ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ในการปลูกกัญชาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและในต่างประเทศนั้นมี 3 ระบบ คือ 1. ปลูกในระบบปิดในอาคาร ควบคุมสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง (แสง, อุณหภูมิ, ความชื้น ฯลฯ) 2.ปลูกระบบกรีนเฮาส์ หรือปลูกในมุ้งหรือพลาสติก เป็นโรงเพาะปลูกรับแสงอาทิตย์แต่สามารถป้องกันแมลง และ 3. ปลูกกลางแจ้งนอกอาคารตามธรรมชาติ ซึ่งทั้งสามระบบนี้ต่างมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม
กล่าวคือ ระบบปิดในอาคารมีต้นทุนแพงที่สุดแต่มีผลผลิตออกมาได้มาก ระบบกรีนเฮาส์หรือปลูกในมุ้งมีต้นทุนในการเพาะปลูกแพงรองลงมา ในขณะที่การปลูกแบบธรรมชาตินอกอาคารนั้นมีต้นทุนที่ถูกที่สุด ซึ่งก็ส่งผลทำให้ราคาขายมีราคาแพงแตกต่างกันไปด้วย
ความแตกต่างของต้นทุนมีมากขนาดไหนก็ลองพิจารณาดูว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นต้นทุนในการปลูกแบบระบบปิดนั้นสูงถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางฟุต หรือเทียบเท่ากับต้นทุนประมาณ 55 ล้านบาทต่อไร่ ในขณะที่ต้นทุนในระบบเปิดอาจจะอยู่เพียง 5 - 10 ล้านบาทต่อไร่เท่านั้น
แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งมีแสงแดดและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยในการปลูกกัญชาน่าจะมีต้นทุนต่ำกว่าในอีกหลายประเทศ ดังนั้นหากรัฐบาลไทยยัง “บ้าจี้” บังคับให้ต้องปลูกในอาคารในระบบปิด ก็เท่ากับเป็นการทำลายศักยภาพในการเพาะปลูกกัญชาในระบบเปิดซึ่งเป็นต้นทุนที่ต่ำที่สุดเหนือคู่แข่งในตลาดโลก
เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพว่ามูลค่าของกัญชานั้นมีเท่าใด จึงขอยกตัวอย่างดัชนีราคา “ดอกกัญชา”ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561
ราคาดอกกัญชาระบบปิดปลูกในอาคารมีราคาขายอยู่ที่ 1,505 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ หรือ 107,004 บาทต่อกิโลกรัม ระบบกรีนเฮาส์มีราคาขายอยู่ที่ 962 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ หรือ 68,397.31 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ดอกกัญชาในระบบเปิดมีราคาขายอยู่ที่ 708 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ หรือ 50,338.14 บาทต่อกิโลกรัม
แม้ว่ากัญชาจะเป็นที่ต้องการทั่วโลก แต่ก็มีผู้ผลิตในหลายประเทศก็เริ่มผลิตกันมากขึ้น ส่งผลทำให้ราคากัญชาในตลาดโลกทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดล่วงหน้าของดอกกัญชามีแนวโน้มราคาลดลงไปอีก 15% ในครึ่งปี 2562 นั่นหมายความว่าดอกกัญชาในระบบเปิดอาจมีราคาลดลงไปเหลือ 42,787 บาทต่อกิโลกรัม
แต่ในขณะประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา กัญชายังถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย พ่อค้ายาเสพติดจึงมีการขาย “กัญชาอัดแท่ง” ในตลาดมืดปลายทางถึงกรุงเทพมหานครราคาเฉลี่ยประมาณ 10,000 บาทต่อกิโลกรัม
ลองคิดดูว่าราคาดอกกัญชาที่ปลูกในระบบเปิด ต้นทุนถูกที่สุด เป็นสิ่งถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกายังขายกันอยู่ที่ 40,000 -50,000 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในขณะที่ดอกกัญชาอัดแท่งในประเทศไทยของผิดกฎหมายขายในตลาดมืดยังมีราคาเพียง 10,000 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งมีราคาต่างกันถึง 4-5 เท่าตัว
