xs
xsm
sm
md
lg

ประชานิยมแนวพุทธ : ให้แก่คนที่ควรจะได้รับ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน หรือราชสังคหวัตถุ 4 ประการ ซึ่งเป็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน หรือหลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครองคือ

1. สัสสเมธะ อันได้แก่ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร หรือส่งเสริมการเกษตร

2. ปุริสเมธะ อันได้แก่ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ หรือการรู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ

3. สัมมาปาสะ อันได้แก่การรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชน ด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมเงินไปเป็นทุนทำการค้าขาย เป็นต้น

4. วาชเปยะหรือวาชเปยยะได้แก่ การรู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล มีเหตุผลประกอบด้วยประโยชน์ ก่อให้เกิดความสามัคคีและเป็นที่นิยมเชื่อถือ ทั้ง 4 ประการนี้คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งสอนโดยการปฏิรูปคำสอนของพราหมณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับมหายัญ 5 ประการ

1. สัสสเมธะ การฆ่าม้าบูชา

2. ปุริสเมธะ การฆ่าคนบูชา

3. สัมมาปาสะ ยัญที่สร้างแท่นบูชาที่ขว้างไม้ลวดบ่วงไปหล่นลง

4. วาชเปยะ การดื่มเพื่อพลังหรือเพื่อชัย

5. นิรัคคฬะ หรือสรรพเมธะ ยัญไม่มีลิ่มสลักคือ ทั่วไปไม่มีขีดจำกัด หรือการฆ่าครบทุกอย่างบูชายัญ

คำสอนซึ่งเกิดจากการปฏิรูปศาสนาพราหมณ์มีที่มาปรากฏอยู่ในกูฏทันตสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 9 ซึ่งมีเนื้อความโดยย่อดังนี้

พระผู้มีพระภาคเสด็จไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จและพัก ณ บ้านพราหมณ์ชื่อ ขานุมัตตะ ประทับ ณ อัมพลัฏฐิกา

ในเวลานั้น กูฏทันตพราหมณ์เตรียมยัญพิธี โดยนำโคตัวผู้ 700 ตัว ลูกโคตัวผู้ 700 ตัว ลูกโคตัวเมีย 700 ตัว แพะ 700 ตัว แกะ 700 ตัว ผูกติดกับเสาเพื่อบูชายัญ

พราหมณ์คฤหบดีชาวขานุมัตตะ ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมา และเป็นผู้มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ก็เดินทางเป็นหมู่ๆ เพื่อเข้าเฝ้ากูฏทันตพราหมณ์ เห็นเข้าถามทราบเรื่อง จึงสั่งให้รอ ตนจะไปเฝ้าด้วย แต่ถูกพราหมณ์ที่เดินทางมา (เพื่อรับของถวาย) ในมหายัญคัดค้าน และกูฏทันตพราหมณ์ได้ตอบโต้โดยอ้างความยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาค โดยพระชาติ โดยละทรัพย์สมบัติ ออกผนวช โดยเป็นกัมมวาที กิริยาวาที (กล่าวว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว) ออกบวชจากสกุลกษัตริย์อันสูง ไม่เจือปนด้วยสกุลอื่น ออกบวชจากสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีคนจากรัฐอื่น จากชนบทอื่นมากราบทูลถามปัญหา มีเทพยดาอเนกอนันต์ พวกมิถึงสมณโคดมเป็นสรณะ มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่าเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น โดยประกอบด้วยมหาบุรุษ 3 ประการ โดยทรงต้อนรับปราศรัยให้บันเทิง มีบริษัท 4 เคารพนับถือ มีเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสยิ่ง ประทับในคามนิคมใดๆ อมนุษย์ก็ไม่เบียดเบียนในที่นั้น โดยมีผู้กล่าวว่า ทรงเป็นคณาจารย์เลิศกว่าเจ้าลัทธิเป็นอันมาก มีพระยศเฟื่องฟุ้งไป เพราะความรู้ ความประพฤติ ไม่เหมือนสมณพราหมณ์เหล่านั้น พระเจ้ากิมพิละ พร้อมทั้งโอรส มเหสี บริษัท และอำมาตย์ พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งโอรส ฯลฯ โปกขรสาติพราหมณ์ พร้อมบุตร ภริยา ฯลฯ ก็ถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ เมื่อเสด็จมา จึงชื่อว่า เป็นแขกที่เราพึงถวายความเคารพสักการะ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรที่ให้พระองค์มาหาเรา การที่เราจะไปหาพระองค์ เมื่อกูฏทันตพราหมณ์กล่าวพรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ พราหมณ์ที่คัดค้านก็กล่าวว่า ถ้าสมณโคดมเป็นเช่นที่ท่านกล่าวนี้ แม้อยู่ไกลร้อยโยชน์ ก็ควรที่จะสะพายเสบียงเดินทางไปเฝ้า ในที่สุด จึงร่วมกันไปเฝ้าทั้งหมด

