xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการปราบโกงกำมะลอ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรณ


ถ้าเราจำกันได้เมื่อปีที่ผ่านมามีกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมาก คือ ร่าง “พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำผิดเกี่ยวกับการขัดระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ....”

หรือที่มีการเรียกกันว่า กฎหมาย 7 ชั่วโคตรบ้าง 4 ชั่วโคตร แล้วแต่ร่างกฎหมายจะปรับแก้ให้โยงไปถึงลำดับญาติชั้นไหนของเครือญาติข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลนี้คุยนักคุยหนาว่า เป็นรัฐบาลปราบโกง

เป้าหมายหลักของกฎหมายนี้คือ การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันผลประโยชน์ทับซ้อน และการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของนักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ตอนที่ยังเป็นโฆษกรัฐบาลให้สัมภาษณ์ไว้สวยหรูว่า กฎหมายฉบับนี้เสนอมาจาก สปท. และเป็นผลงานชิ้นโบแดง ซึ่งเป็นความตั้งใจที่รัฐบาลจะให้ข้าราชการมีความซื่อสัตย์สุจริตปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โดยจะบังคับใช้กับข้าราชการทุกคน ทุกตำแหน่ง ข้าราชการการเมือง รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือเอกชนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการของรัฐ

เนื้อหาของกฎหมายนอกจากข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองแล้ว ยังห้ามไม่ให้คู่สมรส และญาติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลอื่นโดยอาศัยอิทธิพลของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้ามามีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม

ที่น่าสนใจเช่นมาตรา 5 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยมาตรานี้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การกระทำเช่นใดบ้างที่เข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์

ในมาตรา 5 วงเล็บ (6) ระบุว่า การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจโดยอิสระในการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งดำรงตำแหน่งอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐนั้นกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป

ผมสมมตินะครับ ถ้านายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจอิทธิพลให้บอร์ดรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ตั้งคนที่ตัวเองเข้าไปรับตำแหน่งก็น่าจะเข้าข่ายความผิด

ถามต่อว่า ถ้าหัวหน้า คสช.หรือนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง ส.ว.จำนวน 250 คน แล้วตัวนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้า คสช.เองไปอยู่ในรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง แล้ว ส.ว.โหวตสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ไหม

ฟังก่อนนะครับ ผมยังไม่บอกว่า ขัดไหม แต่นี่เป็นคำถาม มีคนบอกว่า ไม่ขัด เพราะมีบทยกเว้น ในหมวด 8 เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา 186 ที่ยกเว้นว่า (1) การดำรงตำแหน่งหรือการดำเนินการที่กฎหมายให้เป็นหน้าที่หรืออำนาจของรัฐมนตรี

คือบอกว่า ไม่ผิดเพราะทำตามที่กฎหมายกำหนดให้ทำ แต่ผมมองว่า ไม่ได้บอกว่า การคัดเลือก ส.ว.ของนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้า คสช.ผิดนี่ครับ ผมตั้งคำถามว่า เมื่อคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีและมีอำนาจเลือก ส.ว.หมุนกลับไปให้ ส.ว.ที่ตัวเองแต่งตั้งเลือกตัวเองกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเข้าหลักขัดกันแห่งผลประโยชน์ไหม

ต้องบอกนะครับว่า แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะยังไม่ออกมาบังคับใช้ แต่เรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้นมีอยู่ในรัฐธรรมนูญหมวด 8 และในกฎหมาย ป.ป.ช.ด้วย

แต่ตอนนี้มีหลายฝ่ายเริ่มพูดกันนะครับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จะไม่อยู่ในรายชื่อของพรรคการเมืองพรรคใด ก็ต้องดูว่า ถอยไปเลย หรือไปอยู่ในขั้นตอนที่ 2 ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนนอก

กลับมาที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาตรา 7 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐรับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่มีผู้มอบให้ในโอกาสที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ของตนหรือตามที่ได้รับมอบหมาย แม้ผู้มอบจะระบุให้เป็นการส่วนตัวก็ตาม