คำถามชวนคิดต่อมาว่าถ้ากัญชาซึ่งเป็นของผิดกฎหมายขายอยู่ในตลาดมืดยังมีราคาขายได้ต่ำกว่าตลาดโลกได้ขนาดนี้ ต้นทุนการเพาะปลูกและการผลิตจะถูกกว่าต่างชาติขนาดไหน ถ้ากัญชากลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายสามารถเพาะปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์ได้
ดังนั้น กัญชาในประเทศไทยจึงย่อมถูกจับตามองในตลาดโลกมากที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะอาจจะทำให้สมรภูมิการช่วงชิงผลประโยชน์ของกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลได้ และประเทศไทยก็อาจะเป็นประเทศที่สร้างรายได้มหาศาลไม่เพียงแต่การเพาะปลูกกัญชาส่งออกเพื่อการแพทย์เท่านั้น แต่อาจจะกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพในระดับโลกได้ด้วย
สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วกัญชา 1 ต้น สามารถออกดอกได้ประมาณ 500 กรัม ผลก็คือกัญชา 1 ต้นในระบบเปิด สามารถสร้างรายได้ประมาณ 20,000 - 25,000 บาทด้วยการมีกัญชาเพียง 1 ต้นเท่านั้น
แต่กัญชาสายพันธุ์ไทยนั้น นอกจากจะสามารถปลูกกลางแจ้งในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีต้นทุนมากแล้ว ภูมิปัญญาไทยยังรู้จักเทคนิคในการปลูกกัญชาที่มีความลึกซึ้งกว่าที่หลายชนชาติจะเข้าใจได้ ภูมิปัญญาไทยพื้นบ้านรู้จักการหักบิดกิ่งเพื่อทำให้กัญชาตัวผู้ให้กลายเป็นตัวเมีย อีกทั้งยังรู้จักใช้เทคนิคนำกระเบื้องมาเสียบกิ่งเพิ่มจำนวนดอกให้ออกมามากขึ้น โดยต้นกัญชาไทยเพียงต้นเดียวมีขนาดใหญ่และสูงสามารถออกดอกได้หนักถึง 1 กิโลกรัม และสามารถนำมาเป็นกัญชาอัดแท่งขายในตลาดมืดได้ราคาสูงถึง 10,000 บาทเพียงต้นเดียว หรือถ้าถูกกฎหมายก็ยังสามารถนำไปขายในตลาดสหรัฐอเมริกาสร้างกำไรได้มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ทั้งนี้ มีข่าวชิ้นหนึ่งปรากฏเมื่อวันวันที่ 21 กันยายน 2555 ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนได้เข้าจับกุมผู้กระทำความผิดฐานลักลอบปลูกกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษ บริเวณภูสีเสียด ทางทิศตะวันออกของวัดน้ำริน ต.พังแดง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร พื้นที่ 1 ไร่ เพาะปลูกไป 200 ต้น ลองคิดดูว่าถ้าสามารถออกดอกได้ต้นละ 1 กิโลกรัม พื้นที่ 1 ไร่นี้จะสามารถทำเงินในตลาดมืดได้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท หรือถ้าส่งออกไปต่างประเทศก็จะสามารถตีตลาดสร้างรายได้มากกว่านั้นไปอีกหลายเท่าตัว
แต่ในสหรัฐอเมริกาพบว่าพื้นที่ 1 ตารางเมตร สามารถปลูกกัญชาได้ประมาณ 4-16 ต้น หรือถ้าจะเทียบก็คือ 1 ไร่ปลูกได้ 6,400 ต้นถึง 25,600 ต้น เพียงแต่ว่าการปลูก 4 ต้นจะทำให้การบริหารจัดการได้ง่ายกว่า
ถ้าลองคิดว่า 1 ไร่ปลูกกัญชา 6,400 ต้น ออกดอกต้นละ 1 กิโลกรัม ขายในตลาดมืดราคา 10,000 บาทต่อกิโลกรัม ก็จะสามารถสร้างรายได้มากถึง 64 ล้านบาทต่อไร่
หรือถ้าคิดว่าออกดอกต้นละ 500 กรัมๆ เหมือนในสหรัฐอเมริกา 1 ไร่ก็ยังสร้างรายได้มากถึง 32 ล้านบาท หรือถ้าคิดว่าจะขายไปถึงสหรัฐอเมริกาตามราคาตลาดปลูกนอกอาคารได้สูงกว่าในประเทศไทยถึง 4 เท่าตัว นั่นคือ 1 ไร่ อาจจะมีรายได้มากถึง 128 ล้านบาท !!!
