xs
xsm
sm
md
lg

จากพายุแฮเรียต (2505) ถึงพายุปาบึก (2562) : ความหวังของชาย(หนุ่ม)คนหนึ่ง

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อครั้งที่พายุโซนร้อนแฮเรียตเข้าถล่มประเทศไทยเมื่อปี 2505 ตอนนั้นผมอายุ 12 ปี เรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมปีที่ 5 (รุ่นแรกของประเทศไทย) บ้านญาติที่ผมพักอยู่ด้วยห่างจากตำบลแหลมตะลุมพุกซึ่งเป็นชุมชนที่เกิดความเสียหายมากที่สุดประมาณ 15 กิโลเมตรเท่านั้น

หลังเลิกเรียนก่อนที่พายุจะขึ้นฝั่งประมาณ 3-4 ชั่วโมง ฝนตกหนักมาก ระหว่างเดินเท้ากลับบ้านผมจำได้ว่าร่มคันใหม่ที่ทำด้วยกระดาษจาก “จีนแดง” (คำเรียกประเทศจีนในสมัยนั้น) ราคา 8 บาทไม่สามารถต้านแรงลมได้ แต่ถูกลมพัดจนก้านร่มชี้ขึ้นฟ้า แม้กระดาษซึ่งเคลือบด้วยน้ำมันยางจะไม่ขาด แต่ก็ใช้การไม่ได้แล้ว

เมื่อผ่านตัวเมืองผมแวะซื้อผ้ายางเพื่อคลุมหัวและห่อตัวแก้หนาว ผมจำราคาผ้ายางไม่ได้ว่า “หลา” ละเท่าใด แต่จำได้ว่าในช่วงนั้นราคาปากกาหมึกซึมยี่ห้อไพล็อตด้ามละ 25 บาท ที่จำได้แม่นเพราะว่าเป็นภาคบังคับของกระทรวงศึกษาธิการว่าเด็ก ป.5 ขึ้นไปต้องใช้ปากกาหมึกซึมและเมื่อเปิดเรียนมาไม่ถึงหนึ่งเดือน ผมได้ทำหายไป 2 ด้าม

ผมนำเรื่องนี้มาเล่าเพราะเพื่อนในเฟซบุ๊กคนหนึ่งเสนอว่าควรจะเขียนบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ่านบ้างตอนที่พายุมาเพื่อนคนนี้อายุแค่ 5 เดือน แม่ต้องอุ้มอพยพหนีน้ำท่วม แล้วเกิดพลาดอีท่าไหนไม่ทราบ แม่ทำลูกหล่นตกน้ำ แต่โชคดีที่ไปติดต้นกล้วย

ความจริงแล้วผมเองก็มีเรื่องอยากจะเล่าเยอะครับ แต่ก็เกรงว่าจะไม่ตรงกับประเด็นที่ผู้อ่านอยากจะรู้ ก็เกรงใจอยู่เหมือนกันเอาที่เป็นวิชาการที่ควรรู้หน่อยก็แล้วกัน ผมมี 4 เรื่องครับ

เรื่องแรกคือ เรื่องทิศทางของลม

สิ่งที่ผมสงสัยมาตลอดก็คือเรื่องทิศทางลมผมจำได้ว่าตอนที่พายุมาแรงสุดๆ ลมที่มาปะทะบ้านนั้นมาในทิศทางหนึ่ง พัดอยู่นานมากอย่างต่อเนื่อง กระโชกบ้างเป็นบางครั้ง พร้อมๆ กับระดับน้ำที่พื้นดินเพิ่มสูงขึ้นซึ่งวิเคราะห์ภายหลังว่าน่าจะเป็นน้ำจากทะเลหนุนมากกว่าน้ำฝน แต่พอประมาณ 3 หรือ 4 ทุ่ม ลมก็หยุดสนิท จำได้ว่าพวกผู้ใหญ่ได้หยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบกัน แต่พอสูบบุหรี่ได้หมดมวนลมก็พัดมาอีก แต่คราวนี้มาในทิศตรงกันข้ามกับทิศทางเดิม

แม้ผมจะอยู่ในสายวิชาการแต่ก็ไม่ได้ค้นหาคำตอบอย่างจริงจังว่าทำไมลมจึงมาจากคนละทิศ ทั้งๆ ที่มันก่อตัวในทะเลทางทิศตะวันออก ได้แต่สงสัยทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องนี้ จนกระทั่งในปี 2553 เมื่อเกิดพายุในพื้นที่จังหวัดสงขลาในลักษณะเดียวกัน ผมจึงได้เข้าใจในสิ่งที่ได้สงสัยมาตลอด 48 ปีเต็ม

ผมขออนุญาตอธิบายด้วยภาษาของผมนะครับ (ตามรูปล่างของแผ่นภาพ)