นอกจากนั้นที่น่าสนใจคือ มาตรา 3 ยังนิยามความหมายของคำว่า “ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้”

น่าสนใจคือในวงเล็บ (7) ที่ว่า เขียนว่า 7. การให้ใช้สถานที่ ยานพาหนะ หรือทรัพย์สิน โดยไม่คิดค่าเช่า หรือค่าบริการ หรือคิดค่าเช่าหรือค่าบริการน้อยกว่าที่คิดแก่บุคคลอื่นโดยปกติทางการค้า

อ่านวงเล็บนี้แล้วคุ้นไหมครับ เมื่อพูดถึง “ทรัพย์สิน” สำหรับผมเรื่องที่ลอยมาเลยคือ เรื่องนาฬิกาเพื่อนนะครับ มองไม่ออกเลยว่าจะหลุดพ้นนิยามที่มาตรา 3 ระบุไปได้ยังไง

มาที่เรื่องนาฬิกานิดหนึ่งนะครับ มีบางคนบอกว่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติของสังคมไทย นาฬิการาคานี้คนที่มีเงินใครก็มีกันได้ เพื่อนกันให้ยืมกันได้ ไม่เห็นเป็นเรื่องที่จะต้องไปเอาเป็นเอาตายกันเลย

คำถามว่ามันใช่เหรอ สังคมไม่ควรมีบรรทัดฐานเช่นนี้เหรอ ไม่ควรมีกรอบว่า ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ ไม่ควรจะไปรุกไล่เรื่องแบบนี้ แล้วเราควรจะมีบรรทัดฐานแบบไหน ถ้าบอกว่านาฬิกาแบบนี้ใครมีเงินก็มีได้ มันไม่ใช่นะครับ มีนาฬิกาไม่ได้มีความผิดนะครับ แต่ถ้าสิ่งไหนกฎหมายระบุว่า ต้องแสดงก็ต้องแสดง เพียงแต่คดีที่รอดนั้น ป.ป.ช.เชื่อว่า ยืมเพื่อนมา แต่ดูมาตรานี้จะเห็นว่า ไม่รอดนะครับไม่รู้เหมือนกันว่า เป็นเหตุที่กฎหมายถูกแช่แข็งหรือไม่

นอกจากนั้นในมาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพ้นตำแหน่งไม่เกินสองปี เข้าไปดำรงตำแหน่งในธุรกิจเอกชนซึ่งเคยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตน และรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากธุรกิจเหล่านี้

แต่ถามว่า วันนี้กฎหมายนี้ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.วาระแรกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 นั้นอยู่ที่ไหน คำตอบคือ กฎหมายนี้กำลังถูกดองเพื่อให้ตกไปพร้อมกับการหมดวาระของสภานิติบัญญัติชุดนี้ โดยมีการขยายเวลาไปเรื่อยๆ

เหตุผลสำคัญก็คือ กฎหมายนี้กระทบกับบุคคลในวงกว้างโดยเฉพาะคนที่มีอำนาจนั่นเอง แล้วเมื่ออำนาจออกกฎหมายอยู่ในมือของผู้มีอำนาจเขาก็ไม่มีวันสร้างเครื่องมือในการตรวจสอบการใช้อำนาจของตัวเองนั่นเอง ไม่ว่า ผู้มีอำนาจนั้นมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารก็ตาม

ร่างกฎหมายฉบับนี้เคยมีความพยายามมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นะครับ แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีวันจะสำเร็จ รวมถึงรัฐบาลที่คุยนักหนาเรื่องสร้างมาตรการปราบโกงชุดนี้

ดูง่ายแค่ ป.ป.ช.ออกระเบียบมาเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะสุดท้ายเมื่อมีคนไม่พอใจ ก็ต้องถอยอย่างไม่เป็นขบวน

พูดได้เลยว่า เด็กเล่นขายของเขายังจริงจังมากกว่าเรื่องมาตรการปราบโกงที่รัฐบาลชุดนี้ฟุ้งฝอยมากครับ

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น