xs
xsm
sm
md
lg

“พูดไปก็ไม่เชื่อ ดูเองก็แล้วกัน”: กองทุนแสงอาทิตย์

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

กว่า 14 ปีมาแล้วที่ผมได้นำเสนอเรื่องพลังงานหมุนเวียนแบบกัดไม่ปล่อยมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผมได้เข้าร่วมประชุม “The International Conference for Renewable Energies—Renewables 2004” ที่ประเทศเยอรมนีวัตถุประสงค์ของการประชุมผู้แทนรัฐบาล 154 ประเทศ และภาคประชาสังคมทั่วโลกในครั้งนั้นก็คือ “ต้องการเปลี่ยนรูปแบบ (transformation) โครงสร้างพลังงานแบบเดิมของโลก และหันไปเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างขนานใหญ่ การกระทำดังกล่าวจะช่วยลดความยากจนของโลกและปกป้องสภาพภูมิอากาศโลก”

ในการประชุมครั้งนั้น ผมได้ฟังการบรรยายของ Dr.Hermann Scheer ซึ่งเป็นนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองคนสำคัญของโลกถึง 3 ครั้ง ผมถือว่าท่านผู้นี้ได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ของผมตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

หลายปีที่ผ่านมา กลุ่มพ่อค้าพลังงานฟอสซิลซึ่งกำลังเป็นผู้สูญเสียจากการเปลี่ยนรูปแบบดังกล่าวก็ได้พยายามโจมตีว่า “พลังงานหมุนเวียนมีราคาแพง มีจำนวนน้อย ไม่เสถียร รวมถึงใช้เป็นโรงไฟฟ้าหลัก (baseload) ไม่ได้”

ภาครัฐเองซึ่งมีทั้งอำนาจการบริหารและอำนาจเงินจำนวนมหาศาล แต่ก็อ่อนแอและเชื่องช้าเกินไปที่จะตามเทคโนโลยีซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมากได้ ภาคประชาสังคมจำนวน 15 องค์กรจึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง “กองทุนแสงอาทิตย์” เพื่อระดมทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลจำนวน 7 โรงๆ ละ 30 กิโลวัตต์ ต้องใช้เงินลงทุนโรงละ 1.1 ล้านบาท ซึ่งได้เปิดตัวกองทุนไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 61จนถึงวันนี้มีผู้บริจาคแล้ว 2.8 แสนบาท (https://www.thailandsolarfund.org)

จากข้อมูลที่ได้ติดตั้งแล้วที่โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ในเวลา 1 ปีพอดีสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 222,437 บาท โดยคิดอัตราค่าไฟฟ้า 4.50 บาทต่อหน่วย แต่ในความเป็นจริงอัตราค่าไฟฟ้าประเภท 2.2 (กิจการขนาดเล็ก แบบ TOU) จะประมาณ 4.81 บาทและกำลังจะขึ้นอีก 4 สตางค์ในปีหน้า นั่นคือ โครงการนี้จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่านี้อีก

เงินที่ประหยัดได้สามารถนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น ยิ่งทราบจากผู้บริหารว่ามีโรงพยาบาลจำนวนหนึ่งเป็นหนี้อยู่จำนวนมาก การลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าจึงเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถทำได้ง่าย เพราะเรามีแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ (ฟรี) จำนวนมหาศาลที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม

ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณแห่งโรงเรียนศรีแสงธรรม ได้โพสต์ข้อความประกอบข้อมูลดังกล่าวว่า “พูดไปก็ไม่เชื่อ ดูเองก็แล้วกัน” ผมรู้สึกประทับใจในข้อความดังกล่าว จึงได้นำมาเสนอในภาพด้วยครับ

ผมคิดว่า ข้อความที่ว่า “พูดไปก็ไม่เชื่อ ดูเองก็แล้วกัน” มีความหมายลึกซึ้งมากครับ ไม่ใช่แค่การเอาข้อมูลมาบอกกล่าวกันเท่านั้น แต่มันคือ “การปฏิบัติบูชา” ตามคำสอนของพระพุทธองค์

ถ้าคิดในแง่การลงทุน ผลตอบแทนที่ได้รับจากการประหยัดค่าไฟฟ้า จะสามารถคุ้มทุนได้ภายในประมาณ 5 ปีเท่านั้น ในขณะที่อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์ได้นานถึง 25 ปี นั่นหมายความว่าเงินที่ท่านบริจาคไปจะงอกเงยขึ้นเป็น 5 เท่าตัว

อ่านมาถึงตอนนี้ ผมเชื่อว่าท่านคงเห็นแล้วนะครับว่า พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ใช้ระบบโซลาร์เซลล์เป็นเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวมาใช้ประโยชน์นั้นมีราคาถูกมาก ถูกกว่าโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ที่สำคัญกว่านั้นคือ โอกาสในการเข้าถึงเพื่อนำมาใช้ประโยชน์นั้นก็ง่ายมาก เพราะอยู่ใกล้แค่เอื้อมจากหลังคาบ้านเราเท่านั้นมันเป็นการลดการผูกขาดและกระจายรายได้ไปในตัว หรือเป็นการลดความยากจนของโลกตามเจตนารมณ์ของผู้จัดการประชุมระดับโลกเมื่อปี 2004

เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกโจมตีว่ามีราคาแพงก็จบนะครับ มาดูเรื่องพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมนั้น ไม่เสถียร เวลาแดดไม่มา ลมไม่มีแล้วจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้

ต้องขอยืมคำพูดของท่านพระครูวิมลปัญญาคุณมาใช้อีกครั้ง “พูดไปก็ไม่เชื่อ ดูเองก็แล้วกัน”

นั่นคือมาดูการผลิตไฟฟ้าแบบ real time ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เขามีหลักการง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน คือ เมื่อมีแสงแดดและลมก็ให้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่ไม่ต้องซื้อได้ก่อนอย่างเต็มที่ หากไม่พอใช้ก็ให้ผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่น

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา รัฐแคลิฟอร์เนียสามารถผลิตไฟฟ้าจากสายลมและแสงแดดได้จำนวนถึง 68 ล้านหน่วย ถ้าคิดเป็นค่าไฟฟ้าในเมืองไทยก็จะได้ถึงกว่า 300 ล้านบาทต่อวัน นะครับ

เงินจำนวนนี้ไม่ไหลไปสู่ต่างประเทศ แต่จะกระจายอยู่ทั่วไปในภาคครัวเรือน ในหมู่บ้านชนบท เป็นการลดความเหลื่อมล้ำซึ่งประเทศเรามีสูงถึงอันดับ 4 ของโลกได้ด้วย

ไม่เชื่อก็เข้าไปดูของเสมือนจริงได้ที่ http://www.caiso.com/TodaysOutlook/Pages/default.aspx ผมได้สรุปและขยายความเพิ่มเติม ดังภาพ

ยังมีเหลืออีกหนึ่งประเด็นของข้อโจมตี คือพลังงานลมและแสงแดดเป็นโรงไฟฟ้าหลัก (baseload) ไม่ได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่คณะผู้จัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ยังยึดเป็นสรณะเหมือนกับเมื่อ 30-40 ปีก่อน ทั้งๆ ที่โลกได้เปลี่ยนไปมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ที่ภาครัฐอ้างว่ากำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มีไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าดับสูง จึงคิดจะสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่อีก 2 โรงประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ มาแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกกระแสสังคมคัดค้าน

เรื่องนี้สถาบันวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ Fraunhofer จากประเทศเยอรมนี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภายใต้โครงการ JGEESE และกระทรวงพลังงานเองได้วิจัยร่วมกันพบว่า จังหวัดน่านมีศักยภาพที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนได้ 100% ภายในปี 2036 โดยได้นำแนวคิดที่จะใช้แบตเตอรี่เข้ามาใช้งานในบางเวลาด้วย ผลงานวิจัยเผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2558

ผมเองได้อ่านผลงานวิจัยนี้ในปี 2559 ขอเรียนตามตรงว่า ในวันนั้นผมเองยังไม่เชื่อครับไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะแบตเตอรี่มีราคาแพง แต่วันนี้รัฐแคลิฟอร์เนียได้นำแบตเตอรี่มาใช้เรียบร้อยไปแล้ว จำนวนเกือบ 100 เมกะวัตต์เพราะราคาแบตเตอรี่ได้ลดลงอย่างรวดเร็วมาก

หน้าที่ของแบตเตอรี่มี 2 อย่างคือ เพื่อเก็บไฟฟ้าที่เหลือใช้เอาไว้ใช้ในภายหลัง และจ่ายไฟฟ้าออกมาเมื่อไฟฟ้าไม่พอใช้ เป็นการเคลื่อนย้ายพลังงานจากดวงอาทิตย์ซึ่งมีมากในตอนกลางวันเพื่อนำไปใช้ในตอนกลางคืน เป็นการรักษาสมดุลของระบบไฟฟ้าไม่ให้ตกหรือดับ และทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงมากขึ้น

บทความของผมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เล่าว่า พรรคแรงงานของออสเตรเลียได้หยิบเอาประเด็นแบตเตอรี่สำหรับครัวเรือนจำนวน 1 ล้านหลังมาชูเป็นนโยบายสำหรับการเลือกตั้งปลายปีหน้า

เรื่องโรงไฟฟ้าหลักจึงเป็นเรื่องที่ล้าสมัยเรียบร้อยไปแล้ว แต่รัฐบาลไทยเรายังตามโลกไม่ทันหรือว่ามีอย่างอื่นแอบแฝงกันแน่

โครงการ “กองทุนแสงอาทิตย์” จึงเป็นการลงมือทำร่วมกันโดยคนละเล็กคนละน้อยด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์สุขของสาธารณะ เพื่อให้สาธารณะได้เกิดความมั่นใจว่ามันเป็นไปได้จริงๆ เป็นการผลักดันจากด้านล่างไปสู่ระดับนโยบายแห่งรัฐต่อไป เราจึงต้องทำโครงการนี้ให้สำเร็จครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น