เรียกได้ว่าปลูกกัญชาอย่างเดียวในสหรัฐอเมริกาสามารถสร้างความร่ำรวยได้อย่างมหาศาล และบังเอิญว่ากัญชากลับถูกปลูกขึ้นได้อย่างง่ายดายในประเทศไทยและประเทศเพื่อนนบ้าน จึงไม่น่าจะแปลกใจที่ประเทศไทยและภูมิภาคนี้ได้ถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนสุวรรณภูมิอย่างมหาศาล คือ มีทองคำสีเหลืองอร่าม มีทองคำสีดำ (น้ำมัน) และยังมีทองคำเขียว (กัญชา) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรที่มีมูลค่ามหาศาลที่สามารถสร้างความร่ำรวยให้กับคนในประเทศได้ แต่ผู้บริหารในประเทศหลายยุคหลายสมัยมุ่งแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนยกทรัพย์สินเหล่านี้ไปให้กับชาติอื่นในราคาถูกๆอย่างน่าเสียดายยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขต้นทุนและราคาขายของกัญชาดังที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการที่กฎหมายของประเทศไทยจะมีการอนุญาตปลูกกัญชาได้นั้น อาจทำให้วงการธุรกิจกัญชาทั้งโลกต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดกฎหมายปลดล็อกกัญชาในประเทศไทย ผู้ป่วยจึงไม่สามารถเพาะปลูกกัญชาตามใบสั่งของแพทย์ได้
กฎกระทรวงหรือระเบียบต่างๆที่กำลังจะออกมาในการให้เพาะปลูกกัญชาในประเทศไทยนั้น กลับใช้ระบบปิดในโรงเรือน ควบคุมพันธุ์กัญชา อุณหภูมิ ความชื้น เพื่อให้แต่กลุ่มทุนใหญ่ และไม่ต้องการให้เกษตรกรรายย่อยสามารถที่จะปลูกกัญชาในระบบเปิดให้กระทบต่อราคาตลาดโลก เพื่อเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนต่างชาติได้ใช่หรือไม่?
เช่นเดียวกับหมอพื้นบ้านหรือแพทย์แผนไทย การเพาะปลูกในโรงเรือนรูปแบบระบบปิดก็ไม่สอดคล้องกับวิถีการแพทย์แผนไทย ก็เพราะกลัวว่าการปลูกในระบบเปิดของวิถีการแพทย์ภูมิปัญญานี้จะส่งผลทำให้กระทบกระเทือนต่อราคากัญชา และนำไปสู่การช่วงชิงตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ในตลาดโลกใช่หรือไม่?
สอดคล้องไปกับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชา ซึ่งบริษัทยาต่างชาติได้เข้ามาจดสิทธิบัตรในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็กลับไม่มีการยกเลิกหรือเพิกถอนคำขอและการประกาศโฆษณาคำขอเหล่านั้น และดูเหมือนว่ากำลังรอการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับใหม่ เพื่อหวังจะเปลี่ยนสถานภาพคำขอสิทธิบัตรของชาวต่างชาติซึ่งผิดกฎหมายเหล่านั้น ให้กลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ใช่หรือไม่?
เช่นเดียวกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งกำลังจะมีการนำเข้าพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 7 มกราคม 2562 นี่ ถูกจับตามองด้วยความเคลือบแคลงสงสัยว่า เป็นกฎหมายที่บั่นทอนผลของ พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับใหม่ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 โดยการขยายขอบเขตการอนุญาตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการนำเข้าหรือการลงทุนกัญชาจากต่างประเทศได้มากขึ้น ใช่หรือไม่?
สอดคล้องไปกับกระแสข่าวความสงสัย ในความบังเอิญที่มีคนบางกลุ่มพยายามผลักดันร่างแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับสิทธิบัตรพันธุ์พืชของสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชยื่นจดสิทธิบัตรได้ รวมทั้งกัญชา ใช่หรือไม่?