กูฏทันตพราหมณ์ได้กราบทูลถามให้ทรงอธิบายยัญญสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งยัญ 3 ประการ อันมีส่วนประกอบ 16 อย่าง)

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถึงพระเจ้ามหาวิชิตในอดีตกาล เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ได้ชัยชนะทั่วปฐพีมณฑลใคร่จะบูชายัญ เพื่อประโยชน์และความสุข จึงเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาช่วยสอนวิธีบูชามหายัญนั้น

พราหมณ์ปุโรหิตสอนให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่ไม่ใช่ด้วยการฆ่าหรือจองจำ เพราะพวกที่เหลือจะเบียดชนบทในภายหลัง แต่ให้ถอนรากโจรผู้ร้าย (ด้วยการจัดการด้านเศรษฐกิจให้ดี) คือ แจกพันธุ์พืชให้กสิกรในชนบทที่มีความอุตสาหะในการประกอบอาชีพ ให้ทุนแก่พ่อค้าที่มีความอุตสาหะในการทำการค้า ให้อาหารและค่าจ้างแก่ข้าราชการ (ให้ทุกคนมีอาชีพ มีรายได้) พระราชทรัพย์ก็จะเพิ่มพูน ชนบทก็จะไม่มีเสี้ยนหนาม มนุษย์ทั้งหลายก็จะรื่นเริง อุ้มบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูบ้าน

ทั้งหมดที่นำมาเสนอเป็นส่วนหนึ่งของกูฏทันตสูตร ซึ่งเป็นที่มาของราชสังคหวัตถุ 4 หรือจะเรียกว่า ศาสตร์พระราชาที่ว่าด้วยการปกครองก็คงจะได้

โดยนัยแห่งข้อแนะนำของพราหมณ์ปุโรหิต จะเห็นได้ว่า เป็นการแก้ปัญหาสังคมโดยใช้แนวทางเศรษฐกิจ ในทำนองเดียวกันกับนโยบายประชานิยมในปัจจุบัน

แต่ประชานิยมตามแนวทางของพุทธ เน้นประโยชน์ของผู้รับ คือให้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับ

แต่ประชานิยมในปัจจุบันให้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของผู้ให้ โดยมีผู้รับเป็นองค์ประกอบในการแสวงหาคะแนนนิยมของผู้ให้

ทั้งนี้จะเห็นได้จากการเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

1. การให้ตามแนวทางของพุทธ เป็นการให้โดยการคัดเลือกผู้รับที่มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ

ส่วนการให้ในรูปแบบประชานิยม เป็นการให้แบบเหวี่ยงแห โดยไม่กำหนดว่าจะต้องเป็นคนขยัน ประกอบอาชีพแต่ให้แก่ทุกคนที่มาลงทะเบียนว่าเป็นคนจน โดยไม่มีการสอบจนเพราะอะไร และควรจะได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ และได้รับการช่วยเหลือแล้วจะทำให้พ้นจากภาระความยากจนหรือไม่

2. การให้ตามแนวพุทธ เป็นการให้เพื่อการลงทุน และมีรายได้คืนมา

แต่การให้ในรูปแบบของประชานิยม เป็นการให้เพื่อให้เกิดการจ่าย สุดท้ายเงินที่ให้คนจน ก็ไปอยู่ในกระเป๋าคนรวย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการผลิตและขายสินค้า จึงพูดได้ว่า ประชานิยมในรูปแบบของนักการเมือง แท้จริงแล้วก็คือการเพิ่มรายได้ให้แก่คนรวย โดยผ่านทางคนจนนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น