ขอเริ่มต้นจากโครงสร้างของพายุ โดยเริ่มต้นจาก ตาพายุ (eye) โดยปกติจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 30-65 กิโลเมตร ระบบพายุจะหมุนในทิศทวนเข็มนาฬิกา (ในซีกโลกเหนือ) ตามทิศการหมุนรอบตัวเองของโลก ตาพายุเป็นบริเวณที่มีแรงกดอากาศต่ำ (ไม่มีเมฆ ไม่มีลม) โดยปกติพายุจะหมุนไปด้วยและเคลื่อนที่ไปด้วย (เหมือนโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์) ถ้าตาพายุผ่านหมู่บ้านใด คนจะรู้สึกว่าลมหยุดแล้วเหมือนกรณีพายุแฮเรียตปี 2505 และที่สงขลา 2553แต่ความจริงแล้วตัวพายุยังไม่ได้หยุดสำหรับทิศทางของลมอาจจะตรงกันข้ามระหว่างก่อนจะหยุดชั่วคราวกับที่พัดมาใหม่อีกครั้งได้หากตาพายุ (ซึ่งมีขนาดใหญ่) ผ่านหมู่บ้านนั้นถ้ายังรู้สึกงงๆ โปรดอ่านช้าๆ อีกครั้ง พร้อมนึกถึงการหมุนของห่วงยางไปด้วย

เรื่องที่สอง ปรากฏการณ์น้ำทะเลถูกลมพัดให้สูงขึ้น (Storm Surge)

เรื่องนี้ขอเล่าเรื่องทางวิชาการด้วยภาพน่าจะเข้าใจดีนะครับ

แต่เรื่องที่ชาวบ้านเล่าให้ผมฟังเป็นดังนี้ครับ ชาวบ้านซึ่งบางคนก็เป็นเพื่อนบ้านเกิดเดียวกับผม แต่ได้ติดตามครอบครัวไปทำการประมงชั่วคราวที่แหลมตะลุมพุกได้เล่าให้ผมฟังว่า น้ำทะเลขึ้นสูงถึงระดับกลางต้นมะพร้าว (ดูรูปประกอบ) มีคนหนึ่งได้เอาชีวิตรอดด้วยการเกาะติดแน่นกับต้นมะพร้าวพร้อมกับให้ลูกน้อยเกาะหลังมารู้ตัวอีกทีตอนที่ลมหยุดพัดชั่วคราวว่า สิ่งมีชีวิตที่เกาะหลังตนอยู่นั้นไม่ใช่ลูกของตน แต่เป็นสุนัขที่ไหนก็ไม่รู้

เมื่อปี 2545 ได้มีผู้นำเหตุการณ์นี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อว่า “แหลมตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน” ปรากฏว่ามีลูกหลานของผู้ประสบเหตุไปดูกันเยอะ ผมได้สอบถามหลายคนได้ความตรงกันว่า รู้สึกผิดหวังอย่างมากเพราะไม่เหมือนกับเรื่องจริงที่ชาวบ้านได้ประสบ แต่เป็นเรื่องของความรักของใครก็ไม่รู้

ผมได้ลองเข้าไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ใน Youtube มีฉากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวคำปราศรัยที่หน้าสถานีตำรวจอำเภอปากพนัง ความตอนหนึ่งว่า “ในรอบ 100 ปี ประเทศไทยไม่เคยประสบอย่างนี้มาก่อนรัฐบาลปฏิวัติของข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งในการที่พี่น้องชาวใต้ต้องประสบ...จงสู้ต่อไป เพราะมีภาษิตว่า ชั่ว 7 ที ดี 7 หน จงอดทนต่อสู้ให้เหมือนปลาหมอ จงกลิ้งไปให้เกล็ดแห้งแต่ถ้าทุกคนท้อถอย รัฐบาลก็ช่วยไม่ได้...”

ผมรู้สึกแปลกๆ กับคำปราศรัยที่ผมคัดลอกมานิดหน่อยข้างต้นครับ แต่ไม่ขอวิจารณ์นะ

เรื่องที่สาม พายุเอาพลังงานมาจากไหน

ผมขอเรียนตามตรงว่า ผมเองก็เพิ่งทราบว่าเงื่อนไขสำคัญของการเกิดพายุโซนร้อนก็คือ ต้องมีอุณหภูมิของน้ำทะเลที่ระดับผิวไม่น้อยกว่า 26.5 องศาเซลเซียส ถ้าต่ำกว่านี้จะไม่เกิดครับ ภาพข้างล่างนี้แสดงบริเวณต่างๆ ของมหาสมุทรโลกซึ่งเป็นการศึกษาของมหาวิทยาลัย Wisconsin-Madison (ดูภาพประกอบ)

เท่าที่ได้ตรวจสอบกรณีพายุปาบึกคราวนี้ (จาก www.windy.com) ก็พบว่าสอดคล้องกับผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้นครับ

คราวนี้มาถึงคำถามที่ว่า พายุเอาเชื้อเพลิงหรือพลังงานที่ไหนมาใช้จึงได้มีพลังทำลายล้างอย่างมหาศาล

คำตอบคือ เนื่องจากทะเลได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากันจึงเกิดความแตกต่างของอุณหภูมิของอากาศที่อยู่เหนือระดับน้ำ อากาศที่ร้อนกว่าก็จะลอยขึ้นด้านบน อากาศที่เย็นกว่าก็จะเคลื่อนเข้ามาแทนที่จึงเกิดเป็นกระแสลม (รูปบนในภาพข้างล่าง)

ขณะเดียวกันเมื่อน้ำที่ผิวมหาสมุทร (ซึ่งมีสถานะเป็นของเหลว) ระเหยกลายเป็นไอ (ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซ) ก็จะนำความร้อนที่เรียกว่า ความร้อนแฝง (Latent Heat) ติดไปด้วย ส่งผลให้มหาสมุทรในบริเวณนั้นเย็นลงเล็กน้อย ไอน้ำซึ่งมีความร้อนแฝง (ซึ่งเป็นพลังงาน) ก็ลอยขึ้นสู่ด้านบนพร้อมๆ กับมวลของอากาศ แต่เมื่อโลกหมุน ไอน้ำและอากาศดังกล่าวก็จะหมุนตามโลกไปด้วย ขณะเดียวกันอากาศที่เย็นกว่าก็เคลื่อนเข้าไปแทนที่ด้านล่าง

ไอน้ำปริมาณ 1 กิโลกรัมก็จะมีพลังงานหรือความร้อนแฝงประมาณ 540 กิโลแคลอรี่ พลังงานตัวนี้บวกกับความแตกต่างของความกดอากาศที่จะเป็นแรงหรือเชื้อเพลิงให้พายุหรือมวลของอากาศเคลื่อนไปทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า

เรื่องที่สี่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือโลกร้อนจะทำให้เกิดพายุถี่หรือบ่อยขึ้นไหม?

ก่อนจะเขียนบทความนี้ ผมเข้าใจว่า “โลกร้อน” จะทำให้การเกิดพายุโซนร้อนถี่ขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน แต่เมื่อได้ค้นคว้าเชิงลึกก็ชักไม่แน่ใจเสียแล้วครับ

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อตามข้อความต่อไปนี้ คือ “แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะนำไปสู่การเกิดเพิ่มขึ้นของพายุเฮอร์ริเคนหรือไม่ แต่อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นของน้ำในมหาสมุทร และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นคือสิ่งที่คาดว่าจะทำให้ผลกระทบของพายุมีมากขึ้น” (https://www.c2es.org/content/hurricanes-and-climate-change/)

“ผลการวิเคราะห์เมื่อเร็วๆ นี้ได้ข้อสรุปว่า พายุเฮอร์ริเคนขั้นรุนแรงที่สุดในบางบริเวณรวมทั้งมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ทศวรรษมานี้ สำหรับสหรัฐอเมริกาแบบจำลองได้พยากรณ์ว่า ความถี่ในการเกิดพายุเฮอร์ริเคนระดับ 4 และ 5 (ระดับรุนแรงมาก) จะเพิ่มขึ้นถึง 45-87% ทั้งๆ ที่ความถี่ในการเกิดพายุ(ทั่วๆ ไป) อาจจะลดลงด้วยซ้ำ”

เอาแล้วซิ! ยิ่งมองลึก ยิ่งพบกับความซับซ้อน เหมือนชื่อคอลัมน์ “โลกที่ซับซ้อน” เลยครับ

ผลการศึกษาด้วยแบบจำลองที่มีความละเอียดมากๆ พบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นของน้ำทะเลที่ผิวจะส่งผลให้ความเร็วลมสูงสุดของพายุเพิ่มขึ้นอีก 2-11% ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ผมได้อธิบายมาแล้ว

ผมหวังว่า บทความนี้คงจะทำให้เราเกิดความเข้าใจต่อเรื่องพายุมากขึ้น จากนั้นก็ช่วยกันรณรงค์เพื่อลดปัญหาโลกร้อนที่กำลังคุกคามโลกอย่างรุนแรงให้จริงจังมากขึ้นครับ

อ้อ ขอบอกอีกนิดว่า ตำแหน่งของบ้านหลังที่ผมเกิดได้กลายเป็นทะเลไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ผมยังจำความไม่ได้ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเกิดจากการกัดเซาะชายฝั่งธรรมดาๆ หรือเกิดจากผลของโลกร้อนกันแน่ครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น