.5

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก คือ PM2.5 เป็นปัญหา “มลพิษข้ามพรหมแดน” (ดูภาพแรกประกอบ) ซึ่งคุณธารา บัวคำศรี (ผู้อำนวยการกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยในฐานะสมาชิกกลุ่มอาเซียนเปิดประชุมเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันในระยะยาว แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ตอบสนองพร้อมกับการแก้ตัวต่างๆ นานา

อย่าลืมนะครับว่า มลพิษ PM2.5 มีความฉลาดไม่แพ้ใคร เพราะมันรู้ว่าการข้ามพรหมแดนไม่ต้องมีพาสปอร์ต และไม่จำเป็นต้องทำปลอมให้เสียเวลา

ขอกลับมาที่ประเทศจีนอีกครั้งครับ เพื่อจะได้เปรียบเทียบระหว่างวิสัยทัศน์ของผู้นำไทยกับผู้นำประเทศจีน

เราคงจำกันได้นะครับว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ใช้ความพยายามอย่างมากที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ ในแผนพีดีพี 2018 ที่กำลังจะออกใหม่ก็ยังกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ แต่ผลงานวิจัยของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า Carbon Tracker (เป็นกลุ่มนักคิดด้านการเงินที่อิสระ เผยแพร่เมื่อตุลาคม 2018) ได้ทำการวิจัยโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมแล้วสรุปว่า “ประมาณ 40% ของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศจีน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 โรง กำลังประสบกับภาวะขาดทุนเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าภายในปี 2040 ร้อยละของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ขาดทุนจะเพิ่มเป็น 95% เนื่องจาก 2 สาเหตุ คือ ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านมลพิษทางอากาศและราคาถ่านหินที่สูงขึ้น” https://www.carbontracker.org/40-of-chinas-coal-power-stations-are-losing-money/

แต่อีกด้านหนึ่งผู้นำไทยเราได้พยายามเหลือเกินที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้จงได้ นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็กำลังก่อสร้างในประเทศจีน ในขณะที่ประเทศไทยที่ผลิตรถยนต์ได้เป็นจำนวนมาก ยังไม่ได้ขยับอะไรเลย นอกจากจะสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ทั้งๆ ที่ยังไม่รถยนต์ไฟฟ้า แปลกจริงๆ

คราวนี้ ผมขอมองภาพใหญ่ของโลกบ้าง คือเมื่อปี 2015 องค์การสหประชาชาติได้มีการเจรจาจนได้ “ข้อตกลงปารีส” พร้อมๆ กับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ” โดยหนึ่งข้อในนี้ว่าด้วย “สุขภาพที่ดีและสุขภาวะที่ดี” แต่เมื่อเวลาผ่านมาได้ 3 ปี เริ่มเห็นร่องรอยของการเบี้ยวเกิดขึ้นแล้ว คือนอกจากจะไม่ได้ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังกลับมีการปล่อยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ องค์กรที่ชื่อว่า “องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, I.E.A)” ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (หรือโอเปก) ได้ศึกษาแล้วพบว่า หากยึดตามข้อตกลงปารีส โดยมีเป้าหมายว่าต้องรักษาอุณหภูมิของอากาศไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสในปี 2100 เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม แล้วจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับภาคพลังงาน โดยในปี 2040 จะต้องลดลงมาเหลือประมาณ 37% ของปี 2017

ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว มลพิษ PM2.5 จะลดลงมาเหลือประมาณ 1 ใน 5 ของปี 2017

พูดให้ชัดๆ ก็คือ การลดโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะมีผลให้มีการลดมลพิษ PM2.5 ไปด้วยในตัว (ดูภาพประกอบ) หรือยิงนัดเดียวได้นกสองตัว

และสามารถลดมลพิษ PM2.5 ลงได้ถึง 80% หรือเหลือเพียง 20% เท่านั้นและสามารถลดได้ทั้งโลก ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษปีละ 9 ล้านคน ระดับ PM2.5 ในประเทศไทยก็จะเข้าสู่ระดับเดียวกับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

ผมอยากจะสรุปบทความนี้ด้วยคำพูดของ ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ อดีตผู้บุกเบิกเรื่องพลังงานหมุนเวียนคนสำคัญของโลก ที่เคยกล่าวไว้ในเวทีองค์การการค้าโลกเมื่อปี 2005 ว่า “ผู้นำประเทศมักจะดีแต่ปาก ชอบแก้ตัวต่างๆ นานา และขาดความกล้าหาญที่จะลดผลประโยชน์ของกลุ่มพ่อค้าพลังงานฟอสซิล” (Hermann Scheer on April 23rd 2005 at a WTO Symposium titled “Rethinking the Energy Paradigm”)

ชัดเจนไหมครับและถ้าสนใจเพิ่มเติมลองถามอากู๋ได้ครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น