ซึ่งจากการสืบค้นของมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย พบว่า ขณะนี้สหรัฐอเมริกา พบว่ามีการทยอยให้สิทธิบัตรพันธุ์พืชจากกัญชาไปบ้างแล้วจำนวน 4 สิทธิบัตร มีการพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงสายพันธุ์กัญชาไปมากอย่างน้อย 3,000 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นการปรับปรุงมาจากสายพันธุ์ทั้งของไทยและในเอเชียอย่างน้อยสุดอยู่ที่ 500 สายพันธุ์ ซึ่งประมาณการว่า หากผ่านสิทธิบัตรหมด ก็จะทำให้บริษัทไม่กี่แห่งผูกขาดพันธุ์กัญชามากถึง 50-70% ของสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั้งหมด และภัยคุกคามนั้นกำลังคืบคลานมากระทบการปลูกและการพัฒนาสายพันธุ์ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากสายพันธุ์กัญชาต่างๆ ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้
นอกจากนั้นเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP)ฉบับใหม่ โดยต่อไปนี้การใช้ทรัพย์สินหรือการเช่าสถานที่ราชพัสดุ ที่ดินของรัฐวิสาหกิจ และที่ดินของราชการ ไม่ว่าจะมีมูลค่ามหาศาลเท่าไหร่ ก็ไม่ต้องผ่านคณะกรรมการชุดใหญ่ในระดับชาติอีกต่อไป ใช่หรือไม่ และต่อไปจะมีปล่อยให้เอกชนใช้ทรัพย์สินหรือเช่าที่ดินของทางราชการในราคาถูกๆเพื่อเพาะปลูกกัญชาของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ต่อไปได้หรือไม่?
การเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นความบังเอิญ หรือแท้ที่จริงแล้วมันเป็นการทำงานที่เป็น “ขบวนการล่าอาณานิคมกัญชา”กันแน่? เพราะลักษณะที่ให้กัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษ ที่ต้องการนำมาใช้ในทางการแพทย์ในลักษณะที่เป็น “ยารักษาโรค” ในรูปแบบของคณะกรรมการชุดใหญ่ภายใต้อิทธิพลของการแพทย์แผนปัจจุบัน ก็เพราะมีทิศทางที่จะนำไปสู่การนำเข้ายาที่มีกัญชาผสมอยู่ในรูปแบบของยาสมัยใหม่ สารสกัดสำคัญ ที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่พันธุ์กัญชา วิธีการเพาะปลูก สิทธิบัตร เพื่อนำไปสู่การกำหนดราคาขายตามราคาในต่างประเทศ ใช่หรือไม่?
ในความเป็นจริงแล้วกัญชาเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านของไทยมานานแล้ว ดังตัวอย่างในจังหวัดเพชรบุรีนั้น ในอดีตเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญในการส่งออกกัญชาคุณภาพดีไปต่างประเทศ กัญชาไทยเคยถูกปลูกเป็นพืชสวนครัวตามพื้นบ้านนำมาผสมใส่ในเครื่องแกงไทยและใช้สำหรับการชูรสในการปรุงอาหารจำนวนมาก และเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่แพทย์แผนไทยได้นำมาใช้ในตำรับต่างๆ มากมายมาหลายร้อยปีแล้ว
แม้แต่ในปัจจุบัน กัญชาในต่างประเทศได้ถูกพัฒนาไปไกลมากแล้ว บางส่วนนำมาผสมในอาหาร เครื่องดื่ม แต่การกลับมาของกัญชาของประเทศไทยรอบนี้ เต็มไปด้วยกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่จากต่างประเทศที่ใช้กฎกติกาและผลประโยชน์ต่างๆ รุกคืบเข้าประเทศไทยอย่างรอบด้าน เพื่อให้คนไทยได้ละทิ้งภูมิปัญญาของชนชาติตัวเอง ให้กลายเป็นทาสทุน ทาสความคิด และทาสผลประโยชน์กัญชาของชาติอื่น
แต่จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าถ้าจัดการเรื่องกัญชาให้ดี นอกจากจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างเหมาสมแล้ว ยังสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่งคั่งให้กับคนในชาติได้อย่างมหาศาลด้วย
และโชคดีที่ในช่วงเวลานี้ใกล้วันเลือกตั้งเต็มที เพราะแม้ประชาชนจะไม่ได้มีอำนาจทุนที่ไปเอื้อผลประโยชน์ให้นักการเมืองคนใด แต่ประชาชนกำลังจะมีอำนาจต่อรองกลับคืนมาอีกครั้ง อำนาจปากกาในมือที่จะประกาศว่าจะให้ประชาชนร่วมกันไม่เลือกพรรคที่ใช้กัญชาขายชาติให้กลับเข้ามาบริหารประเทศไทยได้อีก และจะเลือกพรรคการเมืองใดที่ใช้กัญชากอบกู้ชาติบ้านเมือง เป็นอำนาจต่อรองของประชาชนที่จะเป็นผู้กำหนดประเด็นให้พรรคการเมืองเลือกอนาคตของตัวเองว่าจะเลือกข้างผลประโยชน์ของกลุ่มทุน หรือจะเลือกข้างประชาชน